ไขปมทหารใต้…ทำไมมั่นใจจีที 200 (เหลือเกิน)
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
กลายเป็นงาน “ลูบหน้าปะจมูก” ระดับชาติ กับปมปัญหาเรื่องเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด “จีที 200” ซึ่งผลการทดสอบที่จัดโดยรัฐบาลยืนยันว่าไร้ประสิทธิภาพ แต่กลับสั่งทหารให้เลิกใช้ไม่ได้ กำลังพลในภาคใต้ยังคงเดินหน้าใช้ต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางลงพื้นที่ตามบัญชานายกฯ เพื่อนำผลการทดสอบกลไกการทำงานของเครื่อง "จีที 200" ที่ชี้เป้า (สารประกอบระเบิด) ถูกต้องเพียง 4 ครั้งจาก 20 ครั้ง เทียบค่าความน่าจะเป็นน้อยกว่าการเดาสุ่ม ไปแจ้งให้เหล่าทหารหาญที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทราบ ตามโครงการ “นักรบพบนักวิทย์”
เหตุเพราะแม้จะมีการทดสอบกันครึกโครมด้วยเทคนิค "ดับเบิล บลายด์ เทสต์" (Double Blind Test: ตาบอดสองฝั่ง) คือทั้งผู้ซ่อนวัตถุระเบิด กับคนหาวัตถุระเบิดไม่เจอหน้ากัน โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตุถระเบิดมือดีที่สุดเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการทดสอบด้วย จนมีข่าว “หน้าแตก” ไปตามๆ กัน ก็ยังไม่อาจทำให้พี่น้องทหารคลายความเชื่อถือเจ้าเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ได้
และล่าสุดก็เป็นไปตามคาดกับโครงการ “นักรบพบนักวิทย์” ซึ่งมีนายทหารระดับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว (ระดับปฏิบัติการจริงในพื้นที่) เข้ารับฟังคำชี้แจง โดยมีผู้นำหน่วยทั้ง พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบ.ศชต.) และ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมรับฟังด้วย แต่ก็ปรากฏว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นั่นคือกำลังพลในพื้นที่ก็จะใช้เครื่อง "จีที 200" ในการค้นหาระเบิด อาวุธปืน ยาเสพติด และซากศพต่อไป โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลไม่ได้สั่งยกเลิกการใช้งาน!
นี่คือเรื่อง “ตลกร้าย” ระดับประเทศ เพราะที่อังกฤษ เพียงแค่สำนักข่าวชื่อดังอย่างบีบีซี ผ่าเครื่องแล้วไม่พบกลไกอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ รัฐบาลอังกฤษก็จับกุมผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย จากนั้นก็ออกคำสั่งห้ามส่งออก พร้อมแจ้งเตือนไปยังทุกประเทศทั่วโลกให้ระงับการใช้เครื่องมืออื้อฉาว รวมถึงอิรักด้วย
แต่สำหรับ “พี่ไทย” ขนาดจัดทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างใหญ่โต สื่อทุกแขนงเกาะติดแทบจะถ่ายทอดสด และผลก็ออกมาชัดจนไม่รู้จะชัดอย่างไร แต่หน่วยงานความมั่นคงในฐานะ “ผู้ใช้” ก็ยังจะขอใช้ต่อ แถมคนระดับ ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการทหารบก) ยังระดมลูกน้องออกมาแถลงข่าวแสดงความเชื่อมั่นอีกต่างหาก
คำถามก็คือทำไมพวกเขาถึงเชื่อมั่นเชื่อถือเครื่องมือชนิดนี้...คำตอบก็คือ เพราะ "จีที 200" ในมือของเขามันเคยตรวจระเบิดเจอจริงๆ เคยตรวจอาวุธปืนเจอจริงๆ ตรวจยาเสพติดก็เจอจริงๆ ทำให้ปักใจเชื่อ เพราะเครื่องช่วยสร้างผลงาน และช่วยชีวิตพวกเขาเอาไว้หลายต่อหลายครั้ง
แต่ในความจริงที่จริงยิ่งกว่า เรื่องเหล่านี้ล้วนมีคำอธิบาย ซึ่งหากเปิดใจกว้างรับฟังเสียหน่อย ก็น่าจะได้ลองทบทวน...
ประการที่ 1 สาเหตุสำคัญที่เครื่อง จีที 200 ตรวจเจอระเบิดเยอะแยะในภาคใต้ (ข้อมูลของนายทหารระดับสูงอย่าง พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ระบุว่าหาระเบิดเจอ 300 กว่าครั้งจากการปิดล้อมตรวจค้น 400 กว่าครั้ง) เป็นเพราะ
1) ในพื้นที่มีวัตถุระเบิดและสารประกอบระเบิดจำนวนมาก โอกาสค้นหาแล้วพบจึงมีเปอร์เซ็นต์สูงตามไปด้วย นี่คือคำอธิบายว่าเหตุใดเมื่อทดสอบในพื้นที่ปิดดังที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทดลอง เครื่องจึงหาสารระเบิดเจอในสถิติที่ต่ำมาก ต่ำกว่าที่จะยอมรับได้
2) การเข้าปิดล้อมตรวจค้นเคหะสถาน หมู่บ้านต้องสงสัย รวมถึงตรวจค้นยานพาหนะ โดยมากมักมี “การข่าว” แจ้งเบาะแสล่วงหน้า เช่น หมู่บ้านนี้ บ้านหลังนี้ หรือรถยนต์สีนี้ ยี่ห้อนี้ เข้าข่ายต้องสงสัย เมื่อนำเครื่องไปใช้และพบเคหะสถานหรือยานพาหนะตรงกับที่ “ข่าว” แจ้งมา ก็จะเกิดการเบี่ยงเบนโดย “จิตใต้สำนึก” ซึ่งผู้ถือเครื่องไม่รู้ตัว ทำให้เครื่องชี้ไปในทิศทางที่ผู้ถือสงสัยอยู่ก่อนแล้ว
เหมือนเวลาเราขับรถ หากเผลอเหลียวมองอะไรข้างทาง มือก็จะหมุนพวงมาลัยตามจนรถแถเข้าหาข้างทางโดยที่เราไม่รู้ตัว...
ประการที่ 2 สาเหตุที่กำลังพล โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าเครื่อง จีที 200 แม่นมากกว่าไม่แม่น มีดีกว่าไม่มี เป็นเพราะ
1) ในการตั้งจุดตรวจยานพาหนะต้องสงสัย สมมติว่ามีรถแล่นผ่าน 100 คัน เครื่อง จีที 200 ชี้ไปที่รถ 10 คัน เมื่อค้นรถก็พบอาวุธปืนบ้าง หรือสารประกอบระเบิดบ้าง ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำสูง แต่คำถามก็คื้อ ในรถอีก 90 คันที่เหลือ ก็อาจมีอาวุธปืนหรือสารประกอบระเบิดซุกซ่อนมาด้วยก็ได้ เพียงแต่เครื่องไม่ชี้ จึงไม่เรียกตรวจ คิดง่ายๆ หากมีรถที่มีวัตถุต้องห้ามผ่านด่านไปได้อีก 10 คัน ก็แสดงว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำเพียง 50% ไม่ใช่ “ชี้เมื่อไหร่เป็นเจอ” ดังที่เข้าใจ
2) การเข้าปิดล้อมตรวจค้นเคหะสถาน สมมติการข่าวแจ้งว่าหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีบ้านต้องสงสัยเป็นแหล่งประกอบระเบิด เมื่อนำเครื่องจีที 200 เข้าไปตรวจ ปรากฏว่าเครื่องมือชี้ไปที่บ้านหลังหนึ่ง เข้าไปค้นก็เจออุปกรณ์ประกอบระเบิดจริงๆ อย่างนี้ก็ทำให้กำลังพลเชื่อว่าเครื่อง จีที 200 แม่น ทั้งๆ ที่สาเหตุของการค้นพบ อาจมาจากการข่าวมากกว่าตัวเครื่องก็เป็นได้ (เกิดการเบี่ยงเบนจากจิตใต้สำนึก เช่นเดียวกับตอนตั้งด่านตรวจรถ)
ซ้ำร้ายหากยังมีบ้านอีกหลายหลังในหมู่บ้านเป็นสถานที่ประกอบระเบิดเช่นกันแต่เครื่องไม่ชี้ ก็แสดงว่าเครื่องตรวจไม่เจอมากกว่าเจอ หมายถึงเครื่องไม่มีความแม่นยำ
ประการที่ 3 การเก็บสถิติมักเก็บเฉพาะครั้งที่ตรวจเจอ เหมือนการแทงหวย พอแทงถูกก็ดีใจกันใหญ่ คิดว่าโชคดี ได้กำไร แต่ไม่ได้คิดว่าที่แทงไม่ถูกมาหลายสิบหลายร้อยงวดหมดเงินไปเท่าไหร่ คือพอแทงไม่ถูกก็โทษดวง โทษโชคชะตาไปเรื่อย
ไม่ต่างจาก จีที 200 พอตรวจไม่เจอ คือเครื่องมือไม่ชี้ แต่นำกำลังเข้าไปค้นกลับเจอวัตถุต้องสงสัย ก็จะมีคำอธิบายประมาณว่า เครื่องเบี่ยงเบนเพราะสภาพแวดล้อม...ลมแรงบ้างล่ะ หรือไม่ก็ “ผู้ใช้” สภาพร่างกายไม่พร้อมบ้างล่ะ
ในทางกลับกัน หากเครื่องมือชี้ แต่ไปค้นแล้วไม่เจอวัตถุต้องสงสัย ก็จะอธิบายว่า บ้านหลังนี้หรือรถคันนี้เคยเป็นที่ซุกระเบิด แต่เคลื่อนย้ายออกไปแล้ว ทว่ายังมีไอของสารกระจายอยู่ ทำให้เครื่องมือชี้ แต่หาของกลางไม่พบ
กลายเป็นว่าเครื่องมือแม่นสุดขีด (แค่ไอระเหยของสารยังชี้) ทั้งๆ ที่จริงๆ ต้องนับเป็นสถิติว่า “ไม่แม่น” ดังที่ ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเอาไว้ว่า หากเครื่องตรวจวัดมีความไว (sensitivity) มากเกินไป ก็จะตรวจผิด หรือได้ผลหลอก
เหตุระเบิดที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะพอใช้เครื่องตรวจแล้วไม่เจอ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็อธิบายว่า เป็นเพราะเครื่องอยู่ห่างจากจุดวางระเบิดถึง 60 เมตร แต่ พ.อ.บรรพต คงลืมไปว่า สรรพคุณของเครื่องตามที่โฆษณา (และทหารก็เชื่อ) อ้างว่าสามารถค้นหาสสารที่ต้องการในพื้นที่เปิดโล่งได้ถึง 700 เมตร (กว่าครึ่งกิโลฯ) หรือต้องรอให้เดินผ่านจุดวางระเบิดเสียก่อน หากเป็นอย่างนั้นจริงจะช่วยเรื่องความปลอดภัยได้อย่างไร
เหตุผลเหล่านี้หากไม่ได้นำมาฉุกคิด ก็จะทำให้กำลังพลส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะส่วนใหญ่) เชื่อโดยสุจริตใจว่าเครื่องมือมีความแม่นยำ ยิ่งหากผ่านประสบการณ์ที่เครื่องชี้ระเบิดและเก็บกู้ได้ก่อน เสมือนหนึ่งว่าช่วยชีวิตกำลังพลผู้นั้นหรือหน่วยนั้นให้รอดตายด้วยแล้ว ในความรู้สึกของพวกเขาก็แน่นอนว่า “จีที 200” แทบจะทรงอานุภาพยิ่งกว่าพระเครื่องหรือผ้ายันต์เสียอีก
ทางออกในเรื่องนี้ แค่ทำความเข้าใจในแบบที่นายกฯอภิสิทธิ์ คิดไว้ทีแรกคงไม่พอเสียแล้ว แต่คงต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองอีกครั้ง ก่อนที่ปัญหาจะยิ่งลุกลามและเกิดปรากฏการณ์ชาวบ้านต่อต้านรัฐมากกว่าเดิม!
------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. จ.ส.อ.ปิยะวิทย์ ชนะรัตน์ ผู้บังคับจุดตรวจบ้านควนดิน ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะใช้เครื่อง จีที 200 ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ
2. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ชายแดนใต้ตามโครงการ "นักรบพบนักวิทย์" เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา
3. ภาพถ่ายช่องใส่การ์ด จีที 200 เป็นแค่ช่องกลวงโบ๋ ไม่มีจุดสัมผัสกับกลไกอิเล็กทรอนิกส์ และไม่มีแม้แต่สลักล็อคแผ่นการ์ดให้ยึดติดกับตัวเครื่อง (ภาพนี้เอื้อเฟื้อโดยชุมชนวิทยาศาสตร์หว้ากอ)
อ่านประกอบ :
- แฉภาพเอ็กซเรย์ "จีที 200" แค่แท่งพลาสติกกลวงโบ๋
- ผ่ากันจะๆ "การ์ด จีที 200" พบแค่กระดาษแผ่นจิ๋ว ไร้กลไกหาระเบิด นายกฯไฟเขียวผ่าเครื่องซ้ำ