คดีความมั่นคงยกฟ้องกว่าครึ่ง...สะท้อนปัญหา "ต้นธาร" ยุติธรรม
ปรัชญา โต๊ะอิแต
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ข้อมูลสถิติคดีความมั่นคงที่ศาล "ยกฟ้อง" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลาที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำมารายงานเอาไว้ว่ามีมากถึง 40-60% อันเป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 นั้น นับว่าน่าตกใจและเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจติดตามตรวจสอบอย่างกว้างขวาง
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม เห็นว่า การที่มีคดียกฟ้องในอัตราที่สูงขนาดนี้ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม “ต้นธาร” หมายถึงเจ้าพนักงานซึ่งทำหน้าที่จับกุม รวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างอ่อน สะท้อนไปถึงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนก่อนจับกุม น่าจะไม่ได้ทำอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ
“โดยมาตรฐานที่ยอมรับได้ คดีที่ยกฟ้องจะอยู่ในระดับ 5% แต่นี่สูงมากกว่า 50% แสดงว่าระบบมีปัญหา”
ชาวบ้านติดคุกฟรีหลังคดียกฟ้อง
ทนายสิทธิพงษ์ อธิบายว่า หากพิจารณากระบวนการยุติธรรมต้นธารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา หลังจากมีการเชิญตัวหรือจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ก็จะส่งตัวไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนสรุปสำนวนพร้อมความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แล้วส่งให้อัยการ เมื่อถึงขั้นตอนของอัยการ เนื่องจากคดีมีมาก และการควบคุมตัวจำเลยในชั้นสอบสวนใช้เวลานาน ทำให้สำนวนที่อยู่ในมือของอัยการจังหวัดหรืออัยการเขตเหลือเวลาไม่กี่วันก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาล (การควบคุมตัวในชั้นก่อนฟ้อง กำหนดให้ผัดฟ้องฝากขังได้ครั้งละ 12 วัน รวมไม่เกิน 84 วัน) อัยการจึงไม่ค่อยได้ตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะต้องรีบสั่งฟ้อง ไม่อย่างนั้นต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา
“อัยการสั่งฟ้องง่ายเกินไป อาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่ารัฐไม่จำเป็นต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลย แม้สุดท้ายคดีจะยกฟ้อง เพราะเหตุแห่งการยกฟ้องมี 2 กรณี คือ 1.การยกฟ้องเพราะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย กล่าวคือยังมีเหตุอันควรสงสัยในตัวจำเลย แต่ไม่มีพยาน ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงยกฟ้อง อย่างนี้จะไม่ได้รับค่าชดเชยอะไรเลย กับ 2.การยกฟ้องเพราะไม่ได้กระทำความผิดจริง กรณีนี้จะได้ค่าชดเชย (ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544) แต่กว่าคดีจะถึงที่สุด ส่วนใหญ่ก็กินเวลาเกือบ 5 ปี”
“ที่สำคัญคดีความมั่นคงส่วนใหญ่ ศาลมักยกฟ้องด้วยเหตุผลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย หมายถึงยังมีเหตุอันควรสงสัยอยู่ จุดนี้ทำให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ”
สงสัยมีนโยบาย”ฟ้องทุกคดี”
ทนายสิทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วอัยการมีสิทธิ์สั่งไม่ฟ้องคดีได้ หากพยานหลักฐานไม่หนักแน่นพอ แต่คดีความมั่นคงทุกคดีเหมือนมีนโยบายว่า อย่างไรก็แล้วแต่ต้องสั่งฟ้องไว้ก่อน เป็นการสั่งฟ้องง่ายๆ เมื่อคดีถึงชั้นศาล ด้วยพยานหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนัก จึงทำให้มีคดียกฟ้องเป็นจำนวนมาก แต่นั่นก็กินเวลาไปกว่า 2 ปีที่จำเลยต้องสูญสิ้นอิสรภาพ และสูญเสียโอกาสต่างๆ มากมาย
“ส่วนตัวผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมต้นธาร คือในชั้นสืบสวนสอบสวนเป็นปัญหามากที่สุด เหมือนการทำงานไม่มีศักยภาพ ไม่มีความเป็นมืออาชีพพอ พนักงานสอบสวนน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ ลองไปดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บอกว่าพนักงานสอบสวนสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหาได้ โดยส่งให้พนักงานสอบสวนก่อนจะลงความเห็น และรวบรวมส่งอัยการ นี่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายเปิดช่องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีความละเอียดรอบคอบที่สุด แต่เจ้าพนักงานกลับเลือกที่จะใช้หลักฐานของตนเองเท่านั้น ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า พยานซัดทอด โดยไม่ยอมเปิดโอกาสให้กับผู้ถูกกล่าวหาเลย”
และจากปัญหาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ที่ล่าสุดมีผลการทดสอบออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถค้นหาสารประกอบระเบิดได้จริงนั้น ทนายสิทธิพงษ์ บอกว่า จีที 200 ถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะศาลไม่ได้รับฟังเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักในการพิจารณาคดี
หวั่นมีแต่แพะรับบาป
ขณะที่ อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักวิชาการด้านสันติวิธี และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า เมื่อทหารจะจับใครก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เมื่อใช้ไม่ได้ก็จะเปลี่ยนไปใช้กฎอัยการศึกแทน (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) ตรงนี้ยิ่งไปเพิ่มความไม่ยุติธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ศาลยกฟ้อง ส่วนใหญ่ก็เนื่องจากการจับกุมโดยใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานรองรับเพียงพอ
“ทุกวันนี้ผมว่าเกิน 50% ที่ผู้ถูกจับกุมเป็นแพะ คือไม่ได้มีส่วนในการกระทำความผิดจริง โดยเฉพาะแพะที่มาจากเครื่องจีที 200 ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเริ่มจากความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้ลงรายละเอียดตั้งแต่ต้น ใช้ทหารเป็นตัวหลักในการจับกุม และส่วนใหญ่ทหารจะสั่งตำรวจว่าควรจับใคร ที่ไหน อย่างไร โดยไม่มีกระบวนการยุติธรรมอื่นเข้ามาถ่วงดุลหรือร่วมพิจารณาเลย”
“ฉะนั้นถ้ารัฐยังใช้รูปแบบและแนวทางเดิม ภาคใต้ก็ไม่มีวันสงบ รูปการณ์ก็ยังจะเป็นอย่างนี้ตลอด สิ่งที่รัฐทำเป็นการอ้างความชอบธรรมเท่านั้น แต่ระยะเวลาของการพิสูจน์ความผิดมันนานเกินไป จนทำให้เจ้าหน้าที่บางคนพ้นภารกิจ ออกนอกพื้นที่ไปแล้วก็มี แต่ชาวบ้านยังต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีอยู่”
จี้เลิกใช้กฎหมายพิเศษ
อัฮหมัดสมบูรณ์ ยังเสนอทางออกของปัญหาว่า รัฐควรเลือกใช้กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง เช่น ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีเนื้อหารับรองสิทธิของผู้ต้องหาตามหลักสากล อันจะทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่ามีความยุติธรรมจริง และตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนน่าจะเป็นตัวหลักในการทำคดี แล้วให้เจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ ร่วมตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
“ที่น่าสนใจก็คือเมื่อจับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยมาแล้ว คนที่รับหน้าที่ไปสอบสวนเบื้องต้นกลับเป็นแค่พลทหาร หรือทหารระดับปฏิบัติการซึ่งไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ส่วนใหญ่จะใช้วิธีพูดจาข่มขู่ ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมห้ามเด็ดขาด ผมจึงมองว่าเราควรจะมาทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก) ถ้าถามผม ผมอยากให้เลิกใช้ทั้งสองฉบับ แล้วใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วแทน”
“เราเคยมีตัวอย่างกรณีจับกุมสองพี่น้องที่ จ.ปัตตานี ตำรวจในพื้นที่ยืนยันว่าสองพี่น้องเป็นคนดี ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เป็นคนช่วยทำงานให้รัฐตลอดมา แต่ทหารไม่ยอม ก็จับเขาอยู่ 35 วันถึงปล่อย ถามว่าคนที่สิ้นอิสรภาพไป 1 วัน มันมีค่ามากไหม ฉะนั้นเราต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสามจังหวัดให้ได้รับการดูแลอย่างจริงจังโดยใช้กฎหมายปกติและกระบวนการยุติธรรมปกติ” นักวิชาการด้านสันติวิธี กล่าว
เป็นภาพสะท้อนของปัญหาและข้อเสนอที่เป็นทางออกซึ่งรัฐไม่ควรละเลย...หากต้องการหยุดความรู้สึกอยุติธรรม!
---------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.pinonlines.com
อ่านประกอบ : ตะลึงสถิติคดีชายแดนใต้"ยกฟ้อง"40-60% - มาตรา 21 ไร้ความคืบหน้า