ให้ประกันผู้ต้องขังคดีความมั่นคง...มิติใหม่ความเป็นธรรมที่ชายแดนใต้
ปรัชญา โต๊ะอิแต
กิ่งอ้อ เล่าฮง / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เรื่องของ “ความเป็นธรรม” หลายๆ ครั้งก็อธิบายยากว่ามาตรฐานของมันอยู่ตรงไหน แต่จากประสบการณ์ในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อนข้างชัดเจนว่า “ความเป็นธรรม” ที่เป็นธรรมอย่างจริงแท้ ไม่น่าจะใช่เพียงแค่ความเป็นธรรมตามตัวบทกฎหมายเท่านั้น
ประเด็นหนึ่งที่พูดกันมาเนิ่นนานก็คือผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกแจ้งข้อหาฉกรรจ์ต่างๆ มักไม่ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับบัญญัติรับรองเอาไว้อย่างชัดเจนว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” (รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 39)
ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่ปกติที่ไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน (อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หรือประกาศกฎอัยการศึก (ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพียง 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะเป็นดุลพินิจของศาล แต่ถึงที่สุดแล้วในชั้นก่อนฟ้อง รัฐจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเต็มที่เพียง 84 วัน
ทว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประกาศทั้งกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉิน ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อนตั้งข้อหาได้ถึง 37 วัน (ตามกฎอัยการศึก 7 วัน และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 30 วัน) จากนั้นหากผู้ต้องสงสัยถูกตั้งข้อหา ก็จะถูกควบคุมตัวตาม ป.วิอาญา อีก 84 วัน
ที่หนักกว่านั้น ข้อหาที่รัฐตั้งกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง มักเป็นข้อหาร้ายแรงประเภทก่อการร้าย กบฏแบ่งแยกดินแดน อั้งยี่ซ่องโจร ฯลฯ ทำให้เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลมักใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัว ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกคุมขังนานหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุด
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้คือ “ความเป็นธรรมตามตัวบทกฎหมาย" ที่ไม่ว่าใครก็มิอาจปฏิเสธ...
แต่หากมีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เช่น ศาลยกฟ้อง ความเป็นธรรมตามกฎหมายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็จะเริ่มถูกตั้งคำถามว่าเป็นธรรมจริงหรือไม่? ผู้ต้องหาหรือจำเลยติดคุกฟรีหรือเปล่า?
จากสถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า ตลอด 6 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ม.ค.2547 ถึง ธ.ค.2552) มีคดีความมั่นคงที่นำขึ้นสู่ศาล และศาลมีคำพิพากษาแล้วรวมทั้งสิ้น 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ยกฟ้อง 86 คดี จำเลย 204 คน
พิจารณาจากตัวเลขคดีที่ศาลยกฟ้อง 86 คดี จากทั้งหมด 216 คดี จะพบว่ามีสัดส่วนถึง 39.8% หรือคิดเป็นตัวเลขกลมๆ 40% เลยทีเดียว!
ยิ่งไปกว่านั้นหากหันไปดูสถิติคดีความมั่นคงที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 เฉพาะปี 2552 (1 ม.ค.-31 ธ.ค.2552) จะพบว่าคดีจากทุกศาลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคดีความมั่นคงเข้าสู่ศาลทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี
ยอดคดีคงค้างในระดับนี้อาจเป็นคำตอบที่อธิบายว่า เหตุใดจึงมีจำนวนผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนับถึงสิ้นปี 2552 มากถึง 548 คน (ข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความมุสลิม)
คำถามเรื่อง “ความเป็นธรรม” ก็คือ หาก 1 ปีมีคดีสิ้นสุดเพียง 26 คดี ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความมั่นคงเหล่านี้จะต้องสิ้นอิสรภาพไปอีกนานเท่าใด ยิ่งสัดส่วนคดีที่ยกฟ้องมากกว่าคดีที่ลงโทษเสียอีก (หรือหากมองในภาพรวม 6 ปี ก็ยังมีคดีที่ยกฟ้องมากถึง 40% ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายมีคดีที่ยกฟ้องไม่ถึง 5% เท่านั้น) ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า การคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยเอาไว้ แม้จะ “เป็นธรรมตามกฎหมาย” แต่อาจ “ไม่เป็นธรรมในแง่ความรู้สึก” ก็ได้ใช่หรือไม่
และหากกฎหมายที่ใช้บังคับกับพวกเขาเป็นกฎหมายพิเศษที่ชาวบ้านรู้สึกไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว ความรู้สึก “ไม่เป็นธรรม” ก็จะยิ่งทับทวีใช่หรือเปล่า
อีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่มิอาจละเลย แม้จะเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งก็คือ ผู้ต้องขังในเรือนจำทั้ง 548 คนล้วนเป็นชาวไทยมุสลิม ฉะนั้นเมื่อพิจารณาประกอบกับสภาพสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้ชายมักเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งเป็นมักเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ มีลูกหลายคน ความลำบากในการดำเนินชีวิตของ “คนข้างหลัง” จะยิ่งสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรมอีกมากมายขนาดไหน
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ และ “ทีมข่าวอิศรา” เคยรายงานเอาไว้ในเว็บไซต์ก็คือ ชะตากรรมของครอบครัว “หะยีเตะ” ซึ่งพี่น้องผู้ชาย 5 คนของครอบครัวถูกจับเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงทั้งหมด ทำให้ “คนข้างหลัง” ทั้งบุตรและภรรยาต้องได้รับความเดือดร้อนมากถึง 24 ชีวิต
ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของการ “เยียวยาเพื่อความเป็นธรรม” ของกระทรวงยุติธรรมในยุคที่มีรัฐมนตรีชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และมีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่กำกับดูแลงานภาคใต้ชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2553 กองทุนยุติธรรมได้อนุมัติเงินกองทุนจำนวน 2,400,000 บาท เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว (ยื่นประกันตัว) แก่ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายดือรีซี อุเซ็ง นายซูกิรนัย โละมะ และ นายสาบีลา มะรือสะ ตามคำร้องของครอบครัว โดยผู้ต้องหาทั้งหมดถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดในเขต จ.นราธิวาส
พ.ต.อ.ทวี เล่าให้ฟังว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยถูกคุมขังมา 9 เดือนแล้ว แต่คดีไม่คืบหน้า แม้ศาลจะเรียกสืบพยานมาโดยตลอด แต่พยานไม่เคยมาตามนัด (พยานฝ่ายรัฐซึ่งเป็นโจทก์) ประกอบกับครอบครัวของผู้ต้องหามีฐานะยากจน ไม่มีเงินประกันตัวเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงยื่นคำร้องขอรับการสนับสนุนจากกองทุนยุติธรรมรายละ 800,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,400,000 บาท
“ก่อนหน้านี้ทางครอบครัวของผู้ต้องหาทั้งหมดเคยยื่นเรื่องขอรับการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการกองทุนยุติธรรมเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่รับอนุมัติ เนื่องจากถือว่าเป็นคดีความมั่นคง แต่หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายให้ผู้ต้องหาได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ เนื่องจากศาลยังไม่ตัดสินว่ามีความผิด จึงอยากให้โอกาสผู้ต้องหากลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว และขอให้มารายงานต่อตัวศาลตามกำหนด” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยังเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ด้วยว่า จะปรับนโยบายโดยสนับสนุนให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ใช้สิทธิยื่นประกันตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยการใช้กองทุนยุติธรรมเข้าไปอุดหนุน ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่รู้สึกมานาน อย่างไรก็ดี การจะให้ประกันหรือไม่ถือเป็นดุลพินิจของศาล กระทรวงยุติธรรมเพียงแต่เปิดโอกาสให้ได้ใช้สิทธิตรงนี้สำหรับคนที่อาจจะมีปัญหาเรื่องหลักทรัพย์ที่จะใช้ยื่นประกันตัว
แน่นอนว่านโยบายนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในมิติของการสร้างความเป็นธรรม แต่กระนั้นก็มีข้อสังเกตจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เช่นกัน
สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า เท่าที่ทราบการใช้เงินกองทุนยุติธรรมมีเงื่อนไขสำคัญๆ อยู่ 2 ข้อซึ่งน่ากังวล คือ 1.คนที่มายื่นขอจะต้องไม่หลบหนี และ 2.คดีต้องมีโอกาสชนะ
“ตรงนี้ค่อนข้างพูดยากในเรื่องคดีว่าจะชนะหรือแพ้ ผมก็เลยเป็นห่วงว่าหากนำเงื่อนไขที่ว่ามาพิจารณาจะเป็นการปิดโอกาสการนำเงินมาประกันตัวช่วยเหลือจำเลยในคดีความมั่นคงหรือไม่ ฉะนั้นหากปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเสียใหม่ก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้ชาวบ้านได้ต่อสู้คดีในชั้นศาลได้มากกว่านี้ เช่น มีการรับรองจากคณะกรรมการมัสยิด หรือรับรองความประพฤติจากคนที่น่าเชื่อถือในหมู่บ้านแทน ตรงนี้น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่า และทำให้การเข้าถึงกองทุนง่ายขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าการที่กระทรวงยุติธรรมอนุมัติเงินมาช่วยประกันตัวผู้ต้องขัง 3 ราย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นต้นธารของการสร้างความเป็นธรรมได้มากขึ้นกว่าเดิม”
ทนายสิทธิพงษ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งคือ หากจะให้ความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันทุกคนคงต้องใช้เงินเยอะมาก และหากจะรอให้คดีของชาวบ้านเสร็จสิ้น ก็ใช้เวลากว่า 2-3 ปี ฉะนั้นกว่าตัวเงินจะหมุนเวียนกลับมาช่วยคนอื่นต่อก็ต้องใช้เวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงอยากเสนอให้วางกรอบที่ชัดเจนกว่านี้
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับหลักการสำคัญที่สุดในกระบวนการยุติธรรมที่ว่า ให้สันนิษฐานว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นกระทำผิด
“ดิฉันเห็นด้วยหากกระทรวงยุติธรรมจะใช้เครือข่ายของหน่วยงานต่างๆ มาร่วมตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว มากกว่าใช้แค่ความเห็นของตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนที่มักคัดค้านการประกันตัวทุกคดี”
พรเพ็ญ ยังชี้ว่า ผู้ต้องหา 3 คนที่กระทรวงยุติธรรมอนุมัติเงินกองทุนเพื่อยื่นประกันตัว มีเหตุผลสำคัญคือฝ่ายโจทก์ (รัฐ) ไม่นำพยานมาสืบในชั้นศาล ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในพื้นที่
“เรื่องการไม่มีพยานมาสืบ จริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของตำรวจและอัยการที่จะต้องติดตามนำพยานมาสืบตามที่ศาลนัด แต่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการมักไม่เคร่งครัด ทำเหมือนว่าฟ้องแล้วก็ยุติบทบาทในการกล่าวหา ฉะนั้นถ้าพยานไม่มาโดยไม่มีเหตุผล ศาลอาจใช้อำนาจตัดพยาน เพื่อให้ตำรวจและอัยการจริงจังกับการติดตามพยานมากขึ้น เพราะผู้ต้องขังคดีความมั่นคงอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัว ถ้าไม่มีพยานมาเบิกความ ก็ต้องเลื่อนนัด และรอคิวอีกนาน”
กระนั้นก็ตาม พรเพ็ญ เห็นว่า การให้เงินจากกองทุนยุติธรรมสำหรับประกันตัว แม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะหากการดำเนินคดีความมั่นคงเกิดจากการบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นที่บกพร่อง เช่น จับกุมผู้บริสุทธิ์ จับกุมแบบเหวี่ยงแห หรือจับกุมผู้กระทำความผิดแล้วมีการฟ้องซ้ำในหลายคดีอย่างไม่เป็นธรรม มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหาไม่เป็นธรรมเสียแล้ว การสนับสนุนเงินประกันตัวก็แทบไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกของชาวบ้านและสังคมในพื้นที่ดีขึ้นเลย
ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐต้องเร่งดำเนินการก็คือ เรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบกลับคืนมา โดยทำให้เกิดความเป็นธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจับกุม
และนั่นคือการสร้างความเป็นธรรมทั้งในมิติทางกฎหมายและในความรู้สึกของผู้คน...
---------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- เมื่อ 5 พี่น้อง"หะยีเตะ"ตกเป็นผู้ต้องขัง กับ 24 ชีวิต"คนข้างหลัง"ที่จำต้องรับกรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4890&Itemid=86
- "548 ชีวิต"ผู้ต้องขังแดนใต้ มิติมั่นคงสวนทางความเป็นธรรม
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4901&Itemid=86
- เมื่อพ่อหนูถูกจับ...อีกหนึ่งความจริงที่รัฐไม่ควรละเลย