ตามดูโครงการทำดีมีอาชีพ (1) สร้างรายได้สกัดไฟความไม่สงบ?
เลขา เกลี้ยงเกลา
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
โครงการ “ทำดี มีอาชีพ” ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนกว่า 8,000 คน สานฝันให้เป็นจริงเรื่องการมีรายได้ มีงานทำ ด้วยการสนับสนุนการฝึกและจัดหาอาชีพ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นั้น นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าจับตาและติดตามตรวจสอบว่า...ผลจริงๆ เป็นเช่นไร?
โครงการนี้เกิดขึ้นจากนโยบายของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รองผอ.รมน.) โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากใน 31 จังหวัดตามแนวชายแดนที่ไม่ได้รับการศึกษาและไม่มีอาชีพ ได้มีทักษะในการประกอบอาชีพและเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ความหลากหลายของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม
เพราะเมื่อเยาวชนมีอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ และได้มองโลกด้วยสายตาที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะเป็นเยาวชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ก็จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้กับประเทศ เยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายาเสพติด ค้าประเวณี ของเถื่อน ค้าอาวุธ รวมทั้งกลุ่มก่อความไม่สงบ (กรณีภาคใต้) การส่งเสริมให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสเข้าทำงาน มีงานทำ และมีรายได้ ก็จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ของประเทศด้วย
โครงการ “ทำดี มีอาชีพ” จะฝึกอบรมเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตามหลักการฝึกอาชีพระยะสั้น 225 ชั่วโมง วันละ 6 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน ระยะเวลา 1 เดือน ในหลักสูตรช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างกลโรงงาน ช่างไม้ ช่างเฟอร์นิเจอร์ และช่างอิเลคทรอนิคส์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการอบรมด้วย
หลังการฝึกอบรมจะมีการฝึกทดลองงานในสถานประกอบการในจังหวัดที่เข้ารับการอบรม พร้อมบรรจุเข้าทำงานในสถานประกอบการนั้นๆ หรือสถานประกอบการในจังหวัดอื่นตามความเหมาะสม
สถานที่การฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ซึ่งมีสถาบันในสังกัดถึง 404 แห่ง ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพและทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งยังได้เตรียมนักศึกษาคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลด้วย หากเป็นเด็กจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเน้นในเรื่องวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ประเพณีของชุมชนอื่นๆ มากเป็นพิเศษ
สำหรับโครงการ “ทำดี มีอาชีพ” ในจังหวัดชายแดนใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ที่พยายามสนับสนุนให้เยาวชนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มก่อความไม่สงบ รวมทั้งผู้ที่ยังว่างงาน ได้มีโอกาสเสริมสร้างทักษะอาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อม และช่างเชื่อม โดยยึดหลักพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ปัจจุบันมีเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่สำเร็จการอบรมในโครงการทั้ง 5 รุ่นแล้วจำนวน 8,200 คน ในสาขาอาชีพช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และช่างเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นอาชีพที่เยาวชนในพื้นที่ต้องการมีทักษะความรู้ทั้งสิ้น
ล่าสุดได้มีการจัดตั้ง “ชมรมเยาวชนทำดีมีอาชีพ” ตามนโยบายของ ผบ.ทบ. ซึ่งตั้งเป้าเอาไว้อำเภอละ 1 ชมรมจากทั้ง 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ละชมรมจะมีประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และคณะกรรมการ เพื่อให้เป็นสถานที่พบปะและทำกิจกรรมร่วมกันของเครือข่ายสมาชิก โดยที่ทำการชมรมจะตั้งอยู่ใกล้บ้านของผู้นำท้องถิ่นหรือสภาสันติสุขตำบล เพื่อให้อยู่ในสายตาและคำแนะนำของผู้ใหญ่ในพื้นที่
พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ฝ่ายอำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ที่รับผิดชอบโครงการทำดีมีอาชีพ กล่าวว่า เมื่อเยาวชนได้จัดตั้งชมรม โดยมีคณะทำงานและที่ตั้งของชมรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางกอ.รมน.ภาค 4 สน.จะสนับสนุนอุปกรณ์ คือ โทรทัศน์สี 1 เครื่อง ติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม และเครื่องทำกาแฟสด เพื่อให้ชมรมเป็นสถานที่พบปะและทำกิจกรรมของเครือข่ายสมาชิก ตลอดจนสามารถสร้างรายได้เข้าชมรม และจัดเงินยืมเพื่อให้นำไปประกอบอาชีพเบื้องต้น โดยเน้นไปที่วัสดุอุปกรณ์ ไม่ใช่ตัวเงินเป็นหลัก แต่เงินและวัสดุดังกล่าวนี้ไม่ได้ให้เปล่า ต้องส่งคืนภายในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเงินหรือวัสดุเหล่านั้นกลับมาเป็นทุนให้แก่รุ่นน้องๆ ที่ต้องการยืมในรุ่นต่อไป
"ภายในเดือน ธ.ค.จะส่งเสริมให้แต่ละชมรมจัดตั้งเครือข่ายอาชีพให้ได้อย่างน้อย 1 อาชีพต่อ 1 ชมรม สำหรับพื้นที่ที่จัดตั้งชมรมและเครือข่ายเสร็จสิ้นไปแล้ว คือ 4 อำเภอของ จ.สงขลา และบางอำเภอของ จ.นราธิวาส ส่วนพื้นที่ที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง และจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.ทั้ง 37 อำเภอ”
“นอกจากการจัดตั้งเครือข่ายอาชีพเพื่อสร้างรายได้แล้ว ยังจัดให้มีการบริการสาธารณะ เพื่อให้เยาวชนมีสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม เปิดโอกาสให้สังคมได้เห็นถึงความตั้งใจและความสามารถของเยาวชนด้วย โดยในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะไปออกบูธร้านตัดผมและร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ต้อนรับการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และหลังจากนี้จะจัดการแข่งขันฟุตบอลเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายด้วย”
พ.อ.ฐกร กล่าวอีกว่า ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ยังได้ประสานงานกับบริษัทเอ็มเค สุกี้ ซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทสุกี้ทั่วภาคใต้ ให้รับซื้อผักจากเยาวชนในโครงการทำดีมีอาชีพเป็นวัตถุดิบภายในร้าน ขณะเดียวกันก็ได้ประสานกับบริษัทอินเด็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ ให้ช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนที่สนใจเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ด้วย
สำหรับเครือข่าย “ทำดี มีอาชีพ” ที่จัดตั้งแล้วใน จ.สงขลา มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 87 คน จัดตั้งชมรมอาชีพทั้งหมด 6 อาชีพ ประกอบด้วย อ.นาทวี 25 คน จัดตั้ง 2 อาชีพ คือช่างซ่อมจักรยานยนต์ 20 คน ช่างเสริมสวย 5 คน (ได้จัดตั้งและเปิดร้านเรียบร้อยแล้ว) อ.จะนะ จำนวน 24 คน จัดตั้ง 2 อาชีพ คือช่างเชื่อมเหล็กดัด 16 คน ช่างเฟอร์นิเจอร์ 8 คน อ.เทพา จำนวน 10 คน จัดตั้ง 2 อาชีพ คือ เพาะพันธุ์ปลา 5 คน และเลี้ยงปลา 5 คน อ.สะบ้าย้อย จำนวน 29 คน จัดตั้ง 2 อาชีพ คือช่างซ่อมจักรยานยนต์ 17 คน และช่างเฟอร์นิเจอร์ 12 คน
ส่วน จ.นราธิวาส มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 73 คน ใน อ.เมือง จำนวน 33 คน จัดตั้ง 2 อาชีพ คือช่างไฟฟ้า 16 คน ทำอาหาร 8 คน อ.ยี่งอ จำนวน 10 คน จัดตั้ง 1 อาชีพ คือ ช่างซ่อมจักรยานยนต์ อ.บาเจาะ จำนวน 30 คน จัดตั้ง 3 อาชีพ คือช่างซ่อมจักรยานยนต์ 6 คน (จัดตั้งและเปิดร้านเรียบร้อยแล้ว) ช่างไฟฟ้า 12 คน และช่างยนต์ 12 คน
สิ่งสำคัญที่ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. วาดหวังไว้คือ ส่งเสริมให้เยาวชนชายแดนใต้ได้มีอาชีพที่มั่นคงด้วยความตั้งใจจริง เป็นความยั่งยืนที่มิใช่ตัวเงิน
บักรี สูหลง เด็กหนุ่มจากมะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ได้ทราบข่าวโครงการจากผู้ใหญ่บ้าน จึงไม่รีรอที่จะสมัครและได้ไปเรียนฝึกอาชีพที่ จ.ปราจีนบุรีเป็นเวลา 2 เดือน ทำให้ได้รับความรู้อย่างเต็มที่จนมั่นใจว่าจะสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวเอง
“ผมฝันจะเปิดร้านซ่อมรถ ก่อนหน้าเข้าร่วมโครงการนี้ ผมก็ทำงานแบบเรื่อยเปื่อย แต่ส่วนตัวก็มีพื้นฐานเรื่องการซ่อมรถอยู่บ้าง และอยากเปิดร้านเป็นของตัวเองสักร้าน” บักรี กล่าว และว่าอยากให้เพื่อนๆ เยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมฝึกอาชีพ เพราะเป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตัวเอง
สำหรับโครงการ “ทำดี มีอาชีพ” ในรุ่นที่ 6 จะเปิดรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมอบรมและฝึกอาชีพในเดือน ม.ค.2553 นี้ ซึ่งน่าสนใจว่าจะสามารถสร้างเครือข่ายและดึงความสนใจจากเยาวชนโดยปราศจากการจัดตั้งจากฝ่ายความมั่นคงได้หรือไม่...
(ติดตามต่อตอนที่ 2)