เครื่องตัดสัญญาณรีโมท-มือถือ...“ทางเลือก-ทางรอด”ของตำรวจทหารแดนใต้
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ “จีที 200” จะกลายเป็นเครื่องมือลวงโลกไปแล้วในความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไปมิได้ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางภยันตรายของตำรวจ ทหารที่ชายแดนใต้ คำสั่งให้เลิกใช้เครื่อง "จีที 200" นั้นง่าย แต่อะไรคือหลักประกันในยามที่พวกเขาต้องเดินออกจากฐานเข้าสู่พื้นที่เสี่ยงตาย
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ใช้วิธี “หักดั้มพร้าด้วยเข่า” เพราะเข้าใจความรู้สึกของคนทำงาน และก็ไม่แปลกที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะสั่งเดินหน้าผลิตเครื่องตัดสัญญาณการจุดระเบิด หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เครื่องแจมเมอร์” เพื่อใช้ในภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในดินแดนด้ามขวาน
ปัจจุบันในสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนร้ายมีวิธีการจุดระเบิดที่เห็นบ่อยๆ อยู่ 5 วิธี คือ 1.ตั้งเวลาโดยใช้นาฬิกา 2.กดด้วยมือโดยใช้แบตเตอรี่ 3.ใช้โทรศัพท์มือถือ 4.ใช้รีโมทคอนโทรล และ 5.ใช้วิทยุสื่อสาร หรือที่เรียกว่า “สไปเดอร์บอมบ์”
สองวิธีแรกแม้จะป้องกันยาก แต่ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ระเบิดทำงานผิดพลาดมากเหมือนกัน สิ่งที่น่ากลัวคือ 3 รูปแบบหลังที่มีโอกาสความแม่นยำสูงกว่า ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯคิดค้นเครื่องมือตัดสัญญาณแต่ละแบบได้แล้ว เพียงแต่กระบวนการผลิตยังล่าช้าและไม่เพียงพอกับความต้องการ ตัวเลขอย่างเป็นทางการคือเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือมีอยู่ 88 เครื่อง ขณะที่เครื่องตัดสัญญาณรีโมทคอนโทรลและวิทยุสื่อสาร มีไม่เกิน 3 เครื่อง
แต่ความปลอดภัยของกำลังพลท่ามกลางภารกิจเสี่ยงอันตรายเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เพราะความรุนแรงและความสูญเสียยังคงเกิดขึ้นทุกวัน และนั่นคือความจำเป็นที่ตำรวจ ทหารในพื้นที่ต้องหาวิธีป้องกันตัวเอง!
ดังเช่นที่ สภ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งมี พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา เป็นหัวหน้าสถานี เขาเล็งเห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของชีวิตตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จึงได้จัดหาเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและเครื่องตัดสัญญาณรีโมทคอนโทรลมาให้ลูกน้องได้ใช้งาน
“มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2551 ผมจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 5 มี.ค.เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ตลาดนัดบ้านปาลัส อ.ปะนาเระ ผมต้องสูญเสียลูกน้องไป 2 คนจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ ด.ต.ประเทือง สุวรรณสงเคราะห์ และ ด.ต.พงษ์เทพ ยกประสพรัตน์ หลังจากวันนั้นผมก็พยายามหาอุปกรณ์อะไรก็ได้ที่จะช่วยรักษาชีวิตพวกเขา เพื่อให้ปลอดภัยมากที่สุดในยามออกปฏิบัติหน้าที่”
พ.ต.อ.นฤชา เล่าว่า ในปีนั้นมีเหตุลอบวางระเบิดเกิดขึ้นเยอะมาก แต่เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและรีโมทคอนโทรลที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาให้มีเพียงเครื่องเดียว ไม่เพียงพอต่อกำลังพลของโรงพัก จึงได้ตัดสินใจใช้งบประมาณจากกองทุนสืบสวนที่มีอยู่ประมาณ 50,000 บาทต่อปี ไปจัดซื้ออุปกรณ์ตัดสัญญาณการจุดระเบิดมาให้ลูกน้อง พร้อมกันนั้นก็ได้รับบริจาคจากภาคเอกชนบ้าง ทำให้ทุกวันนี้ที่โรงพักมีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและรีโมทคอนโทรลแบบพกพาประมาณ 30 ชุด ใครจะออกไปปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะลาดตระเวนหรือสืบสวนหาข่าว ก็สามารถเบิกไปใช้ได้
จากการติดตามดูการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะนาเระ พบว่าอุปกรณ์ตัดสัญญาณการจุดระเบิดที่ สภ.ปะนาเระ ใช้อยู่ มีทั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและรีโมทคอนโทรล มีทั้งขนาดเล็กแบบพกพาและขนาดใหญ่แบบติดตั้งในรถยนต์ ส่วนใหญ่เป็นรถกระบะสายตรวจของโรงพัก
พ.ต.อ.นฤชา กล่าวต่อว่า นอกจากทางโรงพักจะมีอุปกรณ์ตัดสัญญาณการจุดระเบิดให้เบิกใช้ได้ตามภารกิจแล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชาบางรายก็อยากได้อุปกรณ์เหล่านี้ไว้ใช้เป็นของส่วนตัว แต่มีปัญหาเพราะต้องใช้เงินก้อนไปซื้อ เขาจึงให้ทางสหกรณ์ของโรงพักไปจัดซื้อมาก่อน และให้ลูกน้องที่ต้องการสามารถผ่อนชำระกับสหกรณ์ได้ ด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้ตำรวจหลายนายใน สภ.ปะนาเระ มีอุปกรณ์ป้องกันตัวซี่งเป็นของตัวเองสำหรับออกปฏิบัติงาน
“เป็นธรรมดา ใครก็ตามที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็ล้วนต้องการความปลอดภัยในการทำงานทั้งนั้น โดยเฉพาะเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเกือบทุกวัน ก็เห็นกันอยู่ว่าความสูญเสียมันมากขนาดไหน หากมีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือติดตัวไว้เวลาออกไปปฏิบัติหน้าที่ ก็จะสามารถป้องกันตัวเองได้ระดับหนึ่ง สร้างความอุ่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานพอสมควร”
“ตั้งแต่ผมริเริ่มนำอุปกรณ์ตัดสัญญาณการจุดระเบิดมาให้ลูกน้องได้ใช้งาน ทำให้อัตราการสูญเสียกำลังพลของ สภ.ปะนาเระ จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดลดลงอย่างน่าพอใจ คือเหลือเพียง 0 นาย” พ.ต.อ.นฤชา กล่าวยิ้มๆ
ไม่เพียงสนับสนุนให้ลูกน้องใช้ แต่ พ.ต.อ.นฤชา ซึ่งออกทำงานในพื้นที่ร่วมกับลูกน้องทุกวัน ก็ใช้อุปกรณ์ตัดสัญญาณการจุดชนวนระเบิดเช่นเดียวกัน และเขาก็มีประสบการณ์ที่เครื่องมือชนิดนี้เคยช่วยชีวิตเขามาแล้ว
“เมื่อประมาณเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว เกิดเหตุคนร้ายฆ่าเผาหญิงชรา 2 คน คือ นางกิมเนียว พรรครักษ์ และนางคะนึง พรรครักษ์ เหตุเกิดบนถนนสายบ้านท่าน้ำ–บ้านโต๊ะชา ต.ท่าน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบ ผมก็ออกไปตรวจที่เกิดเหตุ และได้นำอุปกรณ์ตัดสัญญาณไปด้วย ซึ่งในวันนั้นไม่มีใครทราบเลยว่ามีระเบิดลูกที่สองถูกวางอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ”
"ช่วงที่เข้าไปตรวจ ผมเปิดเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไร แต่พอผมเดินกลับออกมาพ้นระยะที่อุปกรณ์ตัดสัญญาณทำงานเท่านั้น ระเบิดก็ดังตูมขึ้นทันที โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ มาทราบภายหลังว่าคนร้ายพยายามกดระเบิดหลายครั้งแล้ว แต่มันไม่ระเบิด เพราะผมใช้เครื่องตัดสัญญาณ หากวันนั้นไม่มีอุปกรณ์ชนิดนี้ ผมเชื่อว่าทั้งผมและลูกน้องคงได้รับบาดเจ็บกันหลายคน” พ.ต.อ.นฤชา กล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจยศสิบตำรวจเอกนายหนึ่ง สังกัด สภ.ปะนาเระ ซึ่งมีเครื่องตัดสัญญาณการจุดระเบิดใช้เอง เล่าให้ฟังว่า ตัดสินใจซื้อเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและรีโมทคอนโทรลหลังจากเกิดระเบิดขึ้นขณะที่เจ้าหน้าที่ ตชด.เข้าไปเก็บกู้ระเบิด จน ตชด.เสียชีวิตถึง 3 นายและได้รับบาดเจ็บอีก 1 นาย โดยเหตุการณ์ในวันนั้นเขาอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย เรียกว่าเห็นความสูญเสียต่อหน้าต่อตา
