ชุดตรวจระเบิด 4 ขา...ตัวช่วยเมื่อจีที 200 ถึงทางตัน!
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
กระแสความนิยมเครื่องมือตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กันแพร่หลายยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนลืมไปเสียสนิทว่า เราเคยมี “อุปกรณ์มีชีวิต” ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม คือเจ้าชุดตรวจระเบิด 4 ขา หรือ “สุนัขทหาร” ที่มีความแม่นยำในการตรวจหาวัตถุต้องสงสัยไม่แพ้เทคโนโลยีล้ำสมัยใดๆ
และในวันที่เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 กำลังถูกตั้งคำถามถึงกลไกการใช้งาน ถึงขั้นที่รัฐบาลอังกฤษประณามว่า “ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง” ทำให้ “สุนัขทหาร” ที่เคยทำหน้าที่แบบ "ปิดทองหลังพระ" มาโดยตลอด กลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้ง
“ชุดตรวจระเบิด 4 ขา” ที่ปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เริ่มจัดตั้งหน่วยอย่างเป็นทางการตั้งแต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี 2547 และยังคงสถานะหน่วยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หมวดสุนัขทหารอโณทัย หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย” มี ร.อ.พัฒนศักดิ์ ประสมศรี ผู้บังคับหมวดสุนัขทหารฯ เป็นผู้บังคับบัญชา
หมวดสุนัขทหารฯ ยังมีชื่อที่เรียกขานกันติดปากอีกชื่อหนึ่งว่า “หน่วยย่าเหล” ตามนามของสุนัขทรงเลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสุนัขที่ฉลาด แสนรู้ เป็นที่ทรงโปรดของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6
เส้นทางสุนัขทหารแดนใต้
ร.อ.พัฒนศักดิ์ เล่าถึงที่มาของการจัดตั้งหมวดสุนัขทหารอโณทัยว่า จริงๆ แล้วสุนัขทหารมีใช้งานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนปี 2547 คือตั้งแต่สมัยที่ยังมีกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 หรือ พตท.43 (ในยุคก่อนปี 2545 ที่ยังไม่ยุบ ศอ.บต.) แต่ในตอนนั้นไม่ได้ถูกตั้งขึ้นเป็นหน่วย เป็นแต่เพียงชุดสุนัขทหารที่ทำงานคู่กับชุดของทหารช่าง
ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้นจึงมีคำสั่งให้กองพันสุนัขทหารจัดกำลังพล 12 นายและสุนัขทหาร 8 ตัว ลงมาประจำยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจค้นหาแหล่งซุกซ่อนของอาวุธที่ถูกปล้นไป
กระทั่งปี 2548 กองทัพบกจึงมีคำสั่งให้จัดตั้งหมวดสุนัขทหาร บรรจุกำลังพล 22 นาย และสุนัขทหาร 12 ตัว ขึ้นตรงกับกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ตั้งฐานอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีภารกิจสนับสนุนงานด้านยุทธการ ทำงานควบคู่กับชุดทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี และได้รับการปรับเพิ่มกำลังพลและสุนัขทหารในปี 2551 เป็นกำลังพล 30 นาย สุนัขทหาร 18 ตัว
ล่าสุดในปีงบประมาณ 2553 พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ผบ.พตท.) เล็งเห็นความสำคัญ จึงอนุมัติเพิ่มอัตรากำลังพลและสุนัขทหารขึ้นอีก ทำให้ปัจจุบันหมวดสุนัขทหารอโณทัยฯ มีกำลังพลทั้งสิ้น 54 นาย และสุนัขทหาร 34 ตัว
“การเพิ่มกำลังพลและกำลังสุนัขทหารก็เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านยุทธการร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจประจำจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยทางหน่วยจะจัดกำลังสุนัขทหาร 1 ชุดปฏิบัติการ (ชป.) ประกอบด้วยกำลังพล 6 นาย และสุนัข 4 ตัว ไปประจำการยังหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดปัตตานีและยะลา จังหวัดละ 1 ชุดปฏิบัติการ ส่วนหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดนราธิวาสซึ่งมีพื้นที่มากกว่า ได้จัดส่งกำลังสุนัขทหาร 2 ชุดปฏิบัติการไปประจำการ” ร.อ.พัฒนศักดิ์ กล่าว
ผู้บังคับหมวดชุดปฏิบัติการ 4 ขา ยังอธิบายต่อว่า สุนัขทหาร 1 ตัวกับผู้บังคับสุนัขทหาร 1 นาย เรียกว่า "1 ชุดสุนัขทหาร" ส่วนการจัดกำลังพล 1 ชุดปฏิบัติการไปประจำการยังหน่วยเฉพาะกิจจังหวัดต่างๆ นั้น สุนัขทหารที่ถูกส่งไปพร้อมกำลังพลจะมี 4 ชุดสุนัขทหาร รับผิดชอบภารกิจ 4 หน้าที่ คือ สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด สุนัขลาดตระเวน สุนัขสะกดรอย และสุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมภารกิจทุกด้าน
ฝึกเข้ม 4 เดือนก่อนลุยภาคสนาม
ทั้งนี้ สุนัขทหารที่ประจำการอยู่ในหมวดสุนัขทหารอโณทัยจำนวน 34 ตัวนั้น แยกเป็น สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด 8 ตัว สุนัขลาดตระเวน 8 ตัว สุนัขสะกดรอย 8 ตัว สุนัขตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด 8 ตัว และสุนัขตรวจค้นยาเสพติด 2 ตัว โดยสุนัขทหารทุกตัวจะมีผู้บังคับสุนัขประจำ 1 นาย
“สุนัขทหารที่ลงมาทำงานในพื้นที่ เป็นสุนัขที่จบจากโรงเรียนสุนัขทหาร ศูนย์การสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก กระบวนการฝึกสุนัขทหารจะมีการคัดสุนัขให้ได้คุณภาพตามหน้าที่ที่ต้องการ จากนั้นจึงนำมาทำการฝึก ส่วนใหญ่สุนัขทหารที่นำมาใช้งานมีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด (German Shepherd) และพันธุ์ลาบราดอร์ (Labrador)”
“เมื่อสุนัขที่ได้รับการคัดเลือกมามีอายุได้ 10-12 เดือน จะต้องเข้ารับการฝึกคู่กับผู้ควบคุมสุนัขทหาร หลักสูตรขั้นต้น 4 เดือน จึงจะออกปฏิบัติภารกิจได้ และแม้ว่าจะออกมาปฏิบัติภารกิจแล้ว ก็จะมีการฝึกทบทวนสุนัขทหารอยู่เสมอ” ร.อ.พัฒนศักดิ์ ระบุ
หาระเบิด-สะกดรอย-ดมกลิ่น
จากสถานการณ์ความไม่สงบรูปแบบต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สุนัขทหารได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจหากับระเบิดหรือระเบิดที่กลุ่มคนร้ายลอบวางเอาไว้ หรือการเข้าตรวจหาวัตถุระเบิดที่คนร้ายซุกซ่อนตามที่ต่างๆ การออกลาดตระเวนเส้นทาง และสะกดรอยเพื่อติดตามคนร้ายที่ก่อเหตุแล้วหลบหนี รวมไปถึงการช่วยงานการตรวจค้นยาเสพติดร่วมกับหน่วยอื่น อาทิ ตำรวจและฝ่ายปกครอง เฉลี่ยแล้วใน 1 เดือน ชุดปฏิบัติการสุนัขทหาร 1 ชุด ต้องออกปฏิบัติภารกิจประมาณ 100 ครั้ง
“ความสามารถของสุนัขทหารพิสูจน์แล้วว่าสามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามเป้าหมายแทบทุกครั้ง และถือว่ามีความแม่นยำในการตรวจค้นมาก เคยหาระเบิดที่คนร้ายซุกซ่อนไว้จนเจออยู่บ่อยๆ ก่อนมอบงานต่อให้หน่วยอีโอดีเข้าทำการเก็บกู้”
“นอกจากนั้นในเหตุการณ์ยิงครูในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อประมาณปี 2551 ก็ได้นำกำลังสุนัขทหารออกสะกดรอยคนร้ายจากรองเท้าแตะที่ทิ้งไว้ 1 ข้างระหว่างหลบหนี จนสามารถพบที่ซ่อนตัวและจับกุมคนร้ายได้ในที่สุด”
“อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ฮือฮาอย่างมาก คือภารกิจที่สุนัขทหารได้รับการร้องขอจากตำรวจให้เข้าไปช่วยหาตัวคนร้ายที่เป็นเจ้าของยาเสพติดซึ่งขนมากับรถโดยสารประจำทาง โดยตำรวจค้นพบยาเสพติดบนรถ แต่ไม่มีผู้โดยสารคนใดยอมแสดงตัวเป็นเจ้าของ จึงให้สุนัขทหารเข้าพิสูจน์กลิ่นเพื่อหาตัวผู้ต้องสงสัย กระทั่งขยายผลสู่การจับกุมได้สำเร็จ”
ปัญหาของ "หมาทหาร"
จากภารกิจของหมวดสุนัขทหารอโณทัย ชัดเจนว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ใช้เครื่องตรวจระเบิดเจ้าปัญหา จีที 200 เป็นอุปกรณ์เพียงชนิดเดียวในการค้นหาวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ เพราะมีชุดสุนัขทหารร่วมปฏิบัติการด้วยในหลายภารกิจ และยังมีประจำการครอบคลุมทุกหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด
แต่อย่างไรก็ดี "ชุดตรวจระเบิด 4 ขา" ก็ประสบปัญหาในบางภารกิจเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ยอมให้นำสุนัขทหารเข้าไปในหมู่บ้าน ด้วยเหตุผลทางศาสนา จึงทำให้ภารกิจปิดล้อมตรวจค้นเพื่อหาตัวคนร้ายและอาวุธไม่สามารถใช้สุนัขทหารได้ทุกครั้ง จนต้องถือว่าภารกิจล้มเหลว”
“ปัญหานี้ผมเคยสอบถามจากผู้รู้ทางศาสนาแล้ว ได้รับคำตอบว่าจริงๆ พี่น้องมุสลิมสามารถถูกตัวสุนัขได้ หากสุนัขไม่เปียก แต่เมื่อเข้าไปปฏิบัติงานจริงชาวบ้านก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี ประเด็นนี้คงต้องช่วยกันทำความเข้าใจต่อไป เพราะสุนัขทหารทุกตัวได้รับการเสี้ยงดูและฝึกฝนมาเป็นอย่างดี หากประชาชนเข้าใจ ก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ร.อ.พัฒนศักดิ์ กล่าว
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และทำให้การปฏิบัติงานของสุนัขทหารไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือการที่มีกำลังพลของหน่วยต่างๆ เข้าไปถึงที่เกิดเหตุก่อน แล้วเข้าไปเหยียบย่ำหรือแตะต้องพยานหลักฐาน จุดนี้จะทำให้กลิ่นสับสน และมีร่องรอยใหม่ไปทับร่องรอยของคนร้าย ทำให้สุนัขทหารไม่สามารถสะกดรอยหรือดมกลิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการทำงานที่ถูกต้องคือชุดสุนัขทหารต้องเข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนเป็นหน่วยแรก จากนั้นชุดสมทบ ชุดอีโอดี และกองพิสูจน์หลักฐานจึงค่อยตามเข้าไป
ลงทุนตัวละแสน-สุดแม่นไม่เคยสูญเสีย
ต้นทุนการผลิตสุนัขทหาร 1 ตัว แน่นอนว่าถูกกว่าเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดทุกยี่ห้อ...
“สุนัขทหารตัวหนึ่ง มีต้นทุนประมาณแสนกว่าบาท แต่ใช้งานได้ถึง 10 ปี โดยปีแรกจะแพงที่สุด เพราะคือต้นทุนราคาสุนัขพันธุ์ดีที่ซื้อมาตัวละ 30,000 บาท หลังจากนั้นก็จะเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว พวกค่าอาหาร 1 ตัวต่อปีใช้ประมาณ 182.5 กิโลกรัม และค่ายารักษาโรคต่างๆ อีก 1,890 บาทต่อปี”
แต่ที่น่าปลื้มใจก็คือ ยังไม่เคยมีสุนัขทหารต้องสังเวยชีวิตจากการปฏิบัติทางยุทธการเลย นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความ “ชัวร์” ของชุดตรวจระเบิด 4 ขา
“ที่ผ่านมายังไม่เคยมีสุนัขทหารสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ มีเพียงสุนัขทหารที่สูญเสียทางธุรการ หมายถึงเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเองเท่านั้น” ร.อ.พัฒนศักดิ์ กล่าว
เรื่องราวและความสามารถของสุนัขทหารที่ปฏิบัติงานครอบคลุมหลายภารกิจ ทั้งตรวจค้นทุ่นระเบิด ลาดตระเวน สะกดรอย ตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด และยาเพสติด ทำให้นึกถึงคำกล่าวของ ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ แห่งภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงทัศนะเอาไว้ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เครื่องตรวจระเบิด จีที 200
ผศ.พงษ์ ระบุว่าการใช้สุนัขดมกลิ่น ไม่ต่างอะไรกับ “ไบโอเซ็นเซอร์” หรือเครื่องตรวจจับแบบมีชีวิต ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าอุปกรณ์ตรวจจับราคาแพงทื่ใช้เทคโนโลยีเสียอีก เพราะเครื่องเหล่านั้นมีข้อจำกัดในการตรวจมากมาย โดยเฉพาะชนิดของสาร ผิดกับ “สุนัข” ที่สามารถค้นหาวัตถุอันตรายได้ทุกรูปแบบ ขอเพียงได้ฝึกมันเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ในวันที่ จีที 200 มีโอกาสถูกโละ ก็คงถึงเวลาที่ "ชุดตรวจระเบิด 4 ขา" จะได้ยืดเส้นยืดสายกันอีกครั้ง!
----------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : รู้จัก "เซนอล-เอสซิล" สองสุนัขทหารชายแดนใต้