“พูโล”ปรับโฉมองค์กรใหม่ในวาระก่อตั้งครบ 42 ปี รวมทุกขบวนการเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อ GPP
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์พูโลได้ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบการก่อตั้งปีที่ 42 ซึ่งในแถลงการณ์ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าตลอดจนแนวทางซึ่งจะเป็นเข็มมุ่งขององค์กรในปีถัดไป ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของขบวนการพูโลเอง รวมทั้งขบวนการอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์ “ปลดปล่อยปาตานี” อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เอกภาพที่พูโลหมายมั่นปั้นมืออยากให้เป็นจริงนี้ จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ยังเป็นที่กังขาอยู่ จากเหตุผลที่ว่าการที่จะยกเลิกการนำและปฏิบัติการของกลุ่มขบวนการเก่าแก่อย่าง BRN, BIPP (BNPP เดิม) หรือแม้แต่กลุ่ม Mujahideen คงไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ กลุ่มขบวนการต่างๆ ดังกล่าวน่าจะยังคงมีตัวตนอยู่ต่อไป รวมทั้งยังสามารถปฏิบัติการของตนต่อไป เพียงแต่เมื่อมีการให้ข่าว การออกแถลงการณ์ หรือการนั่งโต๊ะเจรจา จะใช้ชื่อ GPP หรือ Gerakan Pembebasan Patani อันเป็นชื่อรวมๆ กันของ “ขบวนการปลดปล่อยปาตานี” ตามที่พูโลต้องการ หรืออาจบรรลุข้อตกลงกันแล้ว สอดรับกับสถานการณ์สากลในอนาคตที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีฝ่ายที่สามหรือผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลางเข้ามาแทรกแซงในกรณีปาตานี
เปิดแถลงการณ์พูโล
ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.puloinfo.net ระบุว่า ขบวนการพูโลได้ประกาศตัวครั้งแรก ณ ภูเขาอาราฟะห์ จุดทำพิธีหัจญ์ที่สำคัญเมื่อ 22 มกราคม ค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) โดย ตนกูบีรอ กอตอนีลอ หรือที่รู้จักกันในชื่อจัดตั้งว่า กาบีรฺ อับดุลเราะห์มาน ขบวนการพูโลได้ฝังตัวและเติบโตในนครเมกกะ (มักกะห์) ประเทศซาอุดิอารเบีย นับแต่นั้นมา
วันที่ 22 มกราคมศกนี้ (พ.ศ.2553) ขบวนการพูโลครบรอบการก่อตั้งปีที่ 42 พูโลได้ออกคำแถลงการณ์กล่าวว่า ปีนี้พูโลได้ย่างเข้าสู่วัยกลางคน และแน่นอนในวัยนี้พูโลย่อมมีประสบการณ์ชีวิตที่ยากลำบากและสลับซับซ้อนยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จและภาวะถดถอยชะงักงันที่พูโลประสบ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำพาขบวนการพูโลไปสู่ความรุ่งเรืองและความเป็นเลิศต่อไป
ในสภาพปัจจุบัน พูโลได้มาถึงขั้นตอนที่น่าตื่นเต้นและน่าพอใจมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่ขบวนการพูโลได้ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกระดับนำเมื่อ 2 มิถุนายน ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) ซึ่งพูโลได้ประเมินว่า ในห้วงเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา (นับจากวันที่เลือกตั้ง จนถึงเดือนมกราคม 2553) ยุทธศาสตร์ขององค์กรสามารถปฏิบัติและดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น ส่วนแผนปฏิบัติการทั้งหลายแหล่ก็สามารถบรรลุผลอย่างพอควร
ชูแนวทางรวมทุกกลุ่มเพื่อเอกภาพ
ในโอกาสครบรอบปีที่ 42 แห่งการก่อตั้งนี้ พูโลได้กำหนดเข็มมุ่งเพื่อเป็นแนวทางการต่อสู้ภายใต้สโลแกนว่า Ummah Unity and Patani Freedom หรือ “เอกภาพของประชาชาติ (อุมมะห์) และอิสรภาพของปาตานี” (‘ปาตานี’ หมายถึง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา) พูโลเชื่อว่าแนวทางนี้จะสร้างความเข็มแข็งแก่ความพยายามใดๆ ที่จะก้าวไปบรรลุผลตามยุทธศาสตร์ 5D ของพูโล อันเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่พูโลเชื่อว่าได้ผลดียิ่ง โดยวัดจากความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา
ประเด็นที่น่าสนใจในแถลงการณ์นี้คือสิ่งที่พูโลเรียกว่า “หนึ่งในวาระหลักของพูโล” นั่นคือการเรียกร้องให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีทุกกลุ่มเท่าที่เป็นไปได้ ร่วมมือกันเพื่อแสวงหาจุดสมดุลสูงสุดในสถานการณ์สู้รบปัจจุบัน สิ่งนั้นคือข้อเรียกร้องให้ทุกกลุ่มช่วยกันยกระดับปัญหาปาตานีสู่เวทีสากล ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนทางที่ขบวนการต่อสู้ของประชาชนปาตานีจะได้รับการหนุนช่วยในระดับนานาชาติ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาพูโลกล่าวหาว่า ทางการไทยใช้ความพยายามทุกวิถีทางในการสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มต่อสู้ของปาตานีได้รับการสนับสนุนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
ในแถลงการณ์ระบุว่า รัฐบาลไทยมองปัญหาปาตานีว่าเป็นปัญหาภายในของไทย ซึ่งฝ่ายใดๆ ไม่ว่าในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซง พูโลกล่าวว่า รัฐบาลไทยพยายามที่จะแสดงให้นานาชาติเห็นว่า ปัญหาปาตานีเป็นผลพวงจากความยากจน การขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ความไม่เป็นธรรม ฯลฯ เพียงเท่านั้นเอง แต่จุดประสงค์จริงๆ ของไทยเป็นการจงใจปกปิดบิดเบือนประเด็นอาณานิคมที่ปาตานีตกเป็นอาณานิคม (เมืองขึ้น) ของไทย และไทยได้ฉกชิงปล้นสะดมสิทธิและอำนาจอธิปไตยโดยชอบของชนชาติมลายูปาตานี
ต่อปัญหานี้ พูโลกับขบวนการเพื่อปลดปล่อยปาตานีอื่นๆ จึงแสดงความพร้อมที่จะให้ “ฝ่ายที่สาม” ไม่ว่าในระดับนานาชาติหรือระดับภูมิภาคเข้ามามีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นในดินแดนของปาตานี แต่ความพยายามดังกล่าวนี้กลับเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามหลีกเลี่ยงเสมอมา ด้วยความเกรงกลัวว่าปัญหาปาตานีจะถูกยกระดับขึ้นเป็นประเด็นนานาชาติ
อ้างรัฐบาล ปชป.ปฏิเสธ"เจรจา"
คำแถลงของพูโลยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไทยภายใต้การบริหารของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองว่าผู้ไกล่เกลี่ยหรือฝ่ายที่สามเป็นประดุจยาพิษที่ร้ายกาจ ในขณะที่เป็นน้ำผึ้งอันหอมหวานสำหรับขบวนการปลดปล่อยปาตานี ทั้งนี้ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่คนกลางหรือผู้ไกล่เกลี่ยเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งชั่วร้ายและพฤติการณ์ที่ไม่ถูกไม่ต้องทั้งหลายแหล่ก็จะถูกเปิดเผยขึ้นมา ในขณะที่ฝ่ายนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของปาตานีจะเป็นข้างฝ่ายที่ถูกต้องเสมอ ผลก็คือมีความพยายามสกัดกั้นดังกล่าวของทางการไทย เช่นการเข้มงวดกวดขันหรือจำกัดบทบาทของผู้ไกล่เกลี่ย จนนำมาสู่ความล้มเหลว แต่ที่สุดก็จะส่งผลร้ายกลับต่อทางการไทยเอง
เว็บพูโลกล่าวอ้างว่า สิ่งที่ทางการไทยหวาดกลัวที่สุดก็คือ จะมีที่ว่างสำหรับที่ประชาชนจะเรียกร้องเอกราช และการที่ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมจากประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังความพยายามเพื่อสันติภาพบรรลุผล จะทำให้ผลดีหรือประโยชน์ทั้งหมดตกเป็นของฝ่ายนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของปาตานี ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นหนทางไปสู่การได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ของปาตานีอีกด้วย
