ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (1) เทียบสถิติเหตุรุนแรงลดลงจริงหรือ?
สุเมธ ปานเพชร / ปกรณ์ พึ่งเนตร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว ประเด็นที่หลายฝ่ายถกเถียงกันแทบทุกวง ทุกเวทีก็คือ ภาพรวมความรุนแรงในพื้นที่ดีขึ้นหรือไม่ ฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันว่าสถิติการเกิดเหตุร้ายลดลงอย่างชัดเจน ขณะที่ภาคประชาชนกลับแย้งว่า เป็นการลดเฉพาะในแง่ความถี่ แต่ความรุนแรงยิ่งหนักกว่าเก่า
"ทีมข่าวอิศรา" จึงอาสานำข้อมูลตัวเลขที่เก็บรวบรวมจากหลายหน่วยงานมากางให้ดูจะๆ เพื่อหาคำตอบว่าในปี 2552 และวาระ 6 ปีไฟใต้...สถานการณ์เลวร้าย ทรงตัว หรือดีขึ้นกันแน่?
ฝ่ายปกครองสรุปเหตุร้าย 935 ครั้ง ตาย 510 ศพ
ข้อมูลชุดแรกจากศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จ.ยะลา ซึ่งเป็นข้อมูลที่โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา นำมารายงานผ่านเว็บไซต์ทุกเดือน โดยในวาระสิ้นปี 2552 ทางศูนย์ฯได้สรุปสถิติเหตุการณ์และผู้ได้รับผลกระทบรวมทั้งหมดในรอบปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2552 ถึง 31 ธ.ค.2552 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา
ทั้งนี้ เมื่อพลิกดูสถิติเหตุรุนแรงในรอบปี พบว่า เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 935 เหตุการณ์ ตัวเลขผู้เสียชีวิต 510 ราย บาดเจ็บ 995 ราย ยอดรวมของผู้เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2552 อยู่ที่ 3,915 ราย
กันยายนหนักสุดในรอบปี
ในส่วนของจำนวนเหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ แยกเป็นข้อมูลรายเดือนได้ดังนี้
มกราคม 64 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 75 ราย
กุมภาพันธ์ 75 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 37 ราย ผู้บาดเจ็บ 64 ราย
มีนาคม 74 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 45 ราย ผู้บาดเจ็บ 42 ราย
เมษายน 89 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 71 ราย
พฤษภาคม 65 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 38 ราย
มิถุนายน 77 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 57 ราย ผู้บาดเจ็บ 135 ราย
กรกฎาคม 70 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 69 ราย
สิงหาคม 93 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 97 ราย
กันยายน 96 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 64 ราย ผู้บาดเจ็บ 91 ราย
ตุลาคม 79 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 138 ราย
พฤศจิกายน 61 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 54 ราย
ธันวาคม 92 เหตุการณ์ ผู้เสียชีวิต 55 ราย ผู้บาดเจ็บ 121 ราย
คลื่นความรุนแรงถล่มปัตตานี-เมืองยะลาถี่สุด-สุคิรินสงบสุข
ข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบยังสามารถจำแนกตามพื้นที่เกิดเหตุในระดับอำเภอและจังหวัดได้ดังนี้
จังหวัดปัตตานี เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 361 เหตุการณ์ แยกเป็น อำเภอเมือง 67 เหตุการณ์ อำเภอโคกโพธิ์ 22 เหตุการณ์ อำเภอยะรัง 72 เหตุการณ์ อำเภอยะหริ่ง 13 เหตุการณ์ อำเภอสายบุรี 57 เหตุการณ์ อำเภอมายอ 20 เหตุการณ์ อำเภอหนองจิก 52 เหตุการณ์ อำเภอปะนาเระ 16 เหตุการณ์ อำเภอไม้แก่น 8 เหตุการณ์ อำเภอทุ่งยางแดง 12 เหตุการณ์ อำเภอกะพ้อ 13 เหตุการณ์ และอำเภอแม่ลาน 9 เหตุการณ์
จังหวัดยะลา เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 272 เหตุการณ์ แยกเป็นอำเภอเมือง 76 เหตุการณ์ อำเภอยะหา 33 เหตุการณ์ อำเภอรามัน 44 เหตุการณ์ อำเภอบันนังสตา 65 เหตุการณ์ อำเภอกรงปินัง 23 เหตุการณ์ อำเภอธารโต 19 เหตุการณ์ อำเภอกาบัง 10 เหตุการณ์ และอำเภอเบตง 2 เหตุการณ์
จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 298 เหตุการณ์ แยกเป็นอำเภอเมือง 15 เหตุการณ์ อำเภอบาเจาะ 47 เหตุการณ์ อำเภอระแงะ 47 เหตุการณ์ อำเภอยี่งอ 11 เหตุการณ์ อำเภอตากใบ 19 เหตุการณ์ อำเภอสุไหงปาดี 19 เหตุการณ์ อำเภอสุไหงโก-ลก 10 เหตุการณ์ อำเภอแว้ง 6 เหตุการณ์ อำเภอสุคิริน 1 เหตุการณ์ อำเภอศรีสาคร 26 เหตุการณ์ อำเภอเจาะไอร้อง 23 เหตุการณ์ อำเภอรือเสาะ 59 เหตุการณ์ และอำเภอจะแนะ 15 เหตุการณ์
จังหวัดสงขลา เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 4 เหตุการณ์ แยกเป็นอำเภอสะบ้าย้อย 2 เหตุการณ์ อำเภอเทพา 2 เหตุการณ์ ส่วนอำเภอนาทวีกับอำเภอจะนะ ไม่เกิดเหตุรุนแรง
ยิงรายวันยังเพียบ-ปัตตานีถี่ยิบ
สถิติความรุนแรงยังจำแนกเป็นประเภทเหตุการณ์รายจังหวัดได้ดังนี้
ยิงรายวัน 641 เหตุการณ์ แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 271 เหตุการณ์ จังหวัดยะลา 175 เหตุการณ์ จังหวัดนราธิวาส 193 เหตุการณ์ จังหวัดสงขลา 2 เหตุการณ์
ลอบวางเพลิง 55 เหตุการณ์ แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 28 เหตุการณ์ จังหวัดยะลา 13 เหตุการณ์ จังหวัดนราธิวาส 14 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด 237 เหตุการณ์ แยกเป็นจังหวัดปัตตานี 63 เหตุการณ์ จังหวัดยะลา 79 เหตุการณ์ จังหวัดนราธิวาส 93 เหตุการณ์ และจังหวัดสงขลา 2 เหตุการณ์
โปรยตะปูเรือใบ 5 เหตุการณ์ เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 1 เหตุการณ์ จังหวัดยะลา 4 เหตุการณ์
เหยื่อความรุนแรงกระจาย 3 จังหวัด
ทางด้านเหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จำแนกได้ดังนี้
จังหวัดปัตตานี มีเหยื่อความรุนแรงทั้งสิ้น 529 ราย แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 35 ราย บาดเจ็บ 103 ราย ประชาชนทุกศาสนาเสียชีวิต 170 ราย บาดเจ็บ 207 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
จังหวัดยะลา มีเหยื่อความรุนแรงทั้งสิ้น 452 ราย แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 22 ราย บาดเจ็บ 144 ราย ประชาชนเสียชีวิต 107 ราย บาดเจ็บ 163 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 16 ราย
จังหวัดนราธิวาส มีเหยื่อความรุนแรงทั้งสิ้น 520 ราย แยกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 131 ราย ประชาชนเสียชีวิต 112 ราย บาดเจ็บ 244 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 12 ราย
จังหวัดสงขลา มีเหยื่อความรุนแรงทั้งสิ้น 3 ราย เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 1 ราย ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 2 ราย
ภาพรวมเหตุร้ายลดลงแต่วางระเบิดเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สถิติสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบปี 2552 เมื่อนำมาเทียบกับปี 2551 นั้น พบว่าตัวเลขจำนวนเหตุการณ์ลดลงเล็กน้อย คือในปี 2551 เกิดเหตุรุนแรง 1,056 เหตุการณ์ ส่วนในปี 2552 เกิดเหตุรุนแรง 935 เหตุการณ์ ลดลง 121 เหตุการณ์
เหตุรุนแรงในภาพรวมที่ลดลง สามารถแยกเป็นประเภทเหตุการณ์ได้ดังนี้
ยิงรายวัน ปี 2551 เกิดขึ้น 741 เหตุการณ์ ปี 2552 เกิด 641 เหตุการณ์ ลดลง 100 เหตุการณ์
ลอบวางระเบิด ปี 2551 เกิดขึ้น 218 เหตุการณ์ ปี 2552 เกิด 237 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้น 19 เหตุการณ์
ขณะที่ตัวเลขเหยื่อของสถานการณ์ความไม่สงบเทียบระหว่าง 2 ปีก็ลดลงเล็กน้อยเช่นกัน กล่าวคือ
ยอดผู้เสียชีวิต ปี 2551 มีทั้งหมด 546 ราย ปี 2552 มีทั้งสิ้น 510 ราย ลดลง 36 ราย
ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บ ปี 2551 มีทั้งหมด 1,075 ราย ปี 2552 มีทั้งสิ้น 995 ราย ลดลง 80 ราย
สรุปภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2552 พบว่าความรุนแรงลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2551 โดย
จังหวัดปัตตานี ถือว่าเป็นจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบมากที่สุด สูงถึง 361 เหตุการณ์ และอำเภอยะรัง เป็นอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุด 72 เหตุการณ์ อำเภอที่เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุดคืออำเภอไม้แก่น 8 เหตุการณ์
จังหวัดนราธิวาส ถือว่าเป็นจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบรองลงมา คือ 298 เหตุการณ์ และอำเภอรือเสาะ เป็นอำเภอที่เกิดรุนแรงมากที่สุด 59 เหตุการณ์ ส่วนอำเภอที่เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุดคืออำเภอสุคิริน เพียง 1 เหตุการณ์
จังหวัดยะลา เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 272 เหตุการณ์ อำเภอเมืองเป็นอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุด สูงถึง 76 เหตุการณ์ อำเภอที่เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุดคืออำเภอเบตง 2 เหตุการณ์
ข้อมูลทหารนับผู้สูญเสียแยกตามศาสนา
ทางด้านฝ่ายทหารก็มีการเก็บข้อมูลสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียเช่นกัน โดยหน่วยงานที่ชื่อว่า ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ศจฉ.พตท.) ซึ่งเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2551 ส่วนฐานข้อมูลก่อนหน้านั้นอ้างอิงจากโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ศจฉ.พตท. รายงานว่า ตัวเลขเหตุการณ์ความไม่สงบและความสูญเสียในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา นับจากวันที่ 1มิ.ย.2551 ถึงวันที่ 28 ธ.ค 2552 มีจำนวนผู้บาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1,537 คน แยกเป็นศาสนาพุทธ 960 คน ศาสนาอิสลาม 573 คน ไม่ระบุศาสนา 4 คน จำนวนผู้เสียชีวิต 728 คน แยกเป็นศาสนาพุทธ 254 คน ศาสนาอิสลาม 473 คน ไม่ระบุศาสนา 1 คน
ส่วนภาพรวมของเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 28 ธ.ค.2552 มีจำนวนผู้บาดเจ็บรวม 6,515 คน แยกเป็นศาสนาพุทธ 3,942 คน ศาสนาอิสลาม 2,090 คน ไม่ระบุศาสนา 483 คน จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 3,804 คน แยกเป็นศาสนาพุทธ 1,546 คน ศาสนาอิสลาม 2,143 คน ไม่ระบุศาสนา 115 คน
เทียบ 2 ปีเหตุรุนแรงลดเพียบ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่นับโดย ศจฉ.พตท.จะไม่รวมเหตุการณ์ที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือเหตุอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงที่พิสูจน์ได้แล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากความขัดแย้งส่วนตัวหรือไม่ จะนับรวมเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบไปก่อน ซึ่งในส่วนนี้มีถึง 60% ของเหตุการณ์ทั้งหมด
ศจฉ.พตท. ยังจัดทำรายงานสถิติเปรียบเทียบการก่อเหตุรุนแรง ระหว่างช่วงเดือน ต.ค 2551 ถึงเดือน ก.ย.2552 (ปีงบประมาณ 2552) กับช่วงเดือน ต.ค.2550 ถึง ก.ย.2551 (ปีงบประมาณ 2551) ด้วย
โดยในปีงบประมาณ 2552 มีเหตุลอบยิง 528 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 177 เหตุการณ์ วางเพลิง 25 เหตุการณ์ และก่อกวน 14 เหตุการณ์ รวมเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 735 ครั้ง
ส่วนในปีงบประมาณ 2551 มีเหตุลอบยิง 742 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 231 เหตุการณ์ วางเพลิง 46 เหตุการณ์ และก่อกวน 26 เหตุการณ์ รวมเกิดเหตุการณ์ทั้งสิ้น 964 ครั้ง
สรุปว่าภาพรวมของเหตุรุนแรงในปี 2552 ลดลงจากช่วงปี 2551 มากพอสมควร!
ข้อมูลตำรวจชี้ชัดความสูญเสียเพิ่ม
ในส่วนของตำรวจ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) / ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ได้จัดเก็บข้อมูลสถิติด้านต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์และปฏิบัติการของตำรวจ ทหาร รวมถึงฝ่ายปกครองในพื้นที่ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา (สบ.10) ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของ จ.สงขลา
เป็นที่ยอมรับกันว่า ข้อมูลของ ศชต./ ศปก.ตร.สน. มีความละเอียด รอบด้าน วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และน่าเชื่อถือที่สุด
น่าสนใจตรงที่ ข้อมูลของตำรวจยืนยันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต หรือเหยื่อจากความรุนแรงไม่ได้ลดจำนวนลง แถมยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก!
เริ่มจากภาพรวม 6 ปี เกิดเหตุความไม่สงบทั้งสิ้น 13,058 ครั้ง แยกเป็นเหตุลอบยิง 5,494 ครั้ง วางระเบิด 1,716 ครั้ง ที่เหลือเป็นวางเพลิงและเหตุย่อยอื่นๆ โดยตลอด 6 ปีมีผู้เสียชีวิต 3,850 ราย เป็นประชาชน 3,365 ราย ทหาร 248 นาย ตำรวจ 237 นาย
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายปี จะพบว่าปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุด คือ 2,475 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,015 ราย เป็นประชาชน 888 ราย ทหาร 83 นาย ตำรวจ 44 นาย ต่อมาในปี 2551 เหตุรุนแรงลดลงเหลือ 1,370 ครั้ง คิดเป็น 44% อัตราการสูญเสีย 605 ราย ลดลงราว 40% เช่นกัน
สำหรับในปี 2552 เกิดเหตุรุนแรง 1,347 ครั้ง ลดลงจากปี 2551 เพียง 23 เหตุการณ์ หรือคิดเป็น 1% กว่าๆ อัตราการสูญเสีย 606 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ประมาณ 1.7%
สรุปว่าอัตราการสูญเสียไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ!
คดีความมั่นคงแค่ 11% พิสูจน์ทราบกลุ่มป่วนได้เกินหมื่น
ด้านข้อมูลการสอบสวนคดีความมั่นคง พบว่าในภาพรวม 6 ปี มีคดีอาญาเกิดขึ้นทั้งหมด 63,667 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคง 7,004 คดี หรือคิดเป็น 11% ของคดีทั้งหมด (คดีอาญาทั่วไป 56,663 คดี หรือคิดเป็น 89%) รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว 1,652 คดี ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 5,352 คดี
จากภาพรวมคดีความมั่นคง พนักงานสอบสวนมีความเห็นแล้ว 6,300 คดี แยกเป็น งดสอบสวน 4,760 คดี สั่งฟ้อง 1,388 คดี สั่งไม่ฟ้อง 132 คดี ในชั้นอัยการ มีความเห็นทางคดีแล้ว 5,110 คดี แยกเป็นงดสอบสวน 4,343 คดี สั่งฟ้อง 562 คดี สั่งไม่ฟ้อง 205 คดี
นอกจากนั้นยังมีคดีที่ออกหมายไปแล้ว 7,450 หมาย แยกเป็นหมาย ป.วิอาญา (ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) 3,515 หมาย เป็นหมาย พ.ร.ก. (ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) 3,935 หมาย ควบคุมตัวตามหมาย พ.ร.ก.ได้ทั้งสิ้น 1,855 ราย ดำเนินคดีตาม พ.ร.ก. 397 ราย จับกุมได้ทั้งหมด 4,208 ราย แยกเป็นจับกุมตามหมาย ป.วิอาญา 1,343 ราย ตาม พ.ร.ก. 2,865 ราย ตลอด 6 ปีมีคนร้ายเสียชีวิตจากการยิงปะทะ 121 คน
คดีที่นำขึ้นสู่ศาลแล้ว และศาลมีคำพิพากษารวมทั้งสิ้น 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ประหารชีวิต 20 คดี จำเลย 20 คน จำคุกตลอดชีวิต 36 คดี จำเลย 51 คน จำคุก 50 ปี 74 คดี จำเลย 140 คน ยกฟ้อง 86 คดี 204 คน
ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงตลอด 6 ปีสามารถพิสูจน์ทราบสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบได้ทั้งหมด 10,067 คน ในจำนวนนี้รวมผู้ต้องหาคดีตากใบ 1,280 คนด้วย แยกเป็นระดับอูลามา 300 คน แกนนำ 192 คน อาร์เคเค 2,012 คน แนวร่วม 5,240 คน และแกนนำอื่นๆ 1,043 คน ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุทั้งสิ้น 4,032 กระบอก ยิงซ้ำ 537 กระบอก
ทั้งหมดเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่เก็บรวบรวมจากหน่วยงานความมั่นคง 3 หน่วยงาน แต่น่าสังเกตว่าไม่มีข้อมูลชุดใดตรงกันเลย!
---------------------------------------
ตารางแสดงเหตุรุนแรงรายเดือน จัดทำโดยศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จ.ยะลา