เบื้องลึกมาเลย์จับ 11 คนไทย ยังมิใช่บทพิสูจน์กระชับความสัมพันธ์
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้กรณีตำรวจมาเลเซียจับกุมคนไทย 3 คน พร้อมยึดของกลางเป็นอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมาก ที่บ้านหลังหนึ่งในอำเภอปาเสมัส รัฐกลันตัน จะนำไปสู่การขยายผลจับกุมคนไทยเพิ่มเติมอีก 8 คน แต่เรื่องนี้ก็ยังน่าวิเคราะห์ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยหรือไม่
จุดเริ่มต้นจับ 3 คนไทย
การจับกุมคนไทยกลุ่มแรกจำนวน 3 คน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2552 ภายหลังการลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกันของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย และ นายนาจิบ ราซัก ผู้นำมาเลเซีย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.เพียง 5 วัน โดยคนไทย 3 คนที่ถูกตำรวจมาเลย์จับกุม ประกอบด้วย
1. นายมูฮำหมัดฟาโร บินยาการียา อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ 2 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
2. นายมะยูไน บินเจ๊ะดอเลาะ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ 2 ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส
3. นายสารี มูฮำหมัด บินอับดุลฮาสิ อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 120 หมู่ 5 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
สำหรับของกลางที่ยึดได้จากบ้านเช่าของผู้ต้องหาทั้งสามคน เลขที่ 17 บ้านแกเด็ง ตำบลบาโงสะโต อำเภอปาเสมัส รัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านแฆแบ๊ะ หมู่ 1 ต.นานาค อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีหลายรายการ อาทิ กระสุนปืนพกสั้น ขนาด .32 จำนวน 48 นัด กระสุนปืนพกสั้น ขนาด .38 จำนวน 210 นัด ไดนาไมท์ จำนวน 136 แท่ง คู่มือประกอบวัตถุระเบิด 6 เล่ม ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท จำนวน 5 กิโลกรัม รีโมทรถยนต์ จำนวน 6 ชุด ถ่านไฟฉายขนาด 12 โวลต์จำนวน 8 ก้อน ถ่านไฟฉายขนาด 9 โวลต์ จำนวน 9 ก้อน รถยนต์เก๋งยี่ห้อโปรตรอน สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน WKB 7153 จำนวน 1 คัน อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 และอาก้า จำนวน 2 กระบอก แผนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ขยายผลจับเพิ่มอีก 8 คน
ต่อมาวันที่ 21 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงประเทศมาเลเซียได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่บ้านรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ซึ่งเป็นการขยายผลหลังสอบปากคำผู้ต้องหาคนไทย 3 คนที่ถูกควบคุมตัวก่อนหน้านี้ โดยมีรายงานว่าทั้งสามได้ซัดทอดถึงกลุ่มขบวนการที่ยังหลบซ่อนตัวตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งด้าน อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ผลการตรวจค้น เจ้าหน้าที่มาเลย์สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเพิ่มได้อีก 8 คน และนำตัวไปสอบสวน โดยทั้ง 8 คนนี้ล้วนมีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นราธิวาส และ 1 ใน 8 ยังเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ สภ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ด้วย
สำหรับรายชื่อคนไทยที่ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติมทั้ง 8 คนได้แก่
1. นายซาฮูดิน เจ๊ะดี อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54/2 หมู่ 3 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
2.นายมูฮำหมัดอาสารี เจ๊ะดี อยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 3 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
3. นายนิอาลาวี อับดุลบุตร อายุ 23 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 หมู่ 1 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
4. นายสูไฮมี บินยูลียา อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38/48 ถนนปงฮงกือปัส-เกาะตา ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
5. นายอับดุลบาซิ ยูนุ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13 หมู่ 3 ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
6. นายอาลฮาตา บินดอเลาะ อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 18 ถนนปงฮงกือปัส-เกาะตา ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
7.นายนิปา นิเระ อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26/1 หมู่ 6 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (มีหมาย ฉฉ ที่ 152/2549 ของ สภ.เจาะไอร้อง ซึ่งเป็นหมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในคดีลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง
8. นายมูฮำหมัด ยูสนีซัน อายุ 20 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ 3 ต.สุไหงปาดี อ. สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
อย่างไรก็ดี ในชั้นต้นคนไทยที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 8 คน ยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาเรื่องการครอบครองอาวุธหรือวัตถุระเบิด หรือเกี่ยวโยงกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่วน นายนิปา นิเระ ซึ่งมีหมายเชิญตัวของ สภ.เจาะไอร้อง นั้น เบื้องต้นยังไม่มีการประสานเพื่อขอตัวมาดำเนินคดี
ทั้งนี้ หลังจากมีข่าวการจับกุมคนไทยในประเทศมาเลเซีย และฝ่ายความมั่นคงไทยได้ตรวจสอบข่าวสารจนเป็นที่แน่ชัด ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ จ.นราธิวาส ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านของคนไทยที่ถูกจับบางคน เพื่อหาหลักฐานที่อาจเชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ด้วย
กอ.รมน.ชี้ บางส่วนเป็นแนวร่วมระดับปฏิบัติการ
การจับกุมคนไทยรวม 11 คนในประเทศมาเลเซีย เป็นข่าวที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากทางการมาเลเซียไม่ได้เปิดแถลงอย่างเป็นทางการ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงไทยต้องตรวจสอบข่าวและออกคำแถลงในเวลาต่อมา
คำแถลงของ พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ทำให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจค้นจับกุมครั้งนี้มากขึ้นพอสมควร โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจเฉพาะกิจ สถานีตำรวจปาเสมัส รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับหน่วยทำลายวัตถุระเบิดพิเศษ (UPB) และสำนักงานพิเศษ (SIS) ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเช่าเลขที่ 17 บ้านกือเบ็ง อำเภอปาเสมัส ประเทศมาเลเซีย จับกุมชาวไทยจำนวน 3 คน และยึดของกลางเป็นอุปกรณ์ผลิตระเบิดแสวงเครื่องหลายรายการ พร้อมทั้งได้ควบคุมตัวไปสอบสวนที่สถานีตำรวจบูกิตอามาน กรุงกัวลาลัมเปอร์
คนแรกเป็นผู้หลบหนีตามหมายขังระหว่างพิจารณาคดีอาญาของศาลจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2552 คนที่สองเป็นผู้ต้องหาตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกโดย สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส และคนที่สามเคยเข้าร่วมชุมนุมกรณีตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2552 เวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ล็อค 886 บ้านบาโงแมะปิกูวอซีตุ ตำบลรันตูปันยัง อำเภอปาเสมัส รัฐกลันตัน ตรงข้ามกับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ผลการปิดล้อมตรวจค้นสามารถควบคุมตัวคนไทยได้อีก 8 คน และชาวมาเลเซีย 1 คน พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 10 เครื่อง นำส่งสถานีตำรวจปาเสมัส เพื่อดำ เนินการสอบสวนตามกฎหมายมาเลเซีย
วันที่ 27 ธ.ค.2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว (รอบหลัง) จำนวน 3 คน เนื่องจากมีหนังสือเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้อง ส่วนที่เหลือจำนวน 5 คนถูกดำเนินคดีข้อหาหลบหนีเข้าเมือง โดยผู้ต้องหาในกลุ่ม 5 คนนี้ มี 3 คนที่มีรายชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการจากข้อมูลด้านการข่าวของไทย
มีรายงานว่า คนไทย 3 คนที่มีหนังสือเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอย่างถูกต้องและได้รับการปล่อยตัวแล้ว คือ นายอับดุลบาซิ ยูนุ นายอาลฮาตา บินดอเลาะ และ นายมูฮำหมัด ยูสนีซัน
3 คนไทยชุดแรกเจอข้อหาหนัก-ขึ้นศาลปลาย ก.พ.
