ไฟใต้ปี 53 ระวังยุทธการ"รวมดารา"
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก้าวผ่าน 6 ปีเต็มไปแล้ว กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 7 ประเด็นที่น่าสนใจก็คือเมื่อพลิกดูสถิติการก่อเหตุร้ายรายวันในพื้นที่ ค่อนข้างชัดว่าความรุนแรงลดลงอย่างมากหลังจากปี 2550 แต่ก็เริ่มทรงตัวในห้วงปี 2551-2552 และแนวโน้มในปี 2553 ก็ยังน่าเป็นห่วง
รายงานของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ระบุว่า ตลอด 6 ปีไฟใต้ (2547-2552) มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งสิ้น 13,058 ครั้ง แยกเป็นลอบยิง 5,494 ครั้ง วางระเบิด 1,716 ครั้ง ที่เหลือเป็นวางเพลิงและเหตุป่วนอื่นๆ มีผู้เสียชีวิตรวม 3,850 ราย แยกเป็นประชาชน 3,365 ราย ทหาร 248 นาย ตำรวจ 237 นาย มีเด็กกำพร้ามากกว่า 5,000 คน หญิงหม้ายมากกว่า 1,600 คน
โดยปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดคือ 2,475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,015 ราย เป็นประชาชน 888 ราย ทหาร 83 นาย ตำรวจ 44 นาย
อย่างไรก็ตาม สถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2551 กล่าวคือมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,370 ครั้ง อัตราการสูญเสีย 605 ราย หรือลดลงราว 44% เลยทีเดียว
แต่กระนั้น ในปี 2552 กลับมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 1,347 ครั้ง ลดลงจากปี 2551 เพียง 23 เหตุการณ์ หรือคิดเป็น 1% เศษ และมีอัตราการสูญเสีย 606 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 1.7%
ที่สำคัญปี 2552 เพียงปีเดียวยังเกิดเหตุระเบิดในลักษณะ "คาร์บอมบ์" ถึง 6 ครั้ง ทั้งๆ ที่ในรอบ 5 ปีก่อนหน้านั้นมีคาร์บอมบ์เกิดขึ้นเพียง 6 ครั้ง โดยรัฐบาลต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ไปแล้ว 18 ครั้ง
แหล่งข่าวซึ่งเป็นนายตำรวจระดับสูงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเมินว่า ช่วงปี 2550 ต่อเนื่องปี 2551 ฝ่ายความมั่นคงสามารถทำลายโครงสร้างของฝ่ายก่อความไม่สงบได้เยอะมาก อันเป็นผลจากการใช้กฎหมายพิเศษและปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มข้น ทำให้ฝ่ายตรงข้ามก่อเหตุได้น้อยลง และลดความถี่ไปมาก
อย่างไรก็ดี ในปี 2553 เหตุรุนแรงต่างๆ จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป โดยฝ่ายผู้ก่อการจะเลือกวันที่มีความพร้อมหรือวันที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในการก่อเหตุเพื่อให้เป็นข่าวดัง และใช้ยุทธการที่เรียกว่า "รวมดารา" คือดึงแนวร่วมจากหลายๆ พื้นที่มาร่วมกันทำงาน จากเดิมที่แยกกันเป็นพื้นที่ เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด
“สถิติการก่อเหตุที่ลดลง อธิบายได้ว่าฝ่ายผู้ก่อการเริ่มหมดคน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฝีมือและเป็นมือดี เขาจึงต้องปรับยุทธวิธี ด้านหนึ่งก็รีบหาคนใหม่เข้ามา กับอีกด้านหนึ่งก็คือใช้ยุทธการรวมดารา”
"จากเหตุรุนแรงในระยะหลัง ผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานของเราชัดเจนว่า ฝ่ายก่อการใช้คนจากนอกพื้นที่มาก่อเหตุ เช่น กรณีคาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี (เมื่อปี 2551) มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ทำคาร์บอมบ์ที่ จ.ยะลา และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ทั้งยังโยงใยกับกลุ่มธุรกิจนอกกฎหมายและยาเสพติดซึ่งเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนด้วย" แหล่งข่าว กล่าว
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ค่อนข้างชัดว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในยุทธการ “รวมดารา” ก็คือเหตุการณ์โจมตีรถไฟที่ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2551 ซึ่งนายตำรวจระดับสูงผู้นี้ บอกว่า สาเหตุที่รู้ก็เพราะฝ่ายความมั่นคงมีฐานข้อมูลโครงข่ายของกลุ่มก่อความไม่สงบมากพอสมควร
“เรามีฐานข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเกือบทุกคดีที่เกิดขึ้น หากเป็นคดีความมั่นคง เรารู้ตัวผู้กระทำเกือบทั้งหมด”
แต่กระนั้นก็ยังมีคำถาม เพราะดูเหมือนฝ่ายผู้ก่อการยังเลือกสร้างสถานการณ์ได้ในจังหวะเวลาและพื้นที่ที่ต้องการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการก่อเหตุรุนแรงอย่างน้อย 9 จุด เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 ซึ่งเป็นวันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พร้อมกับ นายนาจิบ ราซัก ผู้นำมาเลเซีย แต่ข้อข้องใจนี้ก็มีคำอธิบาย
“ถ้าเป็นช่วง 2-3 ปีก่อน เขาทำได้มากกว่านี้เยอะ อย่าลืมว่าเขาเคยทำได้เป็นร้อยจุด โจมตีธนาคารพร้อมกัน 22 แห่ง มีม็อบออกมาชุมนุมประท้วงมากมาย แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว”
ส่วนยุทธวิธีของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะตำรวจ ที่จะเดินหน้าต่อไปในปี 2553 นั้น ก็คือการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นและเป็นธรรม ใช้กำลังคุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคุมเส้นทางเข้าออกตามแนวชายแดน เพราะชัดเจนว่ามีการผลิตระเบิดในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งเข้ามาก่อเหตุในสามจังหวัด ที่สำคัญจะต้องนำมาตรการยึดทรัพย์มาใช้กับกลุ่มทุนที่สนับสนุนฝ่ายก่อความไม่สงบด้วย
“ปฏิบัติการสืบสวนจับกุมต้องขยายผลเพื่อให้ได้ตัวคนสั่งการ ถ้ารู้ตัวได้ ยึดอาวุธได้ คุมพื้นที่ได้ ฝ่ายผู้ก่อการก็เคลี่อนไหวลำบาก ยิ่งหากคุมกระแสเงินได้ด้วย ก็จะหยุดการก่อเหตุร้ายรายวันได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็ต้องเร่งเรื่องการพัฒนา แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ดูแลเรื่องการศึกษา และให้ความเป็นธรรม ก็จะคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างยั่งยืน” นายตำรวจระดับสูง กล่าว
เป็นเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงที่จะต่อกรกับ “ยุทธการรวมดารา” เพื่อเดินหน้าสถาปนาสันติสุข!
----------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่หน้าโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อ 15 มี.ค.2551 ซึ่งตำรวจมองว่าเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ฝ่ายผู้ก่อการใช้ยุทธวิธี “รวมดารา”