เปิดไอเดียดับไฟใต้ฉบับ ปชป.เสนอรัฐบาล
การประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐมนตรีในรัฐบาล นำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันอังคารที่ 18 ก.ย.2555 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวนโยบายดับไฟใต้ ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของ "การเมืองไทย" ที่ฝ่ายการเมืองจับมือกันแก้ไขปัญหาที่เป็น “วาระแห่งชาติ” โดยไม่แยกฝักฝ่าย
การพบปะกันลักษณะนี้เคยเกิดมาแล้ว 1 ครั้ง ในห้วงวิกฤตการณ์มหาอุทกภัยเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ปีที่แล้ว ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง หลายคนคงยังจำภาพประวัติศาสตร์ในวันนั้นได้ดี โดย อภิสิทธิ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เข้าพบและหารือกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ความร่วมมือระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ในลักษณะ Bipartisan Politics ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังคาดหวังว่าความร่วมมืออย่างแท้จริงในแบบ "ไม่ถือเขาถือเรา" แต่ถือเอา "ผลประโยชน์ของประชาชน" เป็นที่ตั้ง จะเกิดขึ้นในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 9 ปี ผ่านมาแล้ว 8 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี
ประเด็นที่ทุกฝ่ายกำลังจับตาก็คือ "ข้อเสนอ" จากทางฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ "เจ้าของพื้นที่" เพราะมี ส.ส.มากที่สุดถึง 9 จาก 11 คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีอะไรเด็ดๆ ให้เป็นความหวังได้บ้าง
"จัดหนัก" ชงยุบ ศปก.จชต.
ข้อเสนอที่แหลมคมข้อหนึ่งที่ อภิสิทธิ์ แย้มพรายออกมา กระทั่งออกตัวล่วงหน้าว่าขอให้วงประชุมมีเฉพาะฝ่ายการเมือง ก็คือ การเสนอให้ยุบศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.จชต. ที่รัฐบาลโดยการเสนอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพิ่งตัดสินใจตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมานี้เอง
และจนถึงวันนี้โครงสร้างก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
อภิสิทธิ์ มองว่า ศปก.จชต.ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการปัญหา เพราะโครงสร้างที่วางไว้เดิมภายใต้หลัก "การเมืองนำการทหาร" ผ่านการออกกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต. เป็นโครงสร้างที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุดแล้ว
แต่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะ กอ.รมน.มองว่า พ.ร.บ.ศอ.บต.ทำให้องค์กรศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กลายเป็นโครงสร้างใหม่อีกแท่งหนึ่งคู่กับ กอ.รมน. ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ
ประเด็นนี้ต้องติดตามดูท่าทีของฝั่งรัฐบาลว่าจะยอมเสียหน้า ใส่เกียร์ถอยตามข้อเสนอของฝ่ายค้านหรือไม่...
ระวังจ้อสร้างเงื่อนไข - จี้ใช้"พัฒนานำ"
สำหรับประเด็นอื่นๆ ที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดย ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแล ศอ.บต.ในฐานะ "รัฐมนตรีดับไฟใต้" ของรัฐบาลชุดที่แล้วได้จัดทำไว้ ยังมีข้อเสนอสำคัญอีก 9 ข้อที่นำเข้าสู่วงประชุมร่วมกับรัฐบาลเช่นกัน ได้แก่
1.ยึดมั่นในยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดย ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นว่า การให้สัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลชุดนี้หลังเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่หลายๆ ครั้งในทำนองว่า "ประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ" สะท้อนว่ารัฐยัง "เข้าไม่ถึง" ประชาชน และผลักให้ประชาชนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ ส่งผลให้ฝ่ายรัฐเสียหาย
ทั้งนี้ ในด้านการปราบปราม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารตำรวจต้องรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่ก็มีความชอบธรรมที่จะจัดการผู้กระทำผิดตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมด้วย หากมีการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่เอง ขอให้ลงโทษอย่างจริงจัง
ส่วนในด้านการพัฒนา ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะ "ประชาคม" ในทุกแผนงานโครงการของรัฐ โดยไม่ดำเนินการตามใจชอบ
2.การใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และใช้นโยบาย "การพัฒนานำ" ต่อเนื่องจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีปัจจัย 4 ครบถ้วน มีคุณภาพด้านการศึกษา โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ศาสนา และความเชื่อ พร้อมขจัดเงื่อนไขการสู้รบ ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ปัตตานีอย่างลึกซึ้ง และยึดต้นแบบการปฏิบัติหน้าที่ของ 3 หน่วยงาน คือ
- งานสร้างความเข้าใจ เข้าถึงประชาชนของหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ น.อ.สมเกียรติ ผลประยูร
- สถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จ.ยะลา สมัยที่ พ.ต.อ.สุวัฒน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้กำกับการ
- โครงการ 4 เสาหลักใน ต.ปิยามุมัง ของฝ่ายปกครอง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี สมัยที่ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ เป็นนายอำเภอ
นอกจากนั้น หน่วยงานด้านการศึกษาต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับสถานศึกษาปอเนาะในการผลิตเยาวชนให้อยู่กับรัฐไทย เข้าใจรัฐไทย และเป็นของรัฐไทย ป้องกันการบิดเบือนประวัติศาสตร์
ลดใช้กฎหมายพิเศษ – เลิกใช้ทหารต่างถิ่น
3.ความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่นไม่สบายใจต่อการใช้กฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกษา พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยประชาชนอยากให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ และใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) แทน โดยเฉพาะการดำเนินการตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อความสงบสุขในพื้นที่
การใช้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถควบคุมตัวได้นานถึง 37 โดยไม่มีการตั้งข้อหา พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าอาจจะมากเกินไป หากสามารถกระชับเวลาดังกล่าวโดยจำแนกเป็นแต่ละกรณีให้น้อยที่สุด น่าจะบรรเทาความกดดันของผู้เสียประโยชน์ และเกิดประโยชน์ต่อภาพพจน์ของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่
4.ยกเลิกการใช้กำลังทหารจากต่างถิ่นให้เร็วที่สุด และให้ใช้กองกำลังจากกองทัพภาค 4 กองพลทหารราบที่ 15 ให้เต็มอัตรากำลัง รวมถึงตำรวจ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน (อรบ.) อาสารักษาดินแดนของกรมการปกครอง (อส.) และกองกำลังประจำถิ่นอื่นๆ แทน
5.สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รับราชการและทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มากขึ้น รวมถึงการให้กองกำลังประจำถิ่นได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหารด้วย แต่รัฐต้องมีกระบวนการคัดเลือกที่ดี กำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมเนื่องจากปัจจุบันองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นบางพื้นที่ มีคนของกลุ่มก่อเหตุรุนแรงเข้าไปแฝงตัวในองค์กรเป็นจำนวนมาก
6.ให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม เป็นธรรม การฟื้นฟูเยียวยาแก่ประชาชนในพื้นที่ ขณะเดียวกันให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างเอกภาพในการบังคับบัญชาและบริหารจัดการในภาพรวม สำหรับ ศปก.จชต. ทางพรรคเป็นห่วงเรื่องงบประมาณ
การคัดเลือกเลขาธิการ ศอ.บต. ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึงประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ปัญหาความขัดแย้ง เพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับข้าราชการอื่นๆ ได้อย่างบูรณาการ ไม่ใช่ไปรับใช้พรรคการเมือง
เยียวยาอย่าสองมาตรฐาน – คัดค้านปกครองพิเศษ
7.รัฐบาลควรจ่ายเงินเยียวยาให้พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548–2553 โดยเฉพาะกรณีกรือเซะ ที่รัฐบาลจ่ายเยียวยาให้เพียงรายละ 4 ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ขอให้มีการทบทวน
การกล่าวอ้างว่าผู้เสียชีวิตปะทะกับเจ้าหน้าที่ จึงลดเงินเยียวยาเหลือแค่ 4 ล้านบาท และกล่าวหาว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบนั้น แนวความคิดดังกล่าวนี้ไม่เป็นการสร้างความปรองดองและไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการเยียวยา จึงควรทบทวนมติของคณะกรรมการเยียวยาไม่ให้เป็นสองมาตรฐาน
8.คัดค้านการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ หรือร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร หรือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจาก ศอ.บต.เป็นหน่วยหลักในการพัฒนา การให้ความยุติธรรม เป็นธรรม การฟื้นฟูเยียวยาแก่ประชาชนในพื้นที่ และมี กอ.รมน.ดูแลด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยเป็นพิเศษอยู่แล้ว
ประกอบกับในปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการกระจายอำนาจการบริหารในรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้แทนของตนเข้าไปบริหารงานแล้ว
หนุนใช้ "มาตรา 21" รับแนวร่วมกลับใจ
9.ขอให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในฐานะ ผอ.รมน.และ ผอ.ศอ.บต.โดยตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเกิดเอกภาพทั้งการบังคับบัญชา การกำหนดนโยบาย และนำนโยบายไปปฏิบัติ
ส่วนการเข้าแสดงตัวต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐจำนวน 93 คนที่เคยเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น พรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพและเสนอให้รัฐบาลขยายผลต่อไป พร้อมใช้กระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รองรับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเหล่านี้ในการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบหารือกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ ศปภ.ดอนเมือง
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต