นับเป็นการแถลงผลงานในรอบ 1 ปีของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การบริหารของ "นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ในรัฐบาล "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี
ซึ่งเป็นการแถลงผลงานที่เป็น "นโยบายหลักด้านการศึกษา" ที่ได้ประกาศไว้ช่วงที่เข้ามาบริหารงาน ศธ.และถือเป็นการแถลงผลงานกึ่งนโยบายที่ยาวนานมากเท่าที่เคยมีการแถลงผลงานของ ศธ.มาในอดีต เนื่องจากมีถึง 31 ด้านด้วยกัน และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่ายอย่าง ดุ เด็ด เผ็ด มัน อีกด้วย
ซึ่งการแถลงผลงานกึ่งนโยบายทั้ง 31 ด้าน ประกอบด้วย 1.ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลลูกหลานประชาชนเหมือนลูกหลานของเรา จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชน ทั้งภาคเมืองและชนบท ปั้นนักเรียนไทยให้เป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย 2.ปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ การบริหารงานบุคคลที่โปร่งใส ร่วมรับผิดชอบต่อคุณภาพ การศึกษาของลูกหลานไทย 3.ปรับเลื่อนวิทยฐานะ โยกย้ายครูด้วยความเป็นธรรม สอบแข่งขันวัดความสามารถด้วยตนเองไร้เส้นทางฝากฝัง 4.สอบโอเน็ต ป.6, ม.3 และ ม.6 ทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา วัดผลแต่ละช่วงชั้นประกันคุณภาพการศึกษา เชื่อมโยงการปฏิบัติงานของครูผู้สอน เพื่อเลื่อนวิทยฐานะ 5.ศธ.ไทยใสสะอาด สร้างความโปร่งใส ในการบริหาร ศธ.ให้ปราศจากทุจริตคอร์รัปชั่น
6.ปฏิบัติธรรม นำการศึกษา แก้ปัญหายาเสพติด ขจัดทุจริตคอร์รัปชั่น 7.แท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษา สำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1 ทุกคน เติมภูมิปัญญาด้วยเทคโนโลยี มีความรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด 8.เรียน ม.6 จบได้ใน 8 เดือน เรียนในเวลา และนอกเวลา เพื่อก้าวทันโลก และทันลูกหลาน 9.กองทุนตั้งตัวได้ เงินทุนขั้นต้นสำหรับนักศึกษา พร้อมเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคต 10.โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทุนการศึกษาสานฝัน ให้เด็กเก่งทุกอำเภอ เรียนต่อต่างประเทศ
11.สื่อสารภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดย 80% ของนักเรียนทั้งประเทศพูดภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 12.เรียนดีอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่อนุบาลจนจบ ม.6 ฟรีค่าเล่าเรียน ฟรีค่าเครื่องแบบ ฟรีค่าอุปกรณ์การเรียน ฟรีค่าหนังสือ และฟรีค่ากิจกรรม 13.สร้างผู้นำอาเซียน (Asean Leaders Scholarship) เพิ่มทุนการศึกษาแก่นักศึกษาอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมเป็นผู้นำในภูมิภาค 14.ทุนการศึกษาเพื่ออนาคต (กรอ.) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้ 15.ครูมืออาชีพ ฝันอยากเป็นครูได้เป็นครู จบแล้วมีงานทำ มั่นคงในชีวิต ร่วมสร้างลูกหลานไทยให้เฉลียวฉลาด
16.ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix-it Center) ศูนย์บริการซ่อมสร้าง 20,000 แห่งทั่วประเทศ ฝึกฝนช่างฝีมือ ให้บริการประชาชน 17.การศึกษาดับไฟใต้ จัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชน และผู้นำในพื้นที่ 18.ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน (OTOP Mini MBA) ฝึกอาชีพ เพิ่มพูนทักษะ คิดเป็น ผลิตเป็น ส่งออกต่างประเทศ เพิ่มรายได้แก่ครอบครัว 19.ศธ.ไทยปลอดภัย ไร้บุหรี่ ห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษา ผู้บริหารอาสาเป็นแบบอย่าง ห้ามสูบบุหรี่ในสถาน 20.ศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ สร้างการศึกษาให้แข็งแรง เพื่อแข่งขันในประชาคมอาเซียน
21.อัจฉริยะสร้างได้ ส่งเสริมให้เด็กเก่ง เด็กฉลาด พร้อมเป็นผู้นำประเทศในทุกสาขา 22.อินเตอร์เน็ตตำบลและหมู่บ้าน ค้นหาความถนัดตนเอง เรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา 23.คูปองสร้างเสริมอัจฉริยะ คูปองแลกหนังสือ ให้โอกาสเยาวชน เลือกหนังสือตามความสมัครใจ 24.โรงเรียนในโรงงาน เรียนรู้จริงในสถานประกอบการ ระหว่างเรียนมีรายได้ จบแล้วได้งานทำ 25.อาชีวะไทย ก้าวไกล ใช้เทคโนโลยี สุภาพบุรุพอาชีวะ มีวินัย เคารพกติกา รักษาคุณธรรม
26.สร้างพลังครู แก้ปัญหาหนี้สิน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างโอกาส 27.หลักสูตรคิดเป็น ทำเป็น ลดหลักสูตรท่องจำ รู้ด้วยความเข้าใจ ใช้ปัญญา จิตนาการอย่างไม่สิ้นสุด 28.โรงเรียนร่วมพัฒนา รวมพลังครู นักเรียน เพื่อความแข็งแกร่งทางวิชาการ พร้อมสื่อการสอนสมัยใหม่ ยานพาหนะรับส่ง 29.ศูนย์อบรมอาชีวศึกษา พัฒนาอาชีพให้นักเรียนนักศึกษา ประชาชน เรียนรู้ประสบการณ์การณ์ก่อนไปประกอบอาชีพ 30.ตั้งสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อความเป็นเลิศในการเรียนสายอาชีพ ปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เติมเต็มความรู้ คู่ความเชี่ยวชาญในอาชีพ และ 31.เทียบโอนประสบการณ์สายอาชีพ จบปวช.ได้ใน 8เดือน หลักสูตรเทียบโอนเรียนเข้มระยะสั้น เทียบโอนความรู้ทักษะ ประสบการณ์สายอาชีพ
นอกจากนโยบายหลักด้านการศึกษาทั้ง 31 ด้านแล้ว รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังระบุด้วยว่า "เรื่องของข้าราชการครูฯ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้ให้ความสำคัญ อย่างการแก้ปัญหาหนี้สินครู การให้ข้าราชการครูฯ ที่มีได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.3 เต็มขั้นให้สามารถเลื่อนไปรับเงินเดือนในอันดับ คศ.4 และมีสิทธิ์ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ ส่วนเพื่อนครูสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2,500 คน ที่ยังเป็นอัตราจ้าง ผมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการครูฯ ตามที่ร้องขอมาก่อนหน้านี้ ซึ่งปีแรกจะบรรจุให้ 250 อัตราก่อน"
นอกจากนี้ นายสุชาติยังประกาศว่าการทำงานของ ศธ.มีกรอบคิดที่มองประชาชนเป็น "นาย" ส่วนข้าราชการ ศธ.ก็คือ "การรับใช้ประชาชน"
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการแถลงผลงาน 1 ปีของ ศธ.ที่ออกจะไปในเชิงนโยบายมากกว่าของนายสุชาติ ปรากฎว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาแทบจะในทันทีทันใด ว่าน่าจะเป็นผลงานชิ้น "โบดำ" มากกว่าชิ้น "โบแดง" โดยเฉพาะจากรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.จากพรรคเดียวกัน "นายศักดา คงเพชร" ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย
นายศักดาที่ได้รับมอบหมายให้ดูในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งดูแลการจัดการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ได้ออกมาตอบโต้การแถลงผลงาน 1 ปี ของนายสุชาติโดยระบุว่าในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีผู้เรียนในสายอาชีพประมาณ 60% แต่ประเทศไทยยังมีผู้เรียนสายอาชีะไม่ถึง40% ขณะที่ความต้องการช่างมีฝีมือยังมีอีกมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนช่างฝีมืออย่างหนัก และเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 การแข่งขัน และความต้องการช่างฝีมือจะมีมากขึ้นไปอีก แม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำในที่ประชุม ครม.หลายครั้งหลายคราว่าให้สร้างบุคลากรด้านอาชีวศึกษา
หลังรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ออกมาขย่มการแถลงผลงาน 1 ปีของนายสุชาติ ว่ายังไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมาย และนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นั้น
พรรคฝ่ายค้านอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" ก็ออกมาร่วมผสมโรง อย่าง "นายบุญยอด สุขถิ่นไทย" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ "ฟันธง" ว่าภาพรวมด้านการศึกษาไทยใน 1 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมากนัก เริ่มตั้งแต่คะแนนสอบของนักเรียนที่ยังไม่ค่อยดี ซึ่งถือว่าสอบไม่ผ่าน โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่านโยบายด้านการศึกษาเน้นไปที่ตัวครูมากกว่านักเรียน ในขณะที่ตัวนักเรียน ศธ.เน้นแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ถึงแม้จะเป็นโครงการที่ดี แต่ควรจะคิดให้รอบคอบกว่านี้ และควรจะแจกนักเรียนชั้น ป.4 มากกว่าชั้น ป.1 ฉะนั้น อยากให้นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้มากกว่านี้
ด้านนักวิชาการฝีปากกล้าอย่าง "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า 31 นโยบายหลักด้านการศึกษาในการแถลงผลงาน 1 ปี ของ ศธ.นั้น มีเพียง 30% เท่านั้น ที่มีผลงานออกมาให้เห็น อย่างการแจกคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นเพียงแนวโนยบาย หลักการ และแนวคิด ที่ไม่มีการลงมือปฏิบัติ และขับเคลื่อนเลย อย่างการแถลงผลงานที่ผ่านมา จะเป็นแสดงผลงานที่เป็นตัวหนังสือเยอะมาก แต่ตัวเนื้องานกลายเป็นหลักคิดทางนโยบายมากกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะนายสุชาติเพิ่งเข้ามาในช่วงสั้นๆ 6-7 เดือน
แต่ "จุดอ่อน" ที่สุดที่ทำให้นโยบายหลักด้านการศึกษา 31 ข้อ ไปไม่ถึงไหนนั้น นายสมพงษ์บอกว่าคือ ไม่มี "ทีมงาน" ที่จะมาช่วยขับเคลื่อน และเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายสู่การปฏิบัติ อีกเรื่องที่เห็นเป็นจุดอ่อนมากคือ "ผู้บริหาร ศธ." หรือก็คือ "นักการเมือง" ที่เข้ามาเป็นผู้บริหาร ศธ.เกิดความ "ขัดแย้ง" และ "ปีนเกลียว" กันเอง ระหว่างนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช และนายศักดา คงเพชร จึงทำให้การทำงานไม่เป็นเอกภาพ ฉะนั้น ถ้าการเมืองเป็นเสียงเดียวกัน จะทำให้นโยบายต่างๆ ถูกขับเคลื่อนไปมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการขับเคลื่อนการจัดการอาชีวศึกษา หรือเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้ระบบราชการ แต่ควรใช้รูปแบบอื่นๆ ในการขับเคลื่อน เช่น ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา หรือกลุ่มคนมาช่วย น่าจะดีกว่า
สำหรับ "คุณภาพ" ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ซึ่งเป็นคนที่มีหลักการคิด และคิดนอกกรอบได้อย่างโดดเด่น ไม่โกง แต่ลักษณะของความเป็นนักวิชาการ ทำให้มีจุดอ่อน เพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร หรือทำอย่างไร ฉะนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งทีมงานขึ้น 4-5 กลุ่ม เพื่อจะช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของ ศธ.นอกจากนี้ ปัญหาของนายสุชาติคือไม่สามารถอธิบายในสิ่งที่ตัวเองคิดให้คนอื่นเข้าใจ และไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ ทำให้ภาพที่ออกมาเป็นในเชิงลบ อีกทั้ง ยังไม่สามารถสื่อสารกับสื่อได้
ถือเป็น "โจทย์" ใหญ่เลยทีเดียว ที่ทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศ ที่จะต้องนำกลับไปคิด ทบทวน และแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ
เพื่อให้ "การศึกษาไทย" และ "เด็กไทย" ก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม!
!