ลำพูน ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินอุทกภัย เพิ่มอีก 1 อำเภอ
นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูนมีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย ไปแล้ว 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอแม่ทา บ้านธิ ป่าซาง ลี้ และทุ่งหัวช้าง ขณะนี้ มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน อุทกภัย เพิ่มอีก 1 อำเภอ คืออำเภอเมืองลำพูน รวมเป็น 6 อำเภอ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนรวม 40,681 คน 8,963 ครัวเรือน 154 หมู่บ้าน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จังหวัดลำพูนอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 ด้านผู้ประสบภัยที่อพยพไปอยู่บนที่สูงชั่วคราวภายในเต้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกลับเข้าบ้านพักอาศัยได้แล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำกวง แม่น้ำลี้ และแม่น้ำทา อยู่ในระดับปกติ
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวด้วยว่า ในระยะนี้ร่องมรสุมมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคเหนือมีฝนลดลงอยู่ในเกณฑ์กระจาย อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำโดยเฉพาะแม่น้ำลี้ และแม่น้ำทา ซึ่งไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ ยังคงต้องระมัดระวังอันตรายจากน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง พร้อมติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(10 ก.ย. 55) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,829 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.88 เมตร
ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.00 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,810 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่ง 2.34 เมตร ในขณะที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,146 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจุดนี้ยังเป็นจุดวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย) แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่จ.กำแพงเพชร เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์เริ่มทรงตัว
กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ จะอยู่ในเกณฑ์สูงสุดไม่เกิน 1,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติมทางตอนบน สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเข้าสู่ภาวะปกติในระยะต่อไป
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา(10 ก.ย.) มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,965 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 5,764 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 463 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 319 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร
แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ หลายแห่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานทุกแห่งติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ทางด้านท้ายอ่างฯ พร้อมๆไปกับการเก็บกักน้ำสำรองไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด สำหรับใช้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งหน้าที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ที่มาภาพ: อินเทอร์เน็ต