เปิดเส้นทาง (โกง) จำนำข้าว ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ
ควันหลงงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น : รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย ประจำปี 2555 เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากเนรมิตพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงพลังของ 'คนต้านโกง' พร้อมๆ กับเปิดห้องย่อย 4 ห้อง ตั้งวงสัมมนา 'รวมพลัง' จากภาคส่วนต่างๆ
หนึ่งในนั้น มีห้องที่คนฟังแน่นขนัด เพราะมีการถกแถลงว่าด้วยเรื่อง "โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร" มี 'หม่อมอุ๋ย' ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ นายการุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายจำเริญ ณัฐวุฒิ บริษัทโรงสีข้าวเจริญพาณิชย์กำแพงแสน มารวมตัวกัน เพื่อตีแผ่ 'เส้นทาง' การเอื้อและหาผลประโยชน์จากโครงการทุจริตจำนำข้าว ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
และตั้งแต่ 'ต้นน้ำ' ระดับนโยบาย ไปจนถึง 'ปลายน้ำ' ช่วงระบายข้าว
รศ.ดร.สมพร นักวิชาการ ผู้ติดตามนโยบายจำนำข้าวมายาวนาน เริ่มต้นเปิดประเด็น และปูพื้นให้ฟังก่อนว่า ในอดีตโครงการรับจำนำใช้อย่างถูกต้อง ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้สินเชื่อแก่เกษตรกร เพื่อไปใช้จ่ายในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ขณะเดียวกันก็ดึงสินค้า (supply) ออกจากตลาดช่วงสั้นๆ เมื่อราคาขึ้นเกษตรกรก็มาไถ่ถอน
"ช่วงนั้นโครงการรับจำนำทำเพียง 80% ของราคาตลาด ในวงเงิน 1 แสนบาทต่อราย ซึ่งเกษตรกรได้ประโยชน์จริง แต่ช่วงหลังๆ ถูกดึงไปใช้ในทางการเมืองมากขึ้น เริ่มจากการเพิ่มอัตราจำนำจาก 80% มาเป็น 100% และรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดถึง 50%"
ฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการจำนำข้าว จึงไม่ใช่การ 'จำนำ' แต่กลายเป็นรัฐบาลมาตั้งโต๊ะซื้อสินค้าเกษตร ใช้วิธีการจำนำทุกเม็ด และไม่จำกัดวงเงิน
"ในฤดูนาปีและนาปรังที่ผ่านมา รัฐบาลใช้เงินโครงการจำนำข้าวไปแล้วกว่า 2.7 แสนล้านบาท มีข้าวเปลือกเข้าโครงการประมาณ 18 ล้านตัน และข้าวสาร 11 ล้านตัน เมื่อรัฐบาลเดินหน้าซื้อข้าวเก็บอย่างเดียว บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ที่เคยเป็นพันธมิตรที่ดีกับพ่อค้า ในการผลักดันสินค้าสู่ตลาดส่งออก ขณะนี้จึงกลายเป็น 'ศัตรู' แทน และเห็นได้ชัดแล้วว่า เมื่อระบายออก รัฐบาลก็ไม่สามารถขายในราคาที่สูงอย่างที่เคยคุยไว้ได้จริง"
การที่รัฐบาลทำตัวเป็นผู้ซื้อขาด และผูกขาดตลาดข้าวและการส่งออก ผลที่ตามมา คือ ตลาดกลางสินค้าการเกษตรที่เคยเป็นแหล่งในการคัดเกรดมาตรฐานต่างๆ สูญหายไปหมด
และเมื่ออำนาจต่อรองที่ดีที่เคยมีหายไป "โรงสี" ก็มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น จึงเกิดกรณีที่นำไปสู่การคอร์รัปชั่นด้านต่างๆ ทั้งการโกงความชื้น การโกงตาชั่ง และการที่เกษตรกรนำข้าวไม่มีคุณภาพมาขาย ซึ่งส่งผลให้คุณภาพข้าวไทย ทั้งข้าวเปลือกเข้าและข้าวหอมมะลิไทย...เสื่อมลง
รศ.ดร.สมพร เสนอว่า หากจำเป็นต้องทำต่อ การช่วยเหลือเกษตรกรรายเล็กๆ ก็ควรเป็นไปในแนวทางที่ยกระดับเขาให้สูงขึ้น
"โครงการรับจำนำข้าวยังสามารถทำได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม เน้นให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนที่ยากจนจริง และตัดกลุ่มที่ไม่ควรได้รับประโยชน์ออกไป อาจให้เหลือเพียง 20-25 ตันต่อครัวเรือน แต่หากยังยืนยันจะจำนำทุกเม็ด ผมกล้าพูดเลยว่าจะเป็น 'หายนะ' ของอุตสาหกรรมข้าวไทย หากจะทำประชานิยม ต้องสร้างความสมดุล โดยสร้างความเข้มแข็ง และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นที่พึ่งของเกษตรกร"
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลมักอ้างเสมอว่า แม้จำนำข้าวจะต้องขาดทุนบ้าง แต่นโยบายนี้เอื้อประโยชน์ต่อชาวนา ชาวนาได้ประโยชน์มาก 'หม่อมอุ๋ย' ตั้งคำถามกลางเวทีว่า ทุกวันนี้ชาวนาได้ประโยชน์ทั้งหมดหรือไม่
เพราะความจริงที่พบชัดๆ คือ มีการหาประโยชน์เข้าตัวเองทั้ง 'ขาเข้า' ในช่วงเปิดรับจำนำ และ 'ขาออก' ช่วงระบายข้าวออก...
'ขาเข้า'
ในอดีตวิธีการทุจริตที่พบมาก คือ การออกใบประทวนปลอม โดยมีเจ้าหน้าที่ราชการช่วยเซ็นเอกสารให้ แต่ปัจจุบันนี้ลดน้อยลง เพราะตรวจสอบง่าย จึงมีการหาประโยชน์แบบใหม่ๆ เช่น ที่ดีเอสไอลงไปตรวจสอบพบ มีการลักลอบขนข้าวข้ามประเทศ โดยเฉพาะจากกัมพูชา ที่จากเดิมข้าวราคา 7,000-8,000 บาท แต่เข้ามาสามารถขายได้ถึง 15,000 บาท ก็แบ่งกันตลอดสาย
"ดีเอสไอจับถูกจุดแล้ว แต่แค่จับช้าไป 9 เดือนเท่านั้น ส่วนจำนวนข้าวมีเท่าใดผมไม่สามารถทราบได้ แต่คาดว่าอาจจะแสนตัน ถึงล้านตัน"
ที่ใหญ่ที่สุด คือ คอร์รัปชั่นดื้อๆ หน้าโรงสี...
เมื่อรับจำนำข้าวเยอะๆ โกดังไม่พอเก็บ ซึ่งการที่โกดังไม่พอนี้มีค่ามาก จะมีการจัดคิว เอาข้าวไปไว้ที่โรงสี ซึ่งโรงสีจะจ่ายให้ในราคา 12,000 บาท หรือน้อยกว่านั้น แต่ยังไม่ได้จำนำ จากนั้นโรงสีจะออกใบประทวนให้ ธกส.ในจำนวนเงิน 15,000 บาท ธกส.ก็จะเครดิตชื่อบัญชีโดยใช้ชื่อชาวนา ก็สามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้พอดี
สำหรับเงินส่วนต่าง 3,000 บาท อยู่ที่ไหน ผมไม่รู้...
"เป็นการโกงที่ตั้งใจเปิดบุฟเฟต์ ให้ทำได้ทั่วประเทศ เขตไหนนักการเมืองโยงโรงสีได้ทุนเท่าใดก็เอาไปเลย เป็นการสมนาคุณครั้งใหญ่ แต่เวลาไปตรวจดูก็มีข้าว มีกระบวนการจำนำเหมือนเป็นปกติ เป็นประเด็นที่รู้กันในวงการโรงสี แต่ไม่มีใครหยุดและไม่รู้จะหยุดอย่างไร เพราะทำกันเป็นทีม"
'ขาออก'
"ถึงช่วงประมูลทีไร รายเดิมได้ทุกที บางทีก็บริษัทเดิม แต่เปลี่ยนชื่อ"
ยกกรณีขายข้าวให้อินโดนีเซีย รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งไม่ยอมขายในราคา 599 เหรียญ โดยอ้างว่าราคานี้ขาดทุน แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปอินโดนีเซีย กลายเป็นว่าต้องขาย และเป็นการขายโดยโอนคอนแท็กให้เอกชนชื่อเดิม ให้สามารถซื้อข้าวจากรัฐบาลในก้อนเดียวประมาณ 2.7 แสนตัน ในช่วงวันที่ 20 ธ.ค.2554 - 23 ก.พ.2555 ไปส่งออก
ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ว่า เหตุใดรัฐบาลไม่ขายเสียเอง ในราคา 559 เหรียญ หักค่าต่างๆ แล้วจะเหลือ 535 เหรียญ หรือประมาณ 16,000 บาทต่อตัน และแม้เอกชนรายนี้จะขายได้ในราคา 16,000 บาทต่อตัน แต่สำคัญที่ว่า ซื้อจากรัฐบาลไปในราคาเท่าไหร่
ซึ่งเท่าที่ลือกัน....คือซื้อไปในราคา 12,000-14,000 บาทต่อตันเท่านั้น
"การระบายข้าวขาออกยังมีอีกหลายวิธี ถ้าคนที่อยู่ข้างนอกอย่างผมรู้ ถามว่าอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ มีหรือที่จะไม่รู้"
ทั้งที่เห็นชัดแล้วว่า อันดับการขายข้าวของประเทศไทยตกลง การส่งออกแย่ลง 'หม่อมอุ๋ย' บอกว่า เหตุที่ยังน่าไม่อายทำต่อ เพราะจำเป็นต้องหากันอีกหนหนึ่ง หนที่แล้วยังแบ่งกันไม่พอ!!
"ถ้าปีเดียวไม่เป็นไร แต่ถ้าปีที่ 2 ผมกลัวจะหยุดไม่อยู่ ขณะนี้หนี้ของประเทศหมกอยู่ที่ 1.4-1.5 แสนล้านบาทแล้ว จากการขาดทุนในอดีต หากโดนไปเรื่อยๆ ในที่สุดหนี้ภาครัฐที่ปัจจุบันอยู่ที่ 42-43% ของจีดีพี ประมาณ 5-6 ปี อาจหนักไปถึง 60% จีดีพี ถึงตอนนั้นไม่ค่อยดีนักสำหรับประเทศไทย"
พร้อมตั้งความหวังทิ้งท้ายเอาไว้ว่า หวังว่าจะมีพระสยามเทวาธิราช มาดลบันดาลใจให้คนรู้สึก มีหิริโอตัปปะ ละอายต่อการทำชั่ว กลัวที่จะทำบาปกันบ้าง ถ้ามีเมื่อไหร่ ประเทศไทยก็รอดเมื่อนั้น...
คงเชยแล้ว ถ้าพูดโรงสีโกงอยู่ฝ่ายเดียว
ตัวแทนโรงสี อย่างนายจำเริญ ซึ่งตกเป็นจำเลยมาตั้งแต่ต้น บอกว่า ไม่ปฏิเสธว่ากระบวนการโกงความชื้น โกงตาชั่ง หรือการสวมสิทธิ์ไม่มีอยู่จริง และที่แปลกใจกันว่า ทำไมโรงสีถึงออกรถใหม่ๆ ได้ในปีนี้
ขอชี้แจงโดยตรงว่า ตั้งแต่ทำโรงสีมา 30 กว่าปี ไม่เคยได้กำไรดีเท่านี้มาก่อน
"เดิมเป็นคนต่อต้านโครงการรับจำนำมาโดยตลอด แต่ที่จำต้องมาร่วมโครงการ เพราะอยู่ไม่ได้ ธุรกิจที่อาศัยกลไกตลาดอยู่ไม่ได้เลย ปกติแล้วการลงทุนใช้เงินและความสามารถในการเก็งตลาดด้วยตนเองตลอด จึงจะได้กำไรตามที่ต้องการ แต่ปัจจุบันนี้โครงการรับจำนำข้าวทำให้โรงสีได้กำไรเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องใช้ทุนเลย"
นายจำเริญ เล่าต่อจากสายตาผู้อยู่ในกระบวนการจำนำว่า โครงการรับจำนำข้าวทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ข้าราชการ ยันเอกชน ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โรงสีและผู้ส่งออกก็มีส่วนได้ และพยายามหาช่องทางที่จะได้เพิ่ม ตั้งแต่กระบวนการแรกยันกระบวนการสุดท้าย ทุกคนได้ประโยชน์หมด ทั้งจากการโกง หรือโครงการเอื้อไว้แล้วก็ตาม
บางหน่วยงานได้เพราะมีการสะเดาะกลอนไว้ก่อนรัฐเปิดประตูให้โจรเข้าตั้งแต่ระดับนโยบาย
"การโกงทุกขั้นตอนที่มีมาล้วนไม่เกินวิสัยที่จะตรวจจับ เพราะได้ทิ้งหลักฐานไว้เยอะมาก แต่องค์กรที่มีหน้าที่ควบคุม และกำกับดูแลกลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แต่งตั้งหน่วยงานขึ้นมาก็ไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถ อย่างการลงพื้นที่ตรวจสอบก็กลายเป็นการ 'การันตีคนทุจริต'
ผมยืนยันได้ว่า โกดังทุกหลังข้าวไม่ได้ตรงตัวอย่าง มีการทุจริต รับใต้โต๊ะ แต่ตรวจไม่เจอ ส่วน ธกส.ที่จ่ายเงินให้เกษตรกรล่าช้า โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่พอนั้น แท้จริงแล้ว ธกส.ไม่ได้ทำงานฟรี แต่ได้ค่าจัดการ 3% ซึ่งการหน่วงเวลาจ่ายเงิน สามารถนำไปหาประโยชน์ได้เป็นพันล้าน นี่เป็นการล็อกสเปคให้คนฉวยโอกาสได้"
นี่เป็นเพียงตัวอย่างกลไกการโกงที่ นายจำเริญ บอกว่า คงเชยแล้ว ถ้าจะพูดว่า โรงสีโกงอยู่ฝ่ายเดียว...!!
ทางออกสุดท้าย ตีความให้ดี ขัด รธน.หรือไม่
ปิดท้ายที่ นายการุณ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้เคยคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงจำนำข้าว เห็นว่า เมื่อโครงการจำนำข้าว 'เปลี่ยนรูป' เบนวัตถุประสงค์เป็นการดึงข้าวทุกเม็ดเข้ามาอยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียง 'กลุ่มเดียว' ก็จะสามารถใช้อำนาจตลาดนั้น ดลบันดาลผลประโยชน์อื่นๆ ให้เกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องการเมืองแฝงมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ
"เป็นลักษณะที่ว่า หากคุณไม่เข้าร่วมกับผม ก็อย่าหวังว่าจะได้ข้าวเข้าโรงสี และอย่าหวังจะได้ข้าวไปส่งออกต่างประเทศ เท่ากับว่าธุรกิจของคุณต้องล้มละลาย นี่เป็นการยึดอำนาจทางการเมือง ซึ่งอันตรายมาก"
แม้จะเห็นชัดว่ารัฐบาลต้องขาดทุนเป็นแสนล้านบาทต่อปี แต่ก็เพิ่งเคยเห็นกับรัฐบาลนี้ที่ทำเหมือนตัวเลขแสนล้านบาท เป็นเรื่องธรรมดา เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะเงินเหล่านี้ล้วนมาจากกระเป๋าของประชาชน...
แทนที่จะปล่อยให้ภาคธุรกิจ ทั้งโรงสี และผู้ส่งออกทำหน้าที่ของตนเอง กลายเป็นว่าต้องมาเป็น 'ลูกจ้างของรัฐบาล' เพราะรัฐบาลรวมศูนย์ทั้งครอบครองข้าว กำหนดผู้เก็บ ผู้แปรสภาพ ผู้ขายและผู้ส่งออก
ซึ่งคำว่า 'รัฐบาล' ไม่ใช่แค่ภาพลอยๆ แต่หมายถึง 'บุคคล'
อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งข้อสังเกต พร้อมตอบคำถามว่า เหตุที่โครงการนี้ 'เลิก' ไม่ได้ เพราะคนที่กำหนดนโยบายไม่ได้เห็นว่าเป็นผลเสีย แต่กลับเห็นว่าเป็นผลดีต่อเขา และแม้จะมีข้อเสนอที่ดีกว่า แต่ไม่ว่าจะเรียกร้องอย่างไรเขาก็คงไม่เปลี่ยนแน่ เพราะเขาจะไม่ได้ประโยชน์ และไม่เปิดโอกาสให้คอร์รัปชั่นได้
ท้ายที่สุดแล้ว...การที่รัฐบาลเข้ามาทำธุรกิจค้าข้าวโดยตรงและเต็มตัว ทั้งการรับซื้อข้าวจากชาวนา เก็บข้าวในโรงสี และส่งออกข้าว จะต้องไปศึกษา และตีความให้ดีว่า เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?
เพราะนอกจากการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นและภาคประชาสังคมแล้ว นายการุณ บอกว่า หากการตีความออกมาว่า 'ขัดต่อรัฐธรรมนูญ' ก็จะได้มีแนวทางแก้ไขไปสู่ทางออกที่ดีได้.