แง้มหลักสูตรอบรม "มาตรา 21" เปิดประตูรับกลุ่มป่วนใต้กลับใจ?
พลันที่ "กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" หรือเรียกให้ชัดๆ ก็คือ "สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน" ที่มีเขตงานและเคยเคลื่อนไหวใน จ.นราธิวาส จำนวน 93 คน แสดงตัวต่อ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อยุติการก่อเหตุรุนแรง พร้อมยื่นข้อเสนอให้พิจารณาเรื่องหมายจับและคดีความ รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยเพื่อกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขนั้น
ประเด็นที่ต้องหยิบมาพิจารณากันก็คือ เรื่องการยกเลิกหมายจับ ซึ่งมีทั้ง "หมาย ฉฉ." ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ "หมาย ป.วิอาญา" ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร
หากถามใจ พล.ท.อุดมชัย ต้องบอกว่าเป้าหมายของแม่ทัพภาคที่ 4 นั้นคือ "นิรโทษ" ในหลักการเดียวกับ "มาตรา 17 สัตต" แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (กฎหมายถูกยกเลิกไปแล้ว) ที่เปิดทางให้ "นิรโทษกรรม" กลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐ เหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์เมื่อ 30 ปีก่อน
แต่การนิรโทษกรรมไม่ว่าจะด้วยการออกกฎหมายใหม่ หรือฟื้น "มาตรา 17 สัตต" ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนทั่วไปมองว่าพฤติการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แตกต่างจากอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ต่อสู้เฉพาะกับเจ้าหน้าที่รัฐถืออาวุธ กลุ่มป่วนใต้ก่อเหตุรุนแรงโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทั้งชาวบ้านพุทธ มุสลิม พระ วัด มัสยิด ตกเป็นเป้าเหมือนกันหมด หนำซ้ำยังใช้วิธีการทารุณโหดร้าย เช่น ฆ่าตัดคอ วางระเบิดคาร์บอมบ์ ทำให้การ "นิรโทษ" เจอแรงต้านจากสังคม
ฉะนั้นทางออกที่พอมองเห็นในขณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้นบทบัญญัติ "มาตรา 21" แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งจะว่าไปก็ล้อหลักการมาจาก "มาตรา 17 สัตต" นั่นเอง เพียงแต่เพิ่มอำนาจการตรวจสอบหลักฐาน พฤติการณ์ และการนิรโทษ ให้ยึดโยงกับศาลสถิตย์ยุติธรรม
"มาตรา 21" กับข้อปฏิบัติ 6 ขั้นตอน
เนื้อความตามมาตรา 21 บัญญัติเอาไว้แบบนี้ "หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ (หมายถึงผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เฉพาะกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4)
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควร ศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้
การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว
เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป"
จากเนื้อความตามมาตรา 21 สามารถถอดออกมาเป็นกระบวนการปฏิบัติได้ 6 ขั้นตอน ดังนี้
1.เมื่อผู้ต้องหากลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2.ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผอ.รมน. (เฉพาะกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 คือ แม่ทัพภาคที่ 4)
3.เมื่อ ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน และตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ส่งบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
4.พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรม
5.หากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด
และ 6.เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับการอบรม รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนดเสร็จสิ้น ผลคือสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป
4 อำเภอสงขลา "พื้นที่นำร่อง"
ปัจจุบันกระบวนการตามมาตรา 21 ใช้อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี อันเป็นพื้นที่รอยต่อของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่นี้เคยเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกมาก่อน แต่ภายหลังยกเลิกและประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2552 ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้ขยายเวลาประกาศไปแล้ว 2 ครั้งในปี 2553 (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์) และปี 2554 ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยประกาศล่าสุดจะมีผลถึงวันที่ 30 พ.ย.2555
ผู้ต้องหาชุดแรกที่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 มี 4 ราย โดยเริ่มเข้ากระบวนการตั้งแต่กลางปี 2553 ทั้ง 4 คนมีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีลอบวางระเบิดและยุยงปลุกปั่นให้ผู้อื่นกระทำความผิด ทว่าเมื่อกระบวนการเดินไปถึงขั้นตอนที่ 4-5 คือให้ศาลส่งผู้ต้องหาเข้าอบรม ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้ยืนยันต่อศาลจังหวัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2555 ว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมแทนการถูกฟ้องคดี ทำให้กระบวนการต้องล่มกลางคัน
ช่วงต้นปี 2555 ได้มีผู้ต้องหาชุดที่ 2 ซึ่งมีหมาย ป.วิอาญา ในคดีฆ่าผู้อื่นและก่อการร้าย ตัดสินใจเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 อีก 2 ราย และได้ผ่านขั้นตอนให้ศาลสั่งเข้ารับการอบรมแทนการฟ้องคดีเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือน เม.ย.2555 ปัจจุบันทั้งคู่อยู่ระหว่างการอบรมตามหลักสูตรของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่ค่ายพระปกเกล้า (กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 หรือ ป.พัน 5) อ.เมือง จ.สงขลา และจะสิ้นสุดการอบรมในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้
เปิดหลักสูตรอบรมฉบับ "จัดเต็ม"
กระบวนการตามมาตรา 21 ดังกล่าว ต้องบอกว่า กอ.รมน."จัดเต็ม" และทำอย่างรัดกุมที่สุด ด้วยหวังให้เป็นโครงการนำร่องดึงแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ ให้วางอาวุธและหันกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขกับครอบครัว
ไฮไลท์ของกระบวนการอยู่ที่การเปลี่ยนความคิดความเชื่อ จึงจัดหลักสูตรทั้งวิชาการ ประวัติศาสตร์ ศาสนา และการดำเนินชีวิตอย่างครอบคลุมทุกด้าน ใช้ชื่อว่า "หลักสูตรพัฒนาสันติ" อบรมกันทั้งเช้า-บ่ายต่อเนื่องกัน ว่ากันว่าเข้มข้นจริงจังพอๆ กับการศึกษาระดับปริญญาโทเลยทีเดียว ถือเป็นการต่อสู้ในเชิงความคิดเต็มรูปแบบอย่างแท้จริง
วิทยากรที่เชิญมาสอนมากถึง 42 คน มีทั้งนักการศาสนาที่ได้รับการยอมรับอย่าง นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา ศ.ดร.ครองชัย หัตถา อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) รวมทั้งนายทหารดีกรีดอกเตอร์อย่าง พ.อ.ชินวัฒน์ แม้นเดช รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ด้วย
ชื่อรายวิชาที่ร่ำเรียนและอบรมกัน ก็เช่น การยึดมั่นในความดีของอัลลอฮ์ การให้เกียรติต่อเพื่อนมนุษย์ การปฏิบัติความดีและการละทิ้งความชั่วด้วยความบริสุทธิ์ใจ ศาสนาเปรียบเทียบ ครอบครัวสัมพันธ์ บทบาทหน้าที่พลเมืองและสังคม ประวัติศาตร์มลายูร่วมสมัย สิทธิและหน้าที่ของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม การปกครองสวนท้องถิ่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การยอมรับความแตกต่างของบุคคลอื่น การคิดเชิงบวก ทักษะการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการฝึกอาชีพตามความถนัด ซึ่งทั้งสองเลือกเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และการซ่อมคอมพิวเตอร์ ทั้งยังมีกิจกรรมสันทนาการ เช่น วอล์ค แรลลี การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพกายและจิตใจ รวมทั้งทัศนศึกษาด้วย
กอ.รมน.ตั้งเป้าเอาไว้ว่า หากการอบรม 2 ผู้ต้องหานำร่องประสบความสำเร็จ และสามารถกระตุ้นให้บรรดาแนวร่วมก่อความไม่สงบใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เคยสำรวจเอาไว้ว่ามีราว 88 คดี ยอมเข้ากระบวนการมากขึ้น ก็อาจใช้เป็นแนวทางในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
โดยเฉพาะ จ.นราธิวาส เพื่อรองรับ 93 ผู้เห็นต่างจากรัฐที่แสดงตัวยุติความรุนแรงกลุ่มล่าสุด!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ จำนวน 2 รายที่จะจบหลักสูตรการอบรมของ กอ.รมน. ในเดือน ต.ค.นี้
หมายเหตุ : พรางภาพเพื่อปกป้องสิทธิผู้เข้ารับการอบรม โดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา