46 รายร้อง ศอ.บต.อยากขายที่ดิน... เปิดใจไทยพุทธทิ้งถิ่นหนีความรุนแรง
รัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาพิจารณาปัญหาการกว้านซื้อที่ดินอย่างผิดปกติจากทุกศาสนิกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระดำรัสแสดงความเป็นห่วง
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลเตรียมจัดงบประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อรับขายฝากหรือจำนองดอกเบี้ยต่ำจากประชาชนที่ต้องการขายที่ดินเพื่อหนี ปัญหาความไม่สงบ เพื่อที่ว่าที่ดินจะไม่ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดีหรือผู้มีอิทธิพล และเจ้าของที่เดิมยังสามารถกลับมาไถ่ถอนคืนได้เมื่อสถานการณ์สงบลงในอนาคต
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาถูกคุกคามและรู้สึกไม่ปลอดภัยนั้น มีทุกศาสนิก บางส่วนต้องการย้ายถิ่นที่อยู่หรือไปทำกินในพื้นที่อื่นเพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วค่อยกลับมา เรื่องนี้ ศอ.บต.เห็นว่าอยู่ในแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาลในแง่คุณภาพชีวิตอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็น "ประธานคณะกรรมการชุดพิเศษ" เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากกรมที่ดิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศอ.บต. ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกจังหวัด ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลาม ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้แทนหอการค้า และสมาคมธนาคารไทย
สำหรับคณะกรรมการชุดพิเศษที่มีนายยงยุทธเป็นประธานนี้ ได้ประชุมกันไปหลายรอบแล้ว และได้ตั้งคณะทำงานลงไปสำรวจพื้นที่ พบว่าพี่น้องประชาชนที่ถูกคุกคามมีหลายมิติ เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดระแวง ไม่มีคนเข้าไปดูแลพื้นที่เกษตรกรรมของตน จึงมีจำนวนหนึ่งที่ประสงค์จะขายที่ดิน แต่ต้องยอมรับว่าหลายรายเป็นการทำธุรกิจปกติ เนื่องจากราคาที่ดินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี ราคาดีมาก อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่บูม รวมทั้งร้านอาหาร อาคารชุดก็เกิดขึ้นเยอะมาก แม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับไปได้ดี
"จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าประชาชนที่มีปัญหาและต้องการขายที่ดิน จนถึงขณะนี้มีจำนวน 46 ราย เนื้อที่รวมอยู่ในระดับร้อยไร่ อยู่ในเขต จ.ปัตตานี เยอะที่สุด และส่วนใหญ่เป็นสวนยางพาราของพี่น้องไทยพุทธ สาเหตุเพราะบางรายคนในครอบครัวถูกทำร้ายจนเสียชีวิตในสวนยาง หรือเหยียบกับระเบิดขาขาด ก็ทำให้เกิดความกลัว หรือเป็นครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบเองจึงแสดงความจำนงอยากขาย จากการพิจารณาเบื้องต้นสรุปว่า 46 รายนี้อยู่ในเงื่อนไขช่วยเลือเยียวยาอยู่แล้ว ก็จะใช้งบรัฐบาลที่มีอยู่ไปก่อน ส่วนงบก้อนใหม่ที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะอุดหนุนลงมาอีก ก็จะใช้แก้ไขปัญหากรณีอื่นๆ ต่อไป" เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ
ส่วนวิธีช่วยเหลือนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มีหลายรูปแบบ แต่ที่เห็นตรงกันก็คือทำอย่างไรให้ยังสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสวนยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรมได้ต่อไป เช่น อาจจะให้องค์กรปกครองท้องถิ่นช่วยกันดูแลได้หรือไม่ เป็นต้น และจะนำเสนอแนวทางเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในวันที่ 13 ก.ย.2555
เปิดใจไทยพุทธทิ้งถิ่นหนีความรุนแรง
ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หนึ่งในชาวบ้านไทยพุทธที่เข้าร้องขอความช่วยเหลือต่อ ศอ.บต. คือ นางวันเพ็ญ (นามสมมติ และสงวนนามสกุล) วัย 48 ปีจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา นางมีสวนยางพาราอยู่ถึง 78 ไร่ แต่เนื่องจากหวาดกลัวสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้นางและพี่น้องรวม 4 คนไม่กล้ากลับไปที่สวนของตนเอง และไม่สามารถเก็บดอกผลทำมาหากินจากที่ดินของตนเองได้
“ครอบครัวฉันมีสวนยาง 78 ไร่ เป็นของ 4 พี่น้อง คือ พี่ชาย พี่สาว น้อง และตัวเอง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สวนยางถูกคนเข้าไปโค่นเป็นจำนวนมาก และบ้านก็ถูกเผาเสียหายทั้งหลัง โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร หลังจากนั้นเราก็ตัดสินใจย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง อย่างน้อยความปลอดภัยก็มีมากกว่านอนเฝ้าสวนยาง”
วันเพ็ญ เล่าว่า ออกมาอยู่ในเมืองก็มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่เมื่อได้อย่างก็ต้องเสียอยาง สิ่งที่เสียคือเงินรายได้จากการทำสวนยาง เคยได้เดือนละแสนกว่าบาท แล้วก็หารแบ่งกัน 4 พี่น้อง แต่วันนี้ได้แค่ 3-5 พันบาทต่อเดือนเท่านั้น
"มันต่างจากเมื่อก่อนเลย เพราะต้องจ้างเขากรีด ถ้าวันไหนลูกจ้างเอาเงินมาให้ก็ได้เงิน ถ้าไม่เอามาให้ก็ไม่ได้ ดีหน่อยที่พวกเราไม่มีภาระมาก ก็พอช่วยกัน พยุงกันไปได้ ลูกๆ ที่เรียนอยู่ก็ช่วยๆ กันประหยัด จากเมื่อก่อนนี้เราอยู่แบบรวยเลย อยากได้อะไรก็ได้ อยากใช้รถยี่ห้อไหนเราก็ซื้อได้ เดี๋ยวนี้จนยิ่งกว่าคนที่เราเคยช่วยเหลือเขาเสียอีก ถึงขนาดที่ว่าคนที่เราเคยช่วยเหลือต้องหันมาช่วยเรากลับ ส่วนสวนยางเราก็ไม่กล้าเข้าไป เพราะวันไหนที่จะเข้าไปก็ต้องประสานเจ้าหน้าที่จนวุ่นวายไปหมด เลยคิดว่าไม่เข้าดีกว่า เพราะเข้าไปก็มีแต่สร้างความรู้สึกแย่ๆ กลับมา"
ส่วนข่าวที่ว่ารัฐบาลจะเร่งให้ความช่วยเหลือ อนุมัติงบประมาณลงมาสำหรับรับขายฝากหรือจำนองที่ดินดอกเบี้ยต่ำของคนที่ต้องการย้ายถิ่นฐานชั่วคราวหนีปัญหาความไม่สงบนั้น วันเพ็ญ บอกว่า ยังไม่รู้เรื่องเลย แต่พอได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกดีใจ โดยเฉพาะที่รัฐบาลหันมาสนใจคนไทยพุทธบ้าง อย่างน้อยใจที่เคยคิดว่าเป็นลูกเลี้ยงมาตลอดก็พอจะพองโตขึ้นมาบ้าง
"เราโดนกระทำตลอด แต่เหมือนรัฐตั้งใจไม่อยากสนใจพวกเราจึงปล่อยให้อยู่ไปตามสภาพ ที่ผ่านมามีความหวังเดียวคือ ศอ.บต.ที่เคยไปร้องเรียน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้ามากนัก พอได้ข่าวว่ารัฐบาลจะช่วยก็ดีใจจนไม่รู้จะบอกอย่างไร"
วันเพ็ญ บอกด้วยว่า เท่าที่นางทราบ ยังมีชาวบ้านมุสลิมอีกหลายพื้นที่ที่ต้องทิ้งสวนยางแล้วพาตัวเองออกไปอยู่นอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ไปตั้งรกรากที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
อสังหาฯปัตตานีสุดบูม-ที่ดินราคาพุ่ง คอนโดฯขึ้นเป็นดอกเห็ด
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและการก่อเหตุรุนแรงเพื่อบีบให้กลุ่มคนบางอัตลักษณ์ออกจากที่ดินทำกิน และทำลายเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่สวนทางกับสภาพความรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปัตตานี
เมื่อเร็วๆ นี้ทางจังหวัดปัตตานีได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ศอ.บต.เพื่อรายงานสภาพเศรษฐกิจตามที่ได้มอบหมายให้สำนักประสานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สศส.) เก็บข้อมูลและวิเคราะห์เรื่องการค้าการลงทุนของจังหวัดปัตตานี สรุปได้ดังนี้
1.จากสถิติที่ผ่านมาการก่อความไม่สงบใน จ.ปัตตานีมีแนวโน้มลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์ที่เกิดมีความรุนแรงมากขึ้น
2.แม้ว่าจะมีการก่อความไม่สงบในพื้นที่ แต่ในทางกลับกันกลับมีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น แสดงถึงความเชื่อมั่น โดยผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ โดยมีตัวชี้วัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนี้
- อสังหาริมทรัพย์มีการขยายตัวอย่างมาก และแม้ว่าราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น แต่ก็มีการสั่งจองและจำหน่ายได้ทั้งหมด โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จ.ปัตตานี และคนที่ย้ายแหล่งทำงานไปทำงานในต่างจังหวัดเมื่อเกิดสถานการณ์ แต่ขณะนี้ได้กลับมายังพื้นที่ จ.ปัตตานี ประกอบกับ จ.ปัตตานีเริ่มเข้าสู่สังคมเมือง จึงมีการซื้อคอนโดมีเนียมเพื่ออยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
- การลงทุนขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น โครงการปัตตานีจาย่า ปัตตานีเพลส (คอนโดมีเนียม) โรงแรมปาคร์วิว เป็นต้น
- การขยายตัวของบริษัท ห้างร้าน และร้านอาหาร
- การเปิดโชว์รูมรถยนต์ และแหล่งจำหน่ายรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้น
- การจัดตั้งสาขาเพื่อเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทภาคพิเศษของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
3.เมื่อเปรียบเทียบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานีเป็นแหล่งการค้าการลงทุนที่ดีที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนความพร้อมด้านทรัพยากร ภูมิประเทศ และต้นทุนทางวัฒนธรรม
4.สถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในจังหวัดปัตตานีมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บ้านชาวบ้านที่ถูกทิ้งร้าง เพราะเจ้าของบ้านย้ายถิ่นหนีความรุนแรง
2 สวนยางพาราที่รกชัฏ เพราะถูกปล่อยทิ้ง