หนุนกระแสนครปัตตานี-แต่เชื่อเป็นแค่ประเด็นหาเสียง
อีกประเด็นที่น่าสนใจในคำแถลงการณ์ของพูโล คือประเด็นที่ระบุว่า รัฐบาลไทยได้แสดงความพยายามอย่างมากที่จะกระทำในสิ่งที่เป็นของขมสำหรับพวกเขา ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ปาตานีถูกขับเคลื่อนไปสู่เอกราช นั่นคือรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับยอมแสดงความเห็นด้วยในแง่หลักการรับกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยถึงแนวคิดเรื่อง “มหานครป้ตตานี” ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับรัฐลังกาสุกะโบราณของปัตตานี โดยกล่าวว่านายอภิสิทธิ์ต้องการเพียงแค่ปรับตัวให้กลมกลืนกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนชาวปาตานีตอบรับแนวคิดดังกล่าวอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนแถลงการณ์ของพูโลจะคลาดเคลื่อนในการแสดงข้อมูลในเรื่องนี้ เพราะที่จริง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงแค่เคยแสดงท่าทีตอบรับแนวคิดเรื่อง Autonomy (การปกครองตนเอง) บางระดับต่อข้อเสนอของ นายนาจิ๊บ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในคราวที่นายอภิสิทธิ์เดินทางไปมาเลเซียก่อนการประชุมผู้นำอาเซียนที่หัวหินเมื่อปลายปีที่แล้ว ในเวลานั้นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 4 อำเภอชายแดนใต้ยังไม่รับรู้อะไรมากกว่านั้น แต่ภายหลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย จุดประเด็นแนวคิดเรื่อง “มหานครปัตตานี” จนกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในเวทีส่วนกลางและภูมิภาค คำแถลงของพูโลจึงรวบรัดในส่วนนี้
แต่กระนั้น พูโลยังกล่าวต่อไปว่า แนวคิดเรื่องดังกล่าวนับเป็นการจุดประกายครั้งแรกในประวัติศาสตร์ปาตานี และถือได้ว่าเป็นการลุกขึ้นของประชาชนปาตานีในการต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมไทย
เว็บไซต์พูโล กล่าวว่า ประชาชนปาตานีได้ลุกขึ้นพูดอย่างเปิดเผยด้วยสุ้มเสียงอันดังและกล้าหาญ ทั้งในที่สัมมนาและที่ประชุมต่างๆ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นผ่านทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่การแสดงออกเช่นนี้พูโลมองว่า เป็นการแสดงความรู้สึกอันท่วมท้นซึ่งดูเหมือนไร้ระเบียบและปราศจากการควบคุมทิศทางอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่ก็นับว่าเป็นผลดีต่อประชาชนชาวปาตานีโดยส่วนรวม โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ทว่าในท้ายที่สุด ปาตานีก็ได้กลายเป็นเพียงประเด็นที่ถูกชูขึ้นมาเพื่อการหาเสียงของนักการเมืองเท่านั้น
เว็บพูโลระบุด้วยว่า รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยอมปล่อยให้บรรยากาศเช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ยี่หระ ทั้งนี้ก็เพราะพวกเขาหวังว่าการตื่นตัวกับแนวคิดดังกล่าวจะช่วยกำจัดหรือทำลายแนวคิดหรือข้อเรียกร้องเพื่อเอกราชของปาตานี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ขบวนการปลดแอกปาตานีต่อสู้มาตลอด ทำให้พูโลตีความว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ต้องการมีสันติภาพร่วมกับนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของปาตานีอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่ได้ต้องการคนกลางหรือไกล่เกลี่ยเพื่อที่จะแก้ปัญหาร่วมกันดังที่ประชาชนส่วนใหญ่พากันแสดงความตื่นเต้นดีใจกับเงื่อนแวดล้อมใหม่ๆ เวลานี้แต่อย่างใดไม่
