ขูดภาษีเหล้า-บุหรี จำกัดสถานที่ดื่ม ศีลธรรมจุกปาก-คนจนรับชะตากรรม
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารนโยบายสาธารณะ
จับสัญญาณความเซ็งแซ่แผ่ซ่านทุกรูขุมขน ยินเสียงขี้เมาบ่นอุบ สิงห์อมควันร้องจ๊าก พลันที่รัฐบาลเจื้อยแจ้วถึงมาตรการทางภาษี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ โดยให้มีผลทันทีในเช้าวันรุ่งขึ้น
เหตุผลเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อมาตรการ จับความแล้วล้วนแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือการสร้างสังคมที่ดีงามปลอดจากสุรา-บุหรี่
ไม่ว่าเบื้องลึกของนโยบายจะคาดหวังโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นจริงหรือไม่ แต่ผลเลิศที่รัฐบาลได้รับอย่างแน่นอนแล้วก็คือเม็ดเงินจำนวนมหาศาล
เบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยอมรับว่า การเพิ่มภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่จะทำให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท
ยกอ้างเหตุผลใดเพื่อปฏิเสธว่า สุรา-บุหรี่ เป็นสินค้าอันตรายตามมุมมองของนักเคลื่อนไหวทางสังคมคงไม่มี หรือการขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็นการขึ้น "ภาษีบาป" ที่ทุกฝ่ายควรยอมรับตามครรลอง ... ก็คงจะจริง
แต่ใช่หรือไม่ว่า การผูกขาดความดีโดยวาดฝันลงในสังคมสีขาว กำลังผลักให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าสีดำไม่สามารถปริปากบ่นหรือเปิดปากร้องโอดครวญอะไรได้
กรณีที่เกิดขึ้น ชัดเจนแล้วว่าศีลธรรมกำลังจุกปากผู้ได้รับผลกระทบ ... สิ่งเดียวที่ทำได้คือก้มหน้ารับชะตากรรม หรืออย่างมากก็อาจจะสบถเชิงตัดพ้อด้วยเสียงที่เบาที่สุด
"สำหรับคนที่ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ทุกคนคงไม่มีใครชอบใจนโยบายนี้ ใครมันจะไปเห็นด้วยกับการขึ้นราคา ไม่มีหรอก แต่เชื่อว่าทุกคนเข้าใจกันหมดว่าทั้งเหล้าและบุหรี่เป็นของไม่ดี เขาเพิ่มราคาเราก็ต้องเลือกเองว่าจะลดหรือจะเลิกดื่มเลิกสูบหรือไม่ ถ้าไม่เลิกมันก็ต้องหาเงินมาจ่าย"
"คนมองว่าพวกนี้เป็นของฟุ่มเฟือย อยากสูบอยากดื่มก็ต้องจ่าย แต่ผมมองว่าคนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ก็เป็นสิทธิของเขา ถ้าเขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ถ้าต้องการจะแก้ปัญหาจริงๆ ควรไปเพิ่มกฎหมายให้รุนแรง เอาผิดพวกดื่มและสูบแล้วไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น เช่น พวกสูบบุหรี่ที่ป้ายรถเมล์ก็จับให้จริง หรือพวกเมาแล้วขับก็เอาให้หนัก พวกนี้มันสร้างปัญหา ส่วนคนดีๆ ที่ดื่มที่สูบก็มี มันไม่ใช่เหมารวมแล้วมารังแกกัน ไม่เช่นนั้นก็ออกกฎหมายไปเลยว่าห้ามผลิตเหล้า ห้ามผลิตบุหรี่ ซึ่งก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้า เพราะเขาก็ได้เงินจากตรงนี้เยอะ ทีนี้จะมารังแกมันไม่ถูก" คือเสียงสะท้อนจาก 2 นักดื่มระดับผู้ใช้แรงงาน
นอกจากมาตรการทางภาษีในครั้งนี้แล้ว การเดินหน้าประกาศกฎหมายของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งนำโดยมือปราบสุรานพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการฯ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เป็นที่น่าสนใจ และนำมาสู่ข้อถกเถียงเชิงมิติทางสังคม
กฎหมายฉบับนี้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่องการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะขณะขับขี่หรือโดยสารอยู่บนรถทุกประเภท หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย คือกฎหมายจะเอาผิดได้เฉพาะผู้ที่ดื่มบนทางไหล่ทาง ฟุตบาท ลานจอดรถ ในขณะขับขี่หรือโดยสารบนรถเท่านั้น แต่หากดื่มอยู่นอกรถไม่สามารถเอาผิดได้
"แม้ว่ามันจะยังครอบคลุมได้น้อย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" นพ.สมาน ระบุ
อย่างไรก็ตาม เกิดเคลือบแคลงตื้นๆ ต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ว่าจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจได้มากขึ้นหรือไม่ มีการตั้งคำถามขึ้นมาเล่นๆ ว่า หากมีผู้เมาสุราแล้วโดยสารรถยนต์ส่วนบุคคล (ไม่ได้เป็นคนขับ) หรือเลือกที่จะโบกแท็กซี่กลับ โดยขณะนั้นได้หนีบขวดสุราที่ดื่มไม่หมดกลับไปด้วย เมื่อเจอด่านตรวจจะถูกจับหรือไม่
"ถ้าตำรวจส่องไฟเข้ามาในรถแล้วเห็นขวดเหล้ากับอาการเมาของเรา ตำรวจจะอ้างว่าเราดื่มในรถแล้วจับได้หรือไม่"
พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ดูแลงานจราจร ให้คำอธิบายว่า ผู้ดื่มต้องรับผิดชอบตัวเองส่วนเจ้าหน้าที่จะดูที่เจตนาเป็นหลัก หากดื่มในร้านแต่ไม่หมดแล้วนำติดตัวกลับบ้านก็ต้องเก็บให้มิดชิด ไม่ใช่ถือกระป๋องเบียร์แล้วบอกว่าไม่ได้ดื่ม ยืนยันว่าจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนรับทราบก่อนจะมีการจับกุม
"การมีกฎหมายยิ่งดีเพราะการดื่มสุราไม่ดีอยู่แล้ว เชื่อว่าจะทำให้อุบัติเหตุลดลงได้" พล.ต.ต.วรศักดิ์ เชื่อเช่นนั้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจแม้ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นก็ตามคือ ภายหลังเสร็จสิ้นการปรับครม. นพ.สมาน จะผลักดันกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะทั้งในรถและนอกรถอีกฉบับ
"จากการสำรวจร่วมกับดุสิตโพลประชาชนทั่วประเทศกว่า 80% เห็นด้วย และหากออกกฎหมายสำเร็จจริง ร้านลาบและร้านข้าวต้มก็จะมีความผิดด้วย" นพ.สมาน ระบุ
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายห้ามดื่มบนทางสาธารณะจะกระทบโดยตรงกับร้านลาบ-ร้านข้าวต้ม ที่ตั้งขายริมฟุทบาท
เกิดเป็นคำถาม ... หากสถานที่เหล่านี้ไม่สามารถขายสุราได้ จะเป็นการจำกัดสิทธิของผู้มีรายได้น้อยหรือไม่
บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า การขึ้นราคาสุราและบุหรี่ รวมถึงการจำกัดพื้นที่การดื่มสร้างผลกระทบเฉพาะกับคนจน ส่วนคนชั้นกลางและคนรวยซึ่งมีพฤติกรรมการดื่มและการสูบมากกว่ากลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ นั่นเพราะคนจนมีทางเลือกในการดื่มเฉพาะร้านลาบและร้านข้าวต้มข้างทาง ขณะที่คนรวยปกติก็ดื่มกินอยู่ในผับในบาร์ ซึ่งขายในราคาแพงอยู่แล้ว
"ผมคิดว่าผลพวงจากนโยบายและกฎหมายเหล่านี้ จะทำให้คนจนหันมาต้มเหล้าดื่มเองและเริ่มปลูกใบยาสูบเองมากขึ้น ยิ่งเป็นการสร้างปัญหาของเถื่อนให้มากขึ้น" บารมี ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ
เขา บอกว่า พฤติกรรมของคนจนไม่ได้ดื่มถึงขั้นเมามาย ส่วนใหญ่นิยมดื่มสุราขาวก่อนรับประทานอาหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากจะดื่มในปริมาณที่มากจะเป็นช่วงเทศกาลหรือมีวาระพิเศษ ส่วนตัวเชื่อว่าการขึ้นราคาหรือการจำกัดสถานที่ดื่มไม่ช่วยให้ตัวเลขนักดื่มหรือนักสูบลดน้อยลง เป็นเพียงการบีบให้คนจนจำใจทนอยู่กับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเท่านั้น
"เงิน 1 บาท สำหรับเขามันมีค่ามาก ในเมื่อข้อเท็จจริงคือคนไม่คิดจะเลิกดื่มหรือเลิกสูบอยู่แล้ว การออกกฎหมายหรือทำนโยบายก็ควรจะคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่มาฉวยโอกาสและละเมิดสิทธิการดื่มของคนจน ในขณะที่ปล่อยให้คนรวยดื่มได้อย่างมิอิสระถ้ามีกำลังจ่าย" บารมี กล่าว
สอดคล้องกับความเห็นของ พงษ์อนันต์ ช่วงธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่มองว่า ผลจากกฎหมายและนโยบายการขึ้นภาษีแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น 1.การขึ้นภาษี เป็นเรื่องดีหากสามารถลดปริมาณการสูบและการดื่มได้จริง และเชื่อว่าคนจนจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร 2.ผลกระทบต่ออาชีพ โดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยร้านชำ ร้านลาบ ร้านข้าวต้ม คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส
"หากกฎหมายจำกัดห้ามดื่มและห้ามขายเหล้าบนฟุทปาทผ่าน คนกลุ่มนี้จะค้าขายไม่ได้เลย ต้องเข้าใจก่อนว่าร้านลาบ ร้านข้าวต้ม พ่อค้าแม่ค้าก็เป็นคนจน คนที่มาดื่มกินก็เป็นคนจน มันคือพื้นที่หรือสังคมของคนใจที่จะได้มาเจอกัน พูดจาแลกเปลี่ยน ระบายความเครียด แต่จากนี้พื้นที่เหล่านี้จะหายไป เหลือไว้แต่ร้านอาหารราคาแพง แน่นอนว่าคนจนเข้าไม่ถึง มันก็จะเป็นเรื่องของธุรกิจคนรวยกับผู้บริโภคที่เป็นคนรวยเท่านั้น" พงษ์อนันต์ ฉายภาพอย่างชัดเจน
เขา บอกว่า การออกกฎหมายจำกัดพื้นที่การขายและการดื่มเป็นการจำกัดสิทธิของคนระดับล่าง และการห้ามดื่มบนรถโดยสารก็เป็นกฎหมายที่รุนแรงมากเกินไป มันจะยิ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหากินมากกว่าจะมุ่งแก้ปัญหาลดจำนวนการดื่ม เรียกได้ว่าเป็นกฎหมายหวังดีประสงค์ร้าย
"คนที่ละเลิกได้ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวของเขาเอง แต่กฎหมายไม่ควรจะมาริดรอนสิทธิ ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือเชิญคนจนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายโดยตรงมาหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่คิดจากหลักคิดของคนชั้นกลาง คนรวย หรือนักรณรงค์ แล้วกลับเอามาบังคับใช้คนจน" ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เสนอแนะ
ด้าน ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า พื้นฐานและธรรมชาติของประเทศไทยเป็นสังบคมอิสระ การค้าขายบนทางเท้าอาจสร้างความเดือดร้อนในแง่ของเส้นทางสัญจรผู้เดินไปมา แต่ถ้ามองลึกลงไปในวิถีชีวิตจะพบว่าการค้าขายลักษณะนี้คือความเป็นไทย ง่ายต่อการเข้าถึง
สำหรับพฤติกรรมของแรงงาน ส่วนใหญ่เลิกงานเย็นค่ำก็แวะรับประทานอาหารตามร้านข้างทาง อาจมีการสั่งเหล้ามาดื่มบ้างแต่ก็ไม่มาก และเท่าที่สัมผัสกับคนกลุ่มนี้น้อยมากที่จะแสวงหาการดื่ม ดังนั้นหากจัดระเบียบสังคมใหม่โดยการจำกัดสถานที่ดื่ม หรือให้ดื่มได้เฉพาะร้านที่ขออนุญาตถูกต้อง หรือจัดโซนนิ่งขึ้นมา แน่นอนว่าแรงงานจะไม่ไปดื่ม ผลกระทบจะตกอยู่กับพ่อค้าแม่ค้าอาหารข้างทาง
"คนกลุ่มนี้เขาไม่มีเงินมานั่งกินทุกวัน จะกินกันหนักก็ในงานเลี้ยงหรือวันเงินเดือนออก ดังนั้นแม้ว่าจะขึ้นราคาหรือจำกัดพื้นที่การดื่มก็ไม่ทำให้ตัวเลขจำนวนผู้ดื่มหรือผู้สูบบุหรี่ลดลงได้ เมื่อก่อนบุหรี่ซองละ 7-8 บาท ก็พูดกันว่าหากขึ้นถึง 10 บาทจะเลิกสูบ แต่ตอนนี้ขึ้นมาถึง 70-80 บาทแล้ว คนกลุ่มเดิมก็ยังไม่เลิก นั่นหมายความว่าการขึ้นราคาช่วยแก้ปัญหาไม่ได้" ผู้นำแรงงานระบุ
เขา บอกว่า ทิศทางที่ถูกต้องคือปล่อยให้คนที่เสพติดเหล้าบุหรี่ให้ใช้ชีวิตประจำวันต่อไปโดยไม่ไปรังแกเขาด้วยนโยบาย แต่รัฐต้องมาควบคุมไม่ให้นักดื่มและนักสูบหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้น นั่นเพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวัฒนธรรมและค่านิยมเป็นเรื่องยาก ดังนันโจทย์คือจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไม่เข้ามาสู่สิ่งเหล่านี้
"ผมคิดว่าใช้กฎหมายคงไม่ได้ แต่สิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลคือมาตรการทางสังคม คือ เราไม่ได้ไปจำกัดเขาว่าห้ามดื่มบนทางเท้านะ ห้ามดื่มบนรถนะ แต่เราใช้มาตรการทางสังคมกดดันเขา เช่น การสูบบุหรี่ท่ามกลางคนจำนวนมากเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ การดื่มเหล้าต้องมีความรับผิดชอบ ตรงนี้จะได้ผลมากที่สุด" ชาลี กล่าว
ทั้งหมดคือความคิดเห็นของคนระดับล่าง – ตัวแทนผู้ใช้แรงงานผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง