ตอกเข็มปฐมฤกษ์ “ปัตตานี เพลส” กับเสียงสะท้อนของคนพื้นที่
เลขา เกลี้ยงเกลา / สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
โครงการก่อสร้างขนาดยักษ์ที่ใช้ชื่อว่า “ปัตตานี เพลส” ตอกเสาเข็มปฐมฤกษ์แล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา บนพื้นที่ทำเลทองริมถนนเจริญประดิษฐ์ กลางเมืองปัตตานี โดยเจ้าของโครงการวาดหวังว่าจะตัดริบบิ้นเปิดอย่างเป็นทางการได้ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมจ้างงานคนในพื้นที่ราว 200 อัตรา
“ปัตตานี เพลส” เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนมากกว่า 600 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ หรือโฮม ออฟฟิศ ห้องชุดพักอาศัย หรือคอนโดเทล โรงแรม ศูนย์การค้าครบวงจร หรือปัตตานี มอลล์ และศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ไออีซี (International Education Center) รวมทั้งแหล่งนันทนาการที่ปลอดมลภาวะทางศีลธรรมที่เจ้าของโครงการอ้างว่าเป็นแห่งเดียวของภาคใต้
ที่สำคัญโครงการนี้จะเป็นการ “พัฒนาธุรกิจแบบธรรมาภิบาลที่มุ่งคืนกำไรสู่สังคมแบบยั่งยืน” โดยพร้อมเปิดบริการครบวงจรภายในเดือน ธ.ค.
อิบรอเฮ็ง เจะอาลี ประธานกรรมการบริษัทดีอาร์เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการปัตตานี เพลส กล่าวว่า จากความตั้งใจที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และศูนย์การค้าที่สมบูรณ์แบบในปัตตานี มีเสียงตอบรับจากพี่น้องมุสลิมและศาสนิกอื่นในพื้นที่ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อทราบว่าปัตตานี เพลส เป็นโครงการที่เน้นให้เป็นศูนย์การศึกษา หลายฝ่ายจึงอยากให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว นับเป็นโครงการที่ทำให้นักธุรกิจมุสลิมและนักลงทุนทั่วไปในพื้นที่มีกำลังใจ มีพลังในการดำเนินธุรกิจต่อไป และเป็นโครงการแรกที่จะตอบสนองความต้องการของชาวปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“โครงการของเรามุ่งเรื่องการศึกษา ปลอดอบายมุข เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility - CSR) อย่างแท้จริง โดยเราจะคัดเลือกและพัฒนานักเรียนที่เรียนเก่งในแต่ละท้องที่มาเรียนในปัตตานี ให้พักในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเตรียมการสำหรับการเป็นบุคลากรที่ดีมีคุณภาพของสังคม ส่วนเด็กที่ด้อยโอกาสแต่มีความสามารถ ก็จะจัดเงินในรูปแบบของซะกาต (เงินบริจาค) ให้แก่เด็กทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม”
“โครงการนี้เป็นศูนย์รวมวงจรทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เกิดมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการ ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับผลประโยชน์จากผู้บริโภคที่มาใช้บริการ เพราะยังไม่เคยมีโครงการที่สมบูรณ์แบบเช่นนี้มาก่อน” อิบรอเฮ็ง กล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริหารโครงการปัตตานี เพลส คาดว่า ภายในเดือน เม.ย.จะเริ่มตกแต่งอาคารพาณิชย์จำนวน 13 ห้องแล้วเสร็จ และพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อได้ จากนั้นภายในเดือนส.ค.จะก่อสร้างอาคารพักอาศัยจำนวน 4 หลัง และโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ภายในวันอาทิตย์ที่ 9 ธ.ค.2553 คาดว่าจะสามารถเปิดโครงการอย่างเป็นทางการได้เต็มรูปแบบทั้งศูนย์การค้าปัตตานีมอลล์ โรงแรมแอดปัตตานี โฮเต็ล (@Pattani Hotel) อาคารศูนย์การเรียนรู้ ตลอดจนอาคารประกอบการอื่นๆ ในโครงการได้ภายในสิ้นปี และจะจ้างงานในระยะแรกราว 200 อัตรา
ด้านเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ กับโครงการที่ปลุกกระแสเศรษฐกิจในสามจังหวัดให้คลายความซบเซา ยะโก๊ป หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งและน่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะเกิดโครงการแบบนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ยิ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาด้วยแล้ว จะสามารถเพิ่มโอกาสให้เด็กๆ ในพื้นที่ได้มีความรู้มากขึ้น แทนที่เยาวชนจะต้องไปเช่าหอพักที่อื่นเพื่อไปติวเท่านั้น แต่ถ้าปัตตานีเพลสเกิดขึ้นจริงๆ เด็กๆ ก็จะได้ติววิชาความรู้ใกล้บ้าน พ่อแม่ดูแลได้อย่างใกล้ชิด และยังได้ในมิติของวัฒนธรรมด้วย”
อย่างไรก็ดี ยะโก๊ะ บอกว่า แม้ในชั้นต้นจะยังไม่เห็นข้อเสีย แต่เท่าที่ทราบในโครงการจะมีห้างสรรพสินค้ารวมอยู่ด้วย ถ้าหากผู้บริหารดูแลไม่ทั่วถึง ก็อาจกลายเป็นสถานที่ซ่องสุมได้ ฉะนั้นจึงอยากให้ป้องกันเอาไว้ก่อน
“การเกิดขึ้นของปัตตานี เพลส จะทำให้โรงเรียนตาดีกาได้มีความตื่นตัว และพ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกหลานได้เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้มากขึ้น เพื่ออนาคตของเด็กในสามจังหวัด”
ขณะที่ ซูลวีนาร์ ซีเดะ นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานี เพลส ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้มีสถานที่ติวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เรียนได้ทันเพื่อนที่ไปติวที่ไกลๆ เพราะเพื่อนๆ ที่ไปติวส่วนใหญ่ เวลาทำข้อสอบก็จะได้คะแนนดี ที่สำคัญเมื่อมาเปิดที่ปัตตานี ก็จะทำให้ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
“แต่สิ่งที่กังวลคงเป็นเรื่องของห้างสรรพสินค้า ถ้าถามว่าดีไหมก็ต้องยอมรับว่าดี เพราะเมื่อมาติวก็จะได้พักผ่อนสมอง ไปเดินเที่ยวในห้างได้ แต่ถ้าหากเด็กๆ ไม่สนใจมาเรียน มุ่งเพียงแต่จะเที่ยวห้าง ก็อาจเกิดข้อเสียได้เหมือนกัน” ซูลวีนาร์ กล่าว
เป็นข้อห่วงใยที่น่ารับฟัง และท้าทายเป้าหมายการเป็นแหล่งนันทนาการที่ปลอดมลภาวะทางศีลธรรมไม่น้อยทีเดียว!