ความผิดพลาดเชิงยุทธการ ความจริงที่ทหาร (อาจ) ไม่อยากฟัง
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้สถิติการก่อเหตุร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนสถิติการสูญเสีย (เจ็บ-ตาย) ในปี 2552 ที่เพิ่งเคลื่อนผ่านไปจะลดจำนวนลงพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบในห้วงเวลาเดียวกันกับช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นความสำเร็จเชิงยุทธการภายใต้การควบคุมของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
สิ่งที่ยืนยันสมมติฐานข้างต้นได้อย่างชัดเจนก็คือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงสามารถก่อเหตุรุนแรงได้แทบทุกที่ ทุกเวลา เท่าที่ทางกลุ่มต้องการเหมือนเดิม!
เหตุร้ายอย่างน้อย 9 จุดกระจายทั่วทั้งสามจังหวัด เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 ซึ่งเป็นวันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์ร่วมกับ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก (ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น) คือตัวอย่างที่สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
และความจริงที่มิอาจปฏิเสธก็คือ หลายห้วงเวลาที่สถิติความรุนแรงลดลง เป็นเพราะมีภัยธรรมชาติมาช่วย โดยเฉพาะน้ำท่วม ซึ่งในปี 2552 นับว่าหนักหน่วง กินบริเวณกว้าง และเนิ่นนานพอควร...
จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) แม้เจ้าตัวจะไม่ยอมรับตรงๆ แต่ก็พบปัญหาในแง่ยุทธการอย่างชัดเจนจากการบอกเล่าอย่างเปิดอกของแม่ทัพ
"วันนี้ฝ่ายก่อความไม่สงบรอจังหวะ จ้องทำเมื่อมีโอกาสเท่านั้น ช่วงไหนทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ที่ผ่านมาผมก็พยายามไล่บี้ทุกส่วน โดยเฉพาะด่านตรวจด่านสกัด เราทำเต็มที่ ทหารต้องไม่นอนฐาน ต้องออกพื้นที่ทุกวัน"
ในมุมของแม่ทัพ กำลังทหารราว 30,000 นายในพื้นที่ ซึ่งหลายคนบอกว่าเยอะ แต่เมื่อพิจารณาจากภารกิจแล้ว พล.ท.พิเชษฐ์ ยืนยันว่าไม่เยอะอย่างที่คิด
"พื้นที่รับผิดชอบมีประมาณ 1,900 หมู่บ้าน (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทหารมี 3 หมื่นนาย ลองเอา 2 พันหารดู จะพบว่ามีกำลังทหารดูแลแค่หมู่บ้านละ 15 นายเท่านั้น แล้วทหาร 3 หมื่นนายจะไม่ให้พักผ่อนเลยหรือ เอากำลังไปวางหัวหมู่บ้าน 7 นาย ท้ายหมู่บ้าน 7 นายก็หมดแล้ว แค่เฝ้าหัวท้ายหมู่บ้านยังไม่พอ ฉะนั้นจึงอยากให้สังคมเข้าใจ"
"ยิ่งไปกว่านั้นทหารต้องดูแลภารกิจถึง 2,600 ภารกิจต่อวัน ทั้งคุ้มกันครู รปภ.ถนนหนทาง รถไฟ สถานที่ราชการ ฉะนั้นเปอร์เซ็นต์เดียวก็อาจผิดพลาดได้ เราต้องบริหารคน บริหารแผน ถนนบางสายยาวมาก เอาตัวเลขมาดูบอกกำลังทหารเยอะ แต่ต้องเอาภารกิจมาดูด้วย ฉะนั้นเวลาเกิดอะไรทีผมถึงไม่อยากด่าลูกน้อง ไม่อย่างนั้นเขาจะหมดกำลังใจ เปิดทีวีก็มีคนด่า นักวิชาการบ้าง สื่อบ้าง วันนี้ทหารอยู่ได้ด้วยกำลังใจ"
นี่คือปัญหาที่สะท้อนจากคนระดับแม่ทัพภาคที่ 4
คำถามก็คือเป็นปัญหาเชิงยุทธการใช่หรือไม่...คำตอบก็คือใช่!
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นนายทหารประเภท "คิดนอกกรอบ" ของกองทัพ เคยให้ทัศนะเอาไว้อย่างแหลมคมว่า ก่อนจะวางยุทธศาสตร์และกำหนดยุทธการ ต้องรู้เสียก่อนว่า "ศูนย์ดุลการรบ" ที่แท้จริงอยู่ตรงไหน
ในมุมมองของนายทหาร "คิดนอกกรอบ" ผู้นี้ เขาเห็นว่า ศูนย์ดุลการรบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยกำลังทหาร แต่เป็นสงครามทางความคิด ซึ่งฝ่ายตรงข้ามใช้การ "ผลิตซ้ำทางความคิด" เป็นเครื่องมือ
"ศูนย์ดุลของสงครามไม่ใช่เรื่องการทหาร ส่งกำลังไป 3 แสนนายก็ยึดได้แค่กายภาพ เฝ้าได้แต่เสาไฟฟ้า สถานที่ราชการ เมื่อฝ่ายก่อการเพิ่มตัวแปรมากขึ้น ก็ต้องแตกกำลังไปเรื่อยเพื่อไปยึดกุมทางกายภาพมากขึ้น ทั้งคุ้มครองครู คุ้มครองพระ คุ้มครองโน่นคุ้มครองนี่ แต่เอาชนะไม่ได้ เพราะศูนย์ดุลที่แท้จริงของสงครามอยู่ที่เรื่องทางความคิด ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครทำเลย"
"ถ้าผมเป็นหัวหน้าของฝ่ายก่อความไม่สงบ ผมสบายเลย วันนี้ยิงครู รัฐก็ทุ่มกำลังไปคุ้มครองครู พรุ่งนี้ผมระเบิดเสาไฟ ยิงรถไฟ ก็ต้องเทกำลังไปตรงนั้นอีก แบบนี้เพิ่มกำลังลงไปอีก 10 เท่าก็ไม่พอ"
กระบวนการ "ผลิตซ้ำทางความคิด" ตามที่ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ พูดถึงก็คือ กระบวนการทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยม ต้องการยึดดินแดนคืน หรือที่เรียกว่า เนชันแนลลิซึม (nationalism) เมื่อนำมารวมเข้ากับการตีความศาสนาอย่างเข้มข้นในลักษณะของ ญิฮาดลิซึม (jihadlism) จึงเกิดเป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้
และ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ ก็สรุปเอาไว้ว่า ปัญหาแท้ๆ ที่เขาพูดถึงนั้น ยังไม่ได้รับการจัดการจากรัฐเลยแม้แต่น้อย!
ความผิดพลาดในทางยุทธการ ยังรวมไปถึงการจัดหน่วยกำลังในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาด้วย โดยการจัดวางกำลังในปัจจุบันอยู่ในรูปของ "หน่วยเฉพาะกิจ" หรือ ฉก. แยกเป็นจังหวัดและอำเภอไล่ลงไป โดยมีตัวเลขกำกับ กล่าวคือ
- หน่วยเฉพาะกิจยะลา (ฉก.1 เดิม) รับผิดชอบ จ.ยะลา ทั้งจังหวัด ประกอบด้วยกำลังของกองทัพบก 6 กองพัน และกำลังตำรวจ 1 กองกำกับการ (ตำรวจตระเวนชายแดน / ตชด.)
- หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี (ฉก.2 เดิม) รับผิดชอบ จ.ปัตตานี ทั้งจังหวัด ประกอบด้วยกำลังของกองทัพบก 5 กองพัน และกำลังนาวิกโยธิน (ทหารเรือ) 1 กองพัน
- หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส (ฉก.3 เดิม) รับผิดชอบ จ.นราธิวาส ทั้งจังหวัด ประกอบด้วยกำลังของกองทัพบก 7 กองพัน และกำลังนาวิกโยธิน 2 กองพัน
- หน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ฉก.4 เดิม) รับผิดชอบ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ประกอบด้วยกำลังของกองทัพบก 1 กองร้อยทหารราบ และกำลังตำรวจ 1 กองกำกับการ (ตชด.)
นอกจากนั้นยังมี "หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน" หรือ ฉก.ทพ. กระจายอยู่ในพื้นที่ป่าเขาอีกหลายกองพัน รวมถึงหน่วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (หมวกแดง) และ "หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย" รับผิดชอบภารกิจเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิดด้วย
จุดที่น่าสนใจก็คือ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด หรือที่เรียกกันติดปากแต่เดิมว่า "ผบ.ฉก.เลขตัวเดียว" ปัจจุบันเป็นนายทหารยศ "พลตรี" มีภารกิจคุมกำลังระดับจังหวัด ซึ่งกองกำลังที่ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละจังหวัดมาจากต่างกองทัพภาคกัน โดยหน่วยเฉพาะกิจยะลา เป็นทหารจากกองทัพภาคที่ 3 หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี เป็นทหารจากกองทัพภาคที่ 2 และหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นทหารจากกองทัพภาคที่ 1
ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจจังหวัด หรือ ผบ.ฉก.เลขตัวเดียว ล้วนเป็นทหารฝีมือดีระดับรองแม่ทัพหรือเสนาธิการจากแต่ละกองทัพภาค ผู้ที่คิดสูตรนี้คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และนำการจัดกำลังลักษณะนี้มาใช้ตั้งแต่เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.เมื่อ 2 ปีก่อน
วัตถุประสงค์ที่ พล.อ.อนุพงษ์ ตั้งเอาไว้ก็คือ ผบ.ฉก.แต่ละคนจะได้แข่งกันทำงาน โดยเพิ่มนายทหารฝ่ายเสนาธิการมากขึ้นในแต่ละ ฉก. และจัดรูปแบบเหมือนกองพลรบ 1 กองพล คือมีความพร้อมทั้งฝ่ายเสนาธิการและยุทธการ
การจัดโครงสร้างดังกล่าวฟังดูเผินๆ น่าจะดี แต่ปัญหาที่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจ หรือ ผบ.ฉก.ระดับจังหวัดเหล่านี้มาจากต่างกองทัพภาค และไม่ได้ขึ้นตรงกับแม่ทัพภาคที่ 4 ยิ่ง ผบ.ทบ.มีนโยบายให้ทำงานแข่งกัน สายการบังคับบัญชาของพวกเขาจึงต้องวิ่งเข้าหาแม่ทัพภาคของตัวเอง และตัว ผบ.ทบ.
เป้าหมายก็คือการขยับสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี อันเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้นในกองทัพภาคของตัวเอง หาใช่กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่!
อย่างเช่น ผบ.ฉก.ปัตตานี คนที่แล้ว ในการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีเมื่อเดือน ต.ค. ก็ได้ขยับขึ้นตำแหน่งสำคัญในกองทัพภาคที่ 2 (หน่วยต้นสังกัดของตนเอง) ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน
โครงสร้างที่เป็นอยู่ทำให้เกิดปัญหาแม่ทัพภาคที่ 4 (เจ้าของพื้นที่) ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาที่แท้จริง แต่ ผบ.ฉก.สามารถขับเคลื่อนงานยุทธการได้อย่างอิสระ ภายใต้การกำกับในระดับสูงสุดโดย ผบ.ทบ.
ยิ่งไปกว่านั้น ใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังตั้ง "กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร" หรือ พตท.ขึ้นมาเพื่อดูแลหน่วยกำลังทั้งหมด โดยมีผู้บัญชาการเป็นนายทหารยศ "พลโท" จากเดิม "พลตรี" ซึ่งการขยับเพิ่มยศก็เพื่อให้สามารถบังคับบัญชาบรรดา ผบ.ฉก.ระดับจังหวัดได้นั่นเอง
ทว่านโยบาย "แข่งกันทำงาน" ทำให้ ผบ.พตท. (ปัจจุบันคือ พล.ท.กสิกร คีรีศรี) ไม่ได้มีสภาพต่างไปจากแม่ทัพภาคที่ 4 เท่าใดนัก จะเห็นได้ว่าบทบาทของ ผบ.พตท. ส่วนใหญ่จะทำได้แค่เรียกประชุม ผบ.ฉก.เลข 2 ตัว คือหน่วยเฉพาะกิจระดับอำเภอ ซึ่งผู้บังคับหน่วยจะมียศ "พันเอก"
ที่หนักที่สุดคือนโยบายด้านยุทธการทั้งหมดถูกกำหนดมาจาก ผบ.ทบ. จะเห็นได้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ นั้นลงพื้นที่ถี่ยิบ ราวกับว่าตัวเองเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 และทุกนโยบายในพื้นที่ล้วนสั่งตรงมาจากข้างบน
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือโครงการจัดซื้อ "เรือเหาะตรวจการณ์" ซึ่งเพิ่งถูกส่งลงประจำการในพื้นที่เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากมีโครงการก่อสร้าง "โรงจอดเรือเหาะ" แล้วเสร็จเกือบ 100% โดย พล.อ.อนุพงษ์ เพิ่งเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีนักข่าวไปสอบถามความเห็นเรื่อง "เรือเหาะตรวจการณ์" กับแม่ทัพภาค 4 ซึ่งไปรอต้อนรับ ผบ.ทบ.อยู่ด้วย ปรากฏว่า พล.ท.พิเชษฐ์ กระซิบตอบนักข่าวว่า...ผมก็เพิ่งเคยเห็นครั้งแรกเหมือนกัน!!!
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็คือ พล.ท.พิเชษฐ์ เดินหน้าลุยงานเรื่อง "ปุ๋ยอีเอ็ม" และเศรษฐกิจพอเพียง ส่วน พล.ท.กสิกร ก็เดินสายแถลงข่าวผลการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม และวิสามัญฯ ซึ่งล้วนเป็นปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจระดับอำเภอ ส่วนการประชุมหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด แทบทุกครั้งต้องรอ ผบ.ทบ.ลงพื้นที่
นี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะแม่ทัพดับไฟใต้ของรัฐบาล เคยเสนอในที่ประชุมวงปิดจนเป็นที่ฮือฮามาแล้วว่า เขาต้องการให้ถอนทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้กองทัพภาคที่ 4 ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ทำงานร่วมกับกองกำลังประชาชนที่จัดตั้งขึ้น ทั้ง อส. (อาสารักษาดินแดน) ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) และ อรม. (อาสาสมัครรักษาเมือง)
เพราะทหารที่เกาะติดพื้นที่มานานย่อมเข้าใจพื้นที่มากกว่า และน่าจะสร้างปัญหาน้อยกว่าทหารจากนอกพื้นที่ที่ "มาแล้วก็ไป" ซึ่งล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาขานรับแนวคิดนี้
แม้ท่าทีของฝ่ายการเมืองจะสอดรับกับแนวทางที่ ผบ.ทบ.วางเอาไว้ในท้ายที่สุด คือถอนทหารจากกองทัพภาคอื่นๆ ออกไปเมื่อสถานการณ์ความไม่สงบอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เพื่อเปิดทางให้ "กองพลทหารราบที่ 15" หรือ "กองพลพัฒนาและพิทักษ์ทรัพยากร" รับไม้ต่อ ซึ่งกรอบเวลาคร่าวๆ ที่วางเอาไว้คือปีที่ 8-10 ในแผนดับไฟใต้ 10 ปีของ ผบ.ทบ.
ทว่าความไร้เอกภาพและยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดดังที่เห็นและเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ทำให้น่าคิดไม่น้อยว่ากว่าจะถึงวันนั้น สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นได้จริงหรือไม่?
เป็นคำถามที่กองทัพน่าจะมีคำตอบในวาระ 6 ปีไฟใต้ และสถานการณ์ร้ายที่ดินแดนด้ามขวานกำลังทะยานขึ้นสู่ปีที่ 7!!!
----------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์พับลิก โพสต์ โดยผู้เขียนใช้นามปากกาว่า “ถังดับเพลิง”
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ครอบครัวข่าว 3
www.krobkruakao.com/kkn/?a=news&s=detail&news...