รู้จัก “เซนอล-เอสซิล” สองสุนัขทหารชายแดนใต้
เรื่อง : สุเมธ ปานเพชร
ภาพ : จรูญ ทองนวล*
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ชุดปฏิบัติการ 4 ขา” ที่ประจำการอยู่ใน “หมวดสุนัขทหารอโณทัยฯ” มีทั้งหมด 34 ตัว ครอบคลุมทุกประเภทภารกิจ ในจำนวนนี้มีหลายตัวที่ความสามารถโดดเด่นเป็นพิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” พาไปรู้จัก “เซนอล” กับ “เอสซิล” หมาทหารตัวเก่งของสามจังหวัดชายแดน
“เซนอล” เป็นสุนัขพันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด เพศเมีย ทำหน้าที่เป็นสุนัขลาดตระเวน มีประสบการณ์สูงมาก เพราะปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามมาแล้วหลายปี มี พล.อส.ประพันธ์ ชมโคกกวด เป็นผู้บังคับสุนัข หรือจะเรียกว่าเป็น “บัดดี้คู่ใจ” ของเจ้าเซนอลก็คงไม่ผิด
พล.อส.ประพันธ์ บอกว่า เซนอลเป็นสุนัขตัวแรกที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้บังคับสุนัข เริ่มตั้งแต่เซนอลอายุประมาณ 1 ปี และเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร 4 เดือนร่วมกัน โดยเจ้าเซนอลเป็นสุนัขลาดตระเวน จากนั้นก็ออกปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 4 ปี ทั้งลาดตระเวนเส้นทางที่ยากลำบาก สมบุกสมบัน และเข้าเคลียร์พื้นที่
“เจ้าเซนอลเป็นสุนัขที่เก่ง ฉลาด ปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จทุกครั้ง จมูกของมันจะไวมาก ในการลาดตระเวนหากมีวัตถุระเบิดหรือร่องรอยของคนร้ายมันจะรู้ทันที และนำไปสู่การค้นพบวัตถุต้องสงสัยหรือติดตามคนร้ายได้หลายครั้งแล้ว”
ส่วนการเป็นผู้บังคับสุนัข พล.อส.ประพันธ์ เล่าว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นการฝึก ถือว่ายากมาก ต้องอาศัยความอดทน และความพยายามสูง
“สิ่งสำคัญคือต้องทำให้สุนัขเกิดความเคยชิน คุ้นเคย เชื่อฟัง และเข้าใจคำสั่ง แม้ว่าทุกวันนี้ผมจะบังคับหรือสั่งสุนัขได้แล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ก็คือการพยายามทบทวนคำสั่งต่างๆ กับสุนัขเสมอ เพราะสุนัขก็ไม่ต่างอะไรกับคน หากไม่ทบทวนก็มีโอกาสลืมได้เหมือนกัน”
พล.อส.ประพันธ์ บอกว่า การเป็นผู้บังคับสุนัข ไม่ใช่แค่จะมาอยู่กับสุนัขเฉพาะตอนปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่นอกเวลาปฏิบัติงานก็ต้องอยู่กับมันด้วย
“สุนัขทหารทุกตัวกับผู้บังคับ เมื่อได้จับคู่กันแล้วก็เปรียบเสมือนเป็นบัดดี้กัน จะให้คนอื่นมานำสุนัขตัวนี้ออกไปปฏิบัติงานไม่ได้ เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่จำเจ้าของ ผู้บังคับสุนัขกับสุนัขจะต้องทำงานคู่กันไปตลอด จะแยกกันได้ก็ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป และหากจะเปลี่ยนผู้บังคับสุนัขรายใหม่ก็ต้องมาฝึกกันใหม่ โดยที่ผู้บังคับสุนัขรายเดิมกับผู้บังคับสุนัขรายใหม่ต้องฝึกร่วมกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป”
“ทุกวันนี้ผมกับเจ้าเซนอลก็เหมือนเป็นพ่อกับลูก สุนัขเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดมนุษย์มาก ต้องการความรักและความเอาใจใส่จากเจ้าของ การที่เราดูแลและเล่นกับมัน จะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” พล.อส.ประพันธ์ กล่าว
สุนัขตัวเก่งอีกตัวหนึ่งที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “เอสซิล” พันธุ์เยอรมันเชฟเฟิร์ด เพศเมียเช่นกัน โดยเจ้า “เอสซิล” เป็นสุนัขตรวจหาทุ่นระเบิด บุคลิกของมันจะนิ่งๆ เคร่งขรึม เหมาะกับงานเสี่ยงอันตรายประเภทนี้
พล.อส.สามารถ ค่ายสงคราม ผู้บังคับเจ้า “เอสซิล” อธิบายว่า บุคลิกของสุนัขสำหรับปฏิบัติภารกิจแต่ละด้านจะไม่เหมือนกัน เรียกว่าต้องใช้สุนัขแต่ละตัวให้ตรงกับงานที่มันถนัดด้วย
“หากเป็นภารกิจลาดตระเวน สะกดรอย หรือตรวจหาทุนระเบิด จะใช้สุนัขที่ไม่ค่อยขี้เล่น บุคลิกนิ่งๆ เหมือนเจ้าเอสซิล ส่วนภารกิจค้นหายาเสพติดหรือตรวจค้นพัสดุภัณฑ์ระเบิด จะต้องใช้สุนัขที่มีบุคลิกค่อนข้างขี้เล่นหน่อย เพราะการทำงานจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนมากๆ หรือในชุมชน ฉะนั้นสุนัขจะต้องไม่ตื่นคนจนไม่สามารถทำงานได้”
ทั้ง “เอสซิล” และ “เซนอล” ล้วนเป็นสุนัขเพศเมีย เนื่องจากการฝึกสุนัขทหารจะใช้สุนัขเพศเมียแทบทั้งสิ้น เพราะมีความละเอียดกว่าสุนัขเพศผู้
“อย่างในภารกิจตรวจหาทุ่นระเบิดและกับระเบิด เป็นงานที่พลาดไม่ได้ เพราะหากพลาดก็จะเกิดความสูญเสีย เจ้าเอสซิลซึ่งเป็นสุนัขเพศเมียจะทำงานได้ละเอียด รอบคอบ และระมัดระวังมาก ผิดกับสุนัขเพศผู้ทั่วๆ ไปซึ่งโอกาสพลาดมีสูงกว่า” พล.อส.สามารถ บอก
ในมุมของการเป็นผู้บังคับสุนัข พล.อส.สามารถ มีประสบการณ์มายาวนานถึง 30 ปี และเจ้าเอสซิลนับเป็นสุนัขตัวที่ 7 แล้วที่เขาทำหน้าที่เป็นผู้บังคับสุนัข
“ผมทำงานนี้มาตั้งแต่ปี 2523 ในช่วงต้นที่เริ่มทำงานผมจะเป็นผู้บังคับสุนัขลาดตระเวน แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำหน้าที่ผู้บังคับสุนัขตรวจหาทุ่นระเบิด ก็ต้องเข้าไปรับการฝึกในหลักสูตรใหม่”
“หน้าที่ของผู้บังคับสุนัขคือเราต้องสนิทกับสุนัข สื่อสารกับมันให้ได้ ทำให้มันปฏิบัติตามคำสั่งของเรา สุนัขทุกตัวที่ทำงานร่วมกัน ผมคิดกับมันเหมือนเป็นลูกอีกคนหนึ่ง และสุนัขแม้จะได้รับการฝึก แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กอายุ 8 ขวบที่ต้องการเล่นกับเจ้าของ ต้องการความเอาใจใส่ เมื่อทำตามคำสั่งได้ก็ต้องชม โดยใช้มือตบเบาๆ ข้างลำตัว ซึ่งสุนัขเข้าใจว่าเป็นการชม แต่หากไม่เชื่อฟังก็ต้องต่อว่าหรือลงโทษกันบ้าง ด้วยการกระตุกเชือก ซึ่งสุนัขจะรับรู้ว่าเป็นการตำหนิหรือลงโทษ”
จากประสบการณ์ยาวนานถึง 30 ปี พล.อส.สามารถ ยืนยันในประสิทธิภาพของสุนัขทหารว่าเป็น “ตัวช่วย” ในทางยุทธการได้อย่างแท้จริง
“สุนัขทหารที่ผ่านการฝึกมาปฏิบัติหน้าที่ สามารถช่วยเหลือทหารได้มาก และทำงานประสบความสำเร็จแทบทุกครั้ง ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่ในสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงเกิดขึ้นแทบจะรายวัน”
และถึงแม้จะมีเครื่องมืออันทันสมัยเข้ามาช่วยในงานตรวจจับ ตรวจค้น แต่สุนัขทหารก็ยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่เช่นเดิม
“อย่างภารกิจสะกดรอยคนร้าย ยังไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือชนิดใดที่มีใช้อยู่ในบ้านเราทำหน้าที่ได้ดีไปกว่าสุนัขทหาร” พล.อส.สามารถ ย้ำ
นี่คือความสามารถของทั้งเจ้า “เซนอล” และ “เอสซิล” จากชุดปฏิบัติการ 4 ขาฝ่าดงระเบิดที่ชายแดนใต้!
--------------------------------------------------------------
* จรูญ ทองนวล เป็นช่างภาพมือรางวัลจากเครือเนชั่น