แม่ทัพ4 ตีตั๋วอยู่ต่อ – เลขาฯสมช.จากทหาร... จับทาง"เจรจาแบบทหารๆ"ดับไฟใต้
บัญชีรายชื่อแต่งตั้งนายทหารรับราชการประจำปี 2555 ซึ่งเพิ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันพุธที่ 19 ก.ย.โดยไม่มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย.ที่แต่งตั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนใหม่ พอจะชี้ทิศทาง "ดับไฟใต้" ในระยะ 1 ปีนับจากนี้ได้ค่อนข้างชัดเจน
การปรับย้ายนายทหารประจำปีในส่วนที่เกี่ยวกับผู้รับผิดชอบสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีดังนี้
1) พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ซึ่งช่วยงานแม่ทัพภาคที่ 4 ด้านการพูดคุยกับกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบ ขยับจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
2) พล.ต.สกล ชื่นตระกูล รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก (อัตราพลโท)
3) พล.ต.สุภัช วิชิตการ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก (อัตราพลโท)
4) พล.ต.ชาญประดิษฐ์ แสงนิล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4
5) พล.ต.เบ็ญจรงค์ เจริญพร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4
6) พล.ต.พีรพล วิริยากุล ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41
7) พ.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ จากผู้บัญชาการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 (อัตราพลตรี)
ส่วนแม่ทัพภาคที่ 4 ยังคงเป็นคนเดิมคือ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (ตท.13)
ขณะที่มติ ครม.เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ย.เห็นชอบให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร (ตท.14) รองเลขาธิการ สมช.ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.คนใหม่ ส่วน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.คนปัจจุบันนั้น จะสไลด์ไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม
ไขปม "แม่ทัพภาค 4" ตีตั๋วอยู่ต่อ
พิจารณาจากการปรับย้ายนายทหารและการแต่งตั้งเลขาธิการ สมช.คนใหม่ ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินหน้าให้ "ฝ่ายทหาร" เป็นเจ้าภาพการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติด้านความมั่นคงต่อไป และอาจรวมไปถึงการ "พูดคุยสันติภาพ" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในห้วงของการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำบัญชีรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้มีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 93 คนซึ่งเคยเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส และส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับคดีความมั่นคง ได้ออกมาแสดงตัวต่อ พล.ท.อุดมชัย แม่ทัพภาคที่ 4
กิจกรรมดังกล่าวสร้างกระแสฮือฮา เพราะมีตัวชูโรงคือ นายแวอาลีคอปเตอร์ วาจิ แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนหลายร้อยกระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 และเคยมีการตั้งรางวัลนำจับสูงถึง 1 ล้านบาท ทำให้กระแสสังคมหลายภาคส่วนเชื่อว่ากลุ่มที่ออกมาแสดงตัวเป็น "ตัวจริง" ที่เคยมีส่วนร่วมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่มาแล้ว
ขณะที่การไฟเขียวให้ พล.ท.อุดมชัย นั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 ต่อไป ทั้งๆ ที่ดำรงตำแหน่งมาครบวาระ 2 ปีตามประเพณีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือหาคนใหม่แทนไม่ได้ แต่ได้ผ่านการพิจารณาของฝ่ายการเมืองมาตามสมควร เนื่องจาก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.2555 ว่า จะไม่เปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ในการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลในปีนี้ (อ่านประกอบ : "สุกำพล" เบรคตั้ง "กองทัพน้อยที่ 4" ปลื้มฝีมือ "แม่ทัพอุดมชัย" ลั่นให้อยู่ต่อ http://isranews.org/south-news/special-talk/53-2009-11-15-11-15-38/7573--q-4q-qq-.html)
