โป่งลึก บางกลอย&อุทยานฯแก่งกระจาน : “ปิดทองหลังพระ” คิดใหม่แก้ปมคนกับป่า
ฮอล์ตกกลางป่าแก่งกระจาน-ช้างถูกฆ่า-บ้านกะเหรี่ยงถูกเผา…เกิดขึ้นในพื้นที่กรณีศึกษาที่น่าสนใจในความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน-ป่า-จนท.รัฐ ซึ่งวันนี้โครงการพระราชดำริเข้าไปช่วยคลี่คลาย
สาวปรากฏการณ์ สู่รากเหง้าความขัดแย้ง
กรกฎาคม 2554 เฮลิคอปเตอร์ทหาร 3 ลำตกบริเวณป่าลึกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานภายในเวลา 9 วันไล่เรี่ยกัน สูญเสียนายทหารไป 16 นาย ช่างภาพ ททบ.5 อีก 1 คน เป็นโศกนาฎกรรมสะเทือนขวัญแฝงความฉงนสนเท่ห์ใจของใครหลายคคน จนเกิดคำถามว่า “ทหารเข้าไปทำอะไรในป่า”
ไม่นานคำตอบก็ปรากฏจากภาพการเผาไล่รื้อบ้านชาวกะเหรี่ยงในปฏิบัติการ “ผลักดันชนกลุ่มน้อย” ของอุทยานฯ สังคมมีความเห็นสองทาง หนึ่งกล่าวโทษชนกลุ่มน้อย คือ‘ชาวหมู่บ้านโป่งลึก บางกลอย’–หมู่บ้านชาวกะหร่างใจกลางต้นแม่น้ำเพชรบุรี ว่าบุกรุกป่า-ปลูกพืชยาเสพติด3ฆ่าช้าง ทำให้ทหารเสียชีวิตจากการเข้าไปช่วยปราบปราม แต่กระแสเสียงอีกด้านประณามเจ้าหน้าว่าที่ไร้มนุษยธรรม ทำร้าย‘ชาวไทยภูเขา’ที่ไม่มีทางต่อสู้และอาศัยอยู่บนผืนป่าเพชรบุรีมานานก่อนประกาศอุทยานฯทับที่ชาวบ้าน
เสียงแห่งสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน ปะทะเสียงแห่งอำนาจพิทักษ์ผืนป่า บานปลายจนตัวแทนชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนแจ้งความดำเนินคดีและยื่นหนังสือถอดถอนหัวหน้าอุทยานฯต่อนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันอุทยานฯก็ฟ้องร้องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจากมูลเหตุเดียวกันด้วย
จากบ้านเล็กในป่าลึก บ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย กลายเป็นที่รู้จัก ว่าไม่เพียงเป็นถิ่นอยู่อาศัยของชาวกะหร่าง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับป่าและคนกับคนที่น่าตรึกตรอง
พลิกวิธีคิดใหม่ “ปัญหาคนกับป่า ต้องแก้ที่คน’
ย้อนไป ตุลาคม 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำรัสให้รักษาป่าต้นน้ำงแม่น้ำเพชรบุรีและไม่ให้มีการทำลายป่า จากกระแสพระราชดำรัสประกอบกับสถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน มูลนิธิปิดทองหลังพระ จึงเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวกระหร่างในหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย เพราะเชื่อว่าสาเหตุปัญหามาจากความยากไร้ของคน หากคนมีกินมีใช้ จะไม่ทำลายป่า และคนในป่าจะพิทักษ์ป่าได้ดีที่สุด
“คนในบ้านโป่งลึก-บางกลอยบางคนยังไม่รู้เลยว่ามื้อหน้าจะกินอะไร ปัญหาวันนี้ควรแก้ไขให้คนอยู่รอดก่อน เราเข้ามาเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความสุข ความสมดุลระหว่างคน สัตว์กับป่าไม้ ที่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้” ม.ร.ว.ดิสนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ยืนยันบทบาทมูลนิธิฯในการเข้ามาเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 55 ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจครั้งใหญ่ของ 19 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย เกษตรฯ ทรัพยากรธรรมชาติฯ ส่วนราชการจังหวัดเพชรบุรี กองทัพบก ตัวแทนชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนอาหาร แหล่งน้ำดำรงชีพ
เสียงสะท้อนจากชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย
หลังจากผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2522 ในปี 2539 ชาวไทยภูเขาบางส่วนถูกผลักดันลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยติดกับบ้านโป่งลึกซึ่งมีชาวกะหร่างส่วนหนึ่งอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว ความชอบธรรมของ 2 หลักการระหว่าง’สิทธิมนุษยชนในการอาศัยในป่าแต่ดั้งเดิม’ก็ขัดแย้งกับ’สิทธิในกรอบที่พึงมีตามกฎหมายรัฐที่บัญญัติใหม่’
ในสังคมปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยกฎหมายและภาษากะหร่างแทบจะไม่มีใครได้ยิน การผลักดันชนกลุ่มน้อยจึงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ประชากรบ้านโป่งลึก-บางกลอยจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน(ปี2555)จากการลงพื้นที่สำรวจของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯร่วมกับทีมปฏิบัติการของอำเภอพบว่าทั้งสองหมู่บ้านรวม 1,052 คน จำนวนนี้กว่า 300 คนลงไปรับจ้างหากินนอกพื้นที่ป่า (ต่างจากการสำรวจขึ้นทะเบียนโดยอำเภอที่มีประชากร 1,490 คน เป็นจำนวนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะ)
ในเชิงกายภาพ แม้บ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยจะถูกคั่นกลางด้วยสายน้ำต้นแม่น้ำเพชรบุรี แต่ที่ตั้งหมู่บ้านอยู่สูงกว่าลำน้ำเกือบ 10 เมตร ทำให้ไม่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคและทำเกษตรได้สะดวก การอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ยังทำให้มีพื้นที่ทำกินจำกัดเฉลี่ยครอบครัวละ 5-7 ไร่ นานวันเข้าสภาพดินเสื่อม ปลูกข้าวทำกินได้ยาก ชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกพืชอื่น ปัญหาความขาดแคลนจึงทวีคูณ
ยังมีความเดือดร้อนใจอันเนื่องมาจากสังคมประนาม นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานสภา อบต.ห้วยแม่เพรียง ตัวแทนชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย ส่งสำเนียงชาวเขาอย่างอัดอั้นว่า “ถามว่าเรารักป่าไหม เรารักเพราะอยู่ในป่ามาตลอด เมื่อก่อนป่างามมาก แต่พอมีการสัมปทาน น้ำแห้ง ฝนแล้ง ชาวบ้านที่เคยทำไร่ก็เดือดร้อน ฉะนั้นคนที่ทำลายป่าจริงๆคือพวกที่ได้สัมปทานไม่ใช่ชาวบ้าน และพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้มีแค่เราสองหมู่บ้าน ยังมีคนอื่นปะปนด้วย การบุกรุกพื้นที่และล่าสัตว์ส่วนใหญ่เป็นคนจากฝั่งพม่าลอบเข้ามา แต่คนในหมู่บ้านเป็นผู้รับกรรม”
และในวันนี้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานก็ประสานเสียงยืนยันท่ามกลางหลายหน่วยงาน ว่าสองหมู่บ้านนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่สร้างปัญหาในพื้นที่ป่า
“พระราชดำริปิดทองหลังพระ” กาวใจแก้ปัญหาคนกับป่าอย่างยั่งยืน
การสร้างระบบท่อส่งน้ำจากฝายเก็บน้ำที่ห่างออกไป 14 กิโลเมตรมายังหมู่บ้าน และการจัดตั้งกองทุนข้าว ให้ยืมข้าวกิน ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ปลูกพืชผักหมุนเวียน เป็นแนวทางช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อให้ชาวบ้านอยู่รอด โดยทหารกองทัพบกเป็นกองกำลังขนส่งเสบียงอาหาร กระทรวงเกษตรฯสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมการเพาะปลูก กรมชลประทานดูแลวางแผนเรื่องระบบการส่งน้ำ ฯลฯ คือภารกิจที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องริเริ่มร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในพื้นที่แห่งนี้ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย กลางป่าแก่งกระจาน เป็นเพียงตัวอย่างความขัดแย้งที่นำมาสู่การแก้ปัญหาในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ บอกว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงกะหร่างถือเป็นชาวไทยเช่นกัน หากสังคมไม่เหลียวแลใส่ใจ ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยและชนกลุ่มน้อยจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น และโดยคาดไม่ถึงเรื่องเล็กๆที่คนเพิกเฉย อาจกลายเป็นปัญหาสังคมที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าต่อไป
การเข้ามาเป็นกาวประสานเชื่อมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่แว่วว่ามีบ้างที่ไม่ลงรอยกันของโครงการปิดทองหลังพระฯ จะเหนียวแน่นสักเพียงใด คงต้องติดตาม และชาวบ้านบ้านโป่งลึก-บางกลอยจะร่วมพัฒนาชุมชนของตนให้แข็งแกร่งได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หนึ่งคือ ความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานต่างๆที่เคยละเลยจะกลับมาเหลียวแลพวกเขาคนชายขอบอย่างจริงใจเพียงใด
........................
ปฏิบัติการช่วยเหลือเฉพาะกิจครั้งนี้ ไม่เพียงยกระดับความเป็นอยู่ชาวบ้าน แก้ปัญหาคนกับป่า และยังสร้างความเข้าใจของคนที่อยู่ร่วมบนผืนแผ่นดินเดียวกันในฐานะคนไทย แม้จะต่างชาติพันธุ์ ส่วนปัญหาบานปลายด้านคดีความ ทางออกจะเป็นเช่นไร ก็คงต้องให้กฎหมายตัดสินต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::: โครงการพระราชดำริ ปิดทองหลังพระฯ เร่งแก้ปัญหาคนกับป่า บ้านโป่งลึก-บางกลอย
ที่มาภาพประกอบที่2 ::: http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdNekV4TURrMU5BPT0=