“ผมรู้ซึ้งเลยว่าเหตุระเบิดเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวมาก จึงตัดสินใจซื้ออุปกรณ์ตัดสัญญาณมาใช้ เป็นเครื่องตัดสัญญาณรีโมทคอนโทรล โดยซื้อต่อมาจากรุ่นพี่ตำรวจที่เคยอยู่ที่นี่ด้วยกัน แต่ปัจจุบันย้ายออกไปแล้ว ส่วนเครื่องตัดสัญญาณมือถือผมซื้อจากสหกรณ์ของโรงพัก เพราะสามารถผ่อนจ่ายได้ ราคาของเครื่องตัดสัญญาณทั้ง 2 เครื่อง รวมๆ แล้วก็อยู่ที่ประมาณ 6-7 พันบาท”
สิบตำรวจเอกรายนี้บอกอีกว่า แม้ทางโรงพักจะมีอุปกรณ์ตัดสัญญาณให้เบิกใช้ แต่อยากมีไว้เป็นของส่วนตัวมากกว่า เพราะสะดวก และใช้ได้ตลอดเวลา
“สำหรับผมคิดว่าราคาไม่ถือว่าแพงมากหากเทียบกับความปลอดภัยในชีวิตของเราเอง ทุกครั้งที่ผมออกปฏิบัติหน้าที่ หากได้พกอุปกรณ์ตัดสัญญาณติดตัวไปด้วย จะรู้สึกอุ่นใจมากกว่าไม่ได้พกอะไรไปเลย” ตำรวจจาก สภ.ปะนาเระ กล่าว
ด้านเจ้าของร้านจำหน่ายอุปกรณ์วิทยุสื่อสารรายหนึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือนั้น จริงๆแล้วทางร้านไม่ได้สั่งมาขาย เพราะเราขายแต่อุปกรณ์สื่อสารอย่างเดียว แต่ลูกค้าของร้านส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เวลามาที่ร้านก็มักจะถามถึงเครื่องตัดสัญญาณ และให้ทางร้านช่วยสั่งซื้อให้
“พอถามกันมากๆ ผมจึงตัดสินใจสั่งซื้อให้ตามแต่จะมีออร์เดอร์เข้ามา ไม่ได้นำมาตั้งขายหน้าร้าน เพราะลูกค้าทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ไม่กล้าสั่งมาตั้งขาย ก็เพราะเราไม่ทราบว่าเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เมื่อลูกค้าที่เป็นทหาร ตำรวจสั่ง เราก็หาให้เขา เมื่อเขาซื้อไปแล้วก็ต้องรับผิดชอบเอง หากบุคคลทั่วไปมาสั่ง เราจะไม่นำมาขายให้อย่างเด็ดขาด”
สำหรับเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Cell Phones Jammer ที่มีวางขายอยู่ทั่วไป มีความสามารถในการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้หลายเครือข่าย และหลายย่านความถี่ จึงตัดสัญญาณมือถือได้ทุกระบบที่มีใช้ในประเทศไทย ทั้งนี้ เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือแบบพกพาจะมีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ราว 10–15 เมตร แต่หากเป็นเครื่องใหญ่แบบติดตั้งในรถยนต์หรือสำนักงาน จะมีรัศมีครอบคลุมพื้นที่ถึง 20–50 เมตร
สนนราคาของเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือแบบพกพาอยู่ที่ 2,500–4,000 บาท ส่วนแบบติดตั้งในรถยนต์หรือสำนักงาน ราคาอยู่ที่ 8,000–15,000 บาท ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและประสิทธิภาพการใช้งาน ส่วนใหญ่แล้วอุปกรณ์เหล่านี้เป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศจีนและไต้หวัน
ส่วนเครื่องตัดสัญญาณรีโมทคอนโทรลนั้น ยังไม่มีวางขายทั่วไปมากนัก มีเฉพาะในหมู่เจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (อีโอดี) ที่ใช้อยู่ประจำ และกรมสรรพาวุธของทหารก็กำลังเร่งผลิตออกมาแจกจ่ายให้หน่วยอื่นๆ ได้ใช้งานในพื้นที่ร่วมกัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
การวิ่งหาเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและรีโมทคอนโทรล ซึ่งบางคนถึงขั้นต้องควักทุนส่วนตัว คือภาพสะท้อนความลำบากของทหารตำรวจที่ชายแดนใต้ ซึ่งชีวิตของพวกเขาล้วนแขวนอยู่บนเส้นด้ายและเสี่ยงอันตรายทุกนาที!
-------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. เครื่องตัดสัญญาณการจุดระเบิดขณะเจ้าหน้าที่นำออกใช้งาน
2. พ.ต.อ.นฤชา สุวรรณลาภา
3. เครื่องตัดสัญญาณที่วางขายทั่วไป