สำรวจความรู้สึก "อีโอดี" ชายแดนใต้... ไม่สนป้ายข้อความท้าทาย-ยั่วยุ
เดินดีๆ ดึงดีๆ เดี๋ยวเจอดี, ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ใต้ถนน...?, ใครมาก่อนได้ก่อน ลด แลก แจก แถม แขนขาเทียมมีเป็นเบือ แต่ของแท้...?, ลืมพี่นพดลแล้วหรือ, ยินดีต้อนรับหน่วยเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด EOD, บอมบ์สูทของแท้หรือเปล่า? ฯลฯ
เป็นข้อความที่เขียนบนป้ายผ้าบ้าง กระดาษลูกฟูกบ้าง ทั้งแขวนทั้งปักเอาไว้ปะปนกับธงชาติมาเลเซียและวัตถุต้องสงสัยเกือบ 300 จุด เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา...ข้อความเกือบทั้งหมดชัดเจนว่าต้องการส่งสารถึงเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ที่ปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งท้าทาย ยั่วยุ และเย้ยหยัน
ความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ที่ได้เห็น ได้อ่านข้อความเหล่านี้ขณะปฏิบัติหน้าที่รู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม...
พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ชุดเฉพาะกิจอโณทัย กองทัพบก รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ป้ายเหล่านี้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต้องการท้าทายยั่วยุชุดอีโอดีโดยตรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเคยมีป้ายทำนองเดียวกันนี้มาก่อนแล้วหลายครั้ง โดยคนร้ายนำไปติดไว้ตามจุดที่ลอบวางวัตถุระเบิดแล้วเจ้าหน้าที่อีโอดีต้องเข้าไปเก็บกู้
"ป้ายพวกนี้ไม่ได้ส่งผลในทางลบหรือกระทบความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานเลย ตรงกันข้ามหลายๆ คนมองเป็นเรื่องตลกขบขันมากกว่า และอีกหลายคนแทบไม่ได้สนใจเนื้อความบนป้าย ทุกคนสนใจจัดการกับระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัยที่คนร้ายวางไว้เท่านั้น"
พ.อ.ทวีศักดิ์ วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเจาะจงท้าทายยั่วยุเจ้าหน้าที่อีโอดี สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของกลุ่มผู้ก่อการที่มองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีโอดีว่าเป็นส่วนสำคัญที่สามารถขัดขวางงานของพวกเขาไม่ให้ประสบความสำเร็จ
"ในสายตาของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ชุดอีโอดีที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ทั้งหมดถือเป้าอันดับหนึ่งที่พวกเขาต้องการทำลายให้ได้มากที่สุด เพราะการก่อเหตุในลักษณะลอบวางระเบิดถือเป็นการก่อเหตุที่สร้างความเสียหายและสร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้กับเป้าหมายได้มากที่สุด โดยที่ฝ่ายผู้กระทำไม่ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียเลย แต่ถ้าวางระเบิดแล้วถูกขัดขวางหรือเก็บกู้ได้ ความเสียหายและความหวาดกลัวก็ไม่เกิดขึ้นตามเป้าหมายที่พวกเขาวางไว้"
พ.อ.ทวีศักดิ์ บอกอีกว่า การออกมาก่อกวนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพร้อมๆ กันหลายร้อยจุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น เชื่อว่าเป็นความต้องการแสดงศักยภาพของกลุ่มให้ฝ่ายรัฐเห็นว่ายังมีพลังและกำลังคนจำนวนมาก สามารถก่อเหตุพร้อมกันได้ทั่วทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตคือ การก่อกวนที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความรุนแรงเหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาในอดีต กลุ่มผู้ก่อการทำได้เพียงนำวัตถุต้องสงสัยไปวางและติดธงชาติมาเลเซียเท่านั้น ส่วนการวางระเบิดจริงที่คนร้ายนำออกมาใช้มีเพียง 5-6 จุด แต่อีกหลายร้อยจุดเป็นระเบิดปลอม
"เขาไม่สามารถนำระเบิดจริงมาวางได้เป็นร้อยๆ จุด เพราะคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการประกอบระเบิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีน้อยและไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ พวกที่ออกมาก่อเหตุในวันที่ 31 ส.ค.เป็นเพียงแนวร่วมหรือเด็กรุนใหม่ของกลุ่มที่ออกมาก่อกวนสร้างสถานการณ์เท่านั้น"
ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ชุดเฉพาะกิจอโณทัย กล่าวด้วยว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีโอดีทุกคน ทุกหน่วยในพื้นที่ มีความรอบคอบ มีสติ และไม่เคยหวั่นไหว ทุกคนใจจดใจจ่ออยู่กับการเก็บกู้วัตถุระเบิด ถึงจะมีพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะเจ้าหน้าที่เป็นผู้เข้าไปแก้ในสิ่งที่คนร้ายทำเอาไว้ แต่ก็ต้องป้องกันตัวเองให้มากที่สุดด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีอยู่
ด้าน ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด หน่วยปฏิบัติการพิเศษนราธิวาส นายตำรวจนักกู้ระเบิดชื่อดัง กล่าวว่า ไม่ได้คิดมากกับข้อความบนป้ายที่คนร้ายนำมาเขียนยั่วยุเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ มากกว่า
"วันนั้นที่นราธิวาสเราเจอทั้งหมดร้อยกว่าจุด เป็นระเบิดจริงจำนวนหนึ่ง และกู้ได้ 13 ลูก ถัดมาอีกวันก็กู้ได้อีก 1 ลูกที่จะแนะ (อ.จะแนะ จ.นราธิวาส)" ร.ต.ต.แชน ระบุ
สารที่ส่งจากเจ้าหน้าที่อีโอดีทั้งตำรวจและทหารก็คือ พวกเขายังมีกำลังใจ ไม่ท้อ และสามารถเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิดเพื่อลดความสูญเสียได้มากกว่าที่ระเบิดจริง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ป้ายข้อความยั่วยุท้าทายเจ้าหน้าที่อีโอดี บริเวณสะพานบายพาสก่อนเข้าเมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
2 พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)
3 ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)