ตะลึงสถิติคดีชายแดนใต้“ยกฟ้อง”40-60% - มาตรา 21 ไร้ความคืบหน้า
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบปัญหาการจัดการคดีความมั่นคงในพื้นที่มากพอสมควร เพราะตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีคดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้วและศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี แต่ศาลตัดสินลงโทษเพียง 130 คดี ยกฟ้องถึง 86 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 40
เป็น 216 คดีจาก 7,004 คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด และพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว 1,388 คดี อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง 562 คดี โดยมีสถิติคดีที่ศาลยกฟ้องสูงถึงร้อยละ 40 ทั้งๆ ที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีเปอร์เซ็นต์การยกฟ้องเพียงร้อยละ 0.02 เท่านั้น (ข้อมูลจาก ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และอดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวไว้ในเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งที่ 1 เมื่อ 17 มิ.ย.2551)
แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 ที่รายงานสถิติคดีความมั่นคงในความรับผิดชอบของศาลในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยศาลจังหวัดนราธิวาส ศาลจังหวัดนาทวี ศาลจังหวัดเบตง ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลจังหวัดยะลา ศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดสตูล พบว่า ในปี 2552 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป (1 ม.ค.-31 ธ.ค.2552) มีคดีที่ศาลรับมาทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ตัดสินลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี
ปัญหาทั้งในแง่ของคดีคงค้างจำนวนมาก และอัตราการยกฟ้องคดีที่สูงมากนั้น ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และกับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวซึ่งมีมากถึง 548 คน
เปิดสถิติ 50-51 ยกฟ้อง 66%
นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 ที่ได้รับมา ยังมีสถิติคดีในรอบปี 2550-2551 ด้วย พบว่าศาลมีคำพิพากษาคดีความมั่นคงทั้งสิ้น 60 คดี ลงโทษจำคุกเพียง 20 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 40 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ซึ่งนับว่าสูงมากจริงๆ และน่ากังวลอย่างยิ่ง
สาเหตุที่คดียกฟ้องจำนวนมาก น่าจะมาจาก 2 สาเหตุสำคัญได้แก่
1.ตัวจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่เจ้าหน้าที่ไปจับคนเหล่านั้นมาลงโทษในลักษณะเหวี่ยงแหจับกุม หรือจับแพะ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต
2.ผู้ต้องหาอาจเป็นคนกระทำความผิดจริง แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอมายืนยัน
จี้ใช้มาตรา 21 พ.ร.บ.มั่นคงฯ
แน่นอนว่าการจะแก้ไขหรืออุดช่องโหว่ที่เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ และสามารถดำเนินการได้ 2 ทาง คือในแง่เทคนิควิธีการกับในแง่การเมือง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับมา
“อย่างแรกเราต้องดูเรื่องการนำพยานหลักฐานขึ้นสู่ศาล ต้องมีความรัดกุม รอบคอบ และอาศัยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยให้มากที่สุด ต้องยกเครื่องระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมพื้นที่อย่างแท้จริง”
“อีกด้านหนึ่งผมคิดว่าถ้ากระบวนการยุติธรรมชั้นต้นไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดให้นำมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้บังคับ” นายนิพนธ์ ระบุ
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ที่ ส.ส.สงขลา ผู้นี้พูดถึง ก็คือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ซึ่งในมาตรา 21 สรุปสาระให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่กลับใจเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หรือเป็นบุคคลที่หลงผิด กระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พนักงานสอบสวนสามารถทำความเห็นเสนอไปยัง ผอ.รมน.เพื่อพิจารณา หาก ผอ.รมน.เห็นชอบด้วย ก็ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลผู้นั้นเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนด้วยความยินยอม และจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
เปิดโอกาส”ผู้หลงผิด”ได้กลับตัว
“เท่าที่ทราบเบื้องต้นในขณะนี้ ท่านนายกฯมีความตั้งใจที่จะให้นำมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาใช้ โดยนำร่องในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว และประกาศใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน”
“หลักการของกฎหมายฉบับนี้เป็นหลักการที่ดี และมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสให้คนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งอาจจะกระทำไปโดยหลงผิดหรือเข้าใจผิด หรือถูกล่อลวง หรือกลับใจเข้ามอบตัวเอง ไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญา แต่มีช่องทางเบี่ยงเบนคดีออกไป โดยให้เข้าอบรมเป็นเวลา 6 เดือนด้วยความสมัครใจแทน ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้ว สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องบุคคลนั้นก็เป็นอันระงับไป” ส.ส.สงขลา ระบุ
นายนิพนธ์ ชี้ว่า มาตรการนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดได้กลับตัวกลับใจ และกลับมาให้ความร่วมมือพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาคดีคั่งค้างและมีอัตราการยกฟ้องสูง จนทำให้มีผู้ต้องหาและจำเลยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจะเป็นการลดแรงกดดันจากกลุ่มญาติผู้ต้องขังได้อีกด้วย
จี้ฝ่ายทหารเร่งกำหนดฐานความผิด
นายนิพนธ์ ยังเห็นว่า แนวทางตามมาตรา 21 นี้ คล้ายกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ในอดีตที่ใช้แก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์จนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคปัญหาและรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการก็คือ การกำหนดลักษณะคดีหรือฐานความผิดว่ามีคดีหรือลักษณะคดีใดบ้างเข้าข่ายได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21
“ทำอย่างไรที่จะสามารถกำหนดฐานความผิดที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผมอยากเรียกร้องไปยังฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหารให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะหากฐานความผิดหรือลักษณะคดีไม่ชัด เช่น คดีกบฏ อาวุธปืน ซ่องโจร เข้าข่ายหรือไม่ ก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา 21 ได้ ทั้งๆ ที่กระบวนการนี้ควรมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว” นายนิพนธ์ กล่าว
“บิ๊ก ยธ.”แฉยังไม่เริ่มนับหนึ่ง
ที่ผ่านมา รัฐบาลโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติการใช้มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แต่ดูจะไม่ความคืบหน้ามากนัก และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายกองทัพก็แสดงท่าทีให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ
แต่ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลงานในมิติด้านความเป็นธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับยืนยันว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯยังไม่ได้รับมอบหมายให้วางกรอบหรือกำหนดลักษณะคดีที่จะเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 เลย มีเพียงเลขาธิการ สมช.ที่ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แล้วจัดทำรายงานเสนอนายกฯเท่านั้น
“การจะให้มาตรา 21 มีผลบังคับใช้ได้ จะต้องจัดทำบัญชีกฎหมายแนบท้ายเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ต้องระบุให้ชัดว่ามีกฎหมายอะไร และคนกลุ่มไหนบ้างที่สามารถเข้ากระบวนการนี้ได้ สรุปก็คือต้องตกผลึกตรงนี้เสียก่อนจึงจะเดินหน้าได้”
นายชาญเชาวน์ ยังเสนอด้วยว่า การจะดำเนินการตามมาตรา 21 ต้องมีนโยบายทางอาญาที่ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่แค่รัฐหรือรัฐบาล แต่คนไทยทั้งประเทศ รวมถึงญาติผู้ต้องหา ตลอดจนครอบครัวของผู้เสียหายจะต้องเห็นชอบร่วมกัน จึงอยากเสนอให้จัดประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ข้อสรุป เพราะคดีอาญาที่มีเบื้องหลังเป็นความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง หรือที่เรียกว่า Political Crime เป็นโจทย์ข้อใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยว่าจะแก้ไขอย่างไร
เนื่องจากการจับเข้าคุกไม่ใช่แนวทางแก้ไขที่ถูกต้องแน่นอน!