บุกพิสูจน์ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ไขข้อข้องใจ “ซ้อม-ทรมาน” ผู้ถูกเชิญตัว
สุเมธ ปานเพชร
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“บ่อทอง เขาตูม มาเลย์ กุโบร์...” เป็นคำพูดล้อเลียนแกมประชดประชันอันเจ็บแสบยิ่งของพี่น้องมุสลิมในอดีตเวลาถูกถามว่าวัยรุ่นในพื้นที่หายหน้าไปไหนกันหมด เพราะนัยแห่งความหมายของมันก็คือ ถ้าไม่ถูกจับ ก็หนีไปมาเลย์ หรือไม่อย่างนั้นก็อยู่ในสุสาน
คำว่า “บ่อทอง” หมายถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี “เขาตูม” หมายถึงค่ายสิรินธร ตั้งอยู่ที่ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี รอยต่อ อ.เมือง จ.ยะลา ส่วน “มาเลย์” หมายถึงประเทศมาเลเซีย และ “กุโบร์” หมายถึงสุสาน หรือที่ฝังศพของชาวมุสลิม
ประโยคประชดประชันดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อนภาพปฏิบัติการทางทหารของรัฐในอดีตที่ถูกมองว่าเกินขอบเขตและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการจับกุม คุมขัง ซ้อมทรมาน และวิสามัญฆาตกรรม โดยเฉพาะการซ้อมทรมาน เป็นดั่งคมหอกที่ทิ่มตำฝ่ายความมั่นคง และเป็นประเด็นอ่อนไหวของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกยกขึ้นพิจารณาในเวทีนานาชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
แต่ก็ต้องยอมรับว่าฝ่ายความมั่นคงปรับตัวในเรื่องนี้มากพอสมควร แม้ปัจจุบันข้อร้องเรียนเรื่องการจับกุม คุมขัง และซ้อมทรมาน จะยังมีอยู่บ้าง แต่ก็ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก จุดนี้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เองก็ยอมรับ เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือการจัดตั้ง “ศูนย์ซักถามและควบคุมตัว” ที่ได้มาตรฐานสากล 2 ศูนย์ คือ
1. ศูนย์พิทักษ์สันติ หรือ ศพส. ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ปัจจุบันยกฐานะเป็นกองบัญชาการ ชื่อศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศูนย์พิทักษ์สันติ เป็นศูนย์ซักถามและควบคุมตัวที่ได้มาตรฐานแห่งแรกในพื้นที่ ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2548 ต่อเนื่องปี 2549 เพื่อรองรับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญมา “ซักถาม” ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใหม่มากในเวลานั้น
ศูนย์พิทักษ์สันติ ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศว่าเป็นศูนย์ที่ได้มาตรฐาน และปลอดการซ้อมทรมาน ทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเคยพุ่งเป้าไปที่ “ตำรวจ” ลดน้อยลงอย่างมาก
2. ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ หรือ ศสฉ. เป็นศูนย์ซักถามของทหาร ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทั้งนี้ที่ผ่านมาฝ่ายทหารมีศูนย์ซักถามชั่วคราวหลายแห่ง แต่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงตัดสินใจตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการซักถามผู้ถูกเชิญตัวทั้งหมด
จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่า ในห้วงเวลา 5 เดือน คือตั้งแต่ ต.ค.2551 ถึง มี.ค.2552 (ในยุคที่ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร เป็นแม่ทัพภาคที่ 4) มีการจัดกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายเร่งด่วนตามเหตุการณ์รวมทั้งสิ้น 1,198 เป้าหมาย ควบคุมบุคคลต้องสงสัยได้จำนวน 674 คน แยกเป็นกลุ่มปฏิบัติการ 38 คน แกนนำ/แนวร่วม 80 คน ผู้ต้องสงสัย 546 คน และหลบหนีเข้าเมือง 31 คน
ทั้งนี้ จำนวนบุคคลที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 674 คน หน่วย (ที่จับกุม) ได้ทำการซักถามขั้นต้น บันทึกประวัติ แล้วปล่อยตัวกลับไป 239 คน ส่งให้ สภ. (โรงพัก) ในพื้นที่ จำนวน 31 คน (คดีหลบหนีเข้าเมือง) ส่งต่อให้ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และศูนย์พิทักษ์สันติ จำนวน 404 คน ผลการซักถามสามารถส่งตัวไปดำเนินคดีได้ 63 คน แยกเป็น
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ มียอดผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 267 คน ส่งตัวไปดำเนินคดี 37 คน ยอมรับเป็นอาร์เคเค 7 คน ยอมรับเป็นแนวร่วม 42 คน ส่งตัวกลับภูมิลำเนา 199 คน
ศูนย์พิทักษ์สันติ มียอดผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 167 คน ส่งตัวไปดำเนินคดี 26 คน ยอมรับเป็นอาร์เคเค 13 คน ยอมรับเป็นแกนนำ 2 คน ยอมรับเป็นแนวร่วม 21 คน ส่งตัวกลับภูมิลำเนา 96 คน
นี่คือผลงานของ “ศูนย์ซักถาม” ทั้งสองศูนย์...
อย่างไรก็ดี ศูนย์ที่ดูจะถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เพราะช่วงก่อนจะเปลี่ยนชื่อศูนย์มาเป็นชื่อนี้เมื่อราว 2-3 ปีก่อน เคยมีเรื่องร้องเรียนทำร้ายร่างกายจนเป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว
ที่สำคัญเมื่อเรื่องอื้อฉาวตกเป็นข่าว มักไม่ค่อยมีคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะติดขัดเรื่องระเบียบของทางราชการ ทำให้ภาพของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์พร่าเลือนมาโดยตลอด
แต่ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสไปเยือนและติดตามดูกระบวนการทำงาน รวมทั้งตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกเชิญตัว ภายใน “ศูนย์ซักถาม” ที่ได้รับการจับตาอย่างกว้างขวางแห่งนี้
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ใช้พื้นที่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหารมากพอสมควร เพราะมีอาคารชั้นเดียวเป็นเรือนแถวจำนวนถึง 6 อาคาร แต่ละอาคารมีห้องพัก 10 ห้องสำหรับให้ผู้ถูกเชิญตัวได้พักผ่อน หลับนอน ภายในห้องพักมีเตียงนอน พัดลม และห้องน้ำ ที่สำคัญประตูห้องพักทุกห้องจะไม่มีกลอนประตู ทั้งยังมีปุ่มสัญญาณให้กดเรียกเจ้าหน้าที่ได้ในกรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ผู้ถูกเชิญตัวเกิดเจ็บป่วยอีกด้วย
เมื่อห้องทุกห้องไม่มีกลอนประตู ทำให้ผู้ถูกเชิญตัวหรือผู้ถูกควบคุมตัวสามารถเข้าออกหรือทำกิจกรรมส่วนตัวได้อย่างอิสระ
นอกจากอาคารที่พัก ยังมีศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร อาคารสำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อาคารสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกัน สนามฟุตบอล บาสเกตบอล และตะกร้อ ทำให้ผู้ถูกเชิญตัวเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทั้งศาสนาและสันทนาการ ไม่ตกอยู่ในภาวะเครียด เพียงแค่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่เฉพาะภายในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์เท่านั้น
ผู้ถูกเชิญตัวรายหนึ่งจาก จ.นราธิวาส เล่าให้ฟังว่า อยู่ในศูนย์ฯมา 27 วันแล้ว ก่อนถูกเชิญตัวเขาเรียนจบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อกลับบ้านมาไม่มีงานทำจึงเดินทางไปทำงานที่มาเลเซียเกือบ 2 ปี จากนั้นก็กลับมาอยู่บ้านประมาณเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีเพื่อนชักชวนให้ไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่เคยก่อเหตุร้ายครั้งสำคัญ จึงทำให้ถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวมาอยู่ที่ศูนย์ฯ
"ช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ก็รู้สึกกังวลใจมาก กลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมหรือทรมาน เพราะเคยได้ยินชาวบ้านบอกเล่ากัน ทำให้กลัวมาก แต่อยู่มาหลายวันก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น มีเพียงเจ้าหน้าที่เชิญไปพูดคุยสอบถามโดยไม่ได้ใช้ความรุนแรง จึงรู้สึกสบายใจ และเริ่มไว้ใจที่จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ฟัง”
ผู้ถูกเชิญตัวรายนี้ บอกว่า เจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯให้อิสระเขามาก และได้เรียนรู้เพิ่มพูนทักษะหลายต่อหลายอย่างระหว่างที่ถูกควบคุม
“ผมอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตร เขาก็มีวิทยากรมาสอนให้ อยากเล่นกีฬาก็มีสนามและอุปกรณ์กีฬาให้ ไม่ได้ถูกขังอยู่แต่ภายในห้องอย่างที่เคยเข้าใจ ห้องพักก็ไม่ได้ล็อคประตูหรือใส่กุญแจ จะเข้าออกเมื่อไหร่ก็ได้ อาหารการกินก็มีครบ เครื่องใช้ต่างๆ มีให้หมด แม้กระทั่งสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน เพียงแค่เสื้อผ้าเท่านั้นที่เป็นของผมเอง”
“ที่สำคัญทางศูนย์ฯอนุญาตให้ครอบครัวของผมมาเยี่ยมได้ทุกวัน ทำให้รู้สึกสบายใจ ครอบครัวไม่ต้องกังวลหรือเป็นห่วงว่าผมจะเป็นอยู่อย่างไร ญาติๆ ก็หายห่วง เพราะจากที่เคยได้ยินมามีแต่ความเลวร้าย ถูกซ้อมทรมาน แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เจ้าหน้าที่ทุกคนรวมทั้งหัวหน้าศูนย์ฯให้ความเป็นกันเอง อยู่กันอย่างพี่น้อง บริการทุกอย่างเท่าที่ทางศูนย์ฯพอจะทำให้ได้”
ด้าน พ.อ.ปิยวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เล่าถึงกระบวนการทำงานให้ฟังว่า ผู้ที่ต้องเข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ถูกเชิญตัวมาด้วยหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมาย ฉฉ. ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ในฐานะต้องสงสัยหรืออาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การเชิญตัวบุคคลเป็นหน้าที่หลักของหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ต่างๆ ส่วนศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์มีหน้าที่รับช่วงต่อ คือนำผู้ที่ถูกเชิญตัวเข้าสู่กรรมวิธีสอบถาม พูดคุย และสังเกตพฤติกรรมโดยจะสามารถควบคุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน (ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) หากพบว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวมาน่าจะกระทำความผิดจริง ก็จะนำตัวเข้าสู่กระบวนยุติธรรม แต่หากไม่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้อง ก็จะให้หน่วยเฉพาะกิจมารับตัวกลับไป
“หลังจากรับมอบบุคคลที่ถูกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากหน่วยเฉพาะกิจเจ้าของพื้นที่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ก็จะทำบันทึกขึ้นทะเบียนบุคคลนั้น พร้อมกับจัดห้องพักให้ จากนั้นก็ชี้แจงทำความเข้าใจในระเบียบขั้นตอนต่างๆ ตลอดจนสิทธิของผู้ที่ถูกเชิญตัว อย่างเช่น ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้วันละ 1 ครั้ง แต่ต้องเป็นการเยี่ยมในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ใช่เข้ามาภายในศูนย์ฯ”
“นอกจากนั้นผู้ที่อยู่ในศูนย์ฯยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระเต็มที่ มีการสอนการทำปุ๋ย ทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งการสอนศาสนา โดยจะมีโต๊ะครูหรือผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาจากภายนอกเข้ามาให้ความรู้ รวมไปถึงกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทั้งดูทีวี เล่นกีฬา เรามีให้หมด”
พ.อ.ปิยวัฒน์ เล่าต่อว่า บุคคลที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ฯส่วนใหญ่ช่วง 2-3 วันแรกจะเก็บตัว ไม่ยอมพูดคุย แต่เมื่อเห็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่แตกต่างจากที่ได้รับรู้หรือเคยได้ยินมา ก็จะเริ่มยอมพูดคุยและให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่มากขึ้น ยอมเล่าเรื่องราวในกรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่างๆ จนเป็นเหตุให้ต้องถูกเชิญตัว บางรายบอกเล่ารายละเอียดที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายเจ้าหน้าที่มาก
“ส่วนใหญ่ผู้ที่ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่จะยอมเล่าหรือสารภาพข้อเท็จจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง เช่น ผู้ถูกเชิญตัวรายหนึ่งมีพฤติกรรมเป็นแนวร่วมในพื้นที่ เคยก่อเหตุจำพวกโปรยตะปูเรือใบ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐาน แต่เขาสารภาพ พร้อมให้การที่เป็นประโยชน์ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ก็พร้อมช่วยเหลือด้วยการกันตัวไว้เป็นพยาน หรือร้องขอต่อศาลเพื่อลดหย่อนโทษให้ได้ ในวันนี้ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ฯที่ไม่ได้ก่อคดีอุฉกรรจ์ล้วนให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีเกือบทุกราย”
แต่กระนั้น พ.อ.ปิยวัฒน์ บอกว่า แม้ตัวผู้ที่ถูกเชิญตัวจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ญาติพี่น้องและประชาชนในพื้นที่บางกลุ่ม รวมไปถึงองค์กรภาคประชาสังคม ส่วนใหญ่จะยังไม่เข้าใจการทำงานของศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และมักสร้างความเข้าใจที่ผิดว่า ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ควบคุมตัว และทำการสอบสวนด้วยวิธีการทำร้ายหรือทรมาน ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
“อย่างกรณีล่าสุดซึ่งญาติของผู้ถูกเชิญตัวรายหนึ่งนำเรื่องเข้าร้องขอความเป็นธรรมกับทางอดีต ส.ส.ในพื้นที่ ว่าผู้ถูกเชิญตัวรายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ทำร้าย ทำให้อดีต ส.ส.ท่านนั้นประสานไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบแล้วไม่เป็นความจริงเลย และทางศูนย์ฯก็ได้นำตัวผู้ถูกเชิญตัวออกมาพบญาติเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงระหว่างการถูกควบคุมตัวให้ฟัง”
“สาเหตุที่ญาติของผู้ถูกเชิญตัวต้องไปร้องขอความเป็นธรรมกับอดีต ส.ส. เพราะไม่เข้าใจและไปฟังคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ว่าคนที่ถูกเชิญตัวจะถูกรังแกและถูกทำร้ายด้วยวิธีรุนแรงต่างๆ จนเกิดความกังวลใจ ไม่สบายใจ หลงเชื่อตามคำบอกเล่าที่ได้ฟังมา แต่เมื่อได้รับทราบความจริงภายหลังจากปากของผู้ถูกเชิญตัวเอง ทางญาติจึงเกิดความสบายใจ และขอโทษทางศูนย์ฯด้วย”
“กรณีตัวอย่างที่ผมเล่าเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายๆ กรณีที่เกิดจากความไม่เข้าใจและหลงเชื่อคำพูดของกลุ่มคนที่ไม่ยอมเข้าใจ หรือกลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบที่พยายามจะทำลายศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ โดยการดิสเครดิตปล่อยข่าวเสียหายให้เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการสอบสวนบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ จนทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงได้ข้อมูลสำคัญไปปฏิบัติการทำลายโครงสร้างของกลุ่มความไม่สงบได้มากกว่าในอดีต”
นอกจากการถูกปล่อยข่าวให้ร้ายแล้ว ยังมีอีกบางกรณีที่ พ.อ.ปิยวัฒน์ แสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะการมีบุคคลไปอ้างตัวกับชาวบ้านว่าสามารถช่วยเหลือได้ ไม่ต้องรับสารภาพ
“เราเคยเจอกรณีหนึ่ง ผู้ถูกเชิญตัวเคยก่อคดีอุกฉกรรจ์ ใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต แต่ทางญาติได้ไปพบกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นทนายความสามารถช่วยเหลือได้ และพยายามแนะนำว่าไม่ต้องยอมรับสารภาพ แต่เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่มีข้อมูลหลักฐานครบถ้วนเพื่อยืนยันการกระทำผิดของบุคคลรายนี้ ทำให้ศาลตัดสินลงโทษ ฝ่ายญาติที่ไปหลงเชื่อก็ต้องเสียเงินให้กลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นทนายสามารถช่วยเหลือได้ โดยไปกู้หนี้ยืมสิน เอาที่ดินไปขายไปจำนอง จนครอบครัวต้องเดือดร้อน นี่คืออีกจุดหนึ่งที่ผมอยากเตือนว่าอย่าไปหลงเชื่อ”
“กลุ่มคนที่มีพฤติกรรมอ้างตัวเป็นทนายเหล่านี้ เท่าที่ผมทราบเมื่อแพ้คดีก็ไปอ้างกับทางญาติว่า เหตุที่แพ้เพราะเจ้าหน้าที่รวมหัวกันกลั่นแกล้ง เอาเปรียบรังแกชาวไทยมุสลิม ซึ่งจริงๆ แล้วหากบุคคลใดไม่ได้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ศาลก็จะไม่รับฟ้อง ผมอยากฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชนให้รับรู้ถึงพฤติกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มที่ค่อยเอาเปรียบชาวบ้าน หากหลงเชื่อผลสุดท้ายความเดือดร้อนก็ตกอยู่กับชาวบ้านเอง” พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าว
นับเป็นความจริงอีกมุมหนึ่งซึ่งสังคมไม่ค่อยได้รับรู้ และหากฝ่ายความมั่นคงสามารถขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้หมดไปได้อย่างเด็ดขาด ประโยคประชดประชันที่ว่า "บ่อทอง เขาตูม มาเลย์ กุโบร์" ก็จะกลายเป็นอดีตที่เลือนหายไปกับกาลเวลา...