เปิดตัว "ไฟโด้-เซเบอร์ 4000-ไอออนสแกน" อุปกรณ์ใหม่ทดแทน "จีที 200"
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ถึงที่สุดแล้วกองทัพคงมิอาจต้านทานกระแสสังคมได้ไหว และคงจำต้องเลิกใช้ "จีที 200" ไปอย่างไม่เต็มใจนัก ล่าสุดในที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงเริ่มมีการพูดคุยถามหาอุปกรณ์ตรวจหาวัตถุระเบิดเครื่องใหม่กันแล้ว
และคราวนี้ต้องเป็นเครื่องที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับเท่านั้น...ไม่ใช่แค่แม่น แต่ไม่รู้ใช้หลักการอะไร!
แล้วชื่อ "ไฟโด้-เซเบอร์ 4000" ก็เริ่มหลุดออกมาให้สังคมได้สอบถามถึงประสิทธิภาพ และจินตนาการว่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร ดูน่าเชื่อถือกว่า จีที 200 หรือไม่?
"ทีมข่าวอิศรา" สืบค้นข้อมูลมาไขข้อข้องใจของสังคม...
เริ่มจากเครื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้คือ "ไฟโด้" (FIDO) เจ้าเครื่องไฟโด้ได้แรงบันดาลใจมาจากพรสวรรค์ของสุนัขที่มีจมูกไวกว่ามนุษย์ถึง 300 เท่า เครื่องไฟโด้จึงใช้หลักการดมไอระเหยของสาร บางคนขนานนามว่า "เครื่องดมกลิ่นระเบิดอิเล็กทรอนิกส์"
"ไฟโด้" เป็นอุปกรณ์แบบพกพา มีขนาดเหมาะมือ ทำงานด้วยแบตเตอรี่ขนาดเล็ก วิธีใช้ต้องนำเครื่องไปจ่อใกล้ๆ กับบุคคลหรือวัตถุต้องสงสัยเพื่อให้เครื่องตรวจหาไอระเหยของสารระเบิด โดยเฉพาะ "ทีเอ็นที" สามารถอ่านค่าผ่านจอรายงานผล เป็นอุปกรณ์ตรวจระเบิดที่กองทัพทั่วโลกนิยมใช้ และกองทัพสหรัฐอเมริกายกย่องว่าดีที่สุด
"ไฟโด้" ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ "เอ็มไอที" สหรัฐอเมริกา ศักยภาพของมันสามารถตรวจได้ทั้งบุคคล ยานพาหนะ กระเป๋าเสื้อผ้า และตู้สินค้าขนาดกลาง สามารถติดตั้งกับหุ่นยนต์เพื่อเข้าไปตรวจหาวัตถุอันตรายอย่างใกล้ชิดได้ สนนราคาเครื่องละ 4-5 ล้านบาท ปัจจุบันสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม มีใช้อยู่ 5 เครื่อง กองทัพบกและกองทัพเรือมีใช้หน่วยละประมาณ 10 เครื่อง
อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พูดถึงอยู่บ่อยๆ คือ "ไอออนสแกน" (IONSCAN) เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม จึงเคลื่อนย้ายลำบาก ส่วนใหญ่ใช้ในฐานปฏิบัติการหรือสำนักงาน ปัจจุบันมีอยู่ที่ศูนย์ส่วนหน้าของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
"ไอออนสแกน" ใช้ตรวจหาร่องรอยสารประกอบระเบิดและยาเสพติด แม้เพียงอณูเล็กๆ ก็ตรวจจับได้ โดยสารระเบิดที่เครื่องสามารถตรวจจับได้มีอย่างน้อย 8 ชนิด อาทิ อาร์ดีเอ็กซ์ ทีเอ็นที ไนเตรท ส่วนสารเสพติด ก็เช่น โคเคน เฮโรอีน แอลเอสดี เป็นต้น เนื่องจากตรวจได้หลายอย่าง ราคาจึงสูงถึงกว่า 5 ล้านบาท
วิธีการทำงานของเครื่อง ต้องเก็บตัวอย่างวัตถุที่ต้องการตรวจมา แล้วใช้กระดาษพิเศษของเครื่องไปเช็ดที่ตัวอย่างวัตถุนั้น จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่อง ใช้เวลาตรวจครั้งละ 6-8 วินาที เครื่องก็จะอ่านผลออกมา ผลที่แสดงมีความละเอียดสูง สามารถปรินท์ออกมาอ่านได้ เครื่อง "ไอออนสแกน" ไม่ใช่ตรวจได้เฉพาะวัตถุต้องสงสัยเท่านั้น แต่บุคคลต้องสงสัยก็ตรวจได้เช่นกัน โดยนำกระดาษพิเศษไปเช็ดที่มือหรือเสื้อผ้า และนำเข้าเครื่องแบบเดียวกับตรวจวัตถุ
เนื่องจาก "ไอออนสแกน" เป็นเครื่องขนาดใหญ่ ไม่สามารถใช้งานภาคสนามได้ จึงมีการพัฒนาให้เครื่องมีขนาดเล็กลง เคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก แต่ใช้หลักการทำงานแบบเดียวกัน คือใช้กระดาษไปเช็ดที่วัตถุต้องสงสัยเพื่อเก็บตัวอย่างสารไปตรวจ เครื่องมือนี้เรียกว่า "เซเบอร์ 4000" (SABRE 4000)
อย่างไรก็ดี แม้บริษัทผู้ผลิต "เซเบอร์ 4000" จะอ้างว่าสามารถตรวจวิเคราะห์สารอันตรายและยาเสพติดได้ไม่ต่างกับ "ไอออนสแกน" แต่ข้อมูลจากผู้ที่เคยใช้ระบุว่า จุดอ่อนของเครื่องชนิดนี้คือ หากนำไปใช้ในสถานที่ที่มีสารปนเปื้อนมากๆ เครื่องอาจจะแฮงก์ อ่านค่าได้ลำบาก แต่กระนั้น ระยะหลังก็มีการแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวแล้ว ราคาเครื่องอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท
สุดท้ายคือ "เอ็กซ์แพค" (XPAC) เป็นเครื่องตรวจระเบิดตัวใหม่ล่าสุด รูปแบบการทำงานคล้ายๆ "ไอออนสแกน" โดยให้บุคคลหรือวัตถุต้องสงสัยสัมผัสกระดาษพิเศษของเครื่อง จากนั้นเครื่องจะแสดงผลว่ามีสารต้องห้ามปนเปื้อนอยู่หรือไม่ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ชัดเจนว่าเป็นสารอะไร ราคาเบื้องต้นราวๆ ล้านกว่าบาท แต่ยังไม่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพ
น่าสังเกตว่า เครื่องแต่ละเครื่อง อุปกรณ์แต่ละชนิดดังที่กล่าวมา แม้จะมีราคาสูงถึงสูงมาก แต่ก็ไม่มีเครื่องใดมีสรรพคุณยอดเยี่ยมครบเครื่องเท่ากับที่ "จีที 200" เคยอวดอ้างในคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาได้กระทั่งซากศพ หรือสสารที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยเมตรจนถึง 4 กิโลเมตร นั่นย่อมสะท้อนเป็นอย่างดีว่า "จีที 200" คือของจริงหรือหลอกลวง...
หลังจากนี้คงต้องรอดูว่าเครื่องมืออะไรจะมาอาละวาดที่ชายแดนใต้แทน "จีที 200"
-----------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1. เครื่องตรวจระเบิดไฟโด้ (ซ้าย) และไอออนสแกน (ขวา)
2. เครื่องเซเบอร์ 4000