ส่วนคนไทยกลุ่มแรกที่ถูกจับกุมรวม 3 คนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2552 นั้น พ.อ.บรรพต ระบุว่า ถูกดำเนินคดีใน 2 ข้อหา คือ
1. หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเข้าพิจารณาคดีที่แผนกคดีตรวจคนเข้าเมือง 3 ศาลเมืองโกตาบารู อำเภอโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ผลการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ผู้ต้องหาทั้ง 3 คนให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 3 คน คนละ 10 เดือน และให้โบย 3 ที
2. ครอบครองเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิด เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 คนไปยังศาลแผนกคดีอาญา ศาลปาเสมัส อำเภอปาเสมัส รัฐกลันตัน เพื่อไต่สวนคดีเกี่ยวกับเครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด แต่ผู้ต้องหาทั้งสามให้การปฏิเสธ ศาลจึงเลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 25 ก.พ.2553
พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.) กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับทราบข่าวการจับกุมคนไทยในประเทศมาเลเซีย ก็ได้สั่งการให้หน่วยข่าวติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับเป็นคนกลางในการประสานงานกับทางมาเลเซียเพื่อขออนุญาตให้ญาติในประเทศไทยได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องหาที่ถูกคุมขัง ซึ่งในเบื้องต้นทางการมาเลเซียอนุญาตแล้ว
ส่วนการดำเนินคดีนั้น ทาง พตท.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้ แต่ก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบและคดีความต่างๆ ที่บางคนอาจจะเคยมีส่วนร่วม
เปิดเบื้องลึกจับ 11 คนไทย
ทั้งหมดที่สรุปมาคือที่มาที่ไปและความคืบหน้ากรณีทางการมาเลเซียจับกุมคนไทย ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ประเด็นที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามกันต่อเนื่องมาก็คือ ปฏิบัติการของทางการมาเลเซียครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลย์เกี่ยวกับการจัดการปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ภายหลังรัฐบาลทั้งสองประเทศกระชับความสัมพันธ์จากการเดินทางเยือนไทยของผู้นำมาเลย์หรือไม่
สาเหตุที่ต้องไขข้อข้องใจประเด็นนี้ ก็เพราะจะสามารถประเมินแนวโน้มความร่วมมือของสองประเทศได้ อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่อย่างแน่นอน
นายทหารระดับสูงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกิจการชายแดน กองบัญชาการกองทัพไทย กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า กรณีที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดนักว่าเป็นผลจากการกระชับความสัมพันธ์ของผู้นำสองประเทศ
"จุดที่น่าสนใจคือเจ้าหน้าที่ไทยไม่ได้ร่วมสอบสวนเลย เขาไม่ได้เปิดให้เราเข้าไปร่วม ขณะที่กงสุลใหญ่ไทยในโกตาบารูก็ยังไม่ได้เข้าเยี่ยมคนไทยที่ถูกจับ การข่าวที่แจ้งเข้ามาค่อนข้างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่มาเลย์เข้าไปค้น เข้าไปตรวจตามปกติ แล้วเจอคนไทยกับอุปกรณ์ประกอบระเบิดพอดีจึงต้องจับ พอเป็นข่าวขึ้นมา ปิดไม่ได้แล้ว ก็เลยถือโอกาสโยงเรื่องความสัมพันธ์"
นายทหารผู้นี้ ยังบอกว่า การจับกุมคนไทยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบได้ในมาเลเซีย ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ แต่ถ้ามาเลย์จับคนของตัวเองที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบ อย่างนี้จึงจะถือว่าร่วมมือกันจริง
"สิ่งที่อยากเห็นที่สุดในเวลานี้คือ การมีเจ้าหน้าที่ไทยเข้าไปร่วมสอบสวน ขณะที่ในบ้านเราเองก็ต้องกัดไม่ปล่อย ต้องหาความเชื่อมโยงของคนเหล่านี้กับเครือข่ายของเขาให้ได้ ถ้าหน่วยงานความมั่นคงทำจริง เชื่อว่าจะเห็นอะไรขึ้นบ้างจากที่มืดแปดด้านมานาน"
นายทหารที่รับผิดชอบงานด้านกิจการชายแดน กล่าวด้วยว่า ภาพรวมของระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สังเกตได้จากที่ นายราจิบ ราซัก นายกฯมาเลเซีย ยังคงย้ำว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย มาเลเซียจะไม่ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องหากไม่ได้รับการร้องขออย่างเป็นทางการ
ข้อสังเกตจากนายทหารผู้นี้ สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ที่ว่า การจับกุมคนไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตระเบิดในประเทศมาเลเซีย ไม่น่าจะเป็นผลจากการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ แต่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า อย่างไรก็ดี ก็ต้องถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงรู้ว่า ไม่สามารถใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานหรือแหล่งกบดานได้อีกต่อไป
พล.ท.กสิกร คีรีศรี ผบ.พตท. ยอมรับกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ทางการไทยยังไม่ได้เข้าร่วมสอบสวนคนไทยที่ถูกจับกุมในมาเลเซีย แต่มองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องการให้มาเลเซียดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของมาเลย์ไปโดยอิสระ
"เราอยากให้ฝ่ายที่ก่อเหตุรุนแรงเห็นว่า ไม่สามารถหนีเข้าไปกบดานในประเทศเพื่อนบ้านได้อีกแล้ว ถ้าลักลอบเข้าไปแบบผิดกฎหมายหรือไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายก็จะต้องถูกจับกุมและถูกดำเนินการตามกระบวนการของประเทศเพื่อนบ้าน” พล.ท.กสิกร ระบุ
-----------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข้อมูลข่าวบางส่วนจาก คุณอมรรัตน์ เข็มขาว ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนราธิวาส