ปปง.ลุยอายัดทรัพย์หนุนก่อการร้าย กับเสียงครวญจากครูใหญ่อิสลามบูรพา
การตรวจสอบเส้นทางเงินและสกัด "ท่อน้ำเลี้ยง" ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้ปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน บนฐานความเชื่อที่ว่ากลุ่มผู้ก่อการก่อเหตุได้ก็เพราะมีแหล่งทุนสนับสนุน และเงินนั้นบางส่วนน่าจะมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย กับเงินบริจาคจากต่างประเทศผ่านช่องทางการศึกษา!
อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลไกสกัดการฟอกเงินอย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.ค่อนข้างมีปัญหาในตัวเอง กล่าวคือ ไม่มี "เลขาธิการ" ตัวจริง มีแต่ "รักษาการเลขาธิการ" ขณะที่กระบวนการตั้งคณะกรรมการ หรือ "บอร์ด ปปง." ก็มีความล่าช้า และยังมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้ง "คณะกรรมการธุรกรรม" ซึ่งมีอำนาจพิจารณาสั่งยึดอายัดทรัพย์ต้องสงสัยด้วย
เหล่านี้ทำให้การดำเนินมาตรการ "ตัดท่อน้ำเลี้ยงผู้ก่อความไม่สงบ" สะดุดและสงบนิ่งมาหลายปี...
ล่าสุด ปปง.มีเลขาธิการตัวจริง มีบอร์ด และมีคณะกรรมการธุรกรรม องค์กรแห่งนี้จึงเริ่มเดินหน้าปฏิบัติการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
อายัดทรัพย์ 4 คดี "ยาเสพติด-ค้ามนุษย์-ก่อการร้าย"
เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย.2555 พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.ได้แถลงผลการปฏิบัติงานยึดอายัดทรัพย์ชั่วคราวเป้าหมาย 4 รายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวพันทั้งคดียาเสพติด ฟอกเงิน ค้ามนุษย์ และก่อการร้าย ดังนี้
1.คดี นายสุริยันต์ พงศ์มานะวุฒิ กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งที่ ย.50/2555 ลงวันที่ 10 ส.ค.2555 ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 170 รายการ มูลค่ากว่า 16 ล้านบาท ในความผิดฐานฟอกเงิน โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นทองรูปพรรณ ธนบัตรรัฐบาลไทย และธนบัตรรัฐบาลมาเลเซีย
2.คดี นายแสงทิตย์ คติสมสกุล กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งที่ ย.51/2555 ลงวันที่ 10 ส.ค.2555 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 35 รายการ มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในความผิดฐานฟอกเงิน โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และสิทธิเรียกร้องตามสลากออมสิน
3.คดี นางประนอม แปรโคกสูง กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมได้มีคำสั่งที่ ย.57/2555 และ ย.58/2555 ลงวันที่ 23 ส.ค.2555 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 60 รายการ ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพศ และค้ามนุษย์ โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคาร ธนบัตรรัฐบาลไทย อาวุธปืน และสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์
4.คดี นายอุเซ็ง ปุโรง (ผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียนอิสลามบูรพา) กับพวก คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 10/2555 ลงวันที่ 28 ส.ค.2555 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน จำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการก่อการร้าย โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งก็คืออาคารและที่ตั้งโรงเรียนอิสลามบูรพา
ย้อนรอย 3 คดีดัง "ฟอกเงิน"
หากยังจำกันได้ คดีที่ 1 และ 2 นั้น สืบเนื่องจากการตรวจค้นจับกุมร้านทองภู่สุวรรณ ในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ของ นายสุริยันต์ พงศ์มานะวุฒิ และร้านประเสริฐอาภรณ์ เลขที่ 6 ถนนสฤษดิ์วงศ์ ในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ของ นายแสงทิตย์ คติสมสกุล เมื่อเดือน มี.ค.2555 หลังถูกซัดทอดจากขบวนการค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ก่อนหน้านั้นว่านำเงินจากการค้ายาไปฟอกที่ร้านทองกับร้านค้าทั้งสองแห่ง
ส่วนคดีที่ 3 สืบเนื่องจากการที่ตำรวจสงขลานำกำลังเข้าตรวจค้นร้าน 259 ชาลีคาราโอเกะ และชาลีสปา 259 ตั้งอยู่ในซอยหลังโรงแรมโอลิเวอร์ บ้านด่านนอก ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งมี นางประนอม แปรโคกสูง กับพวกที่มีทั้งคนไทยและมาเลเซียร่วมกันเป็นเจ้าของและดูแล เมื่อ 29 ก.ค.2554 สามารถช่วยเหลือหญิงสาวชาวลาวที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ได้ 71 คน โดยย่าน "ด่านนอก" เป็นแหล่งรวมสถานบริการชื่อดังใกล้กับด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย
เปิดปมยึด "อิสลามบูรพา" เหตุศาลพิพากษาคดีระเบิด
คดีที่หลายฝ่ายจับตามากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นคดีอายัดทรัพย์โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือ "ปอเนาะสะปอม" ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ หมู่ 5 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เพราะเพิ่งได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนเมื่อไม่นานมานี้เอง หลังจากถูกสั่งปิดไปนานกว่า 4 ปี
พ.ต.อ.สีหนาท แถลงรายละเอียดเอาไว้ว่า คณะกรรมการธุรกรรมมีมติยึดอายัดทรัพย์สิน นายอุเซ็ง ปุโรง ประธานมูลนิธิอัดดิรอซาตอิสลามียะห์ กับพวกรวม 7 คน เพื่อให้นำหลักฐานเข้าชี้แจงที่มาของทรัพย์สินจำนวน 3 รายการ มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท โดยมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน
คดีนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งข้อมูลให้ ปปง.ตรวจสอบ เนื่องจากวันที่ 2 ก.ค.2550 หน่วยงานความมั่นคงพบว่ามีการใช้โรงเรียนเป็นสถานที่สนับสนุนการก่อการร้าย มีผู้นำระเบิดไปวางในสวนยางพาราสร้างความเสียหาย เจ้าหน้าที่จึงติดตามร่องรอยและเข้าปิดล้อมตรวจค้นโรงเรียน กระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 7 คน โดยผู้ต้องหารายหนึ่งได้เคยก่อเหตุลอบวางระเบิดถึง 17 ครั้ง และลอบวางเพลิงอีกกว่า 10 ครั้ง ซี่งคนร้ายใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ประกอบวัตถุระเบิด
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2550 ทางราชการจึงมีคำสั่งถอนใบอนุญาตและปิดโรงเรียนอิสลามบูรพา แต่ภายหลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ
อายัดที่ดินแต่ยังเปิดสอนได้ – จับตาอีก 3 ปอเนาะ
"บอร์ด ปปง.มีมติยึดที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน แต่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ยอมรับว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน ปปง.จึงต้องขอความเห็นใจจากประชาชนทั่วประเทศ เราไม่ได้ห้ามการเรียนการสอน แต่อย่าใช้สถานที่สอนในการก่อการร้าย หรือสนับสนุนการก่อการร้าย" พ.ต.อ.สีหนาท ระบุ
เลขาธิการ ปปง.กล่าวอีกว่า หาก ปปง.ตรวจพบหรือมีการประสานจากหน่วยงานความมั่นคงให้เข้าไปตรวจ ก็ต้องดำเนินการ ขณะนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้หลายคดี โดยมีโรงเรียนปอเนาะอีก 2-3 แห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะสนับสนุนการก่อการร้ายเช่นกัน
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ปปง.กำลังตรวจสอบเส้นทางเงินจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินที่โอนมาจากประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาและมนุษยธรรมในรูปแบบมูลนิธิและองค์กรต่างๆ โดยส่งผ่านให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา แต่มีบางส่วนถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบว่าในแต่ละกิจกรรมใช้เงินเท่าไร นอกจากนั้นยังมีการนำเงินไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ซื้อที่ดินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่ว่าถูกใช้ฝึกก่อการร้ายหรือไม่
เคราะห์ซ้ำ "อิสลามบูรพา" กับเสียงครวญจากครูใหญ่
โรงเรียนอิสลามบูรพา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ปอเนาะสะปอม" ถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.2550 ภายหลังฝ่ายความมั่นคงได้เข้าตรวจค้นภายในโรงเรียนเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ปีเดียวกัน และสามารถจับกุมผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 7 คน พร้อมด้วยของกลางวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง และอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากจากบ้านร้างซึ่งตั้งอยู่ในเขตโรงเรียน
หนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้คือ นายมะนาเซ ยา แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่อวงจรระเบิด และยังเป็นครูฝึกให้กับแนวร่วมรุ่นใหม่
ผลของการตรวจค้นจับกุม ทำให้มีการให้ข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางรายว่า โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นศูนย์กลางผลิตระเบิดแสวงเครื่องเพื่อส่งกระจายไปก่อเหตุในเกือบทุกพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเสนอเรื่องให้ นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น ลงนามในคำสั่งถอนใบอนุญาตมูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ และปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนอิสลามบูรพาตั้งแต่บัดนั้น
4 ปีต่อมา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. และได้ผลักดันให้โรงเรียนอิสลามบูรพาได้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง เพราะเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ทั้งยังเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสั่งปิด ขณะที่อีกหลายโรงเรียนเคยถูกตรวจค้นจับกุมเช่นกัน แต่ยังคงเปิดการเรียนการสอนต่อไปได้
ความพยายามของ พ.ต.อ.ทวี ประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2554 เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1 ได้มีหนังสือเลขที่ นธ.0052/2554 อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนโรงเรียนอิสลามบูรพา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาส เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายมะนาเซ ยา, นายมามะคอยรี สือแม, นายแวอัสมิง แวมะ, นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา, นายมะฟารีส บือราเฮง, นายรุสลี ดอเลาะ และนายฮารง หรือ อารง บาเกาะ เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ความผิดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาวุธปืนฯ และความผิดต่อพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม จากการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมภายในโรงเรียนอิสลามบูรพา เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2550
ศาลพิพากษาในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายและเป็นซ่องโจร ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1, 3-5 และ 7 ส่วนจำเลยที่ 6 จำคุก 27 ปี ขณะที่จำเลยที่ 2 คือ นายมามะคอยรี สือแม (หรือ สือแบ) หลบหนีระหว่างต่อสู้คดี และไปถูกจับกุมพร้อมของกลางวัตถุระเบิดกับอุปกรณ์ประกอบระเบิดล็อตใหญ่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายปี 2552 คดีเพิ่งยกฟ้องไปเมื่อ 22 พ.ค.2555
นางสาวซูใบดะห์ ดอเลาะ ครูใหญ่โรงเรียนอิสลามบูรพา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ก่อนที่เลขาธิการ ปปง.จะเปิดแถลงข่าวเพียงไม่กี่วันว่า แม้โรงเรียนจะได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ก็เป็นช่วงกลางเทอม จึงสามารถเปิดได้จริงเมื่อภาคการศึกษาแรกของปี 2555 คือเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง โดยขณะนี้มีนักเรียนทั้งหมด 163 คน ครู 32 คน เบื้องต้นเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 เท่านั้น ในปีหน้าจึงจะขยายถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
"การเรียนการสอนของเราได้เตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเน้นหนักให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษและภาษาบาฮาซา (ใช้ในอินโดนีเซียและมาเลเซีย) เพื่อให้เด็กสามารถพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษและบาฮาซาให้ได้ เพราะนราธิวาสอยู่ใกล้เขตแดนไทย-มาเลเซียที่สุด คนที่นี่ใช้ภาษาบาฮาซาสื่อสารกันอยู่แล้ว ทุกคนมีต้นทุนในวิชาบาฮาซา แต่เป็นการพูดบาฮาซาสำเนียงกลันตัน ทางโรงเรียนสอนเพิ่มเติมให้สามารถพูดได้ในสำเนียงกลางที่ใช้เป็นภาษาทางการของอินโดฯและมาเลย์"
แม้จะเดินหน้าพัฒนาระบบการเรียนการสอนรองรับประชาคมอาเซียน แต่ล่าสุดโรงเรียนอิสลามบูรพากลับต้องเจอวิบากกรรมซ้ำจากมาตรการอายัดทรัพย์ชั่วคราวของ ปปง.
"เรายังไม่รู้อะไรเลย แต่ที่ผ่านมาก็มีสื่อมวลชนและทหารมาสอบถาม ก็ยังงงๆ ว่าโดนอะไร เพราะไม่เคยมีเจ้าหน้าที่จาก ปปง.มาแจ้งอะไร แต่กลับมีคนมาถาม เช่นเดียวกับเรื่องผู้ต้องหาคดีระเบิดที่ถูกจับในมาเลย์ได้รับการปล่อยตัว เราก็ไม่รู้เรื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้คิดอะไรมากแล้ว ใครจะพูดถึงโรงเรียนของเราอย่างไรก็รู้สึกเฉยๆ เพราะชินแล้ว"
เป็นเสียงเปรยระคนท้อของซูใบดะห์ กับการเผชิญบททดสอบครั้งสำคัญอีกครั้งของโรงเรียนอิสลามบูรพา!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1 และ 2 โรงเรียนอิสลามบูรพาในปัจจุบันที่เปิดการเรียนการสอนแล้ว (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
* หมายเหตุ : ไพศาล เสาเกลียว เป็นผู้สื่อข่าวสายความมั่นคง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