ราษฎรอาสาพิทักษ์หมู่บ้านและทรัพยากร...ชุมชนเข้มแข็งด้วยพลังประชาชน
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บทเรียนประการหนึ่งที่ได้จากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ไม่มีทางที่รัฐจะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้เลย ไม่ว่าจะส่งกำลังทหาร ตำรวจจำนวนมหาศาลขนาดไหนลงไปก็ตาม หากรัฐไม่ได้รับความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากประชาชนเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง
และนั่นคือที่มาที่ทำให้เกิดโครงการต่างๆ เพื่อหวังสร้างการมีส่วนร่วมจากชาวบ้านให้ช่วยกันปกปักรักษาแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเอง
แม้หลากหลายโครงการที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา อาทิ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) อาสาสมัครรักษาเมือง (อรม.) หรือแม้แต่อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) จะยังถูกตั้งคำถามและมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสำเร็จอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ที่ อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา มีผลสัมฤทธิ์ที่น่าศึกษา และน่านำมาเป็นแบบอย่างอยู่ไม่น้อย
แม้ อ.คลองหอยโข่ง จะไม่ได้เป็น “พื้นที่พิเศษ” เหมือนกับอีก 4 อำเภอที่เป็นเขตติดต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็จัดว่าเป็นพื้นที่ข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง อีกทั้งยังอยู่ใกล้ๆ กับท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ที่เคยเกิดระเบิดมาแล้ว และที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีพื้นที่โครงการทั้งสิ้นถึง 800 ไร่อีกด้วย
ทั้งนี้ การดูแลรักษาความปลอดภัยโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เป็นภารกิจของ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันติดปากว่า “ทหารเสือ” แต่ด้วยพื้นที่ของโครงการที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้เหล่า "ทหารเสือ" เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนที่จะมาช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อย จึงจัดให้มีการอบรมในโครงการ “ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์หมู่บ้านและทรัพยากร” ขึ้น เรียกย่อๆ ว่า รพท.
การฝึก รพท.มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันเป็นหูเป็นตารักษาความปลอดภัยและความสงบในพื้นที่โดยรอบโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งดำเนินการเป็นรุ่นที่ 2 มีราษฎรเข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นถึง 200 คน
ร.อ.ณรงค์วิทย์ ท้าววังใน ผู้ช่วยหัวหน้ายุทธการและการข่าว ร.21 รอ.เล่าให้ฟังว่า โครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริฯ ที่ อ.คลองหอยโข่ง จะมีการจัดกำลังทหารเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ต่างกับโครงการฟาร์มตัวอย่างฯในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะมีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเช่นกัน
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง ประกอบด้วยชาวไทยพุทธ 90 เปอร์เซนต์ และไทยมุสลิม 10 เปอร์เซนต์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา โดยพื้นที่ทำสวนยางก็จะอยู่รอบๆ พื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างฯนั่นเอง ฉะนั้นหากพี่น้องประชาชนได้รับการฝึกและจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นแล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่โครงการฯ ตลอดจนพื้นที่โดยรอบ ไม่ให้มีภัยคุกคามจากการแทรกซึมรูปแบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนเกราะป้องกันชั้นแรกในการดูแลพื้นที่
“ที่ผ่านมาถึงจะมีกำลังทหารเข้ามาดูแลรักษาความความปลอดภัยในพื้นที่ฟาร์มก็จริงอยู่ แต่ประชาชนก็ถือเป็นกำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเป็นหูเป็นตาและช่วยเหลืองานของทหาร โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนนั้นรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี เพราะเป็นพื้นที่ของเขาเอง” ผู้กองณรงค์วิทย์ กล่าว
จริงๆ แล้วการฝึกอบรมชาวบ้านในโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์หมู่บ้านและทรัพยากรนั้น ไม่ได้เป็นโครงการใหม่ แต่เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในหลายๆ พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เช่น ที่ จ.นราธิวาส เคยอบรมประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ไปแล้วถึง 3 รุ่น รวมกว่า 1,500 คน
“ในพื้นที่ อ.คลองหอยโข่ง เมื่อปีที่ผ่านมา เคยฝึกอบรมชาวบ้านไปแล้วรุ่นแรก จำนวน 300 คน ส่วนรุ่นที่ 2 มีประชาชนทั้งชายและหญิงเข้าร่วมรับการอบรมทั้งสิ้น 200 คนจาก 32 หมู่บ้าน 4 ตำบล คือ ต.คลองหอยโข่ง ต.โคกม่วง ต.คลองหลา และ ต.ทุ่งลาน มีระยะเวลาอบรมตามโครงการ 3 วันเต็ม” ผู้กองณรงค์วิทย์ บอก
สำหรับการอบรมจะเน้นหนักเรื่องการสร้างความร่วมมือ การประสานสัมพันธ์ และสนธิเครือข่ายในระบบป้องกันหมู่บ้านเข้าด้วยกัน โดยจะมีหน่วยงานในพื้นที่หลายหน่วยงานเข้ามาร่วม ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง และส่วนราชการอื่นๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ที่สำคัญยังได้จัดอบรมเพิ่มความรู้ในการประกอบอาชีพตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางทรัพยากรอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน
“การอบรมจะเน้นให้ความรู้ประชาชนในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย เรื่องกฎหมายเบื้องต้น การตั้งป้อมยามในชุมชน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งในชุมชน การอบรมอาชีพตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมไปถึงเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน”
ผู้กองณรงค์วิทย์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คาดหวังจากโครงการก็คือ ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจในระบบการป้องกันหมู่บ้าน สามารถให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการรายงานข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยคุกคามในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างฯได้ รวมทั้งสามารถสนับสนุนการปฏิบัติในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เกิดความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่อย่างเป็นระบบ กระทั่งเกิดความมั่นคงมั่งคั่งในพื้นที่อย่างสมบูรณ์
นายวรวุฒิ ชูคดี อายุ 22 ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่ง หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวโครงการนี้เปิดอบรมรุ่นที่ 2 ก็ได้ตัดสินใจมาสมัคร เพราะอยากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครหมู่บ้านเพื่อช่วยทำหน้าที่ดูแลความสงบสุขภายในชุมชน
“ผมอยากช่วยเหลือบ้านเกิด และจะคอยเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ ที่สำคัญจะได้นำความรู้และการเรียนรู้หลายๆ เรื่องจากการฝึกอบรมไปแนะนำให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับทราบต่อไป เพื่อให้ชุมชนของเราเป็นชุมชนเข้มแข็ง ปลอดภัย และปลอดจากยาเสพติด”
เช่นเดียวกับ นางพิมพ์ใจ แก้วประชุม วัย 46 ปี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง ที่บอกว่า อยากมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ เพราะรู้สึกว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ก็เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง เราจึงต้องปกป้องบ้านของเราให้รอดพ้นจากอันตรายและภัยคุกคามต่างๆ ที่สำคัญความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมครั้งนี้ จะนำไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนได้รับรู้รับทราบด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลชุมชนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไปนานๆ ชุมชนก็จะเข้มแข็งในที่สุด
เมื่อพี่น้องประชาชนเจ้าของพื้นที่ออกโรงเองแบบนี้ ย่อมไม่มีผู้ไม่หวังดีหน้าไหนกล้าเข้าไปกล้ำกราย!
--------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. ครูฝึกให้ผู้เข้าร่วมอบรมใช้เท้าช่วยกันเลี้ยงถังขนาด 200 ลิตรไม่ให้หล่น อันเป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นความสำคัญของความสามัคคี
2. นั่งรวมพลรับฟังการบรรยายกลางแดดร้อนเปรี้ยงเพื่อฝึกความอดทน
3. "เหนื่อย ง่วง หิว ผิดหวัง" บททดสอบกำลังใจที่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนต้องฝ่าไปให้ได้