นายกฯมาเลย์เยือนใต้ จับตา “มาร์ค” พลิกเกมนครปัตตานี
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ดาโต๊ะ ซรี มูฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือประจำปี (Annual Consultation: AC) ครั้งที่ 4 กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย โดยไฮไลท์ของการเยือนไทยเที่ยวนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่นายนาจิบเข้ารับตำแหน่งผู้นำมาเลเซียคือ การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ประเด็นหารือของผู้นำทั้งสองประเทศเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ได้แก่ ความร่วมมือในกรอบ 3 อี คือ การศึกษา การจ้างงาน และการส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาประชากรของทั้งสองประเทศ อีกทั้งจะหารือเรื่องความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งมาเลเซียมีนโยบายพัฒนารัฐปีนังให้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาล ส่วนไทยมีวัตถุดิบและวิทยาศาสตร์การผลิตที่ก้าวหน้า
ในวันที่ 9 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ กับ นายนาจิบ จะเดินทางไป จ.นราธิวาส ด้วยกัน เพื่อร่วมในพิธีเปลี่ยนชื่อสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 ที่บ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง เป็น “สะพานมิตรภาพ” และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการบริหารจัดการ บำรุงรักษา และใช้สะพานดังกล่าว จากนั้นจะไปเยี่ยมชมโรงเรียนอัตตัรกียะอิสลามียะห์ และโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านรอตันบาตู ที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าจับตาที่สุดของการพบปะหารือกันระหว่างผู้นำมาเลเซียและนายกฯของไทย คือการจับมือกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางกระแสร้อนแรงว่าด้วยการตั้ง “นครปัตตานี” ที่ถูกเปิดประเด็นมาก่อนหน้านี้จาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย และอดีตนายกรัฐมนตรี
แม้ข้อเสนอของ พล.อ.ชวลิต จะไม่มีรูปแบบที่เป็นรูปธรรมมากนัก นอกจากที่ว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง คล้ายๆ กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนครเชียงใหม่ แต่ก็มีการ “รับลูก” กันเป็นทอดๆ จากกลุ่มผู้สนับสนุนทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทย รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) บางกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการยกร่างกฎหมายเตรียมเอาไว้แล้ว และจะมีการจัดสัมมนาทางวิชาการครั้งใหญ่ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญของประเทศไทยด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเสนอเรื่อง “นครปัตตานี” ทำให้รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งครองเสียงข้างมากอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดน ออกอาการ “เป๋” ไปพอสมควร และน่าคิดว่า นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะ “แก้ลำ” กับเผือกร้อนชิ้นนี้อย่างไร
หากวิเคราะห์การโหมกระแส “นครปัตตานี” ในห้วงปลายปี 2552 ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางมิติเป็นเรื่อง “การเมืองล้วนๆ” เพราะจังหวะเวลาที่เปิดประเด็นเป็นช่วงที่ประเมินกันว่า “ใกล้เลือกตั้งเต็มที” ทั้งยังเป็นการเดินเกมในช่วงที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบาย “ไทยร่มเย็น เป็นมิตรเพื่อนบ้าน” พร้อมๆ กับการเร่งอุณหภูมิความตึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อสร้างเครดิตให้นโยบายดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
และปัญหาภาคใต้ รวมถึงแผนการเดินทางเยือนมาเลเซียก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงในจังหวะนี้ โดยชายที่ชื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ!
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มองว่า “นครปัตตานี” หนีไม่พ้นประเด็นการเมือง ก็คือวาทกรรมดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่ พล.อ.ชวลิต พูด เพราะอย่างน้อยในห้วง 2-3 ปีย้อนกลับไป พล.อ.ชวลิต เคยพูดเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงต้นรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยเดิม และแปลงร่างเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) ในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังสังกัดพรรคเพื่อไทย ก็เคยเสนอแนวคิดเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” มาแล้ว (ซึ่งจะว่าไปน่าจะแรงและโดนใจกว่า “นครปัตตานี” ที่เป็นแค่การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งเสียด้วยซ้ำ) แต่กลับไม่ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากบางกลุ่มบางฝ่ายเหมือนในขณะนี้
ข้อมูลจากผู้รับผิดชอบระดับสูงในปัญหาภาคใต้ ระบุว่า การเปิดประเด็นเรื่อง “นครปัตตานี” ของ พล.อ.ชวลิต เป็นการชิงจังหวะทางการเมือง เพราะการจัดการปัญหาภาคใต้ด้วยการจัดรูปการปกครองแบบใหม่นั้น นายอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้ดำเนินการอย่างลับๆ มาระยะหนึ่งแล้ว
“สาเหตุที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะเป็นประเด็นอ่อนไหว นายกฯอยากดำเนินการให้เรียบร้อยจนได้ข้อสรุประดับหนึ่งก่อน จึงจะโยนโจทย์ให้สังคมได้ช่วยกันคิด และนำไปสู่รูปแบบที่เป็นไปได้มากที่สุด”
แหล่งข่าวระดับสูงยังให้ข้อมูลอีกว่า สิ่งที่นายกฯดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คือส่งคนไปรับฟังความคิดเห็นจากขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อขอทราบเงื่อนไขและข้อเสนอที่เป็นทางออก
