ซี.พี. ชี้จีนจะปรับไทยตกอันดับคลังอาหารโลก เหตุรบ. ไม่ลงทุนเทคโนโลยี
ซี.พี. จับมือจีนพัฒนานวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ ‘คอมเพล็กซไก่ไข่’ ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ชี้จีนจะผงาดเป็นคลังอาหารโลกแทนไทย เพราะรบ. หวังพึ่งเอกชน- ไม่ลงทุนเทคโนฯ
วันที่ 12 ก.ย. 55 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี. พี. กรุ๊ป) จัดกิจกรรมผู้บริหารพบสื่อมวลชน ‘มุมธุรกิจกับซีพี’ ในหัวข้อ ‘เกษตรใหม่ในจีน เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เห็นถึงทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรของโลก’ ณ อาคารซี. พี. ทาวเวอร์ สีลม
ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ซี. พี. กรุ๊ป เปิดเผยว่า สิ่งที่นำไปสู่การปรับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคเกษตรแต่ละประเทศ ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากอีก 38 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น 47% หรือราว 9,000 ล้านคน จาก 7,000 ล้านคนในปัจจุบัน โลกจึงต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 60% 2.ข้อจำกัดพื้นฐานในการทำเกษตรมีมากขึ้น เช่น ปัญหาการใช้น้ำ ที่ดินทำการเกษตรน้อยลงเนื่องจากการขยายตัวของเมือง แรงงานด้านเกษตรมีน้อย รวมถึงสภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
ดังนั้นจึงเริ่มคิดถึงการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้ ซึ่งต้องมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตและประหยัดทรัพยากร ใช้คนน้อยในการดูแล รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงการขนส่งและการตลาด
รองกก.ผจก.ใหญ่บริหาร ซี. พี. กรุ๊ป กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เลือกพัฒนาภาคเกษตรในจีน เพราะปัจจุบันจีนมีความต้องการดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนกว่า 1,300 ล้านคน จึงริเริ่มการทำเกษตรรูปแบบใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง โดยจีนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาร่วมกับภาครัฐและเกษตรกร ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2554-2558) หลายโครงการ เช่น โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัย (ซินหนงชุน) โครงการ Mixed Modern Agricultural ส่วนซี. พี. กรุ๊ป ได้ดำเนินโครงการเกษตรรูปแบบใหม่ในจีนรวมแล้ว 13 โครงการ แต่ละโครงการจะต้องร่วมลงทุนกับภาครัฐในแต่ละท้องถิ่นเป็นเจ้าของ โดยเราจะดูแลการบริหารจัดการธุรกิจทั้งด้านการผลิตและการตลาด ภายใต้รูปแบบ ‘เกษตรกรเป็นเถ้าแก่ บริษัทเป็นลูกจ้าง’
“จีนจะได้ผลประโยชน์จากความร่วมมือและสามารถต่อยอดพัฒนาเพื่อสร้างฐานการเป็นผู้นำด้านเกษตรกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ แต่เมื่อหันมามองไทยในฐานะผู้นำด้านอาหารของโลกกลับเป็นผู้ขายอย่างเดียว แต่หากเปลี่ยนมาเป็นผู้ขายโดยอาศัยนวัตกรรมใหม่ ๆ ไทยจะมีสิทธิขยายฐานเกษตรได้ แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนของรัฐบาล เพราะหากจะให้เอกชนขับเคลื่อนฝ่ายเดียวคงไม่สำเร็จ” ดร.สารสิน กล่าว
ด้านนายวะรัตน์ ศรีฟ้า รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บ. ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน กล่าวว่า ซี. พี. กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีนทำโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ครั้งแรกที่เขตผิงกู่ กรุงปักกิ่ง ภายใต้โครงการ ‘ไก่ไข่ 3 ล้านตัวผิงกู่ – เครือเจริญโภคภัณฑ์’ โดยใช้โมเดล 4 ประสานผนึกกำลังความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล เกษตรกร เอกชน และธนาคาร สร้างโครงการไก่ไข่ครบวงจรใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเนื้อที่ 324 ไร่ ใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 720 ล้านหยวน หรือราว 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็นรัฐบาลจีนสนับสนุนทุน 15% ซี. พี. กรุ๊ป 15% และจากธนาคารปักกิ่งอีก 75% โดยเราเป็นผู้เช่าพื้นที่บริหารจัดการโครงการ ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าให้เกษตรกรจีนได้รับประโยชน์ 1,900 ครอบครัว หรือประมาณ 6,000 คน จำนวน 63 ล้านหยวน/ปี ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างสมบูรณ์แล้วและจะผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดครั้งแรกในต.ค. 55 ไก่ไข่เริ่มแรกจะมีจำนวนการผลิต 2 ล้านฟอง/วัน และอาจเพิ่มเป็น 4 แสนฟอง/วัน
“โครงการจะแบ่งเป็นโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิด 18 หลัง เลี้ยงไก่ได้ 3 ล้านตัว นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปไข่ โรงงานแปรรูปปุ๋ย ซึ่งกระบวนการผลิตเกือบทั้งหมดจะควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ สามารถลดกำลังคนผลิตจากเดิม 700 คน เหลือเพียง 150 คนเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม รองกก. ผจก. อาวุโส ยังกล่าวว่า ซี. พี. กรุ๊ป จะดำเนินการขับเคลื่อนโครงการกินระยะเวลา 8 ปี ก่อนจะส่งมอบให้แก่เกษตรกรดูแล แต่หากยังขาดความพร้อมเราจะเข้าบริหารได้อีกไม่เกิน 10 ปี โดยยึดถือการจ่ายค่าเช่าพื้นที่แก่เกษตรกร 63 ล้านหยวน/ปีเช่นเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ซี. พี. กรุ๊ป ยังได้ดำเนินโครงการกับจีนมากมายด้านการเกษตร เช่น โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมทันสมัยที่เมืองจั้นเจียง มณฑลกวางตุ้ง เป็นโครงการที่เลี้ยงสุกร 1 ล้านตัว ไก่ 100 ล้านตัว รวมถึงสัตว์น้ำ มีมูลค่าการลงทุน 8,000 ล้านหยวนและโครงการ ฉือซี ที่มณฑลเจ้อเจียง โดยซี. พี. กรุ๊ปได้เซ็นสัญญากับรัฐบาลจีน พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ในเมืองฉือซี โดยมีรูปแบบการพัฒนาแบบเกษตรผสมผสานสมัยใหม่อีกด้วย.