แผนโดดเดี่ยวฝ่ายขบวนการ
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการที่พูโลระบุคือ ในการแก้ปัญหาปาตานีตามที่รัฐบาลไทยทำในเวลาต่อมา ก็เพียงแค่เชิญคนบางคนมานั่งลงและพูดคุยกันถึงเรื่องที่ว่า ควรออกแบบรูปการปกครองปาตานีในรูปลักษณ์ใดดีที่ประชาชนชาวปาตานีต้องการ การทำเช่นนี้เป็นการโดดเดี่ยวฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนไม่ให้มีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง ตามทัศนะของพูโลระบุว่า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์กำหนดเป็นวาระอยู่ในใจไว้แล้ว
แถลงการณ์ของพูโลกล่าวปรามาสว่า มันไม่มีทางเป็นอย่างที่รัฐบาลไทยคิดหรอก สำหรับคนที่หลงใหลได้ปลื้มกับโมเดล “มหานครปัตตานี” หรือ “ทบวงปัตตานี” (กระทรวงหรือทบวงเพื่อปกครองปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งกำหนดให้มีรัฐมนตรีดูแลต่างหาก) ซึ่งเสนอโดยพรรคมาตุภูมิ
พูโลยืนกรานว่า แท้ที่จริงคนเหล่านั้นหาใช่วีรชนที่พึงได้รับการสรรเสริญยกย่องไม่ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมพวกเขาไม่เคยเกี่ยวข้องกับขบวนการกอบกู้เอกราชปาตานี ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นเพียงนักฉวยโอกาสจากพื้นที่ว่างทางการเมืองที่เกิดขึ้น แน่ล่ะพวกเขาสามารถโลดแล่นอย่างอิสระ เปิดเผยและถูกกฎหมาย ในขณะที่นักต่อสู้เพื่ออิสรถาพของปาตานีที่แท้จริงไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้นแม้แต่น้อย รวมทั้งไม่มีส่วนร่วมในโอกาสนั้นแต่อย่างใด
รวมทุกกลุ่มเป็นหนึ่งในชื่อ “GPP”
พูโลประเมินว่า ปี ค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) จะเป็นปืแห่งโฉมหน้าใหม่ของขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีทุกกลุ่ม อันจะเป็นผลดีต่อขบวนการต่อสู้ในทุกๆ ด้าน พูโลมองว่าการร่วมมือกันอย่างแนบแน่นของขบวนการที่ต่างคนต่างทำก่อนหน้านี้จะทำให้หลายสิ่งอย่างเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ที่สำคัญในแถลงการณ์ได้แสดงความหวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้คำว่า บีอาร์เอ็น (BRN) พูโล (PULO) บีไอพีพี (BIPP -ขบวนการปลดปล่อยอิสลามปาตานี) หรือ มูจาฮีดิน (Mujahideen) อาจไม่จำเป็นต้องเอ่ยอ้างอีกต่อไป เนื่องจากแต่ละกลุ่มขบวนการจะหลอมรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ชื่อว่า “ขบวนการปลดปล่อยปาตานี” ในภาษาอังกฤษจะใช้ชื่อว่า The Patani Liberation Movement ย่อว่า PLM ส่วนในภาษามาเลย์ใช้ชื่อว่า Gerakan Pembebasan Patani (ฆระกัน เปิมเบบัสซัน ปาตานี) ตัวย่อว่า GPP
และนับแต่นี้ไปชื่อ GPP จะเป็นชื่อเรียกตัวแทนอย่างเป็นทางการของขบวนการต่อสู้ของประชาชนชาวมลายูปาตานีทั้งหมดแต่เพียงหนึ่งเดียว!
---------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถอ่านคำแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษของขบวนการพูโลได้ที่
http://www.puloinfo.net/?Show=ReadArticles&ID=142
อ่านประเกอบ :
- เปิดตัว"ประธานพูโลคนใหม่" เกิดที่ยะลา-เชื้อสายตุรกี
- เว็บไซต์พูโลอ้าง "พรรคกรีน"เสนอญัตติร้อนให้รัฐบาลสวีเดนยกกรณีปัตตานีสู่สหประชาชาติ
- รองประธานพูโล : เราพร้อมเจรจาแบบไร้เงื่อนไขกับรัฐบาลไทย
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4947&Itemid=47