เล็งสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์ผสมยางธรรมชาตินำร่อง 19 กม.แทนยางมะตอย
วันที่ 19 ก.ย.55 ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมด้วย
ภายหลังการประชุม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันผลผลิตยางพารา จำนวน 3,500,000 ตัน เศษต่อปี ของประเทศไทย เป็นผลผลิตเพื่อการส่งออก 86 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้ภายในประเทศเพียง 14 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งคิดว่าในระยะยาวเราต้องมีการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางในประเทศให้มากขึ้น เพื่อยกระดับราคาในฐานะประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก และส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในไปพร้อม ๆ กันด้วย
จากการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้น โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันที่จะสร้างถนนลาดยางพาราหรือลาดยางแอสฟัลท์ผสมยางธรรมชาติ เป็นถนนนำร่อง แทนยางมะตอยลาดผิวถนน โดยจะก่อสร้างนำร่องที่ ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปบรรจบกับถนนสายบ้านคอกช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลยางขัน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีระยะทาง 19 กิโลเมตร
ทั้งนี้ถนนเส้นดังกล่าวจะตัดผ่านพื้นที่ขององค์การสวนยาง และเป็นถนนเส้นที่เกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ใช้ในการลำเลียงผลผลิต สามารถเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดกระบี่ รวมทั้งเป็นถนนเส้นที่เกษตรกรและประชาชนในพื้นมีความเดือดร้อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นถนนลูกรังผิวจราจรกว้าง 5 เมตร และมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ถูกน้ำกัดเซาะเป็นร่องลึก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมอย่างยิ่ง จึงเรียกร้องเข้าชื่อขอถนนลาดยางต่อรัฐบาลมาหลายสมัยแล้ว
ดังนั้นที่ประชุมจึงมีข้อสรุปร่วมกันที่จะสร้างถนนลาดยางแอสฟัลท์ผสมยางธรรมชาติในการลาดถนน ซึ่งต้องใช้อัตราส่วนของน้ำยางธรรมชาติกิโลกรัมละ 2.5 ตัน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณกิโลเมตรละ 4.5 ล้านบาท โดยราคานี้ไม่รวมสะพาน จำนวน 5 จุด และท่อระบายน้ำ รวมเป็นเงินที่ใช้ในการก่อสร้างถนน ระยะทาง 19 กิโลเมตร เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 85,500,000 บาท ซึ่งตรงนี้ตนเองจึงได้ให้นโยบายกรมวิชาการเกษตรไปใช้งบประมาณสำหรับการวิจัยเรื่องยางพารามาใช้ในการก่อสร้างถนนเส้นนี้
โดยในระหว่างการก่อสร้างถนนเส้นดังกล่าวจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย รวมทั้งจะมีการเชิญชวนทูต นักลงทุน และผู้ประกอบทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนของก่อสร้างทั้งหมดอีกด้วย
ทั้งนี้คาดว่าการก่อสร้างถนนเส้นนี้จะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน แต่ในระหว่างที่รอให้การก่อสร้างถนนแล้วเสร็จนั้น ก็จะมีการเตรียมการจัดงานใหญ่ระดับโลก world rubber expo พร้อม ๆ กับการเปิดตัวถนนเส้นนี้ โดยจะจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบยางพาราธรรมชาติ ตลอด 2 ฝั่งถนน 19 กิโลเมตร เช่น ยางล้อ แผ่นรองรางรถไฟ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการได้ลงมือทำแล้วและน่าสนใจก็จะนำมาจัดแสดงในงานนี้ด้วย รวมทั้งจะเชิญชวนผู้ประกอบการ นักลงทุน ในอุตสาหกรรมยางพาราจากทั่วโลกมาพบกันบนถนนสายยางพาราดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคได้มาพบกันโดยตรง โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ BOI ไปคิดแพ็คเกจการลงทุนและการส่งเสริมธุรกิจต่าง ๆ รองรับสำหรับการจัดงาน world rubber expo อีกด้วย
นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงในการใช้งานที่จะมีการใช้ยางพาราผลิตแผ่นรองรางรถไฟ รวมทั้งให้ศึกษาเรื่องของแผ่นยางสำหรับจุดที่ตัดกับถนนพร้อมๆ กันไปด้วย ว่ามีความเป็นไปได้และมีความคุ้มค่าเพียงใดที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยขอให้ได้ข้อสรุปชัดเจนภายใน 1 ปี เพื่อให้สอดรับกับโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลมีแผนที่จะดำเนินการ
อีกทั้งที่ประชุมฯ มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาการใช้ยางพาราแทนคันดินกั้นน้ำอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ถึงแม้ขณะนี้ได้รับรายงานว่าได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว รวมทั้งให้ไปศึกษาการพัฒนาการเพิ่มการผลิตตัวยึดสำหรับแผ่นยางพาราที่จะใช้เป็นฝายยางกั้นน้ำด้วย เนื่องจากปัจจุบันแผ่นยางพาราที่จะนำไปทำฝายกั้นน้ำไม่สามารถนำไปติดตั้งได้ทันที ดังนั้นจึงได้มีการให้ไปดำเนินการศึกษาในเรื่องนี้เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ขณะที่ทางด้านผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอในหลายเรื่อง เช่น นายกสมาคมถุงมือยางมองว่า การประกาศให้ถุงมือยางเป็นเครื่องมือแพทย์ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศ เพราะเมื่อประกาศเป็นเครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางที่ผลิตแล้วอาจจะมีฟองอากาศหรือรอยตำหนิเล็กน้อย ก็ไม่สามารถนำไปใช้การได้ เพราะหากนำไปใช้ก็จะผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีได้ แต่ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการผลิตถุงมือยางจำนวนมากนั้น ไม่มีกฎหมายนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ถุงมือยางในประเทศมาเลเซียเติบโตกว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับที่จะไปพิจารณา และจะแก้ไปไขในประเด็นดังกล่าว คือ ประกาศยกเลิกให้ถุงมือยางเป็นเครื่องมือแพทย์ เพื่อที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศให้เติบโตและขยายตัวมากขึ้น
ส่วนตัวแทนผู้ประกอบการจากบริษัทอิตาเลียนไทย ได้ให้ข้อมูลว่า ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สายพานลำเลียงขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ และ 100 เปอร์เซ็นต์ กิจการเหมืองแร่ในประเทศไทยต้องนำเข้าสายพานลำเลียงดังกล่าวจากต่างประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนี ดังนั้น เห็นว่าในเมื่อประเทศไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อุตสาหกรรมที่เรานำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าจะมีการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาธุรกิจดังกล่าวขึ้นในประเทศ ซึ่งวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.55) นายกิตติรัตน์ฯ จะได้มีโอกาสพบปะหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนี ก็จะนำประเด็นนี้เข้าหารือด้วย ซึ่งคาดว่าเบื้องต้นจะมีการเชิญชวนประเทศเยอรมนีมาลงทุนผลิตสายพานลำเลียงขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตยางโดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการดำเนินการดังกล่าวก็จะส่งผลให้เกิดมูลค่าการลงทุนและเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย