ตามดูโครงการทำดีมีอาชีพ (2) เยี่ยมร้านซ่อมรถในสวนมะพร้าวที่บาเจาะ และกิจการเสริมสวยที่นาทวี
เลขา เกลี้ยงเกลา
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดอบรมเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในโครงการ “ทำดี มีอาชีพ” จำนวนมากถึง 8,200 คน ประกอบกับงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ทั่วประเทศซึ่งสูงถึง 900 ล้านบาทนั้น สร้างบรรยากาศคึกคักขึ้นในพื้นที่ไม่น้อย พร้อมๆ กับการจับตาของหลายฝ่ายว่าโครงการนี้สร้างอาชีพให้เยาวชนได้จริง หรือเป็นแค่การสร้างภาพลวงตาของ กอ.รมน.
สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ถูกจับตามากเป็นพิเศษคือ เยาวชนที่ผ่านการอบรมวิชาชีพจะต้องรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือข่ายหรือชมรม และริเริ่มกิจกรรมสร้างอาชีพขึ้นในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย ขณะที่เม็ดเงินที่ใช้ในการอบรมแต่ละรุ่น รวมแล้ว 5 รุ่นก็มากพอดู ทั้งเบี้ยเลี้ยง ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก เพราะ “ฟรีทั้งหลักสูตร”
คำถามคือผลที่ได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่?
จากการติดตามตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า เยาวชนที่รวมตัวกันเป็น “ชมรมทำดีมีอาชีพ” จนสามารถจัดตั้งร้านหรือดำเนินกิจการขึ้นในท้องถิ่นของตนเองได้ และเห็นรูปธรรมชัดเจนแล้วมีอยู่ 2 แห่ง คือที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.นาทวี จ.สงขลา
ที่บ้านบือแนปิแย หมู่ 1 ต.ปาลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ มีร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของ “ชมรมทำดีมีอาชีพ” ที่ชื่อ “ทำดีการช่าง” มี ซำซูดิง แลแว อายุ 19 ปี เป็นประธานชมรม และมีสมาชิกชมรมซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ ต.ปะลุกาสาเมาะ รวมกลุ่มกันถึงกว่า 70 คน
ร้าน “ทำดี การช่าง” ตั้งอยู่ในทิวสวนมะพร้าว โดยใช้ร้านคาร์แคร์เก่าของพี่ชายซำซูดิง เขาเคยฝึกซ่อมรถจักรยานยนต์จากร้านพี่ชายซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักมาระยะหนึ่ง ก่อนสมัครเข้าร่วมโครงการทำดีมีอาชีพเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและเปิดร้านของตัวเอง
“ผมเป็นลูกจ้างร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ของพี่ชายอยู่สามเดือน จากนั้นก็ไปสมัครเข้าโครงการทำดีมีอาชีพกับทางเทศบาล เขาก็ส่งไปฝึกเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์และช่างเชื่อมที่วิทยาลัยเทคนิคนครนายก 4 เดือน กลับมาก็คิดอยากมีร้านเป็นของตัวเอง พอดีมีคาร์แคร์ (ร้านบำรุงรักษารถยนต์) ที่พี่ชายเคยทำและมีที่ว่างอยู่ จึงไปปรับปรุงทำเป็นที่วางอะไหล่ ใช้เนื้อที่คาร์แคร์เป็นที่ซ่อม เปิดมาได้หลายเดือนแล้ว ชาวบ้านก็นำรถมาซ่อมและได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น”
เพียง 2 เดือนที่เปิดให้บริการ ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ “ทำดีการช่าง” ก็ทำรายได้กว่า 10,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ต้องการให้สมาชิกในชมรมทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างงานและก่อให้เกิดรายได้ตามมา
