ไฟใต้ต้นเหตุไทยจ่อคิวอิรัก...ประเทศเสี่ยงอันตราย!
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ถึงตอนนี้ประเทศไทยขึ้นหิ้งอันดับโลกสำหรับ 10 อันดับแรกประเทศที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุดในโลกไปแล้ว นับเป็นปีแรกที่ไทยสามารถทุบสถิติโลกในสิ่งที่ใครๆ อยากให้มันห่างไปไกลๆ ได้ แม้ว่าอันดับที่ไทยได้มาจะอยู่ที่อันดับ 9 แต่ในปีก่อนหน้านี้ (พ.ศ.2551) ไทยอยู่อันดับ 11 มันก็ยังไม่นับว่าอยู่ใน 10 อันดับแรกประเทศที่มีอันตรายร้ายแรงอยู่ดี จึงยังพอหายใจสะดวกกว่าตอนนี้มาก
แชมป์อันดับ 1 ยังเป็นอิรัก
อิรักครองแชมป์อันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ตัวเลขเหตุรุนแรงในอิรักทำให้อิรักได้ครองตำแหน่งที่ตนอยากปฏิเสธเต็มที อิรักนั้นพยายามสุดตัวที่จะปรับปรุงด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งก็ทำได้ดีขึ้นแน่ๆ แต่เมื่อดูความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือความถี่ของเหตุที่เกิด รวมถึงผลที่เหยื่อได้รับ ก็ยังบ่งชี้ว่าอิรักเป็นประเทศที่เสี่ยงต่ออันตรายร้ายแรงมากที่สุดในโลก ตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมาแค่ปีเดียว เหยื่อพลีชีพที่เป็นพลเรือนอิรักก็เหยียบๆ 4,500 ชีวิตเข้าไปแล้ว
ไทยซึ่งกำลังมีความขัดแย้งทางการเมืองขั้นรุนแรงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขณะนี้ แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยที่ "กลุ่มเมเปิลครอฟท์" (Maplecroft) ผู้จัดอันดับดัชนีประเทศเสี่ยงอันตรายสูงสุดเอามาใช้เป็นดัชนีชี้วัดแต่อย่างใดไม่ สำหรับแฟนเว็บอิศราไม่ต้องบอกก็ต้องรู้แก่ใจดีว่า มันเพราะเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไงเล่า ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 4,000 คน เหตุคาร์บอมบ์ที่สุไหงโก-ลกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งชาวบ้านพลีชีพไป 2 ศพ บาดเจ็บอีกถึง 42 คน ทำให้อันดับของไทยพุ่งพรวดขึ้นเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่อันตรายร้ายแรงที่สุดในโลก แม้ว่าจะรั้งอยู่ที่อันดับ 9 จากอันดับที่ 11 ซึ่งครองก่อนหน้านี้ แต่เมื่อดูจากจำนวน 192 ประเทศทั่วโลกที่ถูกจัดอันดับ ไทยก็จัดอยู่ในประเทศที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดอยู่ในลำดับต้นๆ เลยทีเดียว
ดัชนีชี้วัดความรุนแรงร้ายแรงซึ่งจัดทำโดย "กลุ่มเมเปิ้ลครอฟท์" ระบุว่า ประเทศที่ขึ้นหิ้งรองแชมป์ก็เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ไม่ผิด นั่นคืออัฟกานิสถาน ตามด้วยปากีสถานรั้งอันดับ 3 และโซมาเลียอันดับ 4 ประเทศอื่นๆ ที่จ่อมาติดๆ คืออินเดียอันดับ 5 และเลบานอนอันดับ 6 ส่วนประเทศที่ไล่หลังมาแบบไม่ยอมทิ้งห่างคือ อัลจีเรียอันดับ 7 โคลัมเบียอันดับ 8 แล้วก็พี่ไทยอันดับ 9 น่าภูมิใจไหมล่ะ?
