ไหนว่าไม่มี...เปิดหลักฐาน "เหยื่อ" ถูกจีที 200 ชี้-จับ!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ผลทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 จะได้รับการแถลงจากปากของผู้นำประเทศอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2553 หรือกว่าครึ่งเดือนมาแล้ว แต่ถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ส่วนใหญ่) ก็ยังคงใช้ จีที 200 อยู่ตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นายกฯประเทศไทยได้แต่เตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า อย่าเอาจีที 200 ไปใช้กับบุคคลนะ เพราะจะกลายเป็นการละเมิดสิทธิ (เนื่องจากเครื่องมันไร้ประสิทธิภาพ) แต่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารที่มีเครื่องมือชนิดนี้ใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่า 500 เครื่องก็รีบออกมาบอกว่า ไม่เคยมีการใช้ จีที 200 ในการกล่าวหาหรือดำเนินคดีกับบุคคลอยู่แล้ว นอกจากจะมีพยานหลักฐานอื่นประกอบ
แต่จากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” กลับพบว่ามีการใช้เครื่อง จีที 200 เป็นหลักฐานในการควบคุมตัวจริง และเมื่อต่อมาไม่มีหลักฐานในการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้อำนาจซี่งไม่แน่ว่ามีกฎหมายรองรับหรือไม่ สั่งให้บุคคลเหล่านั้นต้องเข้ารายงานตัวตามวัน-เวลาและระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำหนด
ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แค่ใช้ จีที 200 “ชี้เป้า” ตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการ “ชี้จับ” และทำให้ประชาชนต้องสูญเสียอิสรภาพ หรือได้รับผลกระทบ ไม่อาจดำเนินชีวิตตามปกติได้ จากการถูกชี้ด้วย จีที 200
หลักฐานที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบคือหนังสือร้องเรียนที่ผู้เสียหาย 2 คนทำถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามเร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้เครื่อง จีที 200 ตรวจหาหลักฐาน และถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ
หนังสือร้องเรียนของผู้เสียหายทั้ง 2 ราย ระบุว่า พวกเขาถูกจับกุมเมื่อปลายเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ในท้องที่อำเภอหนึ่งของ จ.ปัตตานี โดยช่วงเย็นวันเกิดเหตุเขากำลังขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้าน แต่ระหว่างทางพบเหตุการณ์ไม่ปกติบนเส้นทางสายหลักที่ใช้อยู่ จึงตัดสินใจใช้เส้นทางสายรองกลับบ้านแทน แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งตรึงกำลังอยู่เรียกตรวจ และพาไปยังฐานปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ 2 คนมาซักถาม แล้วก็นำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
หนังสือร้องเรียนยังระบุว่า ระหว่างถูกคุมตัวไปค่ายอิงคยุทธฯ เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่อง จีที 200 มาตรวจผู้เสียหายทั้งสอง แต่เดินตรวจถึง 4 ครั้งเครื่องก็ไม่ชี้ จึงพยายามตรวจอีกรอบ กระทั่งสุดท้ายในรอบที่ 5 เครื่องชี้ เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวไว้ในค่ายอิงคยุทธฯเป็นเวลา 7 วันจึงได้รับการปล่อยตัว
อย่างไรก็ดี แม้จะได้รับการปล่อยตัวแล้ว พวกเขายังต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่เดือนละ 1 ครั้ง ทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้ ซ้ำยังต้องไปฝึกวิชาชีพตามโปรแกรมที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกำหนด และก็ยังคงต้องไปรายงานตัวทุกเดือนอีกด้วย ทำให้เสียทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา กระทั่งล่าสุดได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่า เครื่องจีที 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริง และไม่ใช่เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือให้ฝ่ายความมั่นคงยุติการกระทำที่ทำให้สูญเสียอิสรภาพดังกล่าว
ทั้งนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้เสียหายทั้ง 2 ราย ซึ่งเป็นชายวัยรุ่น กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรากฏว่าผู้เสียหายยืนยันว่าถูกจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ใช้เครื่อง จีที 200 ชี้จริง และปัจจุบันก็ยังต้องเข้ารายงานตัวเป็นระยะกับเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจแห่งหนึ่ง โดยเดือนนี้ (มี.ค.2553) จะต้องไปรายงานตัวเป็นเดือนสุดท้าย (รวมแล้ว 5-6 ครั้ง)
อย่างไรก็ดี วัยรุ่นที่เป็นผู้เสียหายจากเครื่อง จีที 200 รายนี้ ปฏิเสธที่จะเปิดตัวให้สัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่าหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ และเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมาอีก โดยเฉพาะอาจเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคง และต้องถูกจับตาหรือเพิ่มจำนวนครั้งในการเข้ารายงานตัวขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็รู้สึกได้รับความเดือดร้อนและกดดันมากพอแล้ว
อนึ่ง เรื่องร้องเรียนของผู้เสียหายทั้ง 2 ราย เคยถูกนำเข้าไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามเร่งรัดประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา และถูกส่งให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ด้วย แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยหลักฐานที่คณะกรรมาธิการฯ 2 ชุดดังกล่าวได้รับ มีเอกสารการรายงานตัวของผู้เสียหายทั้งสองที่เข้ารายงานตัวกับหน่วยเฉพาะกิจแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนละ 1 ครั้ง โดยมีลายมือชื่อของนายทหารที่รับรายงานตัวอย่างชัดเจน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แม้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะให้อำนาจเจ้าพนักงานเรียกผู้ต้องสงสัยมาให้ถ้อยคำได้ แต่เรื่องการรายงานตัวเป็นระยะเช่นนี้ ไม่แน่ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ออกระเบียบรองรับไว้หรือไม่ หากไม่มีระเบียบรองรับ ก็เท่ากับเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย
นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า แม้ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามยืนยันว่า การจับกุมคุมขังที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากเครื่องจีที 200 และไม่มีในคำฟ้องของตำรวจและอัยการ แต่นั่นก็มาจากสาเหตุที่ว่า จีที 200 ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ จึงไม่มีการระบุในคำเบิกความของฝ่ายโจทก์ แต่หากลองไปพิจารณาคำเบิกความของฝ่ายจำเลย และหนังสือร้องเรียนที่ส่งมายังศูนย์ทนายความมุสลิมแล้ว จะพบว่ามีจำเลยหรือผู้เสียหายจำนวนมากที่ถูกเครื่องจีที 200 ชี้ แล้วจึงถูกดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ทนายความมุสลิมกำลังรวบรวมตัวเลขอยู่
-----------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสาร "แบบบันทึกการรายงานตัว" ของหน่วยเฉพาะกิจแห่งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลักฐานการรายงานตัวแต่ละครั้ง ซึ่งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่รับทราบทุกครั้ง แต่มีปัญหาว่าเป็นการดำเนินการที่มีระเบียบกฎหมายรองรับหรือไม่