จับจังหวะกลุ่มก่อความไม่สงบ วิเคราะห์แนวรบช่วงเปลี่ยนศักราช
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
2 เดือนสุดท้ายของปี 2552 เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทุกรูปแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งลอบวางระเบิดกำลังพล กราดยิงรถไฟ ฆ่าเผา รวมถึงทำลายจุดอ่อนไหวที่มีผลทางจิตวิทยากระทบต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนการโจมตีฐานทหารนั้น ก็มีพัฒนาการไปถึงขั้นปล้นรถบัสรับส่งนักเรียนเพื่อขนกำลังไปบุกถล่มกันแล้ว
แม้ยอดรวมของสถิติการก่อเหตุรุนแรงตลอดทั้งปีจะลดลงกว่าเมื่อปีก่อนหน้า (ตามการยืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกของฝ่ายความมั่นคง) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงสองเดือนสุดท้ายปลายปี 2552 เป็นช่วงที่ดุเดือดจริงๆ
และไม่ใช่แค่การใช้ความรุนแรงจากฝั่งผู้ก่อความไม่สงบที่กระทำต่อกำลังพลของรัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรงต่อฝ่ายคนร้าย ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย จากมาตรการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมของฝ่ายความมั่นคง จนนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมแทบไม่เว้นแต่ละวันด้วย
เฉพาะห้วงเวลาเพียงเดือนเศษจากกลาง พ.ย.ถึง ธ.ค. ปรากฏว่าเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรมอย่างน้อย 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 13 คน
27 ธ.ค. กำลังผสมสามฝ่ายเข้าปิดล้อมตรวจค้นในท้องที่ ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา และเกิดการยิงปะทะกัน มีผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงเสียชีวิต 1 ราย ส่วนที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา มีการปิดล้อม ตรวจค้น และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยอีก 1 ราย
23 ธ.ค. ทหารพรานเปิดปฏิบัติการปิดล้อมที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และวิสามัญฆาตกรรมบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นแกนนำอาร์เคเค (หน่วยรบขนาดเล็กที่ผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์) อีก 1 ศพ
16 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงปะทะกับกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่เนินเขาใกล้บ้านอูแบ หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา สุดท้ายฝ่ายผู้ต้องสงสัยถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย
15 ธ.ค. เกิดการยิงปะทะกันที่บ้านตะนิ หมู่ 4 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้ผู้ต้องหาซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบรายสำคัญเสียชีวิตพร้อมพวกรวม 2 ศพ
21 พ.ย. เกิดเหตุยิงปะทะกันระหว่างทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 กับผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ บนเทือกเขาฮูยงซูแง หมู่ 6 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา เป็นเหตุให้ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตอีก 1 ราย
17 พ.ย. กำลังผสมตำรวจ ทหาร ปิดล้อมที่บ้านพรุจูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี จากนั้นเกิดการยิงปะทะกัน เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยถึง 6 ศพ
นี่คือหลักฐานความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเปรียบไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ “พื้นที่การรบ”
3 ปัจจัยใต้ระอุช่วงส่งท้ายปี
พล.ต.ต.สายัณห์ กระแสแสน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา (ผบก.ภ.จว.ยะลา) วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นถี่มากในช่วงปลายปีเกิดจากหลายปัจจัย ประกอบกัน ได้แก่
1.เป็นความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการตอบโต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำงานประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่
2.เป็นความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการแสดงว่ากลุ่มของพวกเขายังมีขีดความสามารถและศักยภาพพอที่จะก่อเหตุรุนแรงได้
3.ต้องการข่มขวัญมวลชนของตัวเองที่หันมาร่วมมือกับฝ่ายรัฐมากขึ้น
“สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามพยายามก่อเหตุขึ้นมา โดยส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบของการลอบวางระเบิดและโจมตีฐานที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ แต่เราก็ได้รับการแจ้งเตือนมาตลอดว่าฝ่ายตรงข้ามพยายามที่จะก่อเหตุในลักษณะนี้ และได้พยายามป้องกัน” พล.ต.ต.สายัณห์ ระบุ
ฝีมือ “แนวร่วมรุ่นใหม่”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มแนวร่วมรายสำคัญถูกจับกุมไปเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้ ทำให้ ผู้การยะลา ชี้ว่า กลุ่มที่ออกมาก่อเหตุล้วนเป็นแนวร่วมรุ่นใหม่
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ เป็นฝีมือของแนวร่วมรุ่นใหม่ที่เข้ามาขับเคลื่อน โดยเชื่อว่ามีการฝึกคนรุ่นใหม่จากแหล่งฝึกในประเทศบ้าง ซึ่งเขามีศักยภาพที่สามารถฝึกฝนได้ ส่วนแหล่งฝึกในต่างประเทศก็ยังมีอยู่บ้างเหมือนกัน”
ในความเห็นของ ผู้การยะลา เชื่อว่าการเปิดเกมรุกของรัฐบาลว่าด้วยโครงการพัฒนาภายใต้งบประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เป็นแรงกดดันให้ฝ่ายก่อความไม่สงบต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อดิสเครดิต
“เรื่องแบบนี้เป็นความมุ่งหมายของเขาอยู่แล้ว และก็ทำมาทุกรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐเองก็ต้องดำเนินมาตรการทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านการเมืองและการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจและดึงให้มวลชนกลับมาสนับสนุนรัฐให้มากที่สุด”
วิสามัญฯถี่ยิบเพราะได้เบาะแสเยอะ
สถานการณ์ที่ปรากฏจึงมีลักษณะเหมือนต่างฝ่ายต่างยื้อกัน เพื่อแย่งยิงมวลชน
“ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเยอะ เพราะฝ่ายตรงข้ามก็พยายามสร้างสถิติของเขาเหมือนกัน เพื่อให้กลุ่มของพวกเขาสามารถดำรงอยู่ได้ และสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป”
ส่วนการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยที่เกิดขึ้นถี่ยิบ พล.ต.ต.สายัณห์ บอกว่า เป็นเพราะประชาชนแจ้งเบาะแสกับฝ่ายความมั่นคงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
“เจ้าหน้าที่ได้รับข่าวสารเยอะมากว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุเข้าไปแอบแฝงซุกซ่อนตัวอยู่ตามชุมชน เมื่อได้รับแจ้ง เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม เมื่อเข้าไปปฏิบัติ ก็จะเกิดการต่อต้าน มีการใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้มา และทำให้เกิดความสูญเสีย ฝ่ายเขาเสียชีวิตบ้าง ฝ่ายเราเสียชีวิตบ้าง หรืออาจจะได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ถือเป็นเรื่องปกติทางยุทธการ” ผู้การยะลา บอก
“เรื่องส่วนตัว-ยาเสพติด”ผสมโรง
สอดคล้องกับ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ที่บอกว่า สาเหตุที่เกิดการวิสามัญฆาตกรรมมากขึ้น เพราะฝ่ายความมั่นคงไล่ล่าคนร้ายมากขึ้น สืบเนื่องจากชาวบ้านให้ข่าวสารมากกว่าเดิม
ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้จะมีการตรึงกำลังเต็มทุกพื้นที่นั้น พล.ต.ต.พิเชษฐ์ กล่าวว่า อยากให้มองอย่างแยกแยะว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้งหมด ส่วนมากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้เป็นเรื่องสวนตัวเสียเยอะ ผสมผสานกับเรื่องยาเสพติด ไม่ได้เกิดจากประเด็นแบ่งแยกดินแดนอย่างเดียว
ผู้ต้องขังติดยาแน่นเรือนจำ
กับสถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ นายอุดม คุ่ยณรา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งผู้เสพและผู้ค้ามีจำนวนเท่าๆ กัน ซึ่งหากเทียบสถิติกับหลายปีก่อน จะพบว่าปีนี้มีสถิติเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะพวกที่เสพใบกระท่อม
“คนทั่วไปจะรับรู้แค่ว่าใบกระท่อมนำไปทำเป็นน้ำสี่คูณร้อย แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว จากการสอบสวนมันมีห้าคูณร้อย หกคูณร้อย จนถึงแปดคูณร้อย มั่วไปหมดเลย ฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วงสังคมมากว่าทำไมถึงเป็นขนาดนี้ได้”
ผู้บัญชาการเรือนจำปัตตานี ให้ข้อมูลต่อไปอีกว่า กลุ่มผู้ต้องขังคดียาเสพติดส่วนใหญ่ล้วนเป็นวัยรุ่นและกลุ่มเยาวชน
“อายุของผู้ต้องขังกลุ่มนี้จะอยู่ที่ราวๆ 18-20 ปี หรือไม่ก็ 20 เศษๆ ซึ่งถือเป็นช่วงวัยอันตราย และแนวโน้มของปัญหายิ่งบานปลาย เพราะการก่อเหตุร้ายในพื้นที่สามจังหวัดมักมีเรื่องยาเสพติดเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมายาเสพติดอาจดูเหมือนไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลย สุดท้ายอาจเป็นต้นเหตุเลยก็เป็นได้ เพราะหลังๆ แม้แต่เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายครั้งก็มีเรื่องยาเสพติดเข้าไปพัวพัน มีการทำให้เด็กและเยาวชนมึนเมาก่อนก่อเหตุ เพราะยาเสพติดเมื่อเสพเข้าไปแล้วจะทำให้ขาดสติ ทำอะไรลงไปโดยไม่รู้สึกตัว”
“จะเห็นได้ว่าผู้ก่อความไม่สงบบางกลุ่ม บางคนทำไปเพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็จำใจทำ กับอีกกลุ่มทำไปเพราะความสนุกสนาน โดยมีเงินเป็นสิ่งจูงใจ อาจจะอยากได้เงินมากๆ เพื่อไปใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย เสพสุขไปวันๆ” นายอุดม กล่าว
เขาเสนอว่า สิ่งที่รัฐต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนที่สุดคือ ปลุกให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการแก้ไขดูแล เพื่อไม่ให้ปัญหายาเสพติดลุกลามไปมากกว่านี้
ฟันธง “การเมือง” มีเอี่ยว
อีกประเด็นหนึ่งที่พูดกันให้แซ่ดในหมู่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็คือ สถานการณ์รุนแรงที่ดูหนักหน่วงผิดสังเกตในบางช่วง อาจมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ “ศึกใหญ่-เดิมพันสูง” กำลังใกล้เข้ามา
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งดูแลงานด้านวิเคราะห์สถิติเหตุรุนแรง ฟันธงว่า จากประสบการณ์ที่เฝ้าสังเกตการณ์มาหลายปี ชัดเจนว่าเหตุรุนแรงบางช่วงในพื้นที่มีเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องต้นปี 2553
“สถานการณ์ช่วงปลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างแปลก เหตุรุนแรงเกิดถี่ขึ้นกว่าในอดีตมาก แม้สถิติโดยรวมทั้งปีจะน้อยกว่าปีก่อนๆ แต่ช่วงปลายปีถือว่าพุ่งสูง เราในฐานะคนทำงานก็พอมองออกว่าอะไรคืออะไร อีกอย่างหลายเหตุการณ์ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนมีน้อยมากที่จะพบการก่อเหตุที่ไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ แต่ปีนี้เยอะเป็นพิเศษ จึงต้องนำตัวเลขไปรวมเป็นคดีความมั่นคงเอาไว้ก่อน ทั้งๆ ที่โดยสามัญสำนึกรู้ว่าไม่ใช่แน่ๆ”
สอดรับกับแหล่งข่าวฝ่ายสีกากีที่มองว่า เหตุร้ายเกิดถี่ขึ้นในช่วงที่มีการจุดกระแสเกี่ยวกับข้อเสนอการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ทำให้น่าคิดว่าอาจมีบางฝ่ายได้รับประโยชน์จากข้อเสนอดังกล่าวนี้
ระวังปฏิบัติการข่าวลือ
ส่วนการโหมประโคมข่าวลือของบางฝ่ายว่าจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นช่วงปีใหม่ แต่ผ่านมาแล้ว 3 วันก็ยังไม่มีอะไรในกอไผ่นั้น มีเสียงจาก "ร้านน้ำชา" ในหลายพื้นที่เห็นตรงกันว่า การปล่อยข่าวช่วงที่ผ่านมาว่าจะก่อเหตุรุนแรงช่วงปีใหม่ เป็นเพียงแผนลวงของกลุ่มก่อความไม่สงบเท่านั้น
“กลุ่มขบวนการมีจิตวิทยาสูง มักใช้การหลอกล่อทั้งเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ที่ผ่านมาก็พยายามแจ้งข่าวลวงด้วยการประกาศบอกเหตุ แต่เมื่อถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ ก็ไม่เกิดขึ้น จะไปเกิดช่วงที่เจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าหรือลาพักสับเปลี่ยนกำลัง ตรงนั้นจะมีโอกาสสูง เพราะฝ่ายที่ก่อเหตุจะได้เปรียบมาก”
สิ่งที่น่ากลัวก็คือ แม้ฝ่ายความมั่นคงจะมีกำลังพลอยู่ในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองไม่น้อยกว่า 60,000 นาย บวกกับกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชนที่จัดตั้งโดยรัฐอีกอย่างน้อยๆ 40,000 คน รวมเป็นกว่า 1 แสนคน ทว่ากลุ่มขบวนการยังสามารถเลือกเป้า เวลา และสถานที่ในการก่อเหตุได้อย่างเสรี
เหตุรุนแรงกว่า 9 จุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 ซึ่งเป็นวันที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกับนายกฯไทย คือตัวอย่างอันดี...
“ฝ่ายขบวนการยังเป็นผู้เลือกเป้าหมาย ส่วนข่าวที่ออกมาเป็นเพียงแผนลวง อย่างครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีการประกาศชัดเจนว่าจะก่อเหตุที่ไหน เวลาเท่าไหร่ บางพื้นที่ถึงกับส่งจดหมายไปยังหน่วยกู้ภัยให้เตรียมตัวไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในวันนั้น เวลานั้น โดยจดหมายส่งทางไปรษณีย์ไปถึงหน่วยกู้ภัย มีรายละเอียดพร้อมว่าจะก่อเหตุกี่จุด เวลากี่โมง แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด เพราะเท่าที่สังเกตมา หากข่าวถูกปล่อยมาจากแหล่งข่าวฝ่ายใต้ดิน เขาจะไม่ก่อเหตุ เพราะรู้ว่าเจ้าหน้าที่คุมเข้ม เขาจะรอให้เจ้าหน้าที่ล้าก่อน จึงจะตัดสินใจโจมตี”
ฉะนั้นแม้ช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะผ่านพ้นมาได้ด้วยดี แต่ถึงที่สุดแล้วอาจเป็นแค่การสงบท่าทีเพื่อรอจังหวะก่อเหตุใหญ่อีกครั้งก็เป็นได้...
ห้ามกระพริบตา!