นั่นย่อมหมายความว่าฝ่ายการเมือง "เอาด้วย" กับแนวทางของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งนโยบาย "พาคนกลับบ้าน" ที่ปรากฏความก้าวหน้าผ่านการแสดงตัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ และการผลักดันให้ใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ในการเปิดช่องทางให้ "แนวร่วมกลับใจ" มี "ที่ยืน" โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา
ส่วนปฏิบัติการทางทหาร ก็จะเน้นใช้ทหารประจำถิ่นจากกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ซึ่งเป็นหน่วยหลักที่ตั้งขึ้นเพื่อคุมพื้นที่ชายแดนใต้อยู่แล้ว และกองกำลังทหารพรานที่ส่งเข้าไปทดแทนทหารหลักจากภาคอื่น โดยมอบหมายให้ พ.อ.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ (ตท.16) ซึ่งเกาะติดพื้นที่มาตลอด และผ่านงานคุมหน่วยทหารพรานมาแล้ว เข้าไปทำงานในตำแหน่ง ผบ.พล.ร.15
มาตรา 21 ฉลุย-ส่อตัดอำนาจศาล
จับจังหวะการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน เมื่อวันพุธที่ 19 ก.ย.ยิ่งชัด เพราะมีความพยายามเสนอแก้ไขมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยตัดขั้นตอนทางศาลออกไป เพื่อความกระชับ รวดเร็ว ซึ่งหากดำเนินการตามนั้น มาตรา 21 ก็จะไม่ต่างอะไรกับ "มาตรา 17 สัตต" แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (ยกเลิกไปแล้ว) ที่มีเนื้อหา "นิรโทษ" ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐให้กลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่ พล.ท.อุดมชัย เสนอรัฐบาลมาตลอด (อ่านประกอบ : สำรวจนโยบายดับไฟใต้...รัฐบาลเพื่อไทยจ่อตั้ง กอส.2 – ทหารชู"อภัยโทษ" http://bit.ly/JxNwVJ)
แนวทางตามมาตรา 17 สัตต แตกต่างจากมาตรา 21 อย่างมีนัยยะสำคัญคือ มาตรา 17 สัตต พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ให้อำนาจเต็มกับฝ่ายทหาร (ผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่มีการสอบสวน) ในการ "นิรโทษ" หรือ "อภัยโทษ" ผู้ที่กลับใจเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย ส่วนมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เขียนยึดโยงกับอำนาจศาล ทำให้กระบวนการค่อนข้างยาว และใช้เวลา ซึ่งฝ่ายทหารมองว่าไม่อาจสร้างผลสะเทือนทางจิตวิทยาต่อขบวนการก่อความไม่สงบได้
ฉะนั้นหากแก้ไขมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยตัดขั้นตอนที่ยึดโยงกับศาลออกไป อำนาจการพิจารณา "นิรโทษ" หรือ "อภัยโทษ" ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐในมิติของปัญหาชายแดนใต้ ก็จะถูกโอนไปเป็นของทหาร ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4 นั่นเอง
พล.ท.อุดมชัย มีเวลา 6 เดือนนับจากนี้ที่จะผลักดันให้แนวทางที่ว่านี้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพราะ 6 เดือนสุดท้ายของอายุราชการน่าจะต้องโยกเข้าส่วนกลางในการปรับย้ายกลางปี (เม.ย.2556) เพื่อติดยศ "พลเอก" ก่อนเกษียณ อันเป็นประเพณีปฏิบัติของกองทัพเพื่อตอบแทนแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ถือว่าเสียสละและต้องเหน็ดเหนื่อยกับการรับผิดชอบปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ภราดร"หนุน"ทหารเป็นเจ้าภาพ"
แนวทางดังกล่าวยังสอดประสานกับการตั้ง พล.ท.ภราดร ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.ด้วย เพราะ พล.ท.ภราดร เป็นทหารอาชีพ และมีแนวคิดชัดเจนมาตลอดว่า ปัญหาภาคใต้ต้องให้แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าภาพและบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ
พล.ท.ภราดร เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) รุ่นเดียวกับ พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) คนใหม่ รวมทั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่เพิ่งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีประสบการณ์ในกระบวนการสันติภาพที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียด้วย
พล.ท.ภราดร เคยดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และโยกจากกองทัพมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช.เมื่อปี 2551 แต่เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือมาสู่รัฐบาลประชาธิปัตย์ เขาก็ถูกย้ายออกจาก สมช.ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ กระทั่งในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติรับโอน พล.ท.ภราดร กลับคืนสู่ สมช.ในตำแหน่งรองเลขาธิการ สมช.และผงาดขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.ในอีก 3 เดือนถัดมา
จับตาปิดทางข้อเสนอทางการเมือง
การหวนคืนสู่ตำแหน่งบริหารใน สมช.ของ พล.ท.ภราดร ถูกตั้งคำถามถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในแง่ของการ "พูดคุยสันติภาพ" หรือ "พูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ" ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 หรือไม่ อย่างไร
เพราะการกลับมาของ พล.ท.ภราดร ได้ผลักให้ นายสมเกียรติ บุญชู ที่นั่งเก้าอี้รองเลขาธิการ สมช.อยู่เดิม ต้องเก็บข้าวของออกไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยที่ นายสมเกียรติ คือหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มี สมช.เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นนโยบายเฉพาะเรื่องฉบับแรกที่เป็นดั่ง "คัมภีร์ดับไฟใต้" ที่ทุกหน่วยต้องปฏิบัติตาม (อ่านเพิ่มเติมที่ โยก "พล.ท.ภราดร" นั่งรองเลขาฯสมช. อีกครั้งที่รัฐบาลทำสับสนในทิศทางดับไฟใต้ http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/7557--qq-.html)
โดยเฉพาะแนวทางการ "พูดคุยกับผู้เห็นต่าง" ตามนโยบายของ สมช. เป็นการ "พูดคุย" ในมิติที่กว้างขวางกว่าการกดดันหรือเจรจาให้ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธ อันเป็นแนวทางของทหาร เพราะมีการพูดถึง "มิติทางการเมือง" เช่น การกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ และประเด็นการเคารพอัตลักษณ์ หรือการกำหนดรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
เนื้อหาในนโยบายเขียนเอาไว้ชัดในวัตถุประสงค์ข้อ 8 จาก 9 ข้อเพื่อแปรนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุเอาไว้ว่า "เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ มีวิธีการคือ
1.ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
2.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ และเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว" (อ่านรายละเอียดได้ใน ส่องนโยบาย สมช. หนุน "พูดคุยสันติภาพ" ดับไฟใต้ http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/6241--qq.html)
เหล่านี้เป็น "ข้อเสนอทางการเมือง" ในมิติที่กว้างกว่า "การเจรจาแบบทหาร" ที่มุ่งเน้นไปที่ "การวางอาวุธ" เพื่อยุติการก่อเหตุร้ายรายวันเป็นหลัก ในขณะที่ "ข้อเสนอทางการเมือง" ดังกล่าว ถูกปฏิเสธอย่างแข็งขันมาตลอดจากผู้นำทางทหาร โดยเฉพาะการกระจายอำนาจใน "รูปแบบพิเศษ" ที่แตกต่างจากรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เพราะฝ่ายทหารมองว่าการกระจายอำนาจในระดับ "เขตปกครองพิเศษ" เป็นก้าวย่างที่นำไปสู่การแยกดินแดน...
แม้ข้อกังวลนี้จะมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อย แต่การเปิดช่องให้ "พูดคุยกันอย่างกว้างขวาง" ย่อมเป็นการเปิดโอกาสในการหาสูตรที่สมดุลและลงตัวได้ในอนาคต สอดรับกับทิศทางการบริหารการปกครองซึ่งกำลังมุ่งสู่สิ่งที่เรียกว่า "ท้องถิ่นจัดการตนเอง" อันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก
แต่หากปิดช่องทาง "การพูดคุย" โดยมุ่งเฉพาะ "การวางอาวุธ" เท่านั้น อาจทำให้ "ข้อเสนอทางการเมืองอื่นๆ" ถูกละเลย และย่อมส่งผลกระทบถึงการแก้ปัญหาที่ "รากเหง้า" ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประเด็นทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และอัตลักษณ์ ซ้อนทับกันอยู่ด้วย
ขณะที่ "การวางอาวุธ" ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่เป็นเพียงการรอการปะทุรอบใหม่ของปัญหา หรือรอการเปลี่ยนตัวผู้เล่นใหม่...
เพราะ "เชื้อไฟ" ยังไม่ได้ถูกดับอย่างสิ้นเชิง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.อุดมชัย ขณะแถลงข่าวต้อนรับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าแสดงตัว จำนวน 93 คน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555 ที่ จ.นราธิวาส (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)