ในอิรัก การก่อร้ายชนิดมีคนตายเยอะๆ ถึงจะถูกรายงานโดยสื่อ แต่ถ้าเป็นขนาดย่อยๆ แล้วไม่ค่อยเป็นข่าว (ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ใช่ว่าจะต่างกัน) เพราะถ้าขืนสื่อปากโป้งไปทุกเรื่อง ธุรกิจก็จะเสียไปจนหมดรูป 2 ปีมานี้แม้ในภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงในอิรักจะบรรเทาเบาบางลง แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 7 มี.ค.ที่เพิ่งผ่านมาหยกๆ มันก็ปรู๊ดปร๊าดพุ่งพรวดขึ้นมา
สหรัฐมีเป้าว่าจะลดกำลังทหารให้เหลือ 50,000 นายภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ และมีกำหนดถอนทหารกลับทั้งหมดสิ้นปีหน้า ขณะนี้สหรัฐมีกองกำล้งทหารในอิรัก 115,000 นาย
สำหรับประเทศไทย ในช่วง 6 ปีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชีวิตผู้คนถูกพรากไปแล้วเกือบ 4,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย วิลเลียม แมคคลีน ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ถึงไทยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย (เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในการหนุนหลังกองกำลังทั้งทหารและตำรวจหลายหมื่นนาย แต่ก็ต้องประสบความล้มเหลวที่จะหยุดยั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นใคร กลุ่มใดกันแน่
ส่วนในอัฟกานิสถาน ประเทศตะวันตกในกลุ่มนาโต้ได้แต่หวังว่า หน่วยรบพิเศษจำนวน 30,000 นายที่ส่งไปจะสามารถกวาดล้างและกดดัน "กลุ่มตอลิบัน" ให้มานั่งโต๊ะเจรจาสักที
อันดับที่น่าสนใจ
ใครอยากรู้ว่าประเทศที่ติดอันดับอันตรายร้ายแรงที่สุดที่มีอันดับดีกว่าไทยว่ามีประเทศอะไรบ้าง อันดับที่น่าสนใจมีดังนี้ ฟิลิปปินส์มีอันดับถัดจากไทยคืออันดับที่ 10 ปาเลสไตน์อันดับที่ 11 ตุรกี 14 รัสเซีย 15 อิสราเอล 17 ไนจีเรีย 24 และสเปนติดอันดับที่ 34
หลังจากเหตุก่อการร้ายที่สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งในกรุงลอนดอน ใช่ว่าอังกฤษจะปลอดภัยเสียทีเดียว เพราะยังมีอันดับที่ 41 ให้ต้องเฝ้าระวังอยู่อีก ขนะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนยังดีหน่อยเพราะติดอันดับที่ 43 ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐซึ่งประกาศทำสงครามกับขบวนการก่อการร้ายทุกกลุ่มทั่วโลก ก็มิวายติดอันดับที่ 46 ในขณะที่ฝรั่งเศสซึ่งเจอจลาจลหลายครั้งดีขึ้นหน่อยเพราะติดอันดับที่ 56 กลุ่มเมเปิ้ลครอฟท์จัดอันดับประเทศในกลุ่มนี้ว่า มีความเสี่ยงอันตรายร้ายแรงในระดับปานกลางเท่านั้น
ประเทศที่ถูกจัดว่ามีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ร้ายแรงน้อย นอกจากเยอรมนีซึ่งติดอันดับที่ 81 และคานาดาที่ 116 แล้ว ออสเตรเลียนับว่าดีมากๆ เพราะติดอันดับที่ 120 เทียบกับประเทศที่อันตรายร้ายแรงสูงสุด 10 อันดับแรก (มีไทยรวมอยู่ด้วย) เรียกว่าต่างกันราวนรกกับสวรรค์ทีเดียว
5 ประเทศทุบสถิติความรุนแรง
กรีซ : ทุบสถิติจากอันดับที่ 63 เป็นอันดับที่ 57 เป็นผลจากการก่อความไม่สงบของพวกซ้ายจัด ซึ่งแม้ว่าจะใหญ่ แต่จำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มเมเปิ้ลครอฟท์รายงานว่า เป้าที่กลุ่มซ้ายจัดโจมตี ได้แก่ สำนักงานภาษี สถานีตำรวจ รวมถึงสัญลักษณ์ที่เป็นของรัฐบาลของรัฐต่างๆ
เยเมน : กระโดดจากอันดับที่ 29 เป็นอันดับที่ 22 เป็นผลจากเหตุการณ์หลายครั้งที่มีทั้งการลักพาตัว รวมทั้งการคุกคามหลากหลายรูปแบบจากกลุ่มอัลกออีดะ
อิหร่าน : จากอันดับที่ 25 เป็นอันดับที่ 19 จากเหตุความไม่สงบในแคว้นบาลูชิสถานและคูเซสถาน รวมทั้งการลุกฮือของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของอาหมัดดีเนจ๊าด
จีน : จากอันดับที่ 54 เป็นอันดับที่ 43 จากเหตุการณ์ภัยต่อความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2008-2009 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่ 2006-2007
อียิปต์ : ทุบสถิติจากอันดับที่ 66 เป็นอันดับที่ 54 จากภัยความมั่นคงที่ไม่ใหญ่นักแต่เกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างปลายปี 2008 ถึงต้นปี 2009
------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์
บรรยายภาพ : เหตุคาร์บอมบ์ในตัวเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552