เว็บไซต์พูโล อ้าง “พรรคกรีน”เสนอญัตติร้อนให้รัฐบาลสวีเดนยกกรณีปัตตานีสู่สหประชาชาติ
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บทความชิ้นนี้แปลจากคำอภิปรายในญัตติเรื่อง Human Rights In Patani, Southern Thailand (สิทธิมนุษยชนในปาตานี ภาคใต้ ประเทศไทย) ซึ่งโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของกลุ่มพูโล (http://puloinfo.net/) อ้างว่าเสนอโดยพรรคกรีน (Green) ต่อรัฐสภาสวีเดน เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
“ทีมข่าวอิศรา” เห็นว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ จึงนำมาแปลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาร่วมกัน เพราะแม้ตลอดมาจะมีความพยายามของกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีหลายต่อหลายครั้งที่ต้องการผลักดันให้ปัญหา “ชายแดนภาคใต้” เป็นประเด็นในเวทีนานาชาติ แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
ดังนั้นหากพรรคกรีนได้หยิบยกกรณี “ปาตานี” หรือ “ปัตตานี” เสนอเป็นญัตติในรัฐสภาสวีเดนจริง ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายพึงตระหนัก และค้นหาเหตุจูงใจที่ทำให้พรรคกรีนเสนอญัตติดังกล่าวนี้ รวมถึงสะท้อนให้เห็นทัศนคติที่ผู้คนในประชาคมโลกมองสภาพปัญหาและท่าทีของรัฐบาลไทย ซึ่งไม่ว่าจะผิดหรือถูก ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการแก้ไขปัญหาต่อไป
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเครื่องเตือนใจว่า ปัญหาภาคใต้ของไทยไม่ใช่เรื่องที่จะ “ปิดหูปิดตา” ใครต่อใครได้อีกแล้ว รวมทั้งไม่ควรหลงคิดไปว่า เรารู้อยู่คนเดียวในสิ่งที่ “เราคิด” และในสิ่งที่ “เราทำ”
สิทธิมนุษยชนในปาตานี ภาคใต้ ประเทศไทย
แปลจาก Human Rights In Patani, Southern Thailand
“สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของไทย (ปาตานี หรือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) กำลังส่งสัญญาณอันตราย ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมชมชอบแห่งหนึ่งของชาวสวีเดนซึ่งอยู่ห่างจากสวรรค์ของนักท่องเที่ยว...ภูเก็ต เพียงไม่กี่ไมล์เท่านั้น
จากรายงานเชิงลึกระบุว่า มีหลักฐานว่ามีการจับกุม ทุบตี เอาชีวิตกันอย่างไร้ขื่อแป ความรุนแรงซึ่งรัฐบาลรู้เห็นเป็นใจนั้นยังรวมถึงการทรมาน การอุ้มฆ่า การลอบสังหารจากสาเหตุทางการเมือง และการตั้งศาลเตี้ยเด็ดชีพ โดยภายหลังเกิดเหตุ รัฐบาลก็หาได้ทำการสอบสวนแต่อย่างใดไม่
สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยยุ่งยากขึ้นหลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อ พ.ศ.2547 ซึ่งทำให้กองทัพมีอิสระอย่างเต็มที่ การปฏิบัติอย่างไร้ความยุติธรรมของรัฐบาลไทยต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมเชื้อสายมลายูเห็นได้อย่างชัดเจน ความสับสนวุ่นวายในพื้นที่เกิดขึ้นพะเนินเทินทึกนับแต่นั้นมา
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.2547 องค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 3,500 คน ปัจจุบันภาคใต้ของไทยเป็นเขตที่เศรษฐกิจถดถอยมากที่สุด ขณะที่การจะควบคุมดูแลพื้นที่นี้กันอย่างไรต่อไป กลับไร้คำตอบหรือไร้คำอธิบายใดๆ
ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ (คนมลายูมุสลิม) ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในภาคใต้เหล่านี้มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลส่วนกลางน้อย ขณะที่รัฐบาลส่วนกลางยังคงปฏิเสธที่จะดำเนินคดีกับตำรวจและทหารที่ก่ออาชญากรรมและความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์เหล่านี้
ประชากรเชื้อสายมลายูดำรงอยู่ในเขตพื้นที่นั้นจนกระทั่งไทยได้เข้ายึดครอง ดินแดนของพวกเขาได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2445 นั่นจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาคมโลก
หลายปีที่ผ่านมา การจับกุมคุมขัง การฆ่า การอุ้มหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชน (มลายูมุสลิม) ภาคใต้กำลังตกอยู่ในสถานะที่ยุ่งยากลำบากอย่างยิ่ง กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาล การสนับสนุน และการเกณฑ์กองกำลังทหารพรานชาวพุทธในพื้นที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาวเป็นการคุกคามที่จะก่อให้เกิดสงครามทางชาติพันธุ์อย่างเต็มรูปแบบขึ้นได้
เวลานี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลสวีเดนจะต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็งผ่านทางองค์กรประชาคมยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ เพื่อจัดให้มีการเจรจากันระหว่างฝ่ายระบอบปกครอง (รัฐบาล) ฝ่ายตรงกันข้าม (พรรคฝ่ายค้าน) และฝ่ายชนกลุ่มน้อยมลายูมุสลิมขึ้น
ความรุนแรงจะต้องยุติลง ความไว้วางใจซึ่งกันและกันจะต้องเกิดขึ้น และการเรียกร้องที่สมเหตุสมผลอย่างกว้างขวางที่สุดของชนกลุ่มน้อยมลายูมุสลิมเหล่านี้จะต้องบรรจบกับระบอบประชาธิปไตยที่กว้างขึ้น สันติภาพ และการไปให้ถึงผลสำเร็จของสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการบรรลุถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ก็จะต้องบังเกิดขึ้นเช่นกัน
ในบรรดาข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้ ยังครอบคลุมถึงสิทธิในการแสดงออกในเรื่องวัฒนธรรมของพวกเขา การปฏิบัติศาสนกิจแห่งอิสลาม การใช้ภาษามลายู เฉกเช่นเดียวกันนี้ในเรื่องของการควบคุมดูแลเขตพื้นที่ของตน ซึ่งจะต้องเป็นไปภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศด้วย”
กรุงสต็อคโฮล์ม 6 ตุลาคม 2552
------------------------------------
หมายเหตุ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในท้ายบทความไม่ได้มีรายงานว่ารัฐสภาหรือรัฐบาลสวีเดนมีความเห็นอย่างไรต่อญัตติดังกล่าว