อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์...เมื่อพี่ชาย(ผู้ล่วงลับ)ถูกกล่าวหาเป็นหัวโจกป่วนใต้!
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้การเสียชีวิตของ นายรอมลี อุตรสินธุ์ ในปี 2553 จะเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ของสื่อไทยทุกแขนง แต่หากย้อนกลับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ชื่อของเขาถูกนำไปพาดหัวตัวไม้ เพราะตกเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญของขบวนการป่วนใต้ที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
หมายจับนายรอมลี ออกเมื่อปี 2548 ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ทั้งๆ ที่เขาคือพี่ชายแท้ๆ ของ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ลูกพรรคของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง
ตลอดมา นายรอมลี ไม่เคยใช้โอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาที่มีต่อตัวเขาผ่านสื่อแขนงใด มีเพียงน้องชายอย่าง อารีเพ็ญ ที่พยายามช่วยแก้ต่างให้ และวันนี้...ในวันที่ รอมลี จากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยอาการหัวใจล้มเหลว อารีเพ็ญ ก็ขอโอกาสอีกครั้งเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพี่ชาย...
“รอมลีมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจ การเสียชีวิตของพี่ชายเกิดมาจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเมื่อเวลาประมาณ 5 โมงเย็นของวันที่ 10 ก.พ. เป็นการเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว หลังจากทราบข่าวทางญาติก็ได้เดินทางไปรับศพที่บ้านของพี่ที่กัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงของมาเลเซีย) เพื่อนำกลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและฝังศพที่กุโบร์ใน อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส บ้านเกิด” อารีเพ็ญ เริ่มเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่ชาย ก่อนจะเปิดเผยประวัติส่วนตัวที่ไม่ค่อยมีคนรู้มากนัก
“รอมลีอายุมากกว่าผม 2 ปี เขาไปอยู่กับป้าที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เรามีพี่น้องทั้งหมด 10 คน มีเขาคนเดียวที่ไปอยู่มาเลเซียตั้งแต่เล็ก ไม่ได้เรียนในประเทศไทยเหมือนพี่น้องคนอื่นๆ จึงพูดภาษาไทยได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในมาเลเซียตั้งแต่เด็กจนเรียนจบ เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย หลังจากเรียนจบถึงกลับมาอยู่ที่สุไหงปาดี และประกอบธุรกิจค้าไม้ ส่งไม้ออกไปยังประเทศมาเลเซีย เพราะเขาเป็นคนชอบค้าขาย”
อารีเพ็ญ บอกว่า ชีวิตของพี่ชายดำเนินตามครรลองเรื่อยมา กระทั่งวันหนึ่งกลับถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน
“ในช่วงปี 2548 มีการเพ่งเล็งกลุ่มบุคคลที่เรียนจบมาจากประเทศอินโดนีเซียว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จากนั้นดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ก็ออกหมายจับพี่ชายผมในคดีความมั่นคง ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองเคยไปพบกับผู้ใหญ่ในดีเอสไอ และได้เห็นสำนวนคดีที่นำมาสู่การออกหมายจับ พบว่าเป็นการซัดทอดจากบุคคลที่เคยไปรายงานตัวกับทางราชการเท่านั้น มองตามสำนวนแล้วถือว่าอ่อนมาก หากสู้คดีก็มีโอกาสสูงที่อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง”
อารีเพ็ญ เล่าว่า เขาได้พยายามเกลี้ยกล่อมพี่ชายให้ตัดสินใจอยู่สู้คดีในประเทศไทย แต่พี่ชายไม่ยอม และเลือกทางเดินอีกแบบหนึ่ง
“ตอนแรกผมได้พยายามคุยกับรอมลีแล้ว ให้เขาสู้คดีตามข้อกล่าวหา โดยได้ประสานทางดีเอสไอไว้เรียบร้อยแล้วด้วย แต่พี่ชายผมเกิดความกลัวที่จะสู้คดี และเลือกที่จะขอหลบหนี ผมก็ไม่สามารถไปบังคับอะไรเขาได้ เพราะเป็นสิทธิของเขา และเขาก็หลบไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย ทำสวนผลไม้”
อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทยที่วันนี้ย้ายชายคาไปอยู่พรรคมาตุภูมิ เล่าต่อว่า เมื่อพี่ชายเลือกที่จะหลบหนี ไม่ยอมสู้คดี จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลทางคดีที่เกี่ยวพันกับพี่ชายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เพราะข้อมูลต่างๆ มาจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐแทบทั้งนั้น เมื่อตัวคนที่ถูกกล่าวหาไม่อาจแสดงความบริสุทธิ์ได้ ข้อหาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่ชายผม ผมเชื่อมั่นว่าเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องตามข้อหาต่างๆ ที่มีการออกหมาย จากพยานหลักฐานที่เห็นก็ไม่มีอะไรมากมาย เป็นเพียงการซัดทอดจากบุคคล หากได้สู้คดีได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ผมเชื่อว่าเขาจะเอาชนะข้อกล่าวหาเหล่านั้นได้”
อารีเพ็ญ บอกว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้พี่ชายเลือกแนวทางการหลบหนี ก็คือความกลัว
“หลังจากที่ถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงแล้ว ความไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยก็เกิดขึ้น และมากขึ้นจนกลายเป็นความกลัว ถึงแม้เขาจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองตามข้อกล่าวหาได้ แต่การใช้ชีวิตต่อไปใครจะมารับรองเรื่องความปลอดภัย”
“มีอยู่หลายกรณีที่บุคคลที่ถูกตั้งข้อหาและเข้าไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม กระทั่งสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตตามปกติกลับถูกลอบทำร้ายลอบยิงจนเสียชีวิตโดยฝีมือใครก็ไม่รู้ กรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาหลายครั้ง จนทำให้คนที่ถูกทางการตั้งข้อหา เลือกที่จะหลบหนีมากกว่าออกมาสู้คดีความ”
“ผมคิดว่าความรู้สึกของพี่ชายผมก็คงคล้ายๆ กับอีกหลายๆ คนที่ถูกออกหมายจับ อย่างเช่น สะแปอิง บาซอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำขบวนการก่อความไม่สงบ) หรือ มะแซ อุเซ็ง (อดีตครูสอนศาสนาโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำก่อเหตุปล้นปืน) ที่ถูกตั้งข้อหาในเรื่องความมั่นคงเช่นเดียวกับพี่ชายผม หากคนเหล่านี้เลือกที่จะสู้คดี เขาก็อาจจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ แต่พวกเขาเลือกที่จะหลบหนี เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย โดยเฉพาะหากชนะคดีแล้วกลับมาใช้ชีวิตตามปกติจริงๆ”
“ผมคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐน่าจะให้ความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตหากคนเหล่านั้นตัดสินใจสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม” อารีเพ็ญ ระบุ
ความรู้สึกในฐานะน้องชายที่ใกล้ชิดกับรอมลี เขาบอกว่าการถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่และไม่อาจลบล้างจากความเชื่อของคนทั่วไปได้ง่ายๆ ฉะนั้นรัฐจึงต้องระมัดระวังให้ดีหากคิดจะกล่าวหาใคร
“การเสียชีวิตของพี่ชาย ประเด็นในทางคดีต้องถือว่าจบไปแล้ว แต่ในเรื่องทางความรู้สึกที่คนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นคนผิดในคดีที่ถูกกล่าวหานั้น ผม่เชื่อว่ายังมีอยู่ต่อไป และคงยากที่จะไปห้ามความคิดความเชื่อเหล่านั้น”
“ผิดกับสังคมในต่างประเทศ หากผู้ใดถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดใดๆ ก็แล้วแต่ ถ้าคดียังไม่สิ้นสุด เขาผู้นั้นก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ตราบเท่าที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่ได้ตัดสินว่ากระทำความผิดจริง” อารีเพ็ญ กล่าว
ถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนจากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบจากการกล่าวหาของรัฐ ซึ่งน่าพิจารณาไม่น้อย เพราะแม้วันนี้ รอมลี จะจากไปแล้ว แต่เขาก็ยังถูกบันทึกไว้ว่าเป็น..ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง!
-------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
2-3 พิธีฝังศพ นายรอมลี อุตรสินธุ์
อ่านประกอบ : "รอมลี อุตรสินธุ์" ผู้ต้องหาคดีแบ่งแยกดินแดน พี่ชาย "อารีเพ็ญ" เสียชีวิตแล้วที่มาเลย์