"ประเด็นหลักคือเราต้องการสร้างสันติภาพร่วมกัน ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้เกิดความสงบ โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อน และไม่ขัดกับระบบการปกครองของประเทศ ซึ่งจากการพบปะพูดคุยกับหลายๆ กลุ่มก็ได้รับสัญญาณที่ดีหลายเรื่อง แม้บางเรื่องจะยังตกลงกันไม่ได้ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์ความไม่สงบลดจำนวนลงอย่างชัดเจน”
แหล่งข่าวคนเดิมยังชี้ว่า การดำเนินการของรัฐบาลไทยได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลมาเลเซีย และผู้นำของทั้งสองประเทศก็เห็นตรงกันว่า แนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ คือการจัดรูปการปกครองแบบใหม่โดยให้อิสระคนในพื้นที่ได้สิทธิดูแลตนเองในบางเรื่อง บางระดับ ซึ่งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
หากจับสัญญาณในเรื่องนี้ จะพบว่า นายอภิสิทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุตอนหนึ่งถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ไทยอาจเพิ่มอำนาจในการปกครองตนเองแก่ท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำลังพิจารณาเพิ่มอำนาจในกฎข้อบังคับต่างๆ ตามกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
อย่างไรก็ดี นายกฯย้ำว่า การลดทอนอำนาจจากส่วนกลางและเพิ่มอำนาจในกฎหมายอิสลามไม่ได้เป็นการให้อำนาจปกครองตนเองแก่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการปกครองตนเองก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยคัดค้านมาโดยตลอด พร้อมอธิบายว่า รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงในพื้นที่ดังกล่าว ลักษณะคล้ายกับการเลือกตั้งใน กทม.และเมืองพัทยา ซึ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในพื้นที่สามารถไปใช้สิทธิเลือกผู้นำของตนเองได้โดยตรง
สอดรับกับท่าทีของ นายนาจิบ ราซัก ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเครือเดอะเนชั่นเอาไว้เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า การปกครองตนเองในบางลักษณะน่าจะหยุดยั้งปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้ พร้อมขยายความว่า หมายถึงการให้อิสระด้านการศึกษา การเลือกสรรผู้นำท้องถิ่น การจัดจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาด้านศาสนา
ผู้นำมาเลเซียเน้นด้วยว่า ข้อเสนอของเขาไม่ใช่การสนับสนุนให้ตั้งรัฐอิสระหรือกระทำการใดๆ ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของไทย และตอกย้ำอย่างแข็งกร้าวว่าไม่สนับสนุนขบวนการที่ใช้ความรุนแรง
จากความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ จึงมีความเป็นไปได้ไม่น้อยว่า หลังการพบปะหารือกันและลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกันของนายกฯไทยกับมาเลเซีย น่าจะมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมบางประการออกมาที่น่าจะเรียกเสียงฮือฮาได้มากกว่าถ้อยคำเชยๆ ประเภท “ทั้งสองประเทศจะร่วมกันแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ต่อไป...”
อย่าลืมว่า ข้อเสนอของ นิพนธ์ บุญญามณี แม่ทัพภาคใต้ของประชาธิปัตย์ ในเวทีเสวนาหัวข้อ “นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันพุธที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็น่าสนใจไม่น้อย
โดย นิพนธ์ เสนอเอาไว้ในวันนั้นว่า หากเลือกใช้วิธีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถจัดการเรื่องการศึกษา ภาษา และวัฒนธรรมได้ตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องจัดรูปการปกครองใหม่ น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าการตั้ง “นครปัตตานี” ที่ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ
ที่สำคัญหากรวม 3 จังหวัด คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็น “นครปัตตานี” และให้เลือกตั้ง “ผู้ว่านคร” เพียงคนเดียว ย่อมต้องก่อความขัดแย้งตามมาแน่ เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัด 3 คนจะไปอยู่ที่ไหน และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) สมาชิก อบจ. นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะยังอยู่หรือเปล่า
การตั้ง “นครปัตตานี” จึงไม่ใช่ข้อเสนอแบบ “วิน-วิน” หรือได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เพราะมีผู้เสียประโยชน์ชัดเจน
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ที่เป็นความเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่อาจหยุดนิ่งหรือยอมรับข้อเสนอ “นครปัตตานี” ได้อย่างเด็ดขาด
ขณะที่ท่าทีของมาเลเซีย ก็ระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เปิดไฟเขียวให้ พล.อ.ชวลิต และคณะเดินทางไปเยือนจนก่อปัญหากับรัฐบาลไทยตามมาเหมือนกรณีกัมพูชา จน พล.อ.ชวลิต ต้องเลื่อนกำหนดการออกไปอย่างไม่มีกำหนด และให้คนใกล้ชิดออกมาแก้เกี้ยวทำนองว่า มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไม่ใช่ประเทศปลายทางไม่ต้อนรับ...
ฉะนั้นในทางการเมืองแล้ว หลังการเยือนชายแดนใต้ของผู้นำมาเลเซีย น่าจะต้องมีข้อเสนออะไรใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมออกจากปากนายกฯไทย เพื่อลดทอนกระแส “นครปัตตานี” ให้เพลาความร้อนแรงลง
เพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป และเกิดอุบัติเหตุมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นในช่วงต้นปีหน้า โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะพลาดท่าตกเก้าอี้เพราะกระแส “นครปัตตานี” ก็มีไม่น้อยเลย!
-----------------------------
อ่านประกอบ...ถอดรหัส "นครปัตตานี" ไขปม "บิ๊กจิ๋ว" ลงพื้นที่ชายแดนใต้!
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4949&Itemid=86