‘บุญทรง’ มอบนโยบายจำนำข้าวรอบใหม่ 1 ต.ค. 55 ย้ำเดินมาถูกทาง
‘บุญทรง’ มอบนโยบายจำนำข้าวรอบใหม่ 1 ต.ค. 55 ยืนยันเดินมาถูกทาง สร้างรายได้เกษตรกร 2 แสนลบ. เร่งปรับระเบียบกนข. ป้องกันโกง
.
วันที่ 20 ก.ย. 55 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พาณิชย์) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ที่จะเริ่มดำเนินการ 1 ต.ค.55 แก่เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กนข.) ผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด องค์การคลังสินค้า และโรงสีร่วมรายการ ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ
รมว. พาณิชย์ กล่าวว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 5.6 ล้านครัวเรือน หรือ 20 ถึง 22 ล้านคน แต่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนของรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีของประเทศแล้ว รายได้ของภาคการเกษตรกลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11-12 เท่านั้น รัฐบาลจึงเห็นว่าการสร้างความเข้มแข็งและฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อฐานะของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร จึงเป็นนโยบายที่สำคัญลำดับต้น ๆ ของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะยกระดับราคาสินค้าเกษตรและสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ให้กับเกษตรกร และลดปัญหาหนี้สิน เพราะข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักและเป็นสินค้าพื้นฐานที่สำคัญของไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งมีเกษตรกรที่ทำงานเพาะปลูกข้าวถึง 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 15-18 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศถึงปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท
นายบุญทรง กล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระบบถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้ว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติจึงมีมติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 ต่อไป สำหรับปัญหาทางปฏิบัติที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการให้ชัดเจน รัดกุมยิ่งขึ้น จึงเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกรอบใหม่จะประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด จะต้องกำกับดูแลตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงว่าการเข้าร่วมโครงการจะต้องดำเนินการอย่างไร การทำประชาคมและการออกหนังสือรับรองเกษตรกรต้องถูกต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง การจัดหาจุดรับจำนำในจังหวัดต้องเพียงพอ หากไม่เพียงพอต้องรีบเตรียมการแก้ไขไว้ล่วงหน้า การกำกับดูแลให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม ณ โรงสีหรือจุดรับจำนำ การคัดเลือกข้าราชการ และตัวแทนเกษตรกร รวมทั้งการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ประจำจุด ทุกคนต้องอยู่ประจำจุดตลอดเวลา ตลอดจนการตรวจสอบและรับรองโกดังกลางให้ได้ตามมาตรฐาน รวดเร็ว ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งแล้ว การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีนี้ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์และได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้นอันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลจะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากำกับดูแลโครงการรับจำนำเพิ่มเติม โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูล กระบวนการรับจำนำทั้งหมดตั้งแต่การบันทึกพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเป็นรายแปลง การออกใบประทวนของอคส.และอ.ต.ก. การจ่ายเงินจำนำให้แก่เกษตรกรของธ.ก.ส. ซึ่งหากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวได้ จะเห็นภาพชัดเจนว่าการดำเนินการรับจำนำมีปัญหาหรือข้อขัดข้องในขั้นตอนใด จะทำให้แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว รวมถึงการนำฐานข้อมูลการรับจำนำในปีที่ผ่านมาศึกษาเปรียบเทียบด้วย
“ขอฝากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ช่วยดูแลผลผลิตของเกษตรกรให้มีคุณภาพดี มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี สามารถจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกต่อไป” รมว. พาณิชย์กล่าว.