ขณะที่ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ก็เคยไปเยี่ยมและมอบเงินสนับสนุนแก่ซำซูดิง ทั้งยังมีดำริให้ “ร้านทำดีการช่าง” เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนอีกด้วย เพื่อต่อยอดไปสู่เยาวชนกลุ่มเสี่ยงรายอื่นๆ ที่ยังขาดทักษะด้านการซ่อมรถจักรยานยนต์และยังไม่มีงานทำ ให้สามารถเข้ามาเรียนรู้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้
“ผมเปิดร้านตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น พ่อแม่ก็ดีใจที่มีงานทำ เพื่อนๆ แถวบ้านมีเยอะ พอเห็นว่าเราทำได้จริงเขาก็อยากไปฝึกอบรมบ้างในรุ่นต่อไป ผมอยากทำงานหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ อยากไปฝึกอบรมเพิ่มเติมแต่ต้องรอให้ร้านไปได้ดีกว่านี้ก่อน”
ที่น่าชื่นใจก็คือ ตรงข้ามกับร้าน “ทำดีการช่าง” เป็นที่ดินของผู้ใหญ่บ้านที่อนุญาตให้เยาวชนตั้งชมรมเพื่อรวมตัวกันทำกิจกรรมดีๆ อีกด้วย
อีกด้านหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ อ.นาทวี จ.สงขลา เด็กสาว 5 คนร่วมไม้ร่วมมือกันเปิดร้านเสริมสวยด้วยความรู้ที่พวกเธอได้ร่ำเรียนมาจาก “โครงการทำดีมีอาชีพ” เช่นกัน
“สไตล์ โมเดิร์น แฮร์” คือชื่อของร้านเสริมสวยที่ว่านี้ ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.นาหมอศรี อ.นาทวี สมาชิกของร้าน 2 คนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
กันยา แก้วมาก สุดา สังข์ทอง และโศภิต บูรณะธร สมาชิกของร้าน ช่วยกันบอกเล่าที่มาที่ไปของ “สไตล์ โมเดิร์น แฮร์” ว่า มาจากความชอบและมีพื้นฐานด้านการเสริมสวยอยู่แล้ว เมื่อได้ไปอบรมกับโครงการทำดีมีอาชีพเพิ่มเติม จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้กล้าเปิดร้านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
“พวกเราเป็นรุ่นแรก ไปอบรมที่ จ.ระยองและสมุทรปราการเป็นเวลา 1 เดือน เขาสอนให้ทุกอย่าง กลับมาก็คุยกันว่าจะเปิดร้าน พ่อแม่เห็นว่าน่าจะต่อเติมข้างบ้านเป็นร้านได้ จึงปรึกษากับทางหน่วยทหารพรานที่ 4212 ที่ช่วยเหลืออยู่ เขาก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นเงินให้กู้ยืมของโครงการ เมื่อร้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้ก็ค่อยๆ ผ่อนคืน ขนาดร้านเล็กแค่นี้ยังใช้เงินตั้งหลายหมื่น” กันยา บอก
สามสาวเล่าต่อว่า ช่วงแรกคนในละแวกบ้านคิดว่าพวกเธอคงไม่ทำกันจริงจัง แต่เมื่อเห็นว่าพวกเธอตั้งใจจริงก็สนับสนุนและให้กำลังใจ พร้อมชี้ชวนให้เยาวชนคนอื่นได้เห็นเป็นตัวอย่าง
“ร้านเราเปิดกันตั้งเช้า ปิดเมื่อลูกค้าหมด ก็พอใจนะกับจำนวนลูกค้าและการสนับสนุนของชาวบ้าน สิ่งที่ต้องการคือการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์” สามสาวบอก
ทั้งร้าน “ทำดีการช่าง” และ “สไตล์ โมเดิร์น แฮร์” เป็นผลจากความตั้งใจใฝ่รู้ของเยาวชนที่คิดดี ทำดี จนสามารถสร้างอาชีพด้วยสองมือและลำแข้งของตนเองได้...
ถือเป็นอีกหนึ่งพลังเล็กๆ ที่จะช่วยให้สังคมที่ชายแดนใต้สงบสุขและร่มเย็น
---------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ตามดูโครงการทำดีมีอาชีพ (1) สร้างรายได้สกัดไฟความไม่สงบ?