ขวบปีประชานิยมชุมชน โกยคะแนนรากหญ้า ประเทศส่อเจ๊ง?
วาระขวบปีรัฐบาล ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ประมวลประชานิยมชุมชนมาให้ช่วยกันสอบทาน…กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสตรี กอช. จำนำข้าว บัตรเครดิตชาวนา โอทอป โฉนดชุมชน
“กองทุนหมู่บ้านยุคปัดฝุ่น” : ไม่สร้างระบบบริหารจัดการ ก็สร้างแต่หนี้ไม่สร้างงานชุมชน
ประชานิยมโดนใจที่ได้รับเสียงตอบรับล้นหลามจากรากหญ้าของพรรคไทยรักไทยยุคเริ่มแรกสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ “กองทุนหมู่บ้าน” ที่จัดสรรงบประมาณตรงลงหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท นโยบายนี้ได้รับการสานต่อในทุกรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตีปี๊บขึ้นมาอีกครั้ง
เสียงขานรับด้านบวก กองทุนหมู่บ้านที่ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ชาวบ้าน ผ่าน “คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน” ที่แต่ละแห่งตั้งขึ้นมาบริหารจัดการเอง นับเป็นการกระจายโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนและทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชนโดยตรง
อีกด้าน กองทุนหมู่บ้านที่ขาดทุนกว่า 8,000 ล้านบาทในยุคทักษิณ ถูกวิจารณ์กว้างขวางว่าสนับสนุนลัทธิบริโภคนิยมเพราะส่วนใหญ่ถูกกู้ยืมไปจับจ่ายฟุ่มเฟือยเพิ่มพูนหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ เช่น ซื้อรถ โทรศัพท์ ฯลฯ ความเร่งรีบของประชานิยมโดยไม่คำนึงถึงความพร้อมแต่ละหมู่บ้าน ทำให้กองทุนฯส่วนใหญ่มีปัญหาการบริหารจัดการ ขาดระบบตรวจสอบ ที่สุดเกิดหนี้สูญมหาศาล แต่หากจะมองอย่างเป็นธรรมแล้วก็มีกองทุนฯ หลายแห่งที่ประสบความสำเร็จ ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพในชุมชน
พฤษภาคม 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จัดสรรงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาทพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชน ก็หวังว่า “กองทุนหมู่บ้านยุคปัดฝุ่น” จะแก้ไขความผิดพลาดโดยสร้างระบบบริหารจัดการที่รัดกุมโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนหมุนเวียนสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนได้
“บัตรสินเชื่อเกษตรกร” : เกาไม่ถูกที่คัน “ต้นทุนสูง-ตลาดไม่เป็นธรรม-หนี้ท่วม”
“บัตรสินเชื่อเกษตรกร” เป็นประชานิยมใหม่แกะกล่องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เปิดตัว 29 กรกฎาคม 2555 โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) รับผิดชอบโครงการ มีรูปแบบการออกบัตรเครดิตให้เกษตรกรในวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท ปลอดดอกเบี้ยนาน 5 เดือน เพื่อนำไปรูดซื้อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ที่มีคุณภาพในราคาถูกจากร้านค้าที่ร่วมโครงการ และนำร่องให้ชาวนาก่อนโดยตั้งเป้าหมายแจก 2 ล้านใบภายในมีนาคม 2556
แน่นอนว่าเกษตรกรซึ่งรับประโยชน์โดยตรงส่วนใหญ่พอใจต่อนโยบายเงินรูดได้นี้ แต่เสียงวิจารณ์อีกด้านคือสนับสนุนให้ยิ่งสร้างหนี้ ไม่มีระบบตรวจสอบชัดเจนจึงเปิดช่องให้ให้ทุจริตโดยฮั้วกันระหว่างเกษตรกรกับร้านค้าโดยอาจจ่ายเป็นเงินสดแลกกับการนำบัตรเครดิตไปรูดเองในวงเงินมากกว่า ผลสำรวจชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าบัตรนี้เอาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง หนำซ้ำบัตรเครดิตเกษตรกรยังถูกมองว่า “เกาไม่ถูกที่คัน” คือโครงสร้างปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร เช่น “ต้นทุนการผลิตสูง-การตลาดไม่เป็นธรรม-หนี้ท่วมตัว” ไม่อาจแก้ด้วยการหว่านเงินระยะสั้น
ล่าสุด ธ.ก.ส.แจกบัตรเครดิตชาวนาไปแล้ว 4 แสนใบ และกำลังจะแจกอีก 4.3 แสนใบ คิดเป็นวงเงิน 1.34 หมื่นล้านบาท โดยจะขยายสิทธิไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ปลูกข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง หอมแดง อ้อย และเพิ่มจากเป้าหมาย 2 ล้านใบเป็น 4 ล้านใบ ภายในเดือนกันยายน 2555
“โครงการรับจำนำข้าว” : ชาวนาขายข้าวได้ราคาชั่วคราว แต่ประเทศเจ๊งยับ?
เป็นสุดยอดประชานิยมที่มีข่าวรายวัน ทั้งออกมาโชว์ผลงานและเสียงด่าขรม โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นอีกประชานิยมที่ถูกฟื้นจากยุครัฐบาลทักษิณ ให้อู้ฟู้ขึ้นโดยมีการเปรียบเทียบเม็ดเงินว่า 5 ปีโครงการจำนำข้าวยุครัฐบาลทักษิณ (2544–2548) ทั้งนาปี–นาปรัง ใช้เงิน 199,977 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เพียงปีเดียวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เงินรับจำนำข้าวไปแล้ว 257,902.36 ล้านบาท
เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวในราคาพุ่งขึ้นข้ามคืนในโครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทที่บิดเบือนกลไกตลาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่มีเสียงด่าขรมว่ารัฐต้องใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนมากถึง 2.6 แสนล้านบาทรับซื้อข้าวเหล่านี้ในราคารับจำนำที่สูงเกินจริงทิ้งห่างราคาตลาด และมีแนวโน้มว่าข้าว 10 ล้านตันที่ค้างสต็อกในโกดังจะระบายออกหรือหาคนซื้อไม่ได้
ไทยอาจเสียแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่ง และยังเปิดช่องทุจริตมโหฬารทั้งการสวมสิทธิ์ข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ชาวนาถูกโรงสีเอาเปรียบการชั่งตวงวัดความชื้นข้าว การออกใบประทวนให้เกษตรกรที่ไม่ได้นำข้าวมาจำนำจริง ไม่รวมข้าวที่ไม่ได้คุณภาพเพราะเร่งปลูกเพื่อเข้าโครงการฯ และที่สุดแล้วก็เป็นเพียงการช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาสูงเพียงชั่วคราว แต่ระยะยาวไม่ได้แก้ปัญหาแท้จริงของเกษตรกร
ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางเร่งระบาย 18 ล้านตันข้าวเปลือกหรือ 11 ล้านตันข้าวสารเพื่อกลบเสียงด่าว่าข้าวค้างสต็อคสร้างหนี้มหาศาล โดยปลายเดือนสิงหาคมได้เปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลข้าว 7.5 แสนตัน แต่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 30 ราย ต่ำกว่าหลายปีที่ผ่านมา
“โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ภาษีที่ดิน” : ประชานิยมที่ดินเป็นหมัน
23 สิงหาคม 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถลงนโยบายแก้ไขปัญหาโครงสร้างภาคเกษตรว่าจะสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ จะจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อคนจนและเกษตรกรรายย่อยที่ไร้ที่ทำกิน
ย้อนไปแล้ว การกระจายการถือครองที่ดินให้เป็นธรรมถูกหยิบยกมาสร้างประชานิยมที่ฮือฮาให้ชาวบ้านในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คือ “โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-การผลักดันกฏหมายภาษีที่ดิน” ทว่านโยบายเหล่านี้ได้รับการเมินไม่แลจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนำซ้ำรัฐบาลนี้ยังได้รับการวิจารณ์ติดลบถึงความไม่จริงใจการแก้ปัญหาที่ดินตามที่แถลงไว้
“โฉนดชุมชน” เป็นการจัดสรรที่ดินของรัฐมอบเป็นกรรมสิทธิ์รวมหมู่ให้ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาคนขาดแคลนที่ดินทำกิน มีการแจกในพื้นที่นำร่องไปแล้ว 2 แห่ง และมีการรับรองเพื่อเตรียมแจกอีกหลายพื้นที่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หนำซ้ำยังเกิดข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านในหลายพื้นที่เตรียมออกโฉนดชุมชน เช่น กรณีอุทยานแห่งชาติฯเข้าไปไล่รื้อพื้นที่ทำกินชุมชน การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้านว่าบุกรุกป่าทำให้โลกร้อน
“ธนาคารที่ดิน” เพื่อนำเงินมาจัดสรรที่ดินแก่ราษฎรยากไร้ แม้จะออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินหน้าได้เพราะยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการฯ ไม่ต้องพูดถึงภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ยังดองรอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
“1 ทศวรรษโอทอปไทย” : ต้องตอบโจทย์คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ
“รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการโอทอปต่อยอดผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล” นายกฯยิ่งลักษณ์กล่าวเปิดงานโอทอปมิดเยียร์ 2012 สู่ประชาคมอาเซียนเมื่อเร็วๆนี้ เป็นเจตนาสานต่อ “โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่รัฐบาลทักษิณเริ่มไว้ในปี 2544 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า
ครบรอบ 1 ทศวรรษประชานิยมโอทอป ตัวเลขผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยล่าสุดปี 53 จำนวน 33,228 ราย เกิดสินค้าโอทอปกว่า 85,000 รายการ ทว่างบประมาณกว่า 6 พันล้านที่ทุ่มสร้าง 475 ศูนย์กระจายสินค้าโอทอปถูกทิ้งร้างทั่วประเทศ การสนับสนุนที่เน้นเชิงปริมาณ ยังด้อยเชิงคุณภาพ ทั้งตัวสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น และช่องทางการตลาด
การปัดฝุ่นประชานิยมนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ประกาศกระดับโอทอปไทยมุ่งเป้าขยายช่องทางการตลาดทั้งในเมืองและเมืองนอก… โดยรื้อฟื้นโครงการศูนย์จำหน่ายและศูนย์กระจายสินค้า ดันโอทอปให้ติดดาวขึ้นห้างสรรพสินค้า เปิดศูนย์กระจายสินค้าที่ตลาดนัดสนามหลวง2 นนทบุรี เปิดใต้ทางด่วนกลางกรุงเป็นร้านจำหน่าย และวางแผนนำสินค้าเด่นดี 4 ภาคขายผ่าน รฟท. และภายใน 3 ปีคิดการณ์ผลิตโอทอปที่ระลึกแบรนด์ไทยตีตลาดอาเซียน และรองรับเทรนด์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“กองทุนสตรี” : (ฤา) ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” เป็นอีกหนึ่งประชานิยมแกะกล่องที่ลงตรงถึงชุมชน ในรูปลักษณ์ที่คล้ายกองทุนหมู่บ้าน แต่มีเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้หญิง โดยเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจังหวัดละ 80-100 ล้านตาม นายกฯยิ่งลักษณ์เพิ่งกดปุ่มโอนเงินล็อตแรกไปจังหวัดละ 20 ล้านบาท
เสียงทักท้วงของกองทุนฯคลอดใหม่นี้ คือไม่ควรจะเลือกปฏิบัติโดยจำกัดสิทธิ์เฉพาะผู้หญิงที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพราะหญิงไทยทั้งมวล 23 ล้านคนควรล้วนมีสิทธิเข้าถึงเม็ดเงินพัฒนากองนี้
และเสียงวิจารณ์ที่มองข้ามไม่ได้ คือกองทุนสตรีจะฝ่าข้ามประสบการณ์ที่ล้มเหลวอย่างกองทุนหมู่บ้านไปได้หรือ โครงสร้างที่เปราะบางของกองทุนฯ จะเป็นอีกประชานิยมที่เพียงตีปี๊บดังๆ แต่เอาภาษีประชาชนมหาศาลไปตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่?
“กองทุนการออมแห่งชาติ” : ซ้ำซ้อน ม.40 -แรงจูงใจไม่พอ การเมืองทำไม่ขยับ
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 35 ล้านคนหรือร้อยละ 53 ของประชากรประเทศที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ ในรูปแบบที่สมาชิก กอช.สะสม และรัฐบาลร่วมสมทบจนถึงอายุ 60 ปีเพื่อเป็นทุนยามชราภาพ โดยสมาชิกสะสมไม่น้อยกว่าเดือนละ 50 บาท รัฐบาลร่วมสมทบอัตราขั้นบันไดตามอายุสมาชิก เช่น สมาชิกอายุ 15-30 ปีรัฐบาลสมทบ 50% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 600 บาท/ปี อายุ 30-50 ปี รัฐบาลสมทบ 80% แต่ไม่เกิน 960 บาท/ปี สมาชิกอายุ 50-60 ปีรัฐบาลสมทบ 100% ของเงินสะสมแต่ไม่เกิน 1,200 บาท/ปี และจะได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิตตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
แต่การขับเคลื่อนกองทุนการออมแห่งชาติ ส่อเค้าไม่ค่อยราบรื่นตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่การปรับลดงบประมาณจากที่รัฐบาลก่อนจัดสรรไว้ 1 พันล้านบาท เหลือเพียง 250 ล้านบาท ตำแหน่งเลขาธิการคนแรกยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และการรับสมัครสมาชิกกองทุนฯที่ล่าช้าจากกำหนดเดิม 12 พฤษภาคมปีนี้ รวมทั้งปัญหาจิปาถะอย่างที่ตั้งสำนักงาน
นอกจากปัญหาภายใน ยังมีเสียงท้วงติงถึงความซ้ำซ้อนกับประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยห่วงใยว่ามาตราดังกล่าวผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคมสามารถได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่ากรณีการออม(กองทุนชราภาพ) คือเพิ่มชดเชยรายได้เมื่อป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิต แล้วจะมีแรงจูงใจเพียงพอให้คนสมัครเป็นสมาชิก กอช.มากแค่ไหน ทั้งนี้ตามระเบียบ กอช.นั้นผู้ประกันตนมาตรา 40 ก็สามารถเป็นสมาชิก กอช.ต่อเมื่อไม่เลือกการคุ้มครองกรณีชราภาพ
ล่าสุดขุนคลัง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” สั่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฯ เพิ่มประโยชน์ให้ผู้ออม โดยเปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับผลประโยชน์ที่จากเดิมอายุ 60 ปีมีสิทธิรับเงินบำนาญจากเงินสะสมและเงินสมทบ ให้สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำนาญหรือบำเหน็จ รวมทั้งเพิ่มว่ากรณีสมาชิกอายุเกิน60 ปีแต่ยังสามารถประกอบอาชีพและส่งเงินเข้ากองทุนได้ รัฐบาลควรช่วยส่งเงินสมทบต่อไป นอกจากนี้ยังให้ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินร่วมดูแลเงินกองทุนฯ ในรูปเงินฝาก และสามารถนำไปลงทุนตราสารหรือพันธบัตรที่ไม่มีความเสี่ยงได้ไม่เกิน 20% ด้วย .
ที่มาภาพ ::
http://www.ptp.or.th/pic/m-pic.aspx?pic_id=545
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=734853
http://www.siamintelligence.com/women-fund-public-hearing/