จับจังหวะผู้ต้องหายิงมัสยิดเข้ามอบตัว สอดรับแผนรัฐไทยรุกเคลียร์ใจโลกมุสลิม
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์กราดยิง 10 ศพในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นดั่ง “ก้างตำคอ” ของฝ่ายความมั่นคงไทย เพราะทำให้พูดไม่ได้เต็มปากว่า สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นจริงๆ
แม้ทุกหน่วยงานจะพยายามตอกย้ำความสำเร็จด้วยสถิติเหตุรุนแรงในแง่ของ “จำนวน” ในรอบปี 2552 ที่อยู่ในระดับทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2551 ก็ตาม
เพราะเหตุการณ์ไอร์ปาแย คือประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่งทั้งต่อพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพี่น้องมุสลิมทั่วโลก เนื่องจากเป็นการกราดยิงถึงในมัสยิดอันเปรียบเสมือน “บ้านของพระเจ้า” ในขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังทำพิธีละหมาด เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 12 คน
หากมองในแง่ของรัฐไทย ต้องบอกว่าโชคยังดีที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนของวันที่ 8 มิ.ย.2552 หลังจากที่การประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศประจำปีของ องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี ซึ่งมีสมาชิกถึง 57 ประเทศ ผ่านพ้นไปเรียบร้อยเมื่อวันที่ 23-25 พ.ค.2552 ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย หาไม่แล้วประเด็นเกี่ยวกับภาคใต้ของไทยต้องถูกหยิบยกเข้าหารือในที่ประชุมอย่างแน่นอน
และการประชุมในครั้งนั้น ก็ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งของรัฐไทยที่สามารถสกัดไม่ให้วาระเกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบเข้าเป็นวาระพิจารณาสำคัญในเวทีใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม
ในขณะที่ผู้ชำนาญการณ์หลายคนวิเคราะห์ว่า การประชุมโอไอซีระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งต่อไปในปีนี้ (2553) มีโอกาสสูงที่ปัญหาภาคใต้ของไทยจะกลายเป็นประเด็น โดยมีเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดบ้านไอร์ปาแยเป็นชนวนสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหตุการณ์ผ่านมาแล้วหลายเดือน แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ยังจับกุมผู้ต้องหาไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทราบกันดีว่าผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เพียง 1 คน คือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ นั้น เป็นคนไทยพุทธ และมีภาพเชื่อมโยงกับรัฐ เพราะเป็นอดีตทหารพราน
นั่นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอกระแสข่าวลือโหมกระหน่ำต่างๆ นานา อาทิ ที่ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวนายสุทธิรักษ์ไปซ่อนเอาไว้ บ้างก็ว่านายสุทธิรักษ์ฆ่าตัวตายไปแล้ว ฯลฯ โดยมีประเด็นความแตกต่างระหว่างศาสนาเป็นตัวตอกลิ่ม
ลำดับภาพคดีไอร์ปาแย
เหตุการณ์กราดยิงถึง 10 ศพคามัสยิด ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญที่สุดคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดห้วงเวลาที่เมฆหมอกแห่งความรุนแรงปกคลุมพื้นที่นี้มายาวนานถึง 6 ปีเต็ม
ที่มาที่ไปของคดีพอสรุปได้ดังนี้...
8 มิ.ย.2552 คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้อาวุธสงครามบุกยิงประชาชนชาวมุสลิมที่กำลังทำพิธีละหมาดอยู่ในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 12 คน
14 ก.ค.2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้แล้ว 1 ราย
24 ก.ค.2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดชื่อผู้ต้องหาอย่างเป็นทางการระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า คือ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 132 หมู่ 10 ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส
7 ส.ค.2552 ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) แถลงความคืบหน้าคดีสำคัญ และหนึ่งในนั้นคือคดีไอร์ปาแย โดยระบุว่า นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ ผู้ต้องหาตามหมายจับนั้น จากการตรวจสอบประวัติพบว่าก่อเหตุปล้นและฆ่ามาหลายคดีแล้ว มูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุยิงในมัสยิดเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ได้เชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่
สอดรับกับข้อมูลจาก นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” โดยขยายความเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาคดีนี้เป็นอดีตทหารพราน พร้อมย้ำว่าปัจจุบันไม่ได้เป็นทหารพรานแล้ว จึงถือว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และการก่อเหตุครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ต้องหาเป็นชาวไทยพุทธ
18 ส.ค.2552 เว็บไซต์อิศราเผยแพร่บทสัมภาษณ์ พ.ต.อ.พีระพล ณ พัทลุง ผู้กำกับการ สภ.เจาะไอร้อง ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมาย พ.ร.ก. (หมายเรียกตัวที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เพื่อติดตามตัวผู้ต้องสงสัยที่ร่วมก่อเหตุกราดยิงในมัสยิดบ้านไอร์ปาแยเพิ่มอีก 1 ราย คือ นายลุกมัน ลาเต๊ะบือริง ชาวบ้านในหมู่บ้านไอร์ปาแย
ต.ค.2552 กลุ่มบุคคลลึกลับอ้างตัวว่าเป็น “เหล่านักรบแห่งรัฐปัตตานี” จัดทำใบปลิวลักษณะคล้าย “หมายจับ” นำไปติดและแจกจ่ายในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขียนข้อความว่า "จับตาย หน่วยปฏิบัติการเลือดมัสยิดอัลฟุรกอน ไอปาแย"
ในใบปลิวประกาศจับ มีรูปชายฉกรรจ์ 6 คนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อเหตุกราดยิงในมัสยิด โดย 2 ใน 6 คือภาพของผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับไปแล้ว ได้แก่ นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ กับ นายลุกมัน ลาเต๊ะบือริง ส่วนอีก 4 ภาพ คือชายฉกรรจ์ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และเป็นชาวไทยพุทธทั้งหมด ภายหลัง “ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่เสาะหาความจริงจนทราบว่า ทั้ง 4 คนเป็นอาสาสมัครรักษาเมือง (อรม.) ในท้องที่ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขณะที่ฝ่ายตำรวจยืนยันว่าไม่ใช่ผู้ต้องหาตัวจริง
29 ต.ค.2552 พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยแพร่เอกสารแถลงข่าวรายงานความคืบหน้าคดีคนร้ายยิงเข้าไปในมัสยิดอัลฟุรกอน โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 7 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับ ป.วิอาญา ผู้ต้องหาในคดีนี้เพิ่มอีก 4 คนคือ นายมูฮัมหมัดสักรี ไซวิง, นายอิสยัส นิมิ, นายโรสมาน กูบารู และนายมูฮำหมัดรอวี อาแว ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ทำนองไม่เชื่อว่าผู้ก่อเหตุยิงในมัสยิดจะเป็นคนมุสลิมด้วยกัน
27 พ.ย.2552 “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบรายชื่อผู้ต้องหา 4 คนที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าตำรวจออกหมายจับเพิ่ม ปรากฏว่าฝ่ายตำรวจยืนยันไม่มีการออกหมายจับเพิ่มเติม ทั้งยังพบว่าผู้ต้องหาที่ฝ่ายทหารอ้างนั้น แท้ที่จริงคือผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีใช้อาวุธปืนยิงถล่มร้านอาหารกลางเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 ก่อนจะเกิดระเบิดคาร์บอมบ์ในวันเดียวกัน สรุปว่าเป็นเรื่อง “โอละพ่อ”
14 ม.ค.2553 นายสุทธิรักษ์ คงสุวรรณ ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา เพียงคนเดียวในคดีนี้ เข้ามอบตัวกับตำรวจอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิด ส่วนที่หายตัวไปนาน ทนายอ้างว่าหลบไปตั้งหลัก
จับจังหวะ “สุทธิรักษ์” โผล่
ดังที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า คดีไอร์ปาแยถือว่าสะเทือนขวัญและอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสายตาของโลกมุสลิมซึ่งแสดงบทบาทกดดันรัฐบาลไทยมาโดยตลอด
การออกหมายจับ นายสุทธิรักษ์ เพียง 1 คน และออกหมาย พ.ร.ก. นายลุกมัน ลาเต๊ะบือริง โดยไม่มีวี่แววของผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยตลอดกว่าครึ่งปี ต้องบอกว่าไม่เพียงพอที่จะแสดงให้พี่น้องมุสลิมในพื้นที่และชาติมุสลิมทั่วโลกเชื่อว่ารัฐไทยจริงใจที่จะสะสางคดีนี้ แม้นายกรัฐมนตรีจะตอกย้ำทุกครั้งว่ารัฐบาลเอาจริงในทุกๆ โอกาสที่พูดถึงปัญหาภาคใต้ก็ตาม
ฉะนั้นจึงมีโอกาสสูงที่วงประชุมโอไอซี ในปี 2553 จะหยิบยกคดีไอร์ปาแยเข้าพิจารณาในที่ประชุม และอาจโยงถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย หลังจากที่รัฐบาลไทยสกัดไว้ได้หลายปี
9 ส.ค.2552 รัฐบาลจึงเปิดเกมถนัด ด้วยการเชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกโอไอซี รวม 11 ประเทศ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลังจากนั้นยังมีการเชิญทูตจากสหภาพยุโรป หรืออียู และประเทศมุสลิมอื่นๆ ลงพื้นที่อีกหลายครั้ง
แม้ผลจะออกมาค่อนข้างเป็นบวก แต่คำถามที่รัฐบาลไทยยังตอบไม่ได้ก็คือ ทำไมคดีไอร์ปาแยยังไม่คืบหน้า ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงกันก็คือ...หรือว่าผู้ต้องหาเป็นไทยพุทธ?
แต่แล้วจู่ๆ นายสุทธิรักษ์ ก็ปรากฏตัว โดยตำรวจจัดแถลงข่าวที่กองบังคับการปราบปราม กรุงเทพมหานคร หาใช่การมอบตัวกับตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ จ.นราธิวาส บ้านเดิมของเขา
เป็นการปรากฏตัวในจังหวะพอดิบพอดีกับที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังจะเดินทางไปร่วมประชุมโอไอซี ในสัปดาห์หน้า (18-22 ม.ค.) ที่นครเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
เป็นการประชุมกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในฐานะผู้แทนรัฐบาลจากนานาประเทศ เพื่อพิจารณากฎข้อบังคับเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์โอไอซี ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าชาติที่มีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์โอไอซี
แม้จะเป็นการประชุมในระดับไม่ใหญ่นัก แต่ก็เป็นการประชุมนัดแรกของปี 2553 และจะมีการประชุมวงอื่นๆ อีกหลายวงก่อนจะถึงการประชุมใหญ่ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกในช่วงกลางเดือน พ.ค.2553 ที่ประเทศทาจิกิสถาน
แน่นอนว่าการมอบตัวของ นายสุทธิรักษ์ ในฐานะผู้ต้องหาคดีกราดยิงในมัสยิดที่เคยตกเป็นข่าวดังก้องโลก รัฐบาลไทยย่อมหวังผลคลี่คลายแรงกดดันที่มาจากกลุ่มประเทศโลกมุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัย
จึงถือเป็นจังหวะก้าวที่น่าจับตาอย่างยิ่ง...
ย้อนกลับไปเล็กน้อย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2552 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยืนยันบนเวที “6 ปีไฟใต้” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ว่า ผู้ต้องหาคดียิงในมัสยิดไอร์ปาแย ได้หลบหนีออกนอกพื้นที่ไปแล้ว
และยังบอกว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาโอไอซี รัฐบาลก่อนๆ ใช้แต่วิธีการล็อบบี้ แต่ยุคนี้ใช้วิธีเชิญทูตจากชาติสมาชิกโอไอซีลงพื้นที่จริง ในท่วงทำนองที่ พล.อ.อนุพงษ์ ใช้คำว่า “เอาความจริงมาให้ดู”
การปรากฏตัวของ นายสุทธิรักษ์ จึงอาจเป็นหนึ่งในความจริงที่ พล.อ.อนุพงษ์ พูดถึงในวันนั้น
แต่จะเคลียร์ใจโลกมุสลิมได้ผลหรือไม่...เป็นประเด็นที่น่าติดตาม!