ส่องปัญหาเหยี่ยวข่าวอาชญากรรม ยุคหลอมรวมสื่อ ‘ค่าตอบแทนยังต่ำ-บก.จินตนาการสูง’
ช่วงระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-2 กันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดโครงการอบรมหลักนิติวิทยาศาสตร์และข้อควรรู้ในการทำข่าวอาชญากรรม ให้กับนักข่าวสายอาชญากรรมทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น จำนวน 28 คน ที่โรงแรมพักพิงอิงทาง จ.นนทบุรี
ในช่วงหนึ่งของการอบรมได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการทำข่าวอาชญากรรม ผู้เข้าอบรม ทั้งจากสื่อโทรทัศน์ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์หัวสี หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้หารือร่วมกัน ก่อนสรุปสภาพปัญหาออกมาเป็น 3 ระดับคือ 1.ปัญหาจากตัวนักข่าวเอง 2.กองบรรณาธิการ (กอง บก.) และ 3.แหล่งข่าว นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นประปราย สรุปได้ดังนี้
ปัญหาอุปสรรคจากตัวนักข่าว เช่น การที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล แหล่งข่าวได้ โดยเฉพาะกรณีนักข่าวใหม่
ขาดความรอบคอบในการเก็บรายละเอียดข้อมูล ไม่มีปูมหลังของข่าว รวมถึงการต่อยอดประเด็นข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน
ความเสี่ยงและอันตรายของตัวนักข่าวในการนำเสนอข่าวในพื้นที่ที่มีกลุ่มอิทธิพลหรือผู้มีอำนาจ
ปัญหาการพัฒนาตนเองให้ทำข่าวได้หลากหลายรูปแบบ เช่น นำเสนอข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ควบคู่ไปกับทำคลิปวิดีโอ สื่อมัลติมีเดีย เนื่องจากขาดการฝึกอบรม รวมทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย
นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญคือเรื่องค่าตอบแทนในการทำข่าวที่มีจำนวนน้อย ไม่คุ้มกับค่าเดินทางลงพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีนักข่าวต่างจังหวัด ที่ไม่ได้มีสังกัด พบว่า หากข่าวไม่ได้ถูกตีพิมพ์ จะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลย
นั่นหมายความว่า ‘ทำงานฟรี’ ในขณะที่ควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำมันไปแล้ว ส่วนข่าวที่มีการตีพิมพ์ก็ต้องไปลุ้นกันอีกทีว่า เนื้อข่าวจะได้ลงสั้น-ยาวขนาดไหน หน้าหนึ่ง หรือหน้าใน
เพราะถ้าเป็นหน้าในแล้วละก็ความยาว 1-2 ย่อหน้า จะได้รับค่าตอบ 50 บาท!
ย้ำอีกครั้งว่า 50 บาท!
แต่หากได้พื้นที่มากขึ้น ราคาค่าตอบแทนก็จะขยับขึ้นไปตามลำดับ แต่สุดท้ายแล้วเบ็ดเสร็จก็ไม่เกิน 500 บาทต่อชิ้น
ส่วนถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม วิธีที่นักข่าวต่างจังหวัดใช้ก็คือ การซอยข่าวออกเป็นหลายช่องทาง ส่งเป็นเนื้อข่าวตีพิมพ์ ข่าวสั้นต้นชั่วโมงผ่านวิทยุ สกู๊ปหรือรายงานข่าวผ่านเคเบิลทีวี แต่ก็ไม่ได้มีหลักประกันเช่นกันว่างานทุกชิ้นจะได้ออกอากาศ
ขณะเดียวกันยังมีการพูดถึงเรื่องความแตกต่างในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนระหว่างพนักงานประจำกับลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งพบว่า มีความแตกต่างกันมาก ทั้งเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ โบนัส ค่าทำงานล่วงเวลา ซึ่งไม่คุ้มค่ากับภาระงาน
กองบรรณาธิการ ปัญหาหลักคือ การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันระหว่างผู้สื่อข่าวกับกองบรรณาธิการ เนื่องจากมองว่าคนที่ประจำในกองบรรณาธิการมักคาดหวัง มีจินตนาการ และความต้องการข่าวที่มากจนเกินไป ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องได้อย่างนี้ ซึ่งในบางครั้งเมื่อผู้สื่อข่าวลงพื้นที่จริงกลับพบกับปัญหาอุปสรรค ไม่สามารถทำข่าวได้ตรงตามเป้าหมาย ภายในระยะเวลาที่จำกัด แต่หากนักข่าวจะปฏิเสธ อาจถูกมองได้ว่าไม่สามารถทำงานได้
ขณะเดียวกันช่วงเวลาของข่าวมีมากขึ้น ยุคการหลอมรวมสื่อทำให้จำเป็นต้องทำสื่อหลายประเภท เพื่อนำเสนอกับกองบรรณาธิการ แต่การตัดสินใจเลือกข่าว ภาพข่าว ทั้งหมดทั้งมวลนั้นอำนาจรวมอยู่ที่กองบรรณาธิการ
บางครั้งเนื้อหามีการรีไรท์ที่ผิดความจากสิ่งที่ผู้สื่อข่าวรายงาน ขณะเดียวกันเมื่อผู้สื่อข่าวส่งเนื้อหาข่าวทั้งหมดให้กับกองบรรณาธิการ ในส่วนที่เป็นชื่อ-สกุลของผู้กระทำความผิด หรือผู้เสียหาย ผู้สื่อข่าวก็ได้เขียนข้อความกำชับไว้แล้วให้เปลี่ยนเป็นนามสมมุติ แต่กลับพบหลายครั้งที่บรรณาธิการไม่ได้ตรวจดู ปล่อยชื่อ-สกุลของผู้กระทำความผิด ผู้เสียหายหลุดออกไปสู่สาธารณะ
ส่วนภาพข่าวนั้นกองบรรณาธิการก็ยังขาดความชัดเจนว่า ภาพแบบได้ควรจะต้องเบลอ หรือต้องเบลอภาพมากน้อยเพียงใด เนื่องจากข่าวอาชญากรรม เน้นการขายภาพข่าวด้วย
แหล่งข่าว พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม ไม่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะในท้องที่ที่มีกลุ่มอิทธิพล รวมถึงการแถลงข่าวการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเกิดคำถามว่ามีความจำเป็น ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ จริยธรรมหรือไม่ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการให้ข้อมูลบิดเบือน เจ้าหน้าที่ในท้องที่ไม่มีอำนาจให้ข้อมูล ให้รอฟังคำชี้แจงจากผู้บังคับบัญชาจากส่วนกลาง ทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะของพื้นที่ จังหวัดนั้นๆ ก็ตาม
สำหรับประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ในทัศนะของนักข่าวอาวุโส และบรรณาธิการข่าว มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า สำหรับประเด็นปัญหาในแง่ตัวบุคคลนั้น หลายเรื่องสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เริ่มที่ตนเอง ส่วนปัญหาในเชิงระบบ คงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถคาดเดาได้
แต่สิ่งที่อยากให้เหยี่ยวข่าวสายอาชญากรรมโฟกัสในขณะนี้คือ ‘วิธีคิด’ ในเรื่องการนำเสนอข่าว ภาพข่าวอาชญากรรม
ตัวอย่างเช่น กรณีเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นราย แต่แทบจะไม่ได้เห็นภาพศพผ่านสื่อเลย หรือแม้แต่กรณีการเสียชีวิตของนักร้องดังชาวอเมริกัน “วิทนีย์ ฮุสตัน” ก็ไม่มีภาพศพของเธอปรากฏตามสื่อเช่นกัน แตกต่างจากสื่อในบ้านเราภาพศพ ฆาตกรรม อุบัติเหตุถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นเห็นว่าการนำเสนอภาพข่าวอาชญากรรมนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่สำคัญคือการปรับวิธีคิดดังกล่าว
ขณะที่บรรณาธิการข่าวอาชญากรรมจากหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่ง ให้ความเห็นอย่างออกรสเกี่ยวกับความคาดหวังและจินตนาการที่สูงของฝ่ายบรรณาธิการว่า ที่จริงฝ่ายบรรณาธิการไม่ได้คาดหวังให้นักข่าวต้องเข้าไปถึงที่เกิดเหตุในทันที แต่ต้องการข้อมูล คำอธิบายเหตุการณ์ที่ถูกต้อง ครบถ้วนในระดับหนึ่ง จะได้เห็นกันชัดๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่นั้น โดยเฉพาะข่าวจากนักข่าวภูมิภาค และบรรณาธิการจะเช็คข่าวเองจากสื่ออื่นในเครือ หรือแหล่งข่าวในระดับที่ใหญ่กว่า
“ยืนยันว่าการทำงานของนักข่าวไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยว”
ส่วนข่าวที่จะถูกใจบรรณาธิการ ได้รับการตีพิมพ์นั้นต้องเป็นข่าวที่มีข้อมูลครบถ้วน เป็นข่าวอาชญากรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ซ้ำเติมผู้เสียหาย ขณะที่ภาพข่าวหน้าหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์หัวสีปัจจุบันนั้นก็พบว่า มีพัฒนาการในเชิงบวก ภาพจมกองเลือดไม่ค่อยมีให้เห็นกันแล้ว
ขณะที่ตัวแทนจากนักข่าวสายอาชญากรรมรายหนึ่ง ก็แสดงความเห็นด้วยว่า การนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวอาชญากรรมนั้น เปรียบได้กับเหรียญสองด้าน การบรรยายเหตุการณ์ ขั้นตอน วิธีการต่างๆ อย่างละเอียดยิบ ก็มุ่งหวังสะกิดเตือนให้มีการป้องกัน แม้บางคนจะมองว่า อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบก็ตาม
ส่วนประเด็นเรื่องการแถลงข่าวการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น โดยส่วนตัวเป็นคนที่เชื่อในเรื่องของหลักการให้รางวัลและการลงโทษ จึงมองว่าการนำผู้ต้องหาแถลงข่าว มีข้อดีที่ทำให้สังคมรับรู้โดยทั่วกันว่า คนผิดถูกจับ ถูกลงโทษ ไม่ได้ลอยนวล ส่วนในมุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ถือเป็นการให้รางวัล ทำงานได้ดี ได้เร็ว จับตัวผู้ต้องหามาได้
ไม่เท่านั้น..ในการอบรมครั้งนี้ยังได้เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบปรามมาร่วมแสดงความเห็น โดยระบุว่าในเรื่องของการแถลงข่าวนั้น ยอมรับว่าในข้อปฏิบัติ ข้อห้ามเรื่องการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว ยังไม่เป็นที่รับรู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวงกว้าง จึงปรากฏภาพที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าวบ่อยครั้ง ซึ่งต่อจากนี้ไปจะเร่งส่งข้อปฏิบัติดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการมีความระมัดระวังมากขึ้น
ส่วนกรณีที่พบเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลบิดเบือนนั้น อาจต้องดูจุดประสงค์ด้วย เช่น เจ้าหน้าที่อาจพบข้อมูลว่าคนร้าย หนีคดีไปกับดานที่ภาคใต้ ตำรวจอาจให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปว่าผู้ต้องหาหนีไปทางภาคเหนือ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและการปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นได้ ทำให้อาจต้องให้ข้อมูลที่บิดเบือนไปอีกทางหนึ่ง
ที่มาภาพ: อินเทอร์เน็ต