ภาพ...สะท้อนความเป็นพหุสังคมของอาเซียน
นาทีนี้ กระแสการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังมาแรง ใคร ๆ ต่างก็พูดถึงการเคลื่อนย้ายของทุน แรงงาน และสินค้าอย่างอิสระ และต่างเตรียมตัวรับมือ เตรียมความพร้อมให้กับตนเองด้วยการเพิ่มทักษะด้านภาษา เพื่อให้สอดรับกับความเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่อึดใจ
แต่เราอาจลืมนึกไปว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนไม่ได้มีแค่มิติทางเศรษฐกิจ ยังมีอีกมิติหนึ่งที่สำคัญนั่นก็คือมิติทางสังคมและวัฒนธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายพิเศษ "อาเซียน : ประชาคมแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม" โดยธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดีอิสระ และช่างภาพผู้ช่ำชอง โดยเฉพาะเรื่องราวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ธีรภาพ โลหิตกุล เริ่มต้นการบรรยาย ด้วยการปูพื้นถึงความเข้าใจถึงทิศทางการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้าว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เป็นเพียงเสาหลักหนึ่งเท่านั้น เพราะประชาคมอาเซียนยังประกอบด้วยเสาหลักอีกสองเสาได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง และ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
"แต่ประชาคมอาเซียนจะเกิดหรือไม่เกิด ก็ด้วยประชากรในอาเซียนล้วน ๆ ไม่ได้อยู่ที่ใครมาบอกว่าเกิดแล้ว แล้วมันถึงเกิด" ธีรภาพกล่าวเปิดอย่างท้าทาย
จากนั้นธีรภาพได้แสดงผลงานภาพถ่ายของเขาเป็นภาพแรก ที่แสดงถึงความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดของความสัมพันธ์ไทย-พม่า คือ
ภาพพระสงฆ์จำนวน 99 รูปจากไทยและพม่าร่วมพิธีตักบาตรบนสะพานมิตรภาพไทย-พม่า กลางสายหมอกบาง ๆ เมื่อเช้าวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา อันแสดงให้เห็น "ศรัทธาร่วม" ในพระพุทธศาสนาของชนจากสองประเทศ
ทั้งนี้วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมายังเป็นวันครบรอบ 15 ปี ของสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนแม่สอด-เมียวดี อีกด้วย
นักเขียนและช่างภาพสารคดีฝีมือดีกล่าวย้ำถึงประเด็นต่อมาอย่างหนักแน่นว่า สังคมไทยนั้นเป็น "สังคมพหุวัฒนธรรม" โดยแท้ สภาพพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยมีมาช้านาน เห็นได้จากจากสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่
อาหาร ไล่เรียงจากเมนูเป็นที่นิยมกันส่วนใหญ่
ตอนเช้า กินโจ๊ก ข้าวต้ม มาจากวัฒนธรรมจีน สาย ๆ กินขนมฝรั่ง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด นี่มาจากโปรตุเกส แหล่งขนมฝรั่ง ๆ ที่ขึ้นชื่อก็ที่กุฎีจีน แต่ขนมโปรตุเกสแท้ ๆ นั้นแข็งเกินและไม่หวานถูกลิ้นคนไทย (ในสมัยนั้น) เราจึงปรับเปลี่ยนรสชาติให้ตรงกับรสนิยมของเรา
กลางวัน กินขนมจีน ข้าวแช่ มาจากมอญ ข้าวแช่เป็นภูมิปัญญาการทำข้าวให้เย็นโดยภาชนะเครื่องปั้นดินเผา
บ่าย ๆ กินลอดช่อง นี่ก็ของมอญ เย็นกินมัสมั่น ของเปอร์เซีย
ภาษา ในชีวิตประจำวันจำนวนมาก เช่น คำว่า สบู่ จมูก มาจากโปรตุเกส คำว่า ปิ่นโต จากญี่ปุ่น โต๊ะ เก้าอี้ จากจีน และคำราชาศัพท์ทั้งหมดก็มาจากเขมร
เพลง มอญดูดาว ลาวดวงเดือน นกเขาขะแมร์ จีนเข็มเล็ก ญวดทอดแห "ครูเพลงโบราณสมัยก่อนแต่งเพลงโดยได้บันดาลใจมาจากชนชาติต่าง พอแต่งเสร็จก็ให้เกียรติเขาด้วยการใส่ชื่อชนชาติที่มาของเพลงไว้ที่ชื่อเพลงด้วย" ธีรภาพ โลหิตกุล กล่าว
หรือ ประเพณีการละเล่น งานเทศกาล ต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง โล้ชิงช้า นวราตรี คริสต์มาส ตรุษจีน วาเลนไทน์ ไทยเราก็รับเขามาหมด
"เอาเข้าจริง ๆ แล้ว 'ไทยแท้' ไม่มีจริงในโลกนี้ ผมจึงอยากจะชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยนั้นเป็นภาพสะท้อนความเป็นพหุสังคมของอาเซียน" ช่างภาพสารคดีกล่าว
วัฒนธรรมร่วมและอัตลักษณ์เฉพาะในชาติอาเซียน
ในความหลากหลายของอาเซียนนั้นในทางวิชาการมีการศึกษาแบ่งไว้ 2 ลักษณะ โดยธีรภาพ โลหิตกุลอ้างอิงจากหนังสือ "วัฒนธรรมร่วมของอาเซียน" ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า อาเซียนมีทั้ง วัฒนธรรมร่วม และ อัตลักษณ์เฉพาะตน ของชนชาติต่าง ๆ โดยศึกษาตามยุคทางประวัติศาสตร์ดังนี้
วัฒนธรรมร่วม
ก่อนอินเดียเข้ามา พ.ศ.1000 ชาวอาเซียน
1. กินข้าวเป็นอาหารหลัก
2. กินกับข้าวที่ "เน่าแล้วอร่อย" เช่น ปลาร้า ปลาแดก ถั่วเน่า กะปิ น้ำปลา น้ำบูดู แกงพุงปลา
3. อยู่เรือนเสาสูง ยกพื้น ใต้ถุนสูงเอาไว้ทำกิจกรรม เช่นเลี้ยงลูก ทอเสื่อ ฯลฯ
4. ผู้หญิงเป็นหัวหน้า เห็นได้จากการยกคำว่า "แม่" ไว้กับสิ่งต่าง ๆ เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ แม่เหล็ก หรือคำว่าว่า เจ้าบ่าว แปลว่า ข้ารับใช้บ้านของฝ่ายหญิง
5. เซ่นวักสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเช่นกบเพราะเชื่อว่าจะบันดาลฝน
6. ทำพิธีศพหลายวัน เก็บกระดูกมาทำพิธี เช่น หลักฐานจากทุ่งไหหินที่ประเทศลาว
7. ตีฆ้องทำด้วยโลหะ ประโคมเสียงศักดิ์สิทธิ์เพื่อสื่อสารกับผีและเทวดา
หลังอินเดียเข้ามา พ.ศ.1000 ด้วยความก้าวหน้าทางการค้าทางทะเล ทำให้อินเดียติดต่อกับภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมะละกา ชวา เขมร สยาม จามปา และจีน ทำให้อาเซียนรับวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดู ผสมกับพุทธมหายาน ทำให้เกิดวัฒนธรรมร่วมต่าง ๆ เช่น
1. ตัวอักษรต่าง ๆ เช่นเทวนาครี ซึ่งมีอิทธิพลต่ออักษรขอม และอักษรไทยต่อมา
2. มหากาพย์รามายณะ ทำให้เกิดศิลปะโขน ท่าเต้น ท่าจีบต่าง ๆ และเกิดลัทธิเทวราชาที่เชื่อว่ากษัตริย์คือองค์อวตารของเทพเจ้าขึ้นในอุษาคเนย์
3. การทำความเคารพด้วยการกราบไหว้ ทั้งพุทธและพราหมณ์
ธีรภาพจึงยกกรณีที่น้องเมย์ รัชชนก อินทนนท์ แสดงการไหว้ในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอน ทำให้สมาคมแบดมินตันอินเดีย ส่งหนังสือชื่นชมมายังสมาคมแบดมินตันไทย โดยอินเดียใช้คำว่า การยกมือไหว้เป็นวัฒนธรรมของอินเดียกับไทย ที่สืบทอดกันมานาน
"อินเดียไม่เคลมว่าเป็นวัฒนธรรมของตนแต่เพียงผู้เดียว แต่บอกว่าเป็น 'วัฒนธรรมร่วม'...ต่างกับพฤติกรรมบางอย่างของคนไทยในปัจจุบันที่มักจะไปยึดเอาว่าวัฒนธรรมโน้นนี้เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว ทำให้ทะเลาะกับคนอื่นได้ง่าย นำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมาก ๆ เลย" ธีรภาพ โลหิตกุลกล่าว
อัตลักษณ์เฉพาะตน
1. ลักษณะเฉพาะตนที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมร่วม เช่น โขนรามเกียรติ์ ที่เล่นเรื่องเดียวกัน แต่โขนไทยกับโขนพม่าหรือชาติอื่น ๆ จะแต่งตัวต่างกัน ลักษณะการจีบมือรำต่างกัน หรือขนมจีน มอญมีแค่น้ำยากับแกงพริก แต่ขนมจีนที่ภูเก็ตมีน้ำแกงให้เลือกเป็นสิบหม้อ
2. อัตลักษณ์เฉพาะตนที่คิดประดิษฐ์ขึ้นเองอีกมากมาย เช่น ชาวอินตาที่อินเลใช้เท้าพายเรือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก หรือ "การตักบาตรข้าวเหนียวที่หลวงพระบาง ชาวบ้านจะปั้นข้าวเหนียวใส่บาตรอย่างชำนาญมากจนดูเหมือนเหมือนเครื่องยนต์กลไก แต่เกิดจากศรัทธาที่เคยชิน" ช่างภาพแห่งอาเซียนกล่าว
ธีรภาพ โลหิตกุล มองว่าความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้เป็นทั้ง คุณค่า (value) ที่เราควรภาคภูมิใจร่วมกัน และเป็นมูลค่า หรือสินทรัพย์ (asset) หรือต้นทุนทางการท่องเที่ยวที่เราต้องรักษาไว้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนข้อหนึ่ง คือ ASEAN: Unity in Diversity ที่ส่งเสริมให้ประชาชนอาเซียนรู้สึกถึงเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย
"การทำให้คนเหมือนกัน คือการเร่งปฏิกิริยาให้คนทะเลาะกัน" คือคำกล่าวของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ที่ธีรภาพยกขึ้นมาสนับสนุนนโยบายดังกล่าว
ต้องก้าวข้ามกับดัก
นักเขียนและช่างภาพสารคดีอาเซียนมองว่า อาเซียนเลือกหนทางแห่งความแตกต่างหลากหลาย และเห็นมันเป็น asset มีมูลค่าทางการท่องเที่ยว แต่การจะไปถึงจุดนั้นอย่างสมบูรณ์แบบ ชาวอาเซียนต้องข้ามกับดักเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน
1. กับดักตัวกู-ของกู ที่แย่งกันเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เช่นอินโดกับมาเลย์แย่งกันเป็นเจ้าของผ้าปาเต๊ะ ไทย-กัมพูชาแย่งเขตแดนที่เพิ่งมีมา 150 ปี แต่วัฒนธรรมร่วมของอาเซียนมีมาก่อนหน้านั้นนานนัก ถ้าข้ามกับดักนี้ไปไม่ได้ ประชาคมอาเซียนจะเป็นเพียงคำสวยหรู
"จะเกิดปรากฏการณ์ธงชาติ 10 ประเทศขาดตลาดอย่างรุนแรงเพราะโรงเรียนทั้งหลายจะซื้อไปประดับ" ธีรภาพกล่าวอย่างติดตลก
2. กับดักชเวดากอง ทองมาแต่หนไหน? ธีรภาพชี้ว่า วิชาประวัติศาสตร์ไทยสอนให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิดคิดเจ็บแค้นด้วยการบอกว่าพม่ามาเผาทองจากอยุธยาไปสร้างเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งบางทีทำให้คนไทยคลั่งชาติโดยไร้เหตุผลคิดจะเอาทองคืนมาจากพม่า
"ในประวัติศาสตร์ของสงคราม ต่างฝ่ายต่างผลัดกันเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ในภาวะสงครามมนุษย์สามารถแสดงด้านที่เลวที่สุดและมืดที่สุดออกมาได้เสมอกัน" ธีรภาพกล่าวพร้อมยกตัวอย่างย้อนว่า ไทยเองก็ไปกระทำย่ำยีต่อลาวไว้ไม่ต่างกันตอนเอาตัวเจ้าอนุวงศ์มาเป็นองค์ประกัน
3. กับดักมิสยูนิเวิร์ส คือการมองตนเองเป็นจุดศูนย์กลางในหมู่เพื่อนบ้าน ได่แก่ความคิดประเภทที่ว่า ของเราดีกว่า ของเราอ่อนช้อยกว่า อยากให้คิดเสียใหม่ว่า "ความงามไม่ได้มีมาตรฐานเดียว" เพราะสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับรสนิยม ภูมิหลังทางวัฒนธรรมมากกว่า
4. กับดัก แดจังกึม คือการเชิดชูคนอื่นว่า ล้วนดีกว่าตัวเอง กระแสค่านิยมปัจจุบันในเมืองไทยมองว่าอะไรที่เป็นเกาหลี ญี่ปุ่นดีหมดโดยไม่สังเคราะห์เอาแต่ส่วนดี และเห็นส่วนที่ไม่ดีบ้างเลย
5. กับดัก ดำจังกู คือมองไม่เห็นคุณค่าอัตลักษณ์ของตนเอง มองว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นสิ่งเชย ล้าหลัง ลองดูตัวอย่างสินค้าโอทอป "กล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต" นี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดถึงการเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาดั้งเดิมคือกล้วยตาก ขณะเดียวกันก็เอามาประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตกคือช็อกโกแลต กลายเป็นสินค้าผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองจนประสบความสำเร็จ สามารถวางขายในชั้นสินค้าต่างประเทศได้อย่างทัดเทียมกับสินค้าอื่น
"แก่นของความเป็นเอาเซียนจึงอยู่ที่การรักษาความแตกต่างหลากหลาย หากแต่ก็อยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยเคารพซึ่งกันและกัน ความแตกต่างหลากหลายคือคุณค่าและมูลค่า และขอย้ำเช่นเดียวกับที่พูดไว้ตอนแรกว่า สุดท้ายประชาคมอาเซียนจะเกิดหรือไม่เกิด ขึ้นอยู่กับเรา ชาวอาเซียนล้วน ๆ ครับ" นักเขียนและช่างภาพสารคดีกล่าวปิดท้าย
ภาพประกอบจาก
http://region4.prd.go.th/ewt_news.php?nid=20899
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/376900