"เรือเหาะ"ถึงใต้แล้ว จับคู่ ฮ.ตรวจการณ์ใช้งานจริงต้นปีหน้า
สุเมธ ปานเพชร
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เครื่องมือดับไฟใต้ชิ้นใหม่ในทางยุทธการที่ชื่อว่า "เรือเหาะตรวจการณ์" เดินทางถึงพื้นที่แล้ว มูลค่าของเรือเหาะลำนี้สูงถึง 350 ล้านบาท โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเพื่อดำเนินกระบวนการจัดซื้อเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2552 และลงนามจัดซื้อระหว่างกองทัพบกกับบริษัท Arial International Cooperation เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ปีเดียวกัน และเรือเหาะถูกส่งถึงท่าอากาศสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
ล่าสุด "เรือเหาะตรวจการณ์" เข้าประจำการยังโรงจอดที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี และอยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์ โดยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความพร้อมของเรือเหาะด้วยตนเอง
"เรือเหาะตรวจการณ์" ควบคุมการทำงานโดยชุดปฏิบัติการเฝ้าตรวจการทางอากาศ มีกำลังเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 55 นาย เป็นนายทหารสัญญาบัตร 14 นาย และนายสิบ 41 นาย แบ่งหน้าที่เป็น ส่วนบังคับการ 4 นาย ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร 2 นาย นายสิบ 2 นาย ส่วนปฏิบัติการทางอากาศ 20 นาย ประกอบด้วย นายทหารสัญญาบัตร 8 นาย นายสิบ 12 นาย ส่วนปฏิบัติการภาคพื้นดิน 17 นาย ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร 2 นาย นายสิบ 15 นาย และส่วนสนับสนุน 14 นาย ประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตร 2 นาย นายสิบ 12 นาย
ทั้งนี้ ชุดปฏิบัติการเฝ้าตรวจการทางอากาศจะทำหน้าที่ในภารกิจวางแผน อำนวยการ ประสานงาน และสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการข่าว ยุทธการและกิจการพลเรือน โดยใช้คุณลักษณะตลอดจนขีดความสามารถของเรือเหาะและเฮลิคอปเตอร์ติดกล้องตรวจการณ์สนับสนุน
โครงสร้างการควบคุม "เรือเหาะตรวจการณ์" ประกอบด้วย
1. เรือเหาะ (Airship)
2. เฮลิคอปเตอร์ติดกล้องตรวจการณ์ 3 ลำ (HU-1H Helicopter) อยู่ในพื้นที่จังหวัดละ 1 ลำเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะตรวจการณ์
3. ศูนย์บัญชาการประจำสถานี กระจายอยู่ทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 26 สถานี (Fixde Command Center) ซึ่งจะใช้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการประจำสถานี
4. รถบังคับการ (Glizzly) สนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะในภาคพื้นดิน โดยจะติดตามเรือเหาะทางภาคพื้นดิน
ระบบปฏิบัติการของ "เรือเหาะตรวจการณ์" จะใช้ 2 ระบบ คือระบบสัญญาณไมโครเวฟ และระบบสัญญาณดาวเทียม ในการส่งข้อมูลไปยังหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัวในพื้นที่ หน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด และกองบัญชาการกองทัพบก
คุณลักษณะทั่วไปของเรือเหาะ คือควบคุมโดยนักบิน ใช้กล้องตรวจการณ์เวลากลางวันและกลางคืนที่สามารถถ่ายภาพและบันทึกภาพความละเอียดสูง สามารถตรวจจับความร้อน รวมทั้งตรวจจับระยะและชี้เป้าหมายได้ ลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน หรือทำการลาดตระเวนตามวงรอบเพื่อปฏิบัติงานด้านการข่าวที่ต้องการด้วยเสียงที่เงียบกว่าอากาศยานประเภทอื่น
ข้อมูลจำเพาะของ "เรือเหาะตรวจการณ์" ที่จะใช้ในยุทธการสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต / 10.61 เมตร ยาว 155.34 ฟุต / 47.35 เมตร สูง 48/3 ฟุต / 13.35 เมตร ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต / 2,833 ลูกบาศก์เมตร ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต / 0-3,084 เมตร ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน / 300 ลิตร บินได้นาน 6 ชั่วโมง
เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)
คุณลักษณะของกล้องตรวจการณ์ กว้าง 14.5 นิ้ว ยาว 19.0 นิ้ว สูง 19.5 นิ้ว น้ำหนัก 72 ปอนด์ มุมกล้องครอบคลุมรัศมี 360 องศา ความละเอียดของกล้องสูงสุด 2.1 ล้านพิกเซล สามารถจับภาพได้ทั้งกลางวันและกลางคืน จับภาพเป้าหมายอยู่กับที่และเคลื่อนที่ได้ สามารถตรวจการณ์ได้ในสภาพอากาศที่ไม่ดี เช่น ฝนตก และความชื้นสูงได้
ข้อมูลของรถบังคับการ (Glizzly) มีน้ำหนัก 22 ตัน เครื่องยนต์ขนาด 330 แรงม้า ความเร็ว 136 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระบบป้องกันอันตรายจากทุ่นระเบิดได้ เนื่องจากออกแบบให้ใต้ท้องรถเป็นรูปตัววี ตัวถังรถติดตั้งเกราะขนาด 0.5 และ 0.7 นิ้วรอบตัวรถ
"เรือเหาะตรวจการณ์" ของ กอ.รมน.ลำนี้ หลังจากการตรวจสอบความพร้อมของตัวเรือและอุปกรณ์ รวมถึงทำพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการจากทางบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยในวันที่ 15 ม.ค.2553 คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ปฏิบัติการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทันที
ฝ่ายความมั่นคงจะเอาชนะทางยุทธการได้ หรือเรือเหาะลำใหม่จะสร้างปัญหาตามมา...เร็วๆ นี้คงได้รู้กัน!