6 ปีทนายสมชาย (1) กับบทเรียนคดีอุ้มหายที่กัวเตมาลา
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บนบรรทัดประวัติศาสตร์ของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องบันทึกเรื่องราวชะตากรรมของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งถูกอุ้มหายไปเมื่อ 12 มี.ค.2547 ไว้ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อพี่น้องชาวมุสลิม และตกเป็นเหยื่อโดยอำนาจรัฐ กระทั่งกลายเป็นรอยด่างในกระบวนการยุติธรรมไทย
12 มี.ค.2553 หรือวันศุกร์ที่จะถึงนี้ จะเป็นวันที่ทนายสมชายหายตัวไปครบ 6 ปีแล้ว คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (WGJP) องค์กรนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานแสดงภาพศิลปะและปาฐกถา ในวาระครบรอบ 6 ปี การหายตัวไปของทนายสมชาย ที่เรือนจุฬานฤมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย และประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จะเผยแพร่รายงานสรุปเกี่ยวกับความคืบหน้าและความยุติธรรมของการดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นอกจากนี้ การแสดงภาพศิลปะจะสื่อให้เห็นถึงแง่มุมต่างๆ ของประเด็นการถูกบังคับให้บุคคลสูญหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับปัญหาวัฒนธรรมการละเว้นโทษที่เป็นการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมในงานครบรอบ 6 ปี การบังคับให้สูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร จะมีเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาร์เจนตินา ประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิด จากนั้นมีการปาฐกถานำโดย ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) การแถลงโดยภาคประชาสังคมเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงความยุติธรรมกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย และกล่าวปิดงานโดย ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุ้มครองเหยื่อ"อุ้ม"เมืองไทยยังไม่คืบ
จากประสบการณ์ในหลากหลายประเทศทั่วโลก ชัดเจนว่าการต่อสู้ในประเด็นการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและใช้พลังของสังคมอย่างมากมาย โดยเฉพาะกรณีที่เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงที่มิอาจยอมรับได้
ทั้งนี้ ทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดให้วันที่ 30-31 ส.ค.ของทุกปีเป็นวัน "ผู้สูญหายสากล” (The International Day of the Disappearance) เพื่อร่วมรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือจากภาวะสงคราม หรือการปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ที่ผ่านมา องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้พยายามเรียกร้อง กดดันให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติ เรื่องการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance) เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเป็นการวางรากฐานของระบบนิติรัฐให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง
แต่จนถึงบัดนี้รัฐบาลก็ยังมิได้ลงนาม และยังอยู่ในขั้นของการศึกษาหาข้อมูล โดยในวันพฤหัสบดีที่ 11 มี.ค. จะมีการจัดประชุมสัมมนาเรื่องนี้กันอีกครั้งโดยกระทรวงยุติธรรม ที่โรงแรมบีพีสมิหลา จ.สงขลา
เปิดประสบการณ์คดีอุ้มหายที่กัวเตมาลา
ที่ผ่านมามีบันทึกประสบการณ์การต่อสู้เกี่ยวกับคดีคนหายที่น่าสนใจ เกิดขึ้นในประเทศกัวเตมาลา ซึ่งใช้เวลานานถึง 27 ปีกว่าจะมีคำตัดสินของศาล
บันทึกประสบการณ์ที่ว่านี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในเว็บไซต์ www.voanews.com/english/2009-09-15-voa48.cfm เขียนโดย Brent Latham เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ปีที่แล้ว หัวข้อ "นักสิทธิมนุษยชนยินดีกับคำตัดสินเกี่ยวกับคดีคนหายของศาลกัวเตมาลาแม้ใช้เวลา 27 ปี"
เนื้อหาของข่าวระบุว่า นักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การตัดสินของศาลเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อลงโทษอดีตเจ้าหน้าที่ทหารบ้านในข้อหาอยู่เบื้องหลังการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งผู้เสียหายเป็นชาวบ้านเผ่ามายา 6 คน และเหตุเกิดเมื่อกลางศตวรรษ 1980 เป็นสัญญาณว่าประเทศนี้อาจพร้อมรับมือกับมรดกการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่เมืองชาวตาลุม (Choatalum) ซึ่งอยู่ห่างไกลท่ามกลางขุนเขาที่มีป่ารกทึบในเขต Chimaltenango และอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองหลวงของประเทศกัวเตมาลา ดินแดนแห่งนี้ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นสถานที่ซึ่งมีการพิจารณาคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบกฎหมายของประเทศ แต่จากประวัติศาสตร์ของพื้นที่นี้ซึ่งเป็นที่มั่นของวัฒนธรรมชนเผ่ามายา และเป็นที่ตั้งของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซึ่งปกครองประเทศมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเรียกร้องให้เกิดความสมานฉันท์ ภายหลังจากช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมามีการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองจำนวนมาก
มาริโอ มิเนรา (Mario Minera) ทนายความสิทธิพลเรือนแห่งกัวเตมาลา กล่าวว่า ชาวนา 6 คนซึ่งหายตัวไปจากพื้นที่ชาวตาลุม น่าจะถูกสังหารไปแล้วในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เหตุการณ์นี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคดีคนหายกว่า 600 รายซึ่งมีการจัดทำข้อมูลไว้ การสังหารส่วนใหญ่ซึ่งมีการฟ้องร้องต่อศาลในกัวเตมาลาและศาลระหว่างประเทศเกิดขึ้นในช่วงระบอบปกครองโดยทหารของ ประธานาธิบดีโฮเซ่ เอฟราน ไรออส มอนต์ (Jose Efrain Rios Montt) และประธานาธิบดีออสการ์ ฮุมโบโต เมเจีย วิคตอเรส (Oscar Humberto Mejia Victores) ระหว่างปี พ.ศ.2525 และ 2529
คณะกรรมาธิการไต่สวนความจริงที่องค์การสหประชาชาติสนับสนุน แถลงว่า มีผู้ถูกสังหารประมาณ 200,000 คน และอีกกว่า 40,000 คนสูญหายระหว่างสงครามกลางเมืองเป็นเวลา 36 ปี ซึ่งยุติลงเมื่อปี พ.ศ.2539 การสังหารเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองมายา
ทนายความมาริโอ มิเนรา บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้กระทำความผิดกลับไม่ถูกลงโทษ เขาและนักสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่ารัฐบาลกัวเตมาลาไม่มีความจริงใจจะสอบสวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้กระทำผิดอยู่ในอำนาจ และผู้กระทำผิดบางคนยังคงมีบทบาทในรัฐบาล
แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อต้นปี พ.ศ.2552 เมื่อศาลกัวเตมาลามีคำสั่งเกี่ยวกับอาชญากรรม “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยศาลบอกว่าเป็นคดีที่ยังรับพิจารณาได้และไม่หมดอายุความ
ทนายความมาริโอ มิเนรา บอกว่า คำตัดสินของศาลเปิดโอกาสให้มีการฟ้องร้องคดีต่อผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการกระทำที่ทารุณ ผู้ที่ถูกลงโทษเป็นคนแรกตามคำสั่งศาลครั้งใหม่นี้ได้แก่ นายฟิลิปเป้ คูซาเนโร (Felipe Cusanero) กรรมาธิการพลเรือน และผู้ที่เคยทำงานร่วมกับทหาร ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาใน 6 คดีเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งผู้เสียหายเป็นชาวบ้านในพื้นที่เขตชาวตาลุม
เมื่อต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2552 ศาลสั่งจำคุกนายคูซาเนโรเป็นเวลา 150 ปี ฐานที่มีส่วนร่วมในการทำให้บุคคลสูญหาย!
นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกถือว่าคำตัดสินของศาลครั้งนี้เป็นหลักชัยสำคัญสำหรับการต่อสู้เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์สำหรับครอบครัวของผู้เสียหายในกัวเตมาลา
"ยังมีอีกหลายคดีที่ศาลน่าจะตัดสินเร็วๆ นี้” ทนายความแอนดรูว์ ฮัดสัน (Andrew Hudson) จากองค์กร Human Rights First ซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าว “ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่าการฟ้องร้องคดีเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในกัวเตมาลา และเป็นการเปิดประตูให้กับคดีอื่นๆ อีกมากมายในประเทศนี้เช่นกัน”
หวังเลิกวัฒนธรรม "คนผิดลอยนวล"
นักสิทธิมนุษยชนในกัวเตมาลาบอกว่า คดีนี้นับเป็นคดีแรกในหลายคดีซึ่งอยู่ในกระบวนการศาล และแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยว่าคดีของ นายคูซาเนโร เป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ แต่ทนายความแอนดูร์ ฮัดสัน ก็ยอมรับว่า ยังต้องทำงานหนักต่อไปถ้าจะแก้ปัญหา "คนผิดลอยนวล" (Impunity) ในประเทศนี้ และมุ่งหน้าสถาปนาความสมานฉันท์อย่างแท้จริง
"จากคดีในเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ เราจะค่อยๆ สถาปนาหลักนิติธรรมขึ้นมาได้ และเราจะสามารถเยียวยาบาดแผลจากสงครามกลางเมืองได้” ทนายความแอนดรูว์ ฮัดสัน กล่าว “หมู่บ้านชาวมายาจะไม่มีความก้าวหน้า ถ้ายังต้องดำรงชีวิตอยู่กับบุคคลที่ถูกสังหาร และหลายกรณีเป็นการสังหารหมู่ทั้งหมู่บ้าน ความสมานฉันท์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เว้นแต่ว่าเราจะสามารถเอาผิดกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้”
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า การลอยนวลไม่ต้องรับผิด (Impunity) ของผู้ที่กระทำมโหดร้าย ไม่เพียงทำลายความพยายามแสวงหาความยุติธรรมของผู้เสียหาย หากยังส่งเสริมวัฒนธรรมความรุนแรงและความแตกแยกของชุมชนในกัวเตมาลาด้วย
"จนถึงปัจจุบัน ประชาชนจำนวนมากทั้งที่เป็นผู้หญิง เยาวชน และชนพื้นเมืองมักตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเหล่านี้" เซบาสเตียน เอลกูเอตา (Sebastian Elgueta) แห่งองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
"การวิเคราะห์วิกฤติด้านความมั่นคงของสังคมในปัจจุบันและระดับความรุนแรงโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะไม่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกัวเตมาลา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ในประเทศนี้ยังไม่ได้ทำการสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเป็นผลต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น และพวกเขาทำเช่นนั้นไม่ได้ระหว่างที่ยังรบกันอยู่ คำถามอยู่ที่ว่าเราจะสามารถสถาปนาความมั่นคงของหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร”
อนึ่ง ช่วงปลายปี 2550 องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลกัวเตมาลาได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการปล่อยคนผิดให้ลอยนวลแห่งกัวเตมาลา ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่สอบสวนอาชญากรรมที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับนักสิทธิมนุษยชน และทำหน้าที่คุ้มครองหลักนิติธรรม
--------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ :
- ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เอื้อเฟื้อข้อมูลเกี่ยวกับคดีอุ้มหายที่กัวเตมาลา