ทางเลือกตลาดชาวนาไทย : เมื่อจำนำข้าวสอยราคาข้าวอินทรีย์ร่วง
ไทยมีรายได้มหาศาลจากการส่งออกข้าว แต่ชาวนายังยากจน เพราะต้นทุนการผลิตสูง ขาดอำนาจต่อรองตลาด ราคาผลผลิตต่ำ ถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ โครงการรับจำนำข้าวก็เป็นข่าวทุจริตมากมาย
เร็ว ๆ นี้ โครงการความเป็นธรรมทางสังคมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีนำเสนอร่างงานวิจัย ทางเลือกทางการตลาดของชาวนา : ผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อความไม่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์ ผ่านการศึกษาจาก 4 จังหวัด นครสวรรค์ ยโสธร สุรินทร์ และกาญจนบุรี ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ขอขยายความนำมาเสนอต่อ
นโยบายจำนำข้าวสอยข้าวอินทรีย์ร่วง ชาวนาหันไปทำนาอินทรีย์
ศจินทร์ ประชาสันติ์ หนึ่งในทีมนักวิจัย วิเคราะห์ผลกระทบเชิงโครงสร้างจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าการกำหนดราคาที่สูงกว่าตลาดในฤดูนาปี 54/55 เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางตลาดแบบเดิมระหว่างโรงสีกับชาวนา โดย ‘โรงสี’ ไม่สามารถแข่งขันราคาที่สูงกับรัฐบาลได้ การรับจำนำทุกเมล็ดยังทำให้โรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการลำบากในการหาวัตถุดิบหรือต้นทุนรับซื้อสูงขึ้น จึงจำยอมต้องเข้าร่วมโครงการ แม้จะไม่ต้องลงทุนเองและเกิดการแข่งขันที่น้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อคุณภาพข้าวที่ด้อยลงตามลำดับ เพราะชาวนาเร่งผลิตเพียงเพื่อให้ได้ปริมาณมาก
ส่วน ‘ชาวนา’ จะมีตลาดเพิ่มขึ้นในการขายข้าวให้รัฐบาลผ่านโรงสีเป็นพ่อค้าคนกลาง แต่แนวทางดังกล่าวโรงสีก็ยังคงมีช่องทางกลโกงเอาเปรียบชาวนาอยู่มากมาย เช่น ซื้อข้าวในราคาต่ำนอกโครงการรับจำนำแล้วนำมาสวมสิทธิเข้าโครงการภายหลัง โกงตาชั่ง วัดค่าความชื้นสูง
ศจินทร์ มองข้อจำกัดของการรับซื้อข้าวเปลือกในโครงการ ทั้งในแง่ปริมาณที่โรงสีรับซื้อได้ตามทุนประกัน การออกใบประทวนล่าช้า และสถานการณ์ที่ไม่มีการแข่งขันรับซื้อระหว่างโรงสีในโครงการ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายในตลาดกลางปกติ ชาวนาเรียกร้องให้โครงการรับจำนำข้าวนาปรังปี 55 ให้สิทธิโรงสีนอกพื้นที่จังหวัดรับจำนำข้าวเปลือกในตลาดกลางได้ เพื่อเพิ่มสิทธิการแข่งขันระหว่างโรงสีบนเงื่อนไขการเข้าร่วมตลาดที่ชาวนาวางใจ หรือเรียกว่า การค้าเสรี แม้จะต้องขัดแย้งกับโรงสีในพื้นที่ก็ยอม
โครงการรับจำนำข้าว ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มชาวนาอินทรีย์ในตลาดทางเลือก เพราะต้นทุนการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายแก่สมาชิกชาวนาสูงขึ้น ส่วนกลุ่มชาวนาแปรรูปข้าวไม่ได้ยีหระ เพราะระดับราคาข้าวที่ได้รับสูงกว่าราคารับจำนำอยู่แล้ว นอกจากนี้ราคาข้าวหอมมะลิในโครงการอยู่ที่ 20 บ./กก. ส่วนข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โรงสีของกลุ่มชาวนาเคยรับซื้ออยู่ที่ 17-18 บ./กก. อาจส่งผลให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวเคมีเพื่อนำเข้าจำนำมากขึ้น จึงต้องเพิ่มราคารับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์ขึ้นเป็น 20 บ./กก. เช่นกัน
“ชาวนากลุ่มเกษตรอินทรีย์มองว่าราคาข้าวไม่ควรเท่ากัน แต่หากไม่สามารถปรับเพิ่มได้ราคา 25 บ./กก. อาจตัดสินใจแยกแปลงผลิตเป็น 2 แปลง คือแปลงข้าวอินทรีย์เพื่อบริโภคของตนเองกับข้าวเคมีเพื่อขาย”
กลุ่มชาวนาอินทรีย์ มองว่าการปรับเพิ่มราคาข้าวสารเป็นไปได้ยาก จึงต้องหันมาเพิ่มราคารับซื้อข้าวเปลือกให้อยู่ในเกณฑ์ที่โรงสีจะบริหารเองได้ เพราะอย่างน้อยก็ได้รับรายได้จากการขายข้าวสารให้ผู้บริโภคต่างประเทศจำนวนมากอยู่แล้ว
ข้าวอินทรีย์อายุยาวขายไม่ออก ชาวนาเน้นเร่งผลิตไม่สนใจคุณภาพ
รายงานทางเลือกทางการตลาดชาวนานครสวรรค์ : กรณีศึกษาตลาดข้าวพันธุ์และข้าวสารทางเลือกของสมาชิกเครือข่ายโรงเรียนชาวนา โดย พรรัตน์ วชิราชัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ศึกษา 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ กลุ่มเกยไชยใต้ศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน บ้านเนินแต้และกลุ่มหนองโพธิ์ใต้ ซึ่งมีมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ และตลาดท่าข้าวกำนันทรงเป็นหน่วยเสริม โดยกลุ่มเกยไชยใต้ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมากที่สุด ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่สนใจซื้อพันธุ์ข้าวอายุสั้นมากกว่าอายุยาว ซึ่งสะเทือนตลาดที่กลุ่มทำขายขณะนี้ เมื่อกลุ่มนำข้าวมาจำนำยังถูกโรงสีโกงอีก
มูลนิธิฯ จึงกำหนดยุทธศาสตร์ 1 ใน 7 ข้อว่าการพัฒนาระบบการค้าพันธุ์ข้าวและการค้าข้าวของชุมชน โดยเน้นการค้าข้าวคุณภาพ ข้าวสุขภาพ ส่งเสริมการค้าพันธุ์ข้าวในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายแต่ละพื้นที่จะต้องป้อนพันธุ์ข้าวดีให้สมาชิก ซึ่งมูลนิธิฯ จะรับซื้อข้าวพันธุ์ไปขาย เพื่อนำเป็นทุนขับเคลื่อนแทนการขออนุเคราะห์เงินจากองค์กรต่าง ๆ พร้อมวิธีการทำให้กลุ่มยั่งยืน ได้แก่ รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองตลาดกับโรงสี สร้างความเป็นธรรมชั่งตวงวัด มาตรฐานราคาข้าวคุณภาพ และหาช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภค
ชาวนาสุรินทร์ ชี้ทางเลือกสหกรณ์-ตลาดสีเขียว-ตลาดเมล็ดพันธุ์
ณัฎฐาภรณ์ เลียมจรัสกุล อีกหนึ่งนักวิจัยในโครงการนี้ นำเสนอผลรายงานทางเลือกทางการตลาดของชาวนาใน จ.สุรินทร์ : กรณีศึกษาเครือข่ายเกษตรกรในระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ไว้น่าสนใจว่า ชาวนาได้รวมกลุ่มก่อตั้งตลาดทางเลือกในพื้นที่ 3 ประเภท ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันไป ได้แก่ 1.สหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวสุรินทร์ ก่อตั้งเมื่อปี 46 เพื่อจำหน่ายข้าว โดยได้รับการรับรองกลุ่มผู้ผลิตแฟร์เทรดจากองค์กรการค้าที่เป็นธรรมระดับสากล (เอฟแอลโอ) การันตีคุณภาพส่วนการดำเนินงานจะเปิดโอกาสให้ชาวนามีส่วนร่วมในการชั่ง วัดความชื้นได้ ซึ่งแตกต่างจากโรงสีเอกชนที่ปิดกั้น
“ลูกค้าในประเทศจะหาซื้อได้จากร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น ร้านข้าวหอม ส่วนลูกค้าต่างประเทศจะจำหน่ายสินค้าให้ภายใต้สัญญาแฟร์เทรด ซึ่งจุดเด่นการทำสัญญาซื้อขายร่วมกันกับต่างชาติทำให้ระบุระยะเวลาที่ยาวนาน และกลุ่มยังมีบทบาทขับเคลื่อนกระบวนการเองด้วย”
รายงานวิจัยยังระบุว่าการจัดตั้งสหกรณ์ฯ ขณะนี้เกิดปัญหาด้านศุลกากรในการจัดระบบขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ ที่สำคัญนโยบายรับจำนำข้าว 20 บ./กก. สร้างข้อได้เสียเปรียบให้ข้าวอินทรีย์ และอาจทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวเคมีมากขึ้น เพราะผลตอบแทนดีกว่า
2.ตลาดสีเขียว เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการลดความไม่เป็นธรรมจากระบบการผลิต และสร้างอาหารปลอดภัย ซึ่งภายหลังเปิดตั้งแต่ปี 46 เกษตรกรสามารถกำหนดราคาเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ภายใต้การกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จากคณะกรรมการตลาดสีเขียวที่ระบุ ผู้เข้าร่วมกลุ่มต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขมาตรฐานสินค้าเกษตรและผู้จำหน่ายต้องเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและผ่านการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ แม้ระยะแรกจะมีปัญหาความไม่เชื่อมั่นในสินค้า แต่ที่สุดก็เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น แต่ไม่อาจขยายพื้นที่เพาะปลูกได้ เพราะข้าวพื้นเมืองมีไม่มากนัก
3.ตลาดค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุนในการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ด้อยคุณภาพจากเอกชน โดยหันมาเพาะพันธุ์เอง และมีแนวโน้มจะเบนเข็มไปจำหน่ายให้รัฐแทนกลุ่มชาวนาด้วยกัน หากราคาปรับตัวขึ้นอีก
…………………
งานวิจัยเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในผลกระทบมากมายนอกจากที่ปรากฏเป็นข่าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งเชิงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เปลี่ยนไป กลไกตลาดที่บิดเบือน และส่งผลต่อตลาดทางเลือกชาวนาไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .