แรงงานต่างด้าวพม่าชนะคดีฟ้องอุบัติเหตุงาน CP- ศาลสั่ง ตม.ชดเชยล่ามโซ่
แรงงานต่างด้าวพม่าชนะคดีฟ้องอุบัติจากงาน CP จ่าย 1 แสน ศาลสั่ง สนง.ตรวจคนเข้าเมืองชดเชยกรณีกักตัวมิชอบล่ามโซ่กับเตียงผู้ป่วย องค์กรสิทธิช่วยฟ้องเปลี่ยนระเบียบให้ต่างด้าวเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน
เร็วๆนี้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) เปิดเผยข้อมูลว่านายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่าได้รับเงินชดเช 100,000 บาทจากบริษัทบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัด(CP) กรณียื่นฟ้องนายธารา ริตแตง นายจ้าง, ห้างหุ้นส่วนจำกัด NSV Supply ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัทซีพีค้าปลีกและการตลาดจำกัด เพื่อเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุขณะรับจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรื้อถอนและดัดแปลงต่อเติมอาคารโรงงาน CP เป็นเหตุให้ผนังปูนหล่นทับได้รับบาดเจ็บสาหัส ลำใส้ใหญ่แตก กระดูกสะโพกและขาหักนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลกว่า 3 เดือน ปัจจุบันสภาพร่างกายยังอ่อนแอและไม่สามารถกทำงานได้ตามเดิม
เหตุเกิด 9 ม.ค.54 ที่ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยว่าการก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551 นายชาลีถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี ต่อมาตำรวจได้เข้าควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก เมื่อ มสพ. เข้าให้ความช่วยเหลือ นายชาลีจึงถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่ถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียง ต่อมาวันที่ 15 ก.พ.54 ศาลอาญากรุงเทพฯมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายนาชาลีเและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีหลักฐานว่าชาลีได้ขึ้นทะเบียนแรงงานแล้ว
ปัจจุบันเเม้นายชาลีจะอาการดีขึ้นแล้วหลังจากต้องเดินทางไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลเป็นเวลากว่า 1 ปี แต่ยังต้องดามเหล็กเพื่อรักษากระดูกสะโพกและขาที่หัก โดยยังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับไปทำงานใช้แรงงานหนักได้อีก และเนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ยังมิได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนเงินทดแทนได้ แม้สำนักงานประกันสังคมจะเข้ามาเป็นตัวกลางสั่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาดูแลค่ารักษาพยาบาลสำหรับนายชาลีหรือกรณีอื่นๆที่คล้ายกัน แต่ยังมีปัญหาในการบังคับให้นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งหรือล่าช้า ส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการเยียวยาทันท่วงทีและเต็มที่ตามสิทธิที่ควรได้รับ
มสพ.ได้ให้ความช่วยเหลือในการต่อทะเบียนแรงงานให้นายชาลี เพื่อให้ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้ในระหว่างเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย และให้ความช่วยเหลือในการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนระเบียบของสำนักงานประกันสังคมที่เลือกปฏิบัติและขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ก็ได้มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทยทบทวนระเบียบดังกล่าว โดยคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา
อีกคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายจ้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และบริษัท CP โดยศาลพิพากษาตามการไกล่เลี่ยระหว่างคู่ความให้ CP ชดเชยค่าเสียหาย 100,000 บาท และนายธารา ริตแตง นายจ้างตกลงจ่าย 10,000 บาท หลังจากได้รับเงินวันที่ 27 ส.ค. จึงได้เดินทางกลับพม่าตามความประสงค์ของนายชาลีและครอบครัว.
ที่มาภาพ : ผู้จัดการออนไลน์