คลังโชว์ผลงานรอบปี ประชานิยมบานสะพรั่ง
กระทรวงการคลังแถลงผลงานรอบ 1 ปี ก่อนที่รัฐบาลจะเอาผลงานไปยำเป็นรวมมิตรจานใหญ่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงรัฐสภา
กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เกณฑ์ผู้บริหารทั้งกระทรวงรวมถึงผู้บริหารแบงก์รัฐมาเสริมทัพการแถลงผลงานชนิดเต็มอัตราศึก
ผลงานที่คาดว่า จะถูกหยิบยกขึ้นมาติดโบแถลงในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่รัฐบาลตีฆ้องร้องเป่าสัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา
เริ่มตั้งแต่การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% ในปีนี้ และ 20% ในปีหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้อัตราภาษีนิติบุคคลสอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การลดภาษีครั้งนี้ทำให้กรมสรรพากรสูญเสียเงินภาษีไป 1.5 แสนล้านบาท และยังมีคำถามว่าการลดภาษีครั้งนี้ มีผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 ล้านรายแทบไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดภาษีของรัฐบาล
โครงการรถคันแรก คืนเงินภาษีสรรสามิตให้กับผู้ซื้อรถคันแรกไม่เกิน 1 แสนบาท รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ 5 แสนคัน ทำให้เป็นภาระงบประมาณจ่ายคืนให้ผู้ซื้อรถ 3 หมื่นล้านบาท ในโครงการนี้ในแง่ปริมาณถือว่าประสบความสำเร็จ
หลังจากมีการขยายเงื่อนไขส่งมอบรถไม่มีกำหนด แต่ต้องจองซื้อภายในปีนี้ ทำให้การใช้เงินงบประมาณใช้โปะโครงการนี้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้
ตามมาด้วยบ้านหลังแรก มีทั้งการให้หักหย่อนภาษี และสินเชื่อดอกเบี้ย 0% เป็นเวลานาน 3 ปี ในส่วนของการหักลดหย่อนภาษีทำให้รัฐสูญเสียภาษีอีกนับพันล้านบาท
ส่วนสินเชื่อ 0% ตั้งเป้าไว้ 2 หมื่น แต่ปล่อยได้ไม่ถึงครึ่งเพราะติดเงื่อนไขบ้านต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท
นโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมของกระทรวงการคลังที่เด่นอีก คือโครงการรับจำนำข้าวรอบแรกใช้เงินไป 3.5 แสนล้านบาท เป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 9 หมื่นล้านบาท เงินกู้จากกระทรวงการคลังอีก 2.6 แสนล้านบาท โดยวิจัยของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ออกมาระบุว่า โครงการนี้จะเสียหาย 1 แสนล้านบาท มีชาวนาที่ยากจนที่ได้ประโยชน์เพียง 17% ที่เหลือเงินอีก 8 หมื่นกว่าล้านบาท ตกอยู่ในมือของชาวนาที่รวย นายทุน เจ้าของโรงสี นักการเมือง
ความเสียหายของโครงการรับจำนำ ยังไม่รวมกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การส่งออกข้าวไทยที่มีปัญหาเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับคู่แข่งเวียดนามและอินเดีย และปัญหาข้าวไทยไม่มีคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังก็ยังเดินหน้าหนุนรับจำนำรอบ 2 ที่ต้องใช้เงินอีก 4 แสนล้านบาท
ผลงานต่อเนื่องจากโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรที่เดินหน้า 2 ล้านใบให้ได้ภายในปีนี้ และตั้งเป้าเป็น 4 ล้านใบในปีหน้า
ส่วนผลงานโครงการประกันพืชผลที่ว่าไม่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลเก่าริเริ่ม ทำให้รัฐบาลนี้ไม่อยากสานต่อ
อีกผลงานกระทรวงการคลังที่ทำผ่านแบงก์รัฐ คือโครงการพักหนี้ดีไม่เดิน 5 แสนบาท โดยลดดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี และลูกหนี้ยังเลือกที่จะพักหนี้หรือไม่พักได้อีกด้วย โครงการนี้แบงก์รัฐสูญเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยให้แบงกค์รัฐครึ่งหนึ่งเพราะไม่เช่นนั้นแบงก์รัฐบางแห่งจะมีปัญหาฐานะการเงินขาดทุน
ส่วนผลงานกระทรวงการคลังที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจภาพรวม ก็เห็นจะเป็นผลงานที่ทำเฉพาะหน้าเนื่องจากสถานการณ์บังคับ คือการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเงิน 4 ฉบับ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
พ.ร.ก.ฉบับแรกเป็นการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ซ่อมแซมประเทศหลังน้ำท่วม รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนแต่ผ่านมา 1 ปี รัฐบาลเบิกจ่ายเงินไปไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาทโดยเงินกู้ต้องกู้ภายในปี 2556
พ.ร.ก.ตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติ 5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ยังมีผู้มาทำประกันดับกองทุนจำนวนน้อย พ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ปล่อยกู้ซอฟต์โลน 3 แสนล้านบาท
ขณะที่ พ.ร.ก.ฉบับสุดท้าย เป็นการโอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ไปให้ ธปท.ดูแลรับใช้ โดยไปเก็บเงินค่าต๋งเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังอ้างว่าเป็นการแก้ไขหนี้ที่เป็นภาระงบประมาณ แต่นักวิชาการและนักการเงินเห็นว่า เป็นการซุกหนี้ของรัฐบาล และผลักภาระให้ผู้ฝากและกู้เงินของธนาคารพาณิชย์เป็นผู้รับภาระทั้งหมด
เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานของกระทรวงการคลังที่พยายามตกแต่งโครงการประชานิยมให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง ก่อนใส่พานให้นายกรัฐมนตรีแถลงเป็นผลงานรัฐบาลเรียกคะแนนเสียงอีกรอบ
:: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต