เมื่อฟิลิปปินส์เร่งเครื่องรับประชาคมอาเซียน (3) ย้อนอดีต"ภาวะฉุกเฉิน"ระบอบมาร์คอส
คมวาทะ..."มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยภายหลังระบอบการปกครองแบบเผด็จการ และการเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในตัวของมันเองก็มีปัญหา อีกทั้งเราก็กำลังเกี่ยวข้องอยู่กับระบอบทหารอันแข็งแกร่ง ซึ่งมันเสื่อมเสียมาตั้งแต่ในระหว่างการปกครองแบบเผด็จการของมาร์คอส" - ประธานาธิบดีคอราซอน อากิโน
"It was not an easy thing restoring democracy after a dictatorship. Also being the first woman president certainly had its problems and then we were dealing with a very strong military that were spoiled during the Marcos dictatorship." - President Corazon C. Aquino
"มหามิตร" ท่ามกลางการฉ้อรัฐและลิดรอนสิทธิมนุษยชน
แม้จะได้ "สัญญาตริโปลี" ไปแล้ว แต่การประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ 22 ก.ย. 1972 (พ.ศ.2515) สร้างความแตกแยกในสังคม รวมทั้งเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในปี 1977 (พ.ศ. 2520) จิมมี่ คาร์เตอร์ กวีและนักสิทธิมนุษยชนจากพรรคเดโมแครตได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐอเมริกา และดำรงตำแหน่งอยู่จนถึง 20 ม.ค.1981 (พ.ศ.2524)
ว่ากันว่า คาร์เตอร์เองเป็นคนบีบให้มาร์คอสรีบจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว คาร์เตอร์พุ่งเป้าไปที่ฟิลิปปินส์ในฐานะประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงการปกครองของมาร์คอส และการประกาศภาวะฉุกเฉิน มาร์คอสยื้อจนถึงที่สุดจนกระทั่งก่อนคาร์เตอร์พ้นตำแหน่งเพียง 3 วัน มาร์คอสจึงสั่งยกเลิกภาวะฉุกเฉินเมื่อ 17 ม.ค.1981 (พ.ศ.2524) แต่ยังคงภาวะฉุกเฉินไว้ในมินดาเนาตะวันตกและมินดาเนากลาง อันเป็นพื้นที่ของพวกโมโรมุสลิม ฟิลิปปิโนคริสตัง และชนเผ่าลูมัดดั้งเดิมต่อไปอีก [1]
การยกเว้นมินดาเนาในกรณีคงภาวะฉุกเฉินไว้อีกของมาร์คอส กลายเป็นข้อกังขาในแง่การเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในความรู้สึกของนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาอ้างคล้ายกับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ หลักการ Habeas Corpus ซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ว่า "คนทุกคนมีเสรีภาพที่จะไม่ถูกคุมขังตามอำเภอใจ" (Freedom from Arbitration Detention) อันเป็นมาตรการสำคัญในการคุ้มครองตัวผู้ถูกควบคุม/คุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย [2]
หลักการของ Habeas Corpus นี้ปรากฎอยู่ในข้อ 9 ของ "กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางแพ่ง ค.ศ.1966 (พ.ศ.2509)" เช่นในข้อ 9 ข้อย่อยที่ 1 ที่ว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้..." และข้อย่อย 4 ที่ว่า "บุคคลใดที่ถูกลิดรอนเสรีภาพโดยการจับกุมหรือการควบคุม มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล...และหากการควบคุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวไป"
การประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินของมาร์คอสจึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการตกแต่งแบบผักชีโรยหน้าเพื่อเตรียมต้อนรับ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งกำลังจะเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ ในฐานะที่เป็นประเทศคริสตังประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระนั้นก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า ทั้งๆ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉิน ตัวเลขระบุว่าระหว่าง ค.ศ.1972-1983 (พ.ศ. 2515–2526) รัฐบาลสหรัฐก็ยังให้เงินช่วยเหลือแก่ "ระบอบมาร์คอส" (Marcos Regime) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และอีกราว 5.5 พันล้านเหรียญผ่านสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) เป็นต้น
ในปี 1980 (พ.ศ. 2523) อดีตดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด นายโรนัลด์ รีแกน จากพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่แทน จิมมี่ คาร์เตอร์ ซึ่งหมดวาระลง โดยมี นายยอร์ช เฮช ดับลิว บุช (บุชผู้พ่อ) ได้เป็นรองประธานาธิบดี จึงไม่แปลกที่รองประธานาธิบดีแห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐ และเป็นผู้เปิดฉากสงครามอ่าวเพื่อยึดครองอิรักตั้งแต่ปี 1990 (พ.ศ.2533) เป็นต้นมา จะเป็นเจ้าของ "คำคม" ที่ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งมาร์คอส...แม้ว่ามาร์คอสจะปกครองประเทศภายใต้ภาวะฉุกเฉินไปกี่ปีๆ ก็ตาม
กำจัดศัตรูทางการเมือง
กล่าวโดยสรุป รัฐบาลของเฟอร์ดินันด์ มาร์คอส ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น ถึงกระนั้นเขาก็ยืนยงผ่านการเลือกตั้งมาได้ถึง 2 สมัย ซึ่งแน่นอนเป็นการเลือกตั้งที่หาความบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นไม่มี
นักวิเคราะห์มองว่าปัญหาของมาร์คอสที่แท้จริงมาจากเขาต้องการครองอำนาจอีกเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ความทะเยอทะยานของเขาก็ไม่สิ้นสุด มาร์คอสตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ 22 ก.ย.1972 (พ.ศ.2515) เขาประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญเครือรัฐ" (the Commonwealth Constitution) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) ไม่ต้องสงสัยว่าวิถีการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยต้องถูกล้มเลิกไป ตามด้วยการติดตามจับกุมนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามจำนวนมาก รวมทั้ง เบนิกโน 'นินอย' อากิโน จูเนียร์ วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านในรัฐสภา ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์มาร์คอสอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนมาตลอด
'นินอย' ถูกคุมขังอยู่ในคุกและต่อมาถูกตัดสินประหารชีวิต เดชะบุญที่ จิมมี่ คาร์เตอร์ กวีและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ใช้ความเป็น "พี่เบิ้ม" เข้าแทรกแซงช่วยให้ 'นินอย' ได้รับการปล่อยตัว รวมเวลาที่ 'นินอย' อยู่ในคุกจนกระทั่งคืนสู่อิสรภาพในปี 1980 (พ.ศ.2523) เป็นเวลา 7 ปี
หลังถูกปล่อยตัวในปีนั้นเอง 'นินอย' อากิโน ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจ พาครอบครัวลี้ภัยไปพักพิงที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้พักรักษาตัวด้วยการใช้ชีวิตที่นี่นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสำหรับครอบครัวอากิโนมากที่สุด แต่ชั่วเวลาเพียง 3 ปีหลังจากนี้ เมื่อ 21 ส.ค.1983 (พ.ศ.2526) 'นินอย' ก็ตัดสินใจเดินทางกลับฟิลิปปินส์เพียงลำพังคนเดียว
เมื่อเครื่องบินที่ 'นินอย' โดยสารลงจอดที่สนามบินนานาชาติมะนิลา เขาก้าวลงขั้นบันไดเครื่องทีละก้าวๆ ทันใดนั้นกระสุนหลายนัดก็ถูกสาดไปที่ร่างของเขา 'นินอย' ทรุดฮวบลงต่อหน้าต่อตาผู้มาต้อนรับ รวมทั้งผู้สื่อข่าวทั้งบนเครื่องและข้างล่างและประชาชนที่มารอต้อนรับ [3]
ภรรยาของเขา - นางคอราซอน อากิโน "หญิงแม่บ้านธรรมดา" ซึ่งยังอยู่สหรัฐ เดินทางกลับมาในอีก 2-3 วันต่อมา เธอก้าวไปอยู่แถวหน้าขบวนซึ่งประชาชนนับล้านคนร่วมขบวนแห่ศพ 'นินอย' ไปตามท้องถนนด้วยความเศร้าสลดและโกรธแค้น
มาร์คอสยังใช้วิธีนอกกฎหมายแม้แต่ในต่างแดน เมื่อทั้งโลกต้องตกตะลึงกับภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ในปี 1981 (พ.ศ 2524) นั่นคือมีชาวฟิลิปปิโนนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานคนหนึ่งที่ต่อต้านมาร์คอส "ถูกฆ่าตาย" ณ บริเวณนอก "หอประชุมสหภาพ" (Union Hall) ประจำเมืองซีแอตเติล แต่ซีไอเอกลับโดดเข้าขวางไม่ให้เอฟบีไอสอบสวน "คนของมาร์คอส" (Marcos agent)
ก่อนหน้านี้รายงานของสภาสูงสหรัฐปี 1979 (พ.ศ 2522) ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ตั้งแต่ปี 1973 (พ.ศ 2516) เป็นต้นมา มาร์คอสได้ส่ง "คน" ของตนไปติดตามรังควานชาวฟิลิปปิโน "หัวรุนแรง" ถึงในสหรัฐ การ "ทำตัว" ของมาร์คอสเยี่ยงนี้เป็นเรื่องร้ายแรง เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายของอีกประเทศหนึ่งโดยตรง
เลือกตั้งสกปรก
อย่างไรก็ตาม เมื่อ 7 เม.ย.1978 (พ.ศ. 2521) มาร์คอสได้จัดให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกนับตั้งแต่ประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นการเลือกตั้ง "สภาบาตาซัง ปัมบันซา" หรือสภาแห่งชาติ (National Assembly) เพื่อแทน "สภาบาตาซัง ปัมบันซา ชั่วคราว" (The Interim Batasang Pambansa) ผลปรากฏว่า "พรรคขบวนการสังคมใหม่" (The Kilusang Bagong Lipunan) หรือ New Society Movement ของมาร์คอส นำโดย นางอีเมลด้า มาร์คอส สตรีหมายเลข 1 ชนะการเลือกตั้งชนิดขาดลอย สามารถคว้าที่นั่งได้ถึง 151 ที่นั่งจากทั้งหมด 165 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งนี้ประกาศโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งอยู่ภายใต้เงาเงื้อมของรัฐบาล
นางคอราซอน อากิโน ซึ่งนำพรรคลาบาน (Laban) เข้าชิงชัยไม่ชนะแม้แต่ที่นั่งเดียว มีเพียงพรรคการเมืองท้องถิ่นเพียง 2 พรรคคือ พรรคปูชน บิซายา (Pusyon Bisaya) ของ นายฟรานชิสโก ตาตัด ได้รับเลือกตั้ง 13 ที่นั่ง ส่วนอีกหนึ่งที่นั่งเป็นของพรรคพันธมิตรมินดาเนา (Mindanao Alliance) ของ "ลูกที่" มินดาเนาเอง
ในสายตาของประชาชนและโดยเฉพาะพรรคลาบานของนางคอราซอน อากิโนแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการ "ต้มตุ๋นครั้งมโหฬาร" (massive cheating) ของทางฝ่ายมาร์คอส
อำนาจและการท้าทาย
เสียงแสดงความไม่พอใจระบอบมาร์คอสหนาหูไปทั่วทุกหย่อมหญ้า มาร์คอสลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในรอบ 12 ปี เมื่อ 16 มิ.ย.1981 (พ.ศ.2524) หลังยกเลิกภาวะฉุกเฉินได้ 6 เดือน ผลเป็นอย่างที่คาด มาร์คอสชนะอย่างถล่มทลาย เขาได้เป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์สมัยที่ 3 สมใจ แม้จะไม่น่าพึงใจ ด้วยว่าบรรดาพรรคตรงกันข้ามใหญ่ๆ อันได้แก่ พรรคยูนิโด หรือพรรคแนวร่วมชาตินิยมประชาธิปไตย (The United Nationalists Democratic Organizations - UNIDO) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคลาบาน (Laban) ของนางอากิโน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง
แต่แล้วในวันที่ 13 ส.ค.1985 (พ.ศ. 2528) นั่นเอง มาร์คอสเผชิญกับการท้าทายของสมาชิกรัฐสภาครั้งรุนแรง เมื่อสมาชิกรัฐสภา 56 คน รวมตัวเสนอให้ถอดถอน (impeachment) ประธานาธิบดีมาร์คอสออกจากตำแหน่ง ในข้อหาเบียดบังเงินช่วยเหลือของสหรัฐไปใช้เป็นส่วนตัว
หนังสือพิมพ์ซานโฮเซ เมอร์คิวรี ฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในเดือน ก.ค.1985 (พ.ศ. 2528) ประโคมข่าวการที่มาร์คอสทุ่มเงินนับร้อยล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาไปกับกิจการอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งได้เปิดเผยรายชื่อกิจการของครอบครัวมาร์คอสอื่นๆ ในสหรัฐ อาทิ เป็นเจ้าของอาคารคราวน์ บิลดิ้ง, ลินเดนเมียร์ เอสเตท และอพาร์ทเม้นท์จำนวนหนึ่งทั้งในรัฐนิวเจอร์ซีและนิวยอร์ค นอกจากนี้ครอบครัวมาร์คอสเป็นเจ้าของศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค บ้านพักหรูในกรุงลอนดอน โรม และโฮโนลูลู, เฮเลน คนุทเซน เอสเตทในฮาวาย และคอนโดมีเนียม 3 แห่งในซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนับเนื่องทรัพย์สินของมาร์คอสและสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งที่ร่วมกับเพื่อนบางคน ก็อาจสรุปได้ตามรายงานของ "องค์กรความโปร่งใสโลก" (Global Transparency Report) เมื่อปี 2004 (พ.ศ.2547) ที่ระบุว่า มาร์คอสเป็นคนที่ 2 ถัดจากอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียที่ "มั่งคั่ง" ด้วยสินทรัพย์จำนวนมหาศาล ซึ่งมีมูลค่าในราวๆ 5-10 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 150,000 – 300,000 ล้านบาท) ในระหว่างที่เขาเถลิงอำนาจ 20 ปีเศษ
------------------------------(โปรดอ่านต่อตอนที่ 4)-----------------------------
บรรยายภาพ :
1 วุฒิสมาชิกเบนิกโน 'นินอย' อากิโน จูเนียร์
2 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งกวีและนักสิทธิมนุษยชน
3 เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส ประธานาธิบดีคนที่ 10 สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
---------------------------------------------------
เชิงอรรถ :
[1] ในมินดาเนา ทั้งคนมุสลิม คริสต์และชนเผ่าลูมัดหรือลูมาดดั้งเดิมเรียกรวมกันว่า พวกโมโร (Moro) หรือบังซาโมโร (Bangsamoro/ชนชาติโมโร) ข้อเขียนช่วงนี้เก็บความส่วนใหญ่จาก http://en.wikipedia.org/wiki/Ferdinand_Marcos; Retrieved: 14/08/2012 และ http://en.wikipedia.org/wiki/Corazon_Aquino Retrieved: 12/08/2012
[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการ Habeas Corpus ได้จาก คณิต ณ นคร, ศาสตราจารย์ คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พิมพ์ครั้งที่ 7, สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2554, หน้า 387-393
[3] ผู้สนใจสามารถชมคลิปวิดิโอเหตุการณ์ตอนนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=1vADEDZpetY&feature=related และ http://www.youtube.com/watch?v=PCXvBW-ZruM สำหรับท่านที่สนใจประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของฟิลิปปินส์สามารถติดตามชมสารคดีเชิงข่าวชุด The Last Journey of NINOY ได้จาก
1. http://www.youtube.com/watch?v=Gc2cFfAYrjY&feature=relmfu
2. http://www.youtube.com/watch?v=dfd4IKdVl3w&feature=relmfu
3. http://www.youtube.com/watch?v=66gpsDBmhUY&feature=relmfu
4. ดูไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์