UN แนะ รบ.ยิ่งลักษณ์ รับลูกรายงาน คอป. ชี้มีหลักฐานรองรับ
ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของ UN แนะ รบ.ยิ่งลักษณ์ รับลูกรายงาน คอป. ชี้ใช้ข้อมูล-หลักฐาน ทาง "วิทยาศาสตร์"
หลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เผยแพร่รายงานฉบับสุดท้ายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.เป็นต้นมา ก็มีความเห็นหลากหลายจากบุคคลทั้งในประเทศไทยและจากองค์กรระหว่างประเทศ
โดยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์ วอทซ์ ที่เดินทางไปร่วมงานแถลงเปิดรายงานฉบับสุดท้ายของ คอป.ด้วย ได้เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ @sunaibkk ในวันที่ 18 ก.ย.ว่า “ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติระบุ รายงาน คอป ให้ข้อมูลสำคัญและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ รัฐบาลควรรับลูกด้วยการตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี” และ “ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติยังสนใจข้อเสนอของ คอป ที่ให้แก้หมายหมิ่นฯ(มาตรา 112) การปฏิรูประบบยุติธรรม และให้ทหารเลิกยุ่งกับการเมือง”
(ภาพจากเว็บไซต์ www.un.org)
ทั้งนี้ เว็บไซต์ของสหประชาชาติ (www.un.org) รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า นางนาวี พิลเล ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (High Commissioner for Human Rights) ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีถึงรายงานของ คอป.ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 พร้อมระบุว่ารัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบที่จะทำตามข้อเสนอของ คอป.
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่า แม้รายงานของ คอป.จะประสบความล้มเหลวในการระบุว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตจำนวน 92 ศพ ระหว่างการชุมนุมของ นปช. แต่มันก็ยังประกอบไปด้วยข้อมูลสำคัญ ที่มีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยัน (it contains substantive findings backed by forensic evidence) และยังได้แนะนำให้นำตัวผู้กระทบผิดมาลงโทษอย่างเร่งด่วน
แถลงการณ์ของนางพิลเลยังระบุว่า รายงานของ คอป.ยังเน้นถึงความสำคัญที่กองทัพจะต้องเป็นกลางทางการเมือง ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระมากขึ้น และปฏิรูปกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทย
“การปฏิรูปกฎหมายและสถาบันตามข้อเสนอแนะในรายงานของ คอป.จะช่วยทำให้ระบอบประชาธิปไตยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ด้วยความกำลังเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลหลักฐานที่รวบรวมโดย คอป. นางพิลเลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลหาวิธีปกป้องข้อมูลหลักฐานดังกล่าวเพื่อการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบในอนาคต
(หมายเหตุ : แปลและเรียบเรียงโดย สำนักข่าวอิศรา)
-อ่านแถลงการณ์ของนางพิลเลในภาษาอังกฤษ UN human rights chief calls on Thailand to take steps towards reconciliation
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันที่ 19 ก.ย. นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาค อาสาพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค.2553 เพื่อยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทวงถามเรื่องการยอมรับธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ศาลโลก) เพื่อให้ศาลโลกสามารถดำเนินคดีกับผู้สั่งสังหารประชาชนใน กทม.ระหว่างเดือน เม.ย.-พ.ค.ปี 2553 ได้