กมธ.วุฒิฯเดินหน้าจัดทดสอบ "จีที 200" ทหารยังเชื่อมั่นหิ้วขึ้น ฮ.หาระเบิดทางอากาศ
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ได้สรุปผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของ "เครื่องตรวจร่องรอยสสารระยะไกล" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "เครื่องตรวจระเบิด จีที 200" แล้ว โดยจะให้หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง เป็นผู้จัดทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือชนิดนี้อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการฯได้เชิญผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาร่วมให้ข้อมูล ภายหลังจากเครื่อง จีที 200 แสดงผลผิดพลาดอย่างน้อย 2 ครั้งในการตรวจหาวัตถุระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และในตลาดสดกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน จนเกิดระเบิดขึ้นและก่อความสูญเสียตามมา
โดยผู้ที่เคยเข้าให้ข้อมูล อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้แทนจากหน่วยเฉพาะกิจอโณทัย (ฉก.อโณทัย) ซึ่งเป็นหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดของทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนจากกรมสรรพาวุธ และนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชื่อดัง
ล่าสุดคณะกรรมาธิการฯได้ประชุมพิจารณาข้อมูลจากคำชี้แจงของทุกฝ่าย สรุปได้ว่า
1. ควรมีหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความเป็นกลาง เป็นผู้ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ จีที 200
2. ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการหาแนวทางเพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากการใช้เครื่อง โดยเฉพาะเรื่อง False Postive (ไม่มีสสารที่ต้องการค้นหา แต่เครื่องแสดงผลว่ามี) และ False Negative (มีสสารที่ต้องการค้นหา แต่เครื่องแสดงผลว่าไม่มี) เพราะส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิตและเสรีภาพของประชาชน
ในการนี้ คณะกรรมาธิการฯได้ทำหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ รมน.) ขอให้มีคำสั่งให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) เป็นผู้จัดทดสอบประสิทธิภาพของเครื่อง จีที 200 ว่าเป็นไปตามที่บริษัทผู้จำหน่ายกล่าวอ้างหรือไม่ และขอให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงสำนักงบประมาณร่วมสังเกตการณ์การทดสอบดังกล่าวด้วย โดยกำหนดผู้เข้าร่วมเบื้องต้นคือ
- สวทช. ในฐานะผู้จัดให้มีการทดสอบ
- ผู้แทนจากกรมสรรพาวุธทั้งของทหารและตำรวจ
- เจ้าหน้าที่ผู้ใช้เครื่องมือชนิดนี้
- นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
- ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ
- พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ
พร้อมกันนี้ ในการทดสอบ หน่วยงานที่ใช้เครื่อง จีที 200 จะต้องมอบตัวเครื่องที่ใช้งานจริง พร้อมการ์ดที่ใช้ในการค้นหาสสารให้ สวทช เพื่อนำไปตรวจสอบองค์ประกอบภายในด้วย
ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการติดตามและประเมินผลด้านการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการสื่อสารเพื่อปรับกระบวนทัศน์การอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี วุฒิสภา ได้เตรียมข้อมูลเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ร่วมเป็นอนุกรรมาธิการฯ ยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีในช่วงเปิดประชุมรัฐสภาสมัยหน้า (ปลายเดือน ม.ค.2553) เกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะยังพบกรณีที่ประชาชนไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง
ข้อมูลที่เตรียมยื่นกระทู้ถามนายกฯ มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับ จีที 200 ระบุว่า ปัจจุบันยังมีบางกรณีที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รายงานเฉพาะข้อมูลที่เป็นเชิงบวกต่อฝ่ายการเมืองและรัฐบาล ในขณะที่ยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่รายงานความจริงทั้งหมด ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถมองเห็นปัญหาหรืออุปสรรคในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งข้อมูลความจริงของประชาชนยังแตกต่างจากข้อมูลของภาครัฐ ทำให้รู้สึกไม่เชื่อมั่นและส่งผลต่อความร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กรณีการใช้เครื่อง จีที 200 ในการตรวจหาวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ด้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ มีรายงานว่าหน่วยงานความมั่นคงยังคงเดินหน้าใช้เครื่อง จีที 200 อย่างมั่นอกมั่นใจต่อไป โดยล่าสุดยังนำเครื่องมือดังกล่าวติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ แล้วนำเครื่องขึ้นบินทุกวันเพื่อตรวจหาวัตถุระเบิดทางอากาศด้วย
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า เครื่อง จีที 200 ที่นำไปติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์นั้น เป็นเครื่องชนิดเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ใช้เดินถือเพื่อค้นหาสารประกอบระเบิดบนภาคพื้นดิน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่รายนี้ไม่ยอมตอบคำถามว่า เมื่อนำเครื่องไปติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์โดยไม่เดินถือ แล้วเครื่องจะใช้ไฟฟ้าสถิตย์จากร่างกายของมนุษย์ในการค้นหาสสารที่ต้องการได้อย่างไร แต่ยอมรับว่ายังไม่เคยตรวจเจอวัตถุระเบิดจากการนำเครื่องจีที 200 ขึ้นไปตรวจบนอากาศ
อนึ่ง จากเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องจีที 20 ระบุว่า การทำงานของเครื่องมือนี้ไม่ใช้แบตเตอรี่ แต่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าสถิตย์ ใช้หลักพื้นฐานการดึงดูดของสนามแม่เหล็ก ชี้บอกทิศทาง (ตำแหน่ง) ของสารที่ได้กำหนดค่าไว้ในเซนเซอร์การ์ด การตรวจจับผ่านทะลุพื้นผิวแต่ละชนิดและผสมหลายชนิด เช่น พื้นดิน น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง คอนกรีต โลหะ ตะกั่ว ยานพาหนะ เรือ อากาศยาน สิ่งปลูกสร้าง ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นการตรวจจับได้ สามารถตรวจค้นหาทางภาคพื้น พื้นที่เปิดโล่ง 700 เมตร มีสิ่งปลูกสร้างหนาแน่น 200 เมตร ในบริเวณป่าเขา 600 เมตร สามารถตรวจค้นหาทางทะเลชายฝั่ง 850 เมตร บริเวณท่าเรือเปิดโล่ง 750 เมตร ท่าเรือมีเรือหนาแน่น 100 เมตร สามารถตรวจค้นหาทางอากาศโดยขึ้นไปบนเฮลิคอปเคอร์ 4,000 เมตร (เท่ากับ 4 กิโลเมตร) ความลึกในการตรวจค้นหาใต้น้ำลึก 500 เมตร ใต้พื้นดินลึก 60 เมตร
ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่เครื่องจีที 200 แสดงผลพลาดจนเกิดระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก และตลาดสดกลางเมืองยะลา ฝ่ายความมั่นคงโดยกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหาสาเหตุความผิดพลาด และสรุปว่าความผิดพลาดเกิดจากตัวผู้ใช้ที่ไม่มีความพร้อมพอ เช่น ฝึกอบรมมาไม่ดีพอ ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ หรือร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย ส่งผลต่อไฟฟ้าสถิตย์ในร่างกายที่จะทำปฏิกิริยากับเครื่องมือ
--------------------------------------------
อ่านประกอบ จีที 200...ทหารยังมั่นใจเต็มร้อย ท้าพิสูจน์ทุกเวที
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=45:-200--&catid=12:2009-11-15-11-15-38
(ท้ายงานเขียนชิ้นมีลิงค์รวมบทความเกี่ยวกับ จีที 200 ในเว็บอิศรา รวม 